อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วิเคราะห์หะดีษ : ท่านนบีย์ฯทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองหลังจากถูกแต่งตั้งเป็นนบีย์แล้ว

.
โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย




เกี่ยวกับหะดีษเรื่องท่านนบีย์มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองหลังจากถูกแต่งตั้งเป็นนบีย์แล้ว และมีนักเขียนมุสลิมในประเทศไทยท่านหนึ่งวิจารณ์ว่า หะดีษบทนี้เป็นหะดีษมุงกัรฺ คืออ่อนมาก .. จึงนำมาอ้างเป็นหลักฐานเรื่องอนุญาตให้ผู้ซึ่งพ่อแม่มิได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้ตอนเยาว์วัย แล้วเขามาทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองเมื่อโตไม่ได้ ...
เรื่องนี้ มิใช่เรื่องแปลก, มิใช่เป็นความผิดของท่านผู้เขียนหนังสือเล่มนั้น, และท่านก็มิใช่บุคคลแรกที่กล่าววิจารณ์หะดีษบทนี้ในลักษณะนั้น .....
เพราะนักวิชาการยุคแรกๆจำนวนหลายท่าน ก็เคยวิจารณ์หะดีษนี้, ในลักษณะอย่างเดียวกันนี้, .. มาก่อนแล้วเช่นเดียวกัน ....
ท่านอัล-บัยฮะกีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 458) กล่าววิจารณ์ในหนังสือ “อัส-สุนัน อัล-กุบรอ” เล่มที่ 9 หน้า 300 ว่า หะดีษนี้ เป็นหะดีษมุงกัรฺ ..
.
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ (มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ฮ.ศ. 631-676) ได้กล่าววิจารณ์ในหนังสือ “อัล-มัจญมั๊วะอฺ” เล่มที่ 8 หน้า 431 ว่า หะดีษนี้ มุงกัรฺ, และในหน้า 432 ว่า หะดีษนี้ บาฏิล คือเป็นโมฆะ ....
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ (มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ฮ.ศ. 773-853) ได้กล่าวในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 595 ว่า หะดีษนี้ ไม่แน่นอน ....
ท่านมุบาร็อก ปูรีย์ นักวิชาการหะดีษแห่งอินเดีย (มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ฮ.ศ. 1283-1353) ได้กล่าวในหนังสือ “ตุห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 5 หน้า 116 ว่า หะดีษนี้ เฎาะอีฟ .....
นี่คือ ตัวอย่างคำวิจารณ์ของนักวิชาการยุคแรกๆ (และยุคหลังบางท่าน) ต่อหะดีษบทนี้ ...
แต่, ผมขอตั้งข้อสังเกตให้ท่านผู้อ่านทุกท่านรับทราบไว้ด้วยว่า ข้อวิจารณ์เกือบทั้งหมดข้างต้น พุ่งเป้าไปที่กระแสรายงาน “เพียงกระแสเดียว” จากสามกระแสของหะดีษนี้เท่านั้น
นั่นคือ กระแสของท่าน อับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺ, จากท่านเกาะตาดะฮ์, จากท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ...
ถ้าหะดีษบทนี้ มีรายงานมาจากกระแสนี้เพียงกระแสเดียว ก็คงไม่มีข้อขัดแย้งใดๆในด้านความเป็นหะดีษมุงกัรฺของมัน ทั้งนี้ เพราะท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺ เป็นผู้รายงานหะดีษที่ถูกวิจารณ์ในด้านขาดความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก ....
แต่ในความเป็นจริงแล้ว หะดีษบทนี้ - จากการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนของนักวิชาการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านชัยคุลหะดีษ คือท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 595, และท่านมุหัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานีย์ ในหนังสือ “อัศ-เศาะหี้หะฮ์” เล่มที่ 6 หน้า 502 หรือหะดีษที่2726)) แล้ว -
ปรากฏว่า หะดีษบทนี้ มีการรายงานมาจากท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ. รวม 3 กระแสด้วยกัน ...
และหนึ่งจาก 3 กระแสดังกล่าว ถือว่า เป็นกระแสรายงานที่ถูกต้อง ตามหลักวิชาการหะดีษอีกด้วย ......
และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมผู้ที่มีความรู้น้อยอย่างผมจึงกล้าขัดแย้งกับบรรดานักวิชาการหะดีษชั้นนำของโลกอิสลามดังที่ระบุนามมาข้างต้นใน “ข้อเท็จจริง”และ “สถานภาพ” ของหะดีษบทนี้ ( แม้กระทั่งกับท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ผู้ได้รับสมญานามว่า เป็น “คัมภีร์หะดีษ” เองก็ตาม ) .....
