อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

หลักฐานของทัศนะที่ว่า การอ่านศ่อละวาตหลังตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกไม่ใช่บทบัญญัติ



โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย



นักวิชาการบางท่านได้อ้างหลักฐานจากหะดีษบางบทและเหตุผลบางประการมาเพื่อยืนยันว่า การอ่านศ่อละวาตแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมหลังจากตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกไม่ใช่เป็นบทบัญญัติ ...
แต่เท่าที่ได้ตรวจสอบดูแล้วปรากฏว่า หลักฐานที่ถูกนำมาอ้างเหล่านั้น บางบทก็มีข้อความไม่ชัดเจนแถมเป็นหะดีษเฎาะอีฟ, และบางบทแม้จะมีข้อความชัดเจน แต่ก็เป็นหะดีษเฎาะอีฟเช่นเดียวกัน ...
ส่วนเหตุผลที่นำมาอ้างก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ดังจะได้อธิบายต่อไป ...
หะดีษและเหตุผลที่นำมาอ้าง จึงไม่สามารถ “จำกัด” บทบัญญัติที่ให้มีการอ่านศ่อละวาตหลังจากตะชะฮ์ฮุดในนมาซ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมทั้งสองตะชะฮ์ฮุดได้ ...
หะดีษเหล่านั้น มีดังต่อไปนี้ ...
หะดีษที่ 1 มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮ์ บินมัสอูด ร.ฎ. ว่า ...
أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كَانَ إذَا قَعَدَ فِى الرَّكْعَتَيْنِ اْلاُوْلَيَيْنِ كَأَنَّهُ عَلَى الرَّضْفِ قُلْتُ : حَتىَّ يَقُوْمَ ؟ قَالَ : حَتىَّ يَقُوْمَ .. وَفِىْ رِوَايَةِ النَّسَائِىِّ قَالَ : ذَاكَ يُرِيْدُ
“แท้จริง ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจะนั่งในสองร็อกอะฮ์แรก(คือนั่งในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก) คล้ายๆกับท่าน(นั่ง)อยู่บนก้อนหินที่ร้อน ฉัน (ชุอฺบะฮ์) กล่าวว่า .. “(ที่นั่งอย่างนั้น)เพราะท่านจะ(รีบ)ยืนหรือ ?” .. เขา (สะอัด บินอิบรอฮีม) ตอบว่า .. “เพราะท่านจะ(รีบ)ยืน” .. (ในสำนวนจากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ ท่านสะอัดตอบว่า “นั่นคือสิ่งที่ท่านต้องการ”) ...
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 982, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1175, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 366, ท่านอะหมัด เล่มที่ 1 หน้า 386, 410, 428, 436, 460, ท่านอิบนุ อบีย์ชัยบะฮ์ เล่มที่ 1 หน้า 329, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 134 และท่านอัล-หากิม เล่มที่ 1 หน้า 402) ...
หมายเหตุ
1. นักวิชาการส่วนใหญ่อธิบายคำกล่าวที่ว่า .. “คล้ายๆกับท่าน(นั่ง)อยู่บนก้อนหินที่ร้อน” .. ว่า เป็นนัยบ่งบอกถึงการรีบเร่งหรือทำเวลาในการนั่งตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก .. คือจะนั่งอ่านเฉพาะถ้อยคำตะชะฮ์ฮุดอย่างเดียวโดยไม่ได้อ่านศ่อละวาตด้วย .. ดังคำกล่าวของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ ในตอนท้ายหะดีษบทนี้ ...
2. คำว่า حَتىَّ ในคำถามของท่านชุอฺบะฮ์ที่ว่า .. حَتىَّ يَقُوْمَ ؟ ในตอนท้ายหะดีษบทนี้ เป็นการถามเหตุผล (حَتىَّ لِلتَّعْلِيْلِ) .. ดังคำอธิบายของท่านอิหม่ามอัซ-ซินดีย์ในหนังสือ “สุนันอัน-นะซาอีย์ เล่มที่ 2 หน้า 595 และท่านอัล-อาบาดีย์ในหนังสือ “เอานุ้ลมะอฺบูด” เล่มที่ 3 หน้า 287) ...
