อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558

หลักเกณฑ์ของการละหมาด ย่อ รวม



ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม

อัสลามมูอาลัยกุม อาจารย์ครับ ขอทราบหลักเกณฑ์ของการละหมาด ย่อ รวม ว่ามีหลักการอย่างไร กรณีใดบ้าง

ตอบ

วะอลัยกุมุสสลาม ..

เรื่องละหมาดย่อ คือละหมาดประเภท 4 ร็อกอะฮ์ เราทำเพียง 2 ร็อกอะฮ์ เป็นบทบัญญัติเฉพาะคนเดินทางเท่านั้น คนอยู่บ้านไม่มีสิทธิ์ทำละหมาดย่อไม่ว่าในกรณีใดๆ ส่วนละหมาดรวม คือละหมาดสองเวลา เรามาทำรวมกันในเวลาใดเวลาหนึ่ง เป็นเพียง "ข้อผ่อนผัน" สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกที่จะทำแต่ละละหมาดในเวลาของมัน ศาสนาจึงอนุโลมให้เขาทำละหมาด 2 คู่คือละหมาดซูอ์รี่กับละหมาดอัศรี่คู่หนึ่ง, ละหมาดมัคริบกับละหมาดอิชาอ์อีกคู่หนึ่ง ในเวลาใดเวลาหนึ่งของคู่ของมัน ละหมาดรวมจึงสามารถกระทำได้ ไม่ว่าคนอยู่ที่บ้านหรือคนเดินทางถ้าจำเป็น ..

 ที่ผมพูดว่าละหมาดรวม "เป็นข้อผ่อนผัน" ถ้าจำเป็นไม่ว่าคนอยู่บ้านหรือคนเดินทางก็เพราะพื้นฐานการละหมาดเป็นบทบัญญัติที่ "ถูกกำหนดเวลาชัดเจน" สำหรับผู้ศรัทธา หมายความว่า ตามปกติ เราจะทำละหมาดใดๆก่อนเวลาของมันหรือหลังเวลาของมันไม่ได้ เหมือนกับการรับประทานเนื้อหมูซึ่งปกติก็เป็นเรื่องต้องห้าม แต่ถ้าฉุกเฉิน ศาสนาก็ "ผ่อนผัน" ให้เรารับประทานได้ เรื่องการละหมาดก็เช่นเดียวกันคือถ้า "จำเป็น" หรือไม่สะดวกจะทำละหมาดในเวลาของมัน ตัวอย่างเช่น แพทย์ผ่าตัดซึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงผ่าตัดคนไข้จนละทิ้งคนไข้ที่กำลังผ่าตัดไปละหมาดเมื่อถึงเวลาไม่ได้, หรือคนทำงานเกี่ยวกับการซ่อมเครื่องยนตร์ซึ่งเนื้อตัวมอมแมมน้ำมันเครื่องตลอดเวลา จะอาบน้ำทุกครั้งเมื่อถึงเวลาละหมาดก็ไม่สะดวก, หรือคนป่วยหนักที่ไม่สะดวกในการทำละหมาดในเวลาของมัน ฯลฯ ศาสนาก็ "ผ่อนผัน" ให้เขาละหมาดรวมได้ ..

 สรุปแล้วหลักเกณฑ์เรื่องละหมาดรวมกับละหมาดย่อจึงแตกต่างกันคือ
 "ละหมาดย่อเพราะเดินทาง ละหมาดรวมเพราะจำเป็น" ..

หมายความว่า คนอยู่บ้านละหมาดรวมได้ (ถ้าจำเป็น)แต่จะละหมาดย่อไม่ได้ เหมือนกับคนเดินทางทำละหมาดย่อได้ แต่จะละหมาดรวมไม่ได้ถ้าไม่จำเป็น

ซึ่งเรื