เพราะว่า, .. ถึงแม้ท่านจะมีความเชี่ยวชาญเลอเลิศเป็นเอตทัคคะในวิชาการแขนงนี้สักปานใด แต่ท่านก็คือปุถุชนคนหนึ่ง จึงย่อมจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งผมจะได้อธิบายให้ท่านผู้อ่านได้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ในตอนหลัง อินชาอัลลอฮ์
สายรายงานสองกระแสแรกของหะดีษบทนี้ เป็นสายรายงานที่เฎาะอีฟ, แต่สายรายงานของกระแสที่สาม เป็นสายรายงานที่เศาะเหี๊ยะฮ์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ....
กระแสที่หนึ่ง
ท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ. ได้รายงานมาว่า ......
اِنَّ النَّبِيَّ صَلَّي اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَـقَّ عَنْ نَفْسِهِ بَعْدَ مَـا بُعِثَ نَبِيًّـا

“แท้จริง ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวของท่านเอง หลังจากท่านถูกแต่งตั้งเป็นนบีย์แล้ว” ....
(บันทึกโดย ท่านอับดุรฺ ร็อซซาก ในหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” เล่มที่ 4 หน้า 32, หรือหะดีษที่7960, ท่านอิบนุหิบบาน ในหนังสือ “อัฎ-ฎุอะฟาอฺ” เล่มที่ 2 หน้า 33, ท่านอัล-บัซซารฺในหนังสือ “อัล-มุสนัด” เล่มที่ 2 หน้า 74, และท่านอัล-บัยฮะกีย์ ในหนังสือ “อัส-สุนัน อัล-กุบรอ” เล่มที่ 9 หน้า 300) .....
สายรายงานของหะดีษข้างต้น มีดังต่อไปนี้ .....
1. อับดุรฺ ร็อซซาก และผู้บันทึกหะดีษท่านอื่นๆ
2. อับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺ
3. เกาะตาดะฮ์ อิบนุ ดิอามะฮ์
4. อนัส บิน มาลิก ร.ฎ.
5. ท่านรอซุ้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม
กระแสรายงานข้างบนนี้ถูกวิจารณ์ว่า เป็นกระแสรายงานที่มุงกัรฺหรืออ่อนมากจากนักวิชาการหลายท่าน ดังที่ผมได้ระบุนามไปแล้วข้างต้น,.. ซึ่งจุดบกพร่องของมันก็คือ ท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺ (หมายเลข 2) ......
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าววิจารณ์ท่านอับดุลลอฮ์ผู้นี้ในหนังสือ “อัต-ตักรีบ” เล่มที่ 1 หน้า 445 ว่า “มัตรูก” .. คือ ถูกเมิน หรืออ่อนมาก .....
ท่านอัส-ษะฮะบีย์ ได้อ้างคำพูดของท่านบุคอรีย์ที่กล่าววิจารณ์ท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺมาระบุในหนังสือ “อัล-กาชิฟ” เล่มที่ 2 หน้า 110-111 ว่า “เขาเป็นผู้รายงานประเภท มุงกัรฺ อัล-หะดีษ .. ซึ่งก็มีความหมายคล้ายๆหรืออยู่ในระดับเดียวกับคำว่า มัตรูก นั่นเอง ...
และในหนังสือ “มีซาน อัล-เอี๊ยะอฺติดาล” เล่มที่ 2 หน้า 500-501 ท่านอัส-ษะฮะบีย์ก็ได้ตีแผ่รายนามนักวิชาการที่กล่าววิจารณ์ท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺ พร้อมด้วยตัวอย่างหะดีษต่างๆที่มีนามของท่านผู้นี้เป็นผู้ร่วมรายงานด้วย ซึ่งเกือบทุกบท เป็นหะดีษเฎาะอีฟ .....
สรุปแล้ว กระแสรายงานที่ 1 ของหะดีษเรื่องท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองหลังจากเป็นนบีย์แล้ว จึงเป็นกระแสรายงานที่อ่อนมาก .... ถูกต้องดังการวิจารณ์ของบรรดานักวิชาการหะดีษและนักเขียนมุสลิมท่านนั้น ....
กระแสที่สอง
ข้อความของหะดีษบทนี้จากกระแสที่สอง ก็เหมือนกับข้อความของกระแสที่หนึ่ง แต่มีสายรายงานดังต่อไปนี้ .....
1. อบู อัช-ชัยค์ (ชื่อจริงคือ หัยวาน บิน คอลิด)
2. อิสมาอีล บิน มุสลิม อัล-มักกีย์
3. เกาะตาดะฮ์ อิบนุ ดิอามะฮ์
4. .......................
5. ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม,
( โปรดดูหนังสือ “ฟัตหุ้ล บารีย์” ของท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ เล่มที่ 9 หน้า 595).....