ดังนั้น คำถามของท่านชุอฺบะฮ์ที่ว่า حَتىَّ يَقُوْمَ ؟ .. ก็คือเป็นการถามเหตุผลที่ท่าน นบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั่งในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกคล้ายๆกับการนั่งบนก้อนหินที่ร้อนว่า เพราะท่านจะรีบยืนหรือ ? ...
ชี้แจง
หะดีษบทนี้ใช้อ้างเป็นหลักฐานเรื่องไม่ต้องอ่านศ่อละวาตให้แก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมหลังจากตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกไม่ได้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
1. หะดีษบทนี้เป็นหะดีษเฎาะอีฟเพราะสายรายงานขาดตอน ..
ทั้งนี้ เพราะสายรายงานของหะดีษนี้จากทุกการบันทึกในตำราทุกเล่ม เป็นสายรายงานซึ่งมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน! .. คือ จากท่านอบูอุบัยดะฮ์ ซึ่งอ้างรายงานมาจากบิดาของท่าน คือท่านอับดุลลอฮ์ บินมัสอูด ร.ฎ. ...
ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ได้กล่าวหลังจากนำเสนอหะดีษบทนี้ว่า ...
هَذَا حَدِيْثٌ حَسَنٌ، إِلاَّ أَنَّ أَبَاعُبَيْدَةَ لَمْ يَسْمَعْ مِنْ أَبِيْهِ
“นี่เป็นหะดีษหะซัน, แต่ท่านอบูอุบัยดะฮ์ ไม่เคยได้ยิน(หะดีษใด)จากบิดาของท่าน” ...
ความหมายจากคำกล่าวนี้ของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ก็คือ หะดีษนี้เป็นหะดีษที่สายรายงานขาดตอน ซึ่งถือว่าเป็นหะดีษเฎาะอีฟประเภทหนึ่ง ...
มีนักวิชาการหลายท่านที่กล่าวสอดคล้องกับท่านอัต-ติรฺมีซีย์ว่า ท่านอบูอุบัยดะฮ์ ไม่เคยได้รับฟังหะดีษใดจากท่านอับดุลลอฮ์ บินมัสอูด ร.ฎ. ผู้เป็นบิดา และสิ่งนี้ก็เป็นการยอมรับจากท่านอบู อุบัยดะฮ์เอง .. ดังมีบันทึกในหนังสือ “ตะฮ์ซีบุตตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 5 หน้า 65 - 66 ...
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการบันทึกประวัติท่านอบูอุบัยดะฮ์ในหนังสือ “ตักรีบุตตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 2 หน้า 448 ว่า ...
وَالرَّاجِحُ أَنَّهُ لاَ يَصِحُّ سَمَاعُهُ مِنْ أَبِيْهِ
“ทัศนะที่มีน้ำหนักคือ ไม่ถูกต้องที่ว่า ท่านอบูอุบัยดะฮ์จะเคยได้ยินหะดีษใดจากบิดาของท่าน” ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มัจมั๊วะอฺ” เล่มที่ 3 หน้า 460 ว่า ...
قَالَ التِّرِمِذِىُّ : هُوَ حَدِيْثٌ حَسَنٌ، وَلَيْسَ كَمَا قَالَ، لأَنَّ أَبَا عُبَيْدَةَ لَمْ يَسْمَعْ أَبَاهُ وَلَمْ يُدْرِكْهُ بِاتِّفَاقِهِمْ، وَهُوَ حَدِيْثٌ مَنْقَطِعٌ ...