สายรายงานนี้ ถือว่าเป็นสายรายงานที่เฎาะอีฟหรืออ่อน เพราะมีข้อบกพร่อง 2 ประการ คือ .......
(1) ท่านอิสมาอีล บิน มุสลิม อัล-มักกีย์ (ลำดับที่ 2) เป็นผู้รายงานที่เฎาะอีฟ ....
(โปรดดู “อัต-ตักรีบ” เล่มที่ 1 หน้า 74, และ “อัล-กาชิฟ” เล่มที่ 1 หน้า 78) ....
ท่านอบู หาติม อัรฺ-รอซีย์ (ชื่อจริงคือ ท่านมุหัมมัด บิน อิดริส, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 277) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ถือว่า มีความเคร่งครัดในเรื่องประวัติผู้รายงานหะดีษ ได้กล่าววิจารณ์ท่านอิสมาอีล บิน มุสลิม ผู้นี้ในหนังสือ “อัล-ญัรฺห์ วัต-ตะอฺดีล” เล่มที่ 2 หน้า 199 ว่า ....
وَاِسْمَاعِيْلُ هُوَ ضَعِيْفُ الْحَدِيْثِ, لَيْسَ بِمَتْرُوْكٍ , يُكْتَبُ حَدِيْثُـهُ ...
“และอิสมาอีลผู้นี้ เป็นผู้รายงานหะดีษที่เฎาะอีฟ, (แต่)ไม่ถึงกับถูกเมิน, หะดีษของเขา สามารถนำมาพิจารณา ( คือ ใช้ส่งเสริมหรือยืนยันหะดีษกระแสอื่น ) ได้”
ข้อความดังกล่าวนี้แสดงว่า แม้ท่านอิสมาอีล บินมุสลิม จะเป็นผู้รายงานที่เฎาะอีฟก็จริง แต่ก็ยังเฎาะอีฟน้อยกว่าท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุหั้รฺร็อรฺของกระแสแรก ....
(2) หะดีษกระแสนี้ มีการรายงานในลักษณะ “มุรฺซัล” คือ ข้ามขั้นตอน .....
ท่านเกาะตาดะฮ์ อิบนุ ดิอามะฮ์ เป็นตาบิอีนหรือคนในยุคหลังจากเศาะหาบะฮ์ (สิ้นชีวิตประมาณปี ฮ.ศ. 117 หรือ 118 ) จึงไม่ทันเจอกับท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม แต่อ้างการรายงานมาจากท่านรอซู้ล ฯ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ...
ผลงานการอ้างข้ามขั้นตอนดังกล่าว มิได้เกิดจากท่านเกาะตาดะฮ์ซึ่งเป็นผู้ที่เชื่อถือได้, แต่เข้าใจว่า น่าจะเป็นผลงานของท่านอิสมาอีล บิน มุสลิม อัล-มักกีย์ ซึ่งแอบอ้างหะดีษบทนี้มาจากท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺ แล้วโยนกลองไปหาท่านเกาะตาดะฮ์อีกทีหนึ่ง .. ดังการกล่าวหาของท่านอับดุรฺ ร็อซซาก .. จากการบันทึกของท่านอิบนุหะญัรฺใน “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 595 .....
กระแสที่ 3.
ท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ. ได้กล่าวว่า ....
اِنَّ النَّبِيَّ صَلَّي اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَقَّ عَنْ نَفْسِهِ بَعْدَ مَا جَاءَتْـهُ النُّبُوَّةُ

“แท้จริง ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวท่านเอง หลังจากถูกแต่งตั้งเป็นนบีย์แล้ว” ....
(บันทึกโดย ท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ในหนังสือ “มุชกิล อัล-อาษารฺ” เล่มที่ 1 หน้า 315 หรือหะดีษที่ 1093, ท่านอิบนุ หัสม์ ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 7 หน้า 528, ท่านอัฏ-ฏ็อบรอนีย์ในหนังสือ “อัล-มุอฺญัม อัล-เอาซัฏ” หะดีษที่ 976, ท่านอัฎ-ฎิยาอ์ อัล-มุก็อดดิซีย์ ในหนังสือ “อัล-อะหาดีษ อัล-มุขตาเราะฮ์” หะดีษที่ 71, และท่านอบู อัช-ชัยค์ ในหนังสือ “อัล-อะฎอฮีย์” ดังการอ้างอิงของท่านอัล-อัลบานีย์ในหนังสือ “อัศ-เศาะหี้หะฮ์” เล่มที่ 6 หน้า 502, และท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-อัศเกาะลานีย์ จากหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 595) ..
สายรายงานของหะดีษกระแสนี้ มีดังนี้ .....
1. อัฏ-เฏาะหาวีย์ และผู้บันทึกท่านอื่นๆ
2. อัล-หะซัน บิน อับดุลลอฮ์ บิน มันศูรฺ จากการบันทึกของท่านอัฏ-เฏาะหา วีย์, .... อบูบักร์ อัล-มุสตะมิลีย์ จากการบันทึกของท่านอบู อัช-ชัยค์, และ อัมรฺ บิน มุหัมมัด อัน-นากิด จากการบันทึกของท่านอิบนุหัสม์ ...
3. อัล-ฮัยษัม บิน ญะมีล
4. อับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา บิน อับดุลลอฮ์ บิน อนัส บิน มาลิก ร.ฎ.
5. ษุมามะฮ์ บิน อับดุลลอฮ์ บิน อนัส บิน มาลิก ร.ฎ.
6. อนัส บิน มาลิก ร.ฎ.
7. ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม
สายรายงานของหะดีษนี้ ถือว่าเป็นสายรายงานที่ถูกต้อง, ... บุคคลตั้งแต่ลำดับที่ 4 ลงมา ล้วนเป็นผู้รายงานที่ท่านบุคอรีย์เชื่อถือและยอมรับในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่าน,. ส่วนท่านอัล-ฮัยษัม บิน ญะมีล แม้จะมิใช่เป็นผู้รายงานของท่านบุคอรีย์ แต่ท่านก็เป็นผู้รายงานหะดีษที่ได้รับความเชื่อถือ ( ษิเกาะฮ์) เช่นเดียวกัน ....
( โปรดดูหนังสือ “อัต-ตักรีบ” เล่มที่ 2 หน้า 326, และหนังสือ “อัล-กาชิฟ” เล่มที่ 3 หน้า 202 ) ....
ท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-อัศเกาะลานีย์ ได้นำเอาหะดีษบทนี้จากทุกกระแส มาวิเคราะห์ในหนังสือ “ฟัตหุ้ล บารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 595 .... ( ซึ่งผมจะขออธิบายแบบสรุปในบางตอนเพื่อความกระชับและเข้าใจง่ายขึ้น ) ดังต่อไปนี้ .....

ثَانِيْهِمَا : مِنْ رِّوَايَةِ اَبِيْ بَكْرٍ الْمُسْتَمِلِيِّ عَنِ اْلهَيْثَمِ بْنِ جَمِيْلٍ وَدَاوُدَ بْنِ الْمُحَبَّرِ قَالاَ : حَدَّثَنَاعَبْدُاللَّـهِ بْنُ الْمُثَنَّي عَنْ ثُمَامَةَ عَنْ اَنَسٍ، وَدَاوُدُ ضَعِيْفٌ، لَكِنِ الْهَيْثَمُ ثِقَـةٌ، وَعَبْدُاللَّـهِ مِنْ رِجَالِ الْبُخَارِىِّ، فَالْحَدِيْثُ قَوِىُّ اْلإِ سْنَادِ، وَقَدْ اَخْرَجَهُ مُحَمَّدُ بْنُ عَبْدِ الْمَلِكِ عَنْ عَمْرٍوالنَّاقِدِ، وَاَخْرَجَهُ الطَّبْرَانِيُّ فِي ( اْلاَوْسَطِ ) عَنْ اَحْمَدَ بْنِ مَسْعُوْدٍ كِلاَ هُمَا عَنِ الْهَيْثَمِ بْنِ جَمِيْلٍ وَحْدَهُ بِهِ فَلَوْلاَ مَافِيْ عَبْدِ اللَّـهِ بْنِ الْمُثَنَّي مِنَ الْمَقَالِ لَكَانَ هَذَاالْحَدِيْثُ صَحِيْحًا...... .
“ กระแสที่สองจากสองกระแสของหะดีษนี้ (จากการบันทึกของท่านอบู อัช-ชัยค์) มาจากการรายงานของท่านอบูบักรฺ อัล-มุสตะมิลีย์ ... ซึ่งรายงานมาจากท่าน อัล-ฮัยษัม บิน ญะมีล และท่านดาวูด บิน อัล-มุหับบัรฺ, โดยทั้ง 2 ท่านนั้นกล่าวว่า : ท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนาได้กล่าวกับเราโดยรายงานมาจาก ท่านษุมามะฮ์ บิน อนัส ....... ท่านดาวูด บิน อัล-มุหับบัรฺ เป็นผู้รายงานที่เฎาะอีฟ แต่ท่านอัล-ฮัยษัม เป็นผู้ที่เชื่อถือได้, และท่านอับดุลลอฮ์(บิน อัล-มุษันนา) ก็เป็นผู้รายงานของท่านบุคอรีย์ ดังนั้น หะดีษนี้จึงถือว่า มีสายรายงานแข็งแรง, (ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์กล่าวต่อไปว่า) ..ท่านมุหัมมัด บิน อับดุลมะลิก ได้บันทึกหะดีษนี้มาจากท่านอัมรฺ อัน-นากิด .. และท่านอัฏ-ฏ็อบรอนีย์ ก็ได้บันทึก(หะดีษนี้)ในหนังสือ “อัล-มุอฺญัม อัล-เอาซัฏ” มาจากท่านอะห์มัดบิน มัสอูด, ซึ่งแต่ละท่านจากทั้งสองนั้น (ท่านอัมรฺและท่านอะห์มัด) ได้รายงานหะดีษนี้มาจากท่านอัล-ฮัยษัม บิน ญะมีล ตามลำพัง.. (คือ ไม่มีชื่อท่านดาวูด บิน อัล-มุหับบัรฺร่วมรายงาน) ด้วย, ซึ่งถ้าไม่เพราะข้อวิจารณ์เกี่ยวกับตัวท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนาแล้ว หะดีษบทนี้ก็จะเป็นหะดีษที่ถูกต้อง (เศาะเหี๊ยะฮ์) .....