“ท่านอัต-ติรฺมีซีย์กล่าวว่า .. หะดีษนี้เป็นหะดีษหะซัน, .. ข้อเท็จจริงมิใช่เป็นดังที่ท่านอัต-ติรฺมีซีย์กล่าว เพราะท่านอบูอุบัยดะฮ์ไม่เคยได้ยินบิดาของท่าน และไม่ทันได้เจอกับบิดาของท่าน ด้วยการเห็นพ้องกันของบรรดานักวิชาการ หะดีษนี้จึงเป็นหะดีษที่(สายรายงาน)ขาดตอน” ...
จึงเป็นเรื่องแปลกที่ท่านอัต-ติรฺมีซีย์กล่าวว่า “หะดีษนี้หะซัน” .. ทั้งๆที่ท่านก็ได้ชี้แจงข้อบกพร่องแล้วว่า สายรายงานของมันขาดตอน อันเป็นลักษณะหนึ่งของหะดีษเฎาะอีฟ ตามหลักวิชามุศฏอลาห์หะดีษ ...
แม้ท่านอิบนุ อบีย์ชัยบะฮ์จะมีบันทึกในหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” เล่มที่ 1 หน้า 329 ด้วยสายรายงานที่ถูกต้องมาว่า ท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. ก็นั่งตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกในลักษณะเดียวกันนี้ แต่รายงานดังกล่าวนอกจากจะเป็นหะดีษเมากูฟซึ่งไม่ถือว่าเป็นหลักฐานแล้ว ก็ยังมีอีกประการหนึ่งที่จะต้องพิจารณา คือ ...
2. หะดีษนี้ ไม่มีข้อความใดระบุเรื่องการ “อ่าน” หรือ “ไม่อ่าน” ศ่อละวาตหลังตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก ...
เพราะแม้จะสมมุติว่า หะดีษบทนี้เป็นหะดีษหะซันดังคำกล่าวของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ ...
แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ปรากฏมีข้อความใดในหะดีษนี้ที่บ่งบอก --ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม -- ว่า การรีบเร่งดังกล่าวหมายถึงท่านนบีย์ไม่อ่านศ่อละวาตในการนั่งครั้งนี้
หรืออีกนัยหนึ่ง การนั่งของท่านนบีย์ในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกที่ส่อว่าเป็นการนั่งช่วงสั้นๆตามนัยของหะดีษนี้ ความหมายก็คือ ระยะเวลาการนั่งในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกของท่าน -- แม้จะมีการอ่านศ่อละวาตด้วย -- ก็ยังสั้นมากหากนำไปเปรียบเทียบกับการนั่งในตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายซึ่งมีระยะเวลายาวนานกว่า เพราะการนั่งในตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย นอกจากการอ่านตะชะฮ์ฮุดและศ่อละวาตแล้ว ยังมีการอ่านตะเอาวุส และดุอาต่างๆอีกมากมาย .. ดังคำอธิบายของท่านอัช-เชากานีย์ที่ผ่านมาแล้ว ...
ดังนั้น ความหมายของคำว่า “เหมือนการนั่งบนก้อนหินร้อนๆ” ในหะดีษบทนี้จึงไม่ใช่หลักฐานสมบูรณ์หรือชัดเจนเพียงพอที่จะมาจำกัดหรือว่าให้ละทิ้ง “สิ่งที่เป็นบทบัญญัติ” ในภาพรวมของตะชะฮ์ฮุดทั้งสอง – คือการอ่านศ่อละวาตแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม – นอกจากเป็นเพียงการคาดเดาหรือการเข้าใจเอาเองเท่านั้น
หะดีษที่ 2 มีรายงานมาจากท่านอิบนุมัสอูด ร.ฎ. ว่า ...