สรุปคำวิจารณ์ของท่านอิบนุหะญัรฺก็คือ “จุดอ่อน” ของหะดีษกระแสนี้ อยู่ที่ท่าน อับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา ..
ผมจึงขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานภาพของท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนาให้ท่านผู้อ่านรับทราบพอเป็นสังเขปครับ ....

แม้ว่า, ท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนาผู้นี้จะเป็นผู้รายงานที่ท่านบุคอรีย์ยอมรับ แต่นักวิชาการหะดีษท่านอื่นๆก็มีมุมมองที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับตัวท่าน ... คือ นักวิชาการบางส่วนให้ความเชื่อถือ และบางส่วนก็ไม่ให้ความเชื่อถือ ......
( ดูรายละเอียดเกี่ยวกับข้อวิจารณ์ท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนาได้จากหนังสือ “มีซาน อัล-เอี๊ยะอฺติดาล” เล่มที่ 2 หน้า 499-500, และหนังสือ “ตะฮ์ซีบุต-ตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 5 หน้า 338-339 ) ...

ซึ่งท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์เอง, ... หลังจากได้ตีแผ่รายนามนักวิชาการ - ทั้งที่ให้ความเชื่อถือและไม่ให้ความเชื่อถือต่อท่านอับดุลลอฮ์ บินอัล-มุษันนา - แล้ว ท่านอิบนุหะญัรฺ ก็กล่าวสรุปว่า ....
فَهَذَا مِنَ الشُّيُوْخِ الَّذِيْنَ اِذَاانْفَرَدَ اَحَدُهُمْ بِالْحَدِيْثِ لَمْ يَكُنْ حُجَّـةً
“ และนี่ (หมายถึงท่านอับดุลลอฮ์ บินอัล-มุษันนา) คือหนึ่งจากบรรดาผู้รายงานหะดีษที่หากเขารายงานหะดีษบทใดมาเพียงลำพังแล้ว หะดีษนั้นก็ไม่อาจจะนำมาเป็นหลักฐานได้” ....
(จาก “ฟัตหุ้ล บารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 595)......

สรุปแล้ว หะดีษเรื่องท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองหลังจากถูกแต่งตั้งเป็นนบีย์แล้ว -- แม้กระทั่งจากกระแสรายงานที่ 3 .. คือกระแสของท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา ที่รายงานมาจากท่าน ษุมามะฮ์ บิน อับดุลลอฮ์ ผู้เป็นลุงก็ตาม -- ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ถือว่า ในทัศนะของท่าน คือหะดีษเฎาะอีฟ, นำมาอ้างเป็นหลักฐานไม่ได้ ....
จุดนี้เองที่ผมมองว่า น่าจะเป็น “จุดพลาด” ของท่านอิบนุหะญัรฺในกรณีนี้ (ขออัลลอฮ์โปรดอภัยแก่ท่านด้วย) .....

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นนี้ มีดังต่อไปนี้ ......
ท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา หนึ่งในผู้รายงานหะดีษกระแสที่สามนี้ ได้รายงานหะดีษนี้มาจากลุงของท่าน - คือ ท่าน ษุมามะฮ์ - ผู้เป็นพี่ชายของท่านอัล-มุษันนา บิดาของท่าน ...
ทั้งท่านษุมามะฮ์และท่านอัล-มุษันนา เป็นบุตรของท่านอับดุลลอฮ์ ... และท่านอับดุลลอฮ์ ก็เป็นบุตรชายของท่านอนัส บินมาลิก ร.ฎ. ...
ท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา จึงเป็น “เหลนปู่” ของท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ. ...

อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา เป็นผู้รายงานของท่านบุคอรีย์, แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางท่านไม่ให้ความเชื่อถือ แต่ก็เป็นการไม่เชื่อถือในภาพรวม, .. แตกต่างกับท่านบุคอรีย์ที่มองท่านอับดุลลอฮ์ผู้นี้อย่างเป็นกลาง ... คือท่านจะไม่ไม่เน้นหนักข้างฝ่ายใดในระหว่างผู้ที่ยอมรับและไม่ยอมรับ, .. ทั้งๆที่ท่านก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้เข้มงวดในเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้รายงานหะดีษมากที่สุด ยิ่งกว่าผู้บันทึกหะดีษท่านอื่นๆ ........
ท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์เอง ได้เสนอมุมมองของท่านบุคอรีย์เกี่ยวกับท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนาไว้ในอารัมภบท หรือ “มุก็อดดิมะฮ์” ของหนังสือฟัตหุ้ลบารีย์ ... นั่นคือหนังสือ “ฮัดยุส-ซารีย์” หน้า 416 มีข้อความว่า .......
عَبْدُ اللَّـهِ بْنُ الْمُثَنَّى بْنِ عَبْدِ اللَّـهِ بْنِ اَنَسِ بْنِ مَالِكٍ.... قُلْتُ : لَمْ أَرَالْبُخَارِىَّ إحْتَجَّ بِـهِ اِلاَّ فِيْ رِوَايَتِـهِ عَنْ عَمِّـهِ ثُمَامَةَ، فَعِنْدَهُ عَنْـهُ أَحَادِيْثُ ..
“อับดุลลอฮ์ เป็นบุตรของอัล-มุษันนา , อัล-มุษันนาเป็นบุตรของอับดุลลอฮ์, อับดุลลอฮ์เป็นบุตรของท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ. ............. ฉันไม่เคยเห็นว่าท่านบุคอรีย์จะอ้างหรือยอมรับท่านอับดุลลอฮ์ผู้นี้ เว้นแต่ในกรณีที่เขารายงานหะดีษใดมาจากลุงของเขา คือ ท่านษุมามะฮ์ เท่านั้น, ... ซึ่งท่านบุคอรีย์ก็มีบันทึกหะดีษที่ท่านอับดุลลอฮ์ได้รายงานมาจากคุณลุง คือท่านษุมามะฮ์ ไว้หลายหะดีษด้วยกัน” .....
ความหมายของคำกล่าวข้างต้นนี้ก็คือ ท่านบุคอรีย์ถือว่า หากหะดีษใดที่ท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา รายงานมาจากลุงของท่าน คือ ท่านษุมามะฮ์ ท่านบุคอรีย์ก็จะยอมรับหะดีษนั้นเป็นหลักฐานได้โดยตรง, แต่ถ้าเป็นการรายงานมาจากบุคคลอื่น ท่านก็จะไม่ยอมรับ เว้นแต่จะต้องมีการรายงานสอดคล้องหรือยืนยันมาจากผู้รายงานท่านอื่นอีกทีหนึ่ง ....
นี่คือ ข้อเท็จจริงที่ท่านอิบนุ หะญัรฺได้บันทึกไว้ในหนังสือ “ฮัดยุส-ซารีย์” ...
และในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่านบุคอรีย์ ก็มีหะดีษซึ่งท่านอับดุลลอฮ์ ได้รายงานมาจากท่านษุมามะฮ์ อยู่หลายหะดีษด้วยกัน..... และบรรดานักวิชาการต่างก็ยอมรับเป็นเอกฉันท์ว่า เป็นสายรายงานและเป็นหะดีษที่เศาะเหี๊ยะฮ์ จากการบันทึกของท่านบุคอรีย์ทั้งสิ้น ...
เท่าที่ผมได้ตรวจสอบดูแล้ว ปรากฏว่า หะดีษต่างๆที่ท่านบุคอรีย์ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” จากการรายงานของ ท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา, จากท่านษุมามะฮ์ บิน อับดุลลอฮ์, จากท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ. ซึ่งเป็นกระแสรายงานเดียวกันกับหะดีษกระแสที่ 3 เรื่องท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองฯ ที่ผมกำลังวิเคราะห์อยู่นี้ ก็คือ หะดีษที่ 1448, 1450, 1451, 1453, 1454, 1455, 1487, 3106, 5878, 6955 .....
เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ผมจึงขอนำ “สายรายงาน” ของหะดีษต่างๆที่ท่านบุคอรีย์ได้บันทึกไว้ตามหมายเลขหะดีษข้างต้น มาให้อ่านกันดังนี้ ....
حَـدَّثَنَا مُحَمَّدُ بْنُ عَبْدِ اللَّـهِ: قَالَ حَـدَّثَنِيْ اَبِيْ، قَالَ حَـدَّثَنِيْ ثُمَامَةُ اَنَّ اَنَسًا رَضِيَ اللَّـهُ عَنْهُ حَـدَّثَهُ اَنَّ ........