عَلَّمَنِىْ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ التَّشَهُّدَ فِىْ وَسَطِ الصَّلاَةِ وَفِىْ آخِرِهَا، ..... فَكَانَ يَقُوْلُ إِذَا جَلَسَ فِىْ وَسَطِ الصَّلاَةِ وَفِىْ آخِرِهَا عَلَى وَرَكِهِ الْيُسْرَى : اَلتَّحِيَّاتُ للهِ، اَلسَّلاَمُ عَلَيْكَ أَيُّهَاالنَّبِىُّ وَرَحْمَةُ اللهِ وَبَرَكَاتُهُ .. إلخ .. ثُمَّ إِنْ كَانَ فِىْ وَسَطِ الصَّلاَةِ نَهَضَ حِيْنَ يَفْرَغُ مِنْ تَشَهُّدِهِ، وَإِنْ كَانَ فِىْ آخِرِهَا دَعَا بَعْدَ تَشَهُّدِهِ بِمَا شَاءَ اللهُ أَنْ يَدْعُوَ، ثُمَّ يُسَلِّمُ ...
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สอนฉันเรื่องการอ่านตะชะฮ์ฮุดในตอนกลางนมาซและในตอนท้ายนมาซ ..... แล้วท่านจะกล่าวขณะนั่งในตอนกลางนมาซและตอนท้ายนมาซบนสะโพกซีกซ้ายของท่าน (คือนั่งแบบตะวัรฺรุก) ว่า ...
اَلتَّحِيَّاتُ للهِ، اَلسَّلاَمُ عَلَيْكَ أَيُّهَاالنَّبِىُّ وَرَحْمَةُ اللهِ وَبَرَكَاتُهُ .. ... (จนจบ) ..
หลังจากนั้น หากเป็นตอนกลางนมาซ(คือตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก) ท่านก็จะลุกขึ้นหลังจากอ่านตะชะฮ์ฮุดเสร็จสิ้นแล้ว และหากว่าเป็นตอนปลายนมาซ(ตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย) หลังจากตะชะฮ์ฮุดแล้ว ท่านก็จะอ่านดุอาที่อัลลอฮ์ประสงค์จะให้ท่านอ่าน จากนั้นท่านก็ให้สล่าม” ...
(บันทึกโดย ท่านอะห์มัด เล่มที่ 1 หน้า 459 และท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 708)
ชี้แจง
ผู้รายงานของหะดีษนี้ทุกท่านเชื่อถือได้ (ثِقَةٌ) ยกเว้นท่านมุหัมมัด บินอิสหากซึ่งมีปัญหาด้านความทรงจำเล็กน้อย ดังคำวิจารณ์ของท่านอัษ-ษะฮะบีย์ที่จะกล่าวต่อไป ...
ท่านมุหัมมัด บินอิสหากจึงถือว่ามีเป็นคุณสมบัติเป็นเพียงผู้รายงานหะดีษหะซันไม่ใช่หะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ ...
ดังนั้น “สายรายงาน” ของหะดีษนี้จึงเป็นสายรายงานที่หะซัน ...
แต่สิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือ “ข้อความ” บางตอนของหะดีษบทนี้ ...
นั่นคือ ข้อความที่การกล่าวถึง “การนั่งตะวัรฺรุกในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก” และกล่าวถึง “การนั่งและการลุกขึ้นจากตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก” ...
เรื่องการอ่านตะชะฮ์ฮุดจากรายงานของท่านอิบนุมัสอูด ร.ฎ. มีรายงานมาหลายกระแส.. จากผู้รายงานที่เชื่อถือได้จำนวนมาก .. ดังการบันทึกของท่านบุคอรีย์, ท่านมุสลิม, ท่านอบูดาวูด, ท่านอัน-นะซาอีย์, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์, ท่านอิบนุมาญะฮ์, ท่านอะห์มัด, ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์, ท่านอบูอะวานะฮ์ ท่านอัล-บัยฮะกีย์และผู้บันทึกท่านอื่นๆ ...
(ดูข้อมูลจากบันทึกของท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 831, 835, 1202, 6230, 6265, 6328, 7381, ท่านมุสลิม หะดีษที่ 55, 56, 57, 58, 59/402, ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 968, 969, 970, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1276, 1278 ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 289, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 899 ท่านอะห์มัด เล่มที่ 1 หน้า 414, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 138 ฯลฯ ...