“ท่านมุหัมมัด บิน อับดุลลอฮ์ได้บอกเรา (บุคอรีย์), ... โดยท่านกล่าวว่า บิดาของฉัน (คือ ท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา) ได้บอกฉันว่า ท่านษุมามะฮ์ (บิน อับดุลลอฮ์) ได้บอกว่า ท่าน-อนัส บิน มาลิก ร.ฎ. ได้บอกว่า แท้จริง .......... (แล้วเป็นข้อความของหะดีษ)” ....
จะเห็นได้ว่า สายรายงานนี้ของท่านบุคอรีย์ ก็คือ “สายรายงานเดียวกัน” กับหะดีษกระแสที่ 3 เรื่องท่านนบีย์ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองข้างต้นนั่นเอง ...
หะดีษ 2 บท ... ที่มี “สายรายงานเดียวกัน” และถูกต้องตามเงื่อนไขท่านบุคอรีย์ ... ตามข้อเท็จจริงแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะไปหุก่มว่า บทหนึ่งเป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ และอีกบทหนึ่งเป็นหะดีษเฎาะอีฟ .......
เพราะฉะนั้น สรุปแล้ว หะดีษที่ว่า ... “ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองหลังจากถูกแต่งตั้งเป็นนบีย์แล้ว” - จากกระแสที่สาม - ในทัศนะของผม ถือว่า เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ (ถูกต้อง) โดยปราศจากข้อสงสัย เพราะสายรายงานของมันถูกต้อง ตรงตามตามเงื่อนไขของท่านบุคอรีย์ทุกอย่าง วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
หมายเหตุ.
ผมเข้าใจว่า ตอนที่ท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ กำลังวิเคราะห์หะดีษบทนี้ในหนังสือ “ฟัตหุ้ล บารีย์” แล้วท่านก็สรุปว่าเป็นหะดีษเฎาะอีฟนั้น ท่านคงจะลืมนึกถึงอย่างสนิทในข้อสังเกตที่ท่านได้เขียนไว้เองในหนังสือ“ฮัดยุส-ซารีย์” เกี่ยวกับมุมมองของท่านบุคอรีย์ที่มีต่อลักษณะการรายงานของท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา, ... เพราะมิฉะนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่ท่านจะตัดสินว่า หะดีษนี้เป็นหะดีษเฎาะอีฟ ... ในเมื่อสายรายงานของมันเป็นสายรายงานที่ถูกต้องในทัศนะของท่านบุคอรีย์, ... ตรง ตามข้อสังเกตของท่านทุกอย่าง .....
และ .. แม้ท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ จะได้กล่าวไว้ในตอนหลังว่า ถ้าสมมุติว่าหะดีษบทนี้ถูกต้อง ก็อาจเป็นไปได้ว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องเฉพาะตัว (خُصُوْصِيَّةٌ) ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมเท่านั้น, ...
เรื่องนี้ ผมถือว่า เป็นมุมมองส่วนตัวของท่าน ที่ “อาจจะ” ถูกต้องก็ได้ ...
แต่ถ้าหากเราไปพิจารณาดูมุมมองของนักวิชาการท่านอื่นๆดูบ้าง อาทิเช่น ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์, ท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุ หัมบัล, ท่านมุหัมมัด บินซีรีน, ท่านหะสัน อัล-บัศรีย์ ฯลฯ ก็จะพบว่า บรรดานักวิชาการเหล่านี้ไม่ถือว่า กรณีดังกล่าวในหะดีษ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม, ..... หากแต่เป็นบทบัญญัติที่ประชาชาติมุสลิมทั่วไปสามารถนำมาปฏิบัติได้, ... เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานใดที่จะมาบ่งชี้ว่า เรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องเฉพาะตัวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ดังมุมมองของท่านอิบนุ หะญัรฺ .....
ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการส่วนใหญ่ (ยกเว้นท่านอิหม่ามมาลิก) จึงมีทัศนะว่า วันเวลาที่ประเสริฐที่สุดและดีที่สุดในการทำอะกีเกาะฮ์ก็คือวันที่เจ็ด, แต่หากไม่พร้อม ก็อาจยืดระยะเวลาออกไปได้อีก โดยท่านอิหม่ามอะห์มัดกล่าวว่า ให้ไปทำในวันที่ 14 หรือวันที่ 21 ก็ได้, ส่วนท่านอิหม่ามชาฟิอีย์กล่าวว่า อนุโลมให้ยืดระยะเวลาออกไปจนเด็กคนนั้นบรรลุศาสนภาวะ, และเมื่อเขาบรรลุศาสนภาวะแล้ว ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ใดทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่เขาอีก, แต่หากเขาต้องการจะทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเอง (เหมือนที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัมเคยทำ) ก็เป็นที่อนุญาต ...