ในที่นี้ ผมจะเสนอตัวอย่างหะดีษนี้ 3 กระแส ซึ่งกระแสแรกจากการบันทึกของท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 831 และผู้บันทึกท่านอื่นๆ .. โดยสืบสายรายงานมาจากท่านอัล-อะอฺมัช, จากท่านชะกีก บินสะละมะฮ์, จากท่านอิบนุมัสอูด ร.ฎ. ซึ่งกล่าวว่า ...
“เมื่อก่อน เวลาพวกเรานมาซข้างหลังท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พวกเราจะกล่าวว่า .. اَلسَّلاَمُ عَلَى جِبْرِيْلَ، اَلسَّلاَمُ عَلَى مِيْكَائِيْلَ، اَلسَّلاَمُ عَلَى فُلاَنٍ وَفَلاَنٍ .. ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงหันมาหาพวกเราแล้วกล่าวว่า .. แท้จริง พระองค์อัลลอฮ์คือ اَلسَّلاَمُ, ดังนั้นเมื่อพวกท่านคนใดนมาซ ก็ให้เขากล่าวว่า ..
اَلتَّحِيَّاتُ للهِ، وَالصَّلَوَاتُ وَالطَّيِّبَاتُ، اَلسَّلاَمُ عَلَيْكَ أَيَّهَاالنَِّبىُّ وَرَحْمَةُ اللهِ وَبَرَكَاتُهُ، اَلسَّلاَمُ عَلَيْنَا وَعَلَى عِبَادِ اللهِ الصَّالِحِيْنَ ..
... เพราะเมื่อพวกท่านกล่าวดังนี้ สล่ามหรือความสันติสุขนั้น ก็จะประสบแก่บ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ทั้งมวล, ทั้งที่อยู่บนชั้นฟ้าและแผ่นดิน” ...
แล้วท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็สอนข้อความตะชะฮ์ฮุดต่อไปว่า ...
أَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَّمَدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ ...
กระแสที่สอง ท่านหุศ็อยน์ บินอับดุรฺเราะห์มาน, ได้รายงานมาจากท่านอบีย์วาอิล จากท่านอิบนุมัสอูด ร.ฎ. ด้วยข้อความที่คล้ายคลึงกับรายงานข้างต้นนี้ ...
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 1202 และผู้บันทึกท่านอื่นๆ) ...
กระแสที่สาม ท่านญะรีรฺ ได้รายงานจากท่านมันศูรฺ, จากท่านอบีย์วาอิล, จากท่านอิบนุมัสอูด ร.ฎ. เหมือนกับรายงานของท่านอะอฺมัชและท่านอบีย์วาอิลข้างต้น แต่มีข้อความเพิ่มเติมว่า .. ثُمَّ يَتَخَيَّرُ مِنَ الْمَسْأَلَةِ مَا شَاءَ (หลังจากนั้น ให้เขาเลือกขออะไรก็ได้ที่เขาประสงค์) ...
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 6328, และท่านมุสลิม หะดีษที่ 55/402)
ทั้งท่านอัล-อะอฺมัช, ท่านชะกีก บินสะละมะฮ์, ท่านหุศ็อยน์ บินอับดุรฺเราะห์มาน, ท่านอบีย์วาอิล, ท่านญะรีรฺ และท่านมันศูรฺ ผู้รายงานหะดีษเรื่องการอ่านตะชะฮ์ฮุดจากท่านอิบนุมัสอูด ร.ฎ.ข้างต้นนี้ ล้วนเป็นผู้รายงานที่ ثِقَةٌ (เชื่อถือได้)ทั้งสิ้น ...
และทุกๆกระแสที่ถูกต้องเหล่านี้จะมีข้อความตรงกัน คือเป็นเพียงการสอนถ้อยคำตะชะฮ์ฮุด .. และในบางรายงาน (เช่นในกระแสที่สาม) ก็มีเพิ่มเติมการขอดุอาในตอนท้ายตะชะฮ์ฮุด เท่านั้น ...
ไม่มีกระแสใดจะกล่าวถึงเรื่องการนั่งตะวัรฺรุกในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก และไม่มีกระแสใดกล่าวถึงเรื่องการนั่งและการลุกขึ้นจากตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก .. ดังรายงานของท่านมุหัมมัด บินอิสหากข้างต้น …
การกล่าวถึงการนั่งตะวัรฺรุกในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก, การนั่งและการลุกขึ้นจากตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกโดยอ้างรายงานมาจากท่านอิบนุมัสอูด ร.ฎ. จึงเป็นการ “รายงานเดี่ยว” ของท่านมุหัมมัด บินอิสหาก ร.ฎ. ...
ท่านอัษ-ษะฮะบีย์ – หลังจากได้ตีแผ่รายนามนักวิชาการทั้งที่ให้ความเชื่อถือและไม่ให้ความเชื่อถือท่านมุหัมมัด บินอิสหากแล้ว - ได้กล่าวสรุปประวัติของท่านมุหัมมัด บินอิสหากในหนังสือ “มีซาน อัล-เอี๊ยะอฺติดาล” เล่มที่ 3 หน้า 475 ว่า ...
فَالَّذِىْ يَظْهَرُلِىْ أَنَّ ابْنَ إِسْحاَقَ حَسَنُ الْحَدِيْثِ، صَالِحُ الْحَالِ صَدُوْقٌ، وَمَا انْفَرَدَ بِهِ فَفِيْهِ نَكَارَةٌ، فَإِنَّ فِىْ حِفْظِهِ شَيْأً.
“สิ่งที่ปรากฏในมุมมองของฉันก็คือ มุหัมมัด บินอิสหาก เป็นผู้รายงานหะดีษที่หะซันและสภาพดี พอจะเชื่อถือได้, แต่สิ่งใดที่เขารายงานมาเพียงลำพัง ในสิ่งนั้นจะเป็นมุงกัรฺ เพราะในความทรงจำของเขามีปัญหา” ...
โดยนัยนี้ การรายงานของท่านมุหัมมัด บินอิสหากเรื่องการนั่งตะวัรฺรุกในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกก็ดี, การนั่งและการลุกขึ้นยืนหลังจากตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกก็ดี ถือเป็นข้อความที่เป็นมุงกัรฺ (คือเฎาะอีฟมากและเชื่อถือไม่ได้) เพราะมีท่านมุหัมมัดเพียงผู้เดียวที่อ้างรายงานข้อความนี้จากท่านอิบนุมัสอูด ร.ฎ. โดยไม่มีรายงานจากผู้ที่เชื่อถือได้อื่นใดมาสนับสนุนด้วยเลย ...
หะดีษที่ 3. มีรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ว่า ...
أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لاَ يَزِيْدُ فِى الرَّكْعَتَيْنِ عَلَى التَّشَهُّدِ ...
“แท้จริง ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะไม่(อ่าน)เพิ่มเติมใน(การนั่งหลังจาก) สองร็อกอะฮ์ ให้มากไปกว่า(อ่าน)ตะชะฮ์ฮุด” ...
(บันทึกโดยท่านอบูยะอฺลา หะดีษที่ 4373) ...
ชี้แจง
หะดีษบทนี้ รายงานโดยท่าน “อบู อัล- เญาซาอ์”, จากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ...
ท่านอบู-อัล-เญาซาอ์ มีชื่อจริงว่า “เอาส์ บิน อับดุลลอฮ์” สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 83 .. เป็นผู้รายงานที่ ثِقَةٌ (เชื่อถือได้) และได้รับการยอมรับจากผู้บันทึกหะดีษทั้งหกท่าน คือท่านบุคอรีย์, ท่านมุสลิม, ท่านอบูดาวูด, ท่านอัน-นะซาอีย์, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ และท่านอิบนุมาญะฮ์ ...