ส่วนท่านอิหม่ามมาลิก มีทัศนะว่า การทำอะกีเกาะฮ์ จะต้องทำภายในวันที่เจ็ดนับจากวันที่ทารกคลอดออกมา หากหลังจากนั้น ก็ไม่มีสุนนะฮ์ให้ทำอีก ....
ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่าน ตอนท้ายของหะดีษที่ 1522 มีใจความว่า .. บรรดานักวิชาการเห็นชอบที่จะให้มีการเชือดอะกีเกาะฮ์ให้แก่เด็กทารกในวันที่ 7, ถ้าหากว่าไม่พร้อมในวันที่ 7 ก็ให้เชือดในวันที่ 14, หากยังไม่พร้อมอีก ก็ให้เชือดในวันที่ 21 ...
(โปรดดูรายละเอียดของข้อมูลเกี่ยวกับทัศนะต่างๆเหล่านี้ ได้จากหนังสือ “มะซาอิลอิหม่ามอะห์มัด อิบนุ หัมบัล” ... จากการบันทึกของท่านศอลิห์ บุตรชายของท่าน หมายเลข 621, ... หนังสือ “ฟัตหุ้ล บารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 594-595, ... และหนังสือ “นัยลุ้ล เอาฏ็อรฺ” เล่มที่ 5 หน้า225 เป็นต้น ) .....
สรุปแล้ว นักวิชาการส่วนใหญ่มีทัศนะว่า คำสั่งให้เชือดอะกีเกาะฮ์ในวันที่เจ็ดตามที่มีระบุในหะดีษบางบทนั้น มิใช่เป็นข้อบังคับ, แต่ถือเป็นเวลาที่ดีเลิศเท่านั้น, หากไม่พร้อม ก็สามารถที่จะเลื่อนเวลาออกไปได้ตามความเหมาะสม, ... แม้กระทั่งหากว่า ผู้ใดไม่เคยมีใครทำอะกีเกาะฮ์ให้ตอนเพิ่งคลอด ก็อนุญาตให้แก่ผู้นั้นทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองได้ ดังกล่าวมาแล้ว .....
ท่านอิบนุ อบีย์ชัยบะฮ์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” เล่มที่ 5 หน้า 530 ด้วยสายรายงานที่ถูกต้องจากท่านมุหัมมัด บิน ซีรีน (เป็นตาบิอีน, สิ้นชิวิตปี ฮ.ศ. 110) ซึ่งกล่าวว่า ..
لَوْ اَعْلَمُ اَنَّـهُ لَمْ يُعَـقَّ عَنِّـيْ لَعَقَقْتُ عَنْ نَفْسِيْ
“สมมุติถ้าฉันรู้ว่า ยังไม่เคยมีใครทำอะกีเกาะฮ์ให้ฉันละก็ ฉันก็จะทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวฉันเองอย่างแน่นอน”....
และท่านอิบนุ หัสม์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 7 หน้า 528 ด้วยสายรายงานที่หะสัน (สวยงาม) จากท่านหะสัน อัล-บัศรีย์ (เป็นตาบิอีน, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 110) ซึ่งกล่าวว่า .....
اِذَا لَمْ يُعَـقَّ عَنْكَ فَعُـقَّ عَنْ نَفْسِـكَ
“ หากว่ายังไม่เคยมีใครทำอะกีเกาะฮ์ให้ท่าน ก็ให้ท่านทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวท่านเอง” ....

สรุป.
เมื่อได้พิจารณาข้อมูลต่างๆจากหะดีษที่รายงานมาเกี่ยวกับเรื่องการทำอะกีเกาะฮ์อย่างละเอียดแล้ว ผมจึงมีความเห็นว่า ทัศนะของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ น่าจะเป็นทัศนะที่ถูกต้องที่สุด ...
นั่นคือ การทำอะกีเกาะฮ์ในวันที่เจ็ด มิใช่เป็นข้อบังคับ, แต่ถือเป็นเวลาที่ดีเลิศ (อัฟฎ็อล) คือ ... หากมีความพร้อมก็จะเป็นการดีที่สุดที่จะทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ทารกในวันที่เจ็ดนับจากวันที่เขาคลอดออกมา, แต่หากไม่พร้อม ก็อนุโลมให้ยืดเวลาต่อไปได้จนกว่าจะพร้อม และหากเมื่อใดเขาโตขึ้นโดยยังมิได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่เขาขณะยังเล็กอยู่ ก็ให้เขาทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองได้ ... ตามนัยของหะดีษข้างต้นนี้ ....

วัลลอฮุ อะอฺลัม ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น