แต่ในกรณีหะดีษข้างต้นที่อ้างว่า ท่านอบู อัล-เญาซาอ์ได้รายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ.นี้ มีลักษณะเป็นหะดีษมุนกอเฏี๊ยะอ์หรือหะดีษที่สายรายงานขาดตอน เนื่องจากไม่ปรากฏว่าท่านอบู อัล-เญาซาอ์จะเคยได้ยินหะดีษใดจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ...
หะดีษบทนี้จึงถือเป็นหะดีษเฎาะอีฟ เพราะมีจุดบกพร่องดังกล่าว ...
ท่านอิบนุอับดิลบัรฺร์ กล่าวว่า ...
أَنَّهُمْ يَقُوْلُوْنَ : إِنَّ ابْنَ الْجَوْزَاءِ لاَ يُعْرَفُ لَهُ سَمَاعٌ مِنْ عَائِشَةَ، وَحَدِيْثُهُ عَنْهَا إِرْسَالٌ
“บรรดานักวิชาการกล่าวกันว่า แท้จริงท่านอบู อัล-เญาซาอ์ ไม่เป็นที่รู้กันว่า จะเคยได้ยิน(หะดีษใด)จากท่านหญิงอาอิชะฮ์, หะดีษที่เขารายงานจากท่านจึงมีลักษณะอิรฺซาล (คือขาดตอน) ...
(จากหนังสือ “اْلإنْصَافُ فِيْمَا بَيْنَ الْعُلَمَاءِ مِنَ اْلإِخْتِلاَفِ” ของท่านอิบนุ อับดิลบัรฺร์ หน้า 9 ) ...
และท่านบุคอรีย์ ก็ได้กล่าววิจารณ์หะดีษบทหนึ่งที่ท่านอบู อัล-เญาซาอ์ ได้อ้างรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ว่า ...
فِىْ إِسْنَادِهِ نَظَرٌ
“ในสายรายงานของมัน มีสิ่งจะต้องพิจารณา” ...
ซึ่งท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ได้อธิบายคำกล่าวนี้ของท่านบุคอรีย์ ว่า ...
يُرِيْدُ أَنَّهُ لَمْ يَسْمَعْ مِنْ مِثْلِ ابْنِ مَسْعُوْدٍ وَعَائِشَةَ وَغَيْرِهِمَا لاَ أَنَّهُ ضَعِيْفٌ عِنْدَهُ ..
ท่านบุคอรีย์หมายถึงว่า เขา (อบู อัล-เญาซาอ์) ไม่เคยได้ยิน(หะดีษ)จากอย่างเช่นท่านอิบนุอับบาส, ท่านหญิงอาอิชะฮ์ และ(เศาะหาบะฮ์)ที่อื่นจากสองท่านนั้น,..มิใช่หมายความว่า เขาเป็นผู้รายงานที่เฎาะอีฟสำหรับท่าน” ...
(จากหนังสือ “ตะฮ์ซีบุตตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 1 หน้า 336) ...
หะดีษบทนี้ จึงเป็นหะดีษที่เฎาะอีฟ เพราะสายรายงานขาดตอน ดังคำกล่าวของท่านอิบนุอับดุลบัรฺร์ และท่านบุคอรีย์ข้างต้น ...
ส่วน “เหตุผล” ที่อ้างว่า ไม่มีบทบัญญัติให้อ่านศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกก็คือ เหตุผลที่ท่านอิบนุ้ลก็อยยิม อัล-ญูซียะฮ์ได้กล่าวในหนังสือ “ซาอุ้ลมะอาด” เล่มที่ 1 หน้า 83 ว่า ...
ไม่มีรายงานใดๆจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า ท่านจะเคยอ่านศ่อละวาตในการนั่งตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก! ...
คำตอบในกรณีนี้ก็คือ ...
1. ไม่ปรากฏมีหลักฐานจากหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์บทใดเช่นกันที่ระบุว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะเคยอ่านศ่อละวาตในการนั่งตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย! ...
เพราะ .. หลักฐานที่ถูกต้องทั้งหมดเรื่องการอ่านศ่อละวาตในการนั่งตะชะฮ์ฮุด จะเป็นหลักฐานประเภท مُطْلَقٌ -- คือครอบคลุมทั้งสองตะชะฮ์ฮุด -- ดังกล่าวมาแล้ว ...
2. การนั่งอ่านศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นสิ่งที่มีรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ดังหะดีษจากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1719 และท่านอบู อะวานะฮ์ เล่มที่ 2 หน้า 324 ...
จริงอยู่ แม้การนั่งอ่านศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกดังที่มีระบุในหะดีษบทนี้ เป็นเรื่องการนมาซตอนกลางคืน (صَلاَةُ اللَّيْلِ) แต่สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การอ่านในนมาซก็ดี, การรุกั๊วะอฺ, การสุญูด, การนั่งตะชะฮ์ฮุด, ตลอดจนซิกรุ้ลลอฮ์ที่ใช้อ่านในอิริยาบถต่างๆในนมาซก็ดี ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นนมาซฟัรฺฎูหรือนมาซสุนัตดังเป็นที่ทราบกันดี ...
สรุป
1. การอ่านศ่อละวาตให้แก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในตะชะฮ์ฮุด ถือเป็นบทบัญญัติ .. ตามความเห็นสอดคล้องกันของนักวิชาการ ...
ส่วนความขัดแย้งที่ว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นสุนัตหรือเป็นวาญิบ เป็นเรื่องยากที่จะตัดสิน เพราะหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ทุกบทที่สั่งให้อ่านศ่อละวาต ล้วนมีช่องทางให้มองได้ทั้งสองมุม ผมจึงของดเว้นที่จะออกความเห็นในกรณีนี้ ...
2. คำสั่งให้อ่านศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุดดังกล่าว ครอบคลุมทั้งตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกและตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย เพราะไม่มีหลักฐานบทใดมาจำกัดคำสั่งดังกล่าวว่า หมายถึงตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายเท่านั้น ...
3. อนึ่ง หะดีษบางบทที่มีรายงานมาว่า คำสั่งให้อ่านศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุด เป็นเรื่องจำกัดเฉพาะตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย แต่เมื่อตรวจสอบดูแล้ว ไม่ปรากฏว่า จะมีบทใดมีน้ำหนักพอที่จะมาจำกัดคำสั่งให้อ่านศ่อละวาตที่ครอบคลุมทั้งสองคะชะฮ์ฮุดได้ ...
เพราะฉะนั้น การอ่านศ่อละวาตให้แก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในตะชะฮ์ฮุดของการนมาซจึงมิใช่เป็นเรื่องเฉพาะตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย แต่ถือว่าเป็นบทบัญญัติในทั้งสองตะชะฮ์ฮุด ...
4. ส่วนที่มีบันทึกในตำราของมัษฮับชาฟิอีย์ที่กล่าวว่า วาญิบให้อ่านศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุดทั้งสองเพียงแค่คำว่า .. اَللَّهُمَّ صَلِّ عَلَى مُحَمَّدٍ โดยไม่ต้องอ่านศ่อละวาตอิบรอฮีมียะฮ์ คือ كَمَا صَلَّيْتَ عَلَى إِبْرَاهِيْمَ وَعَلَى آلِ إِبْرَاهِيْمَ وَعَلَى آلِ مُحَمَّدٍ จนจบด้วยนั้น ...
ทัศนะดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นที่ไม่มีหลักฐานบทใดมารองรับ จึงได้รับการคัดค้านจากนักวิชาการจำนวนมากและจะนำมาปฏิบัติตามไม่ได้ ..
วัลลอฮุ อะฮลัม ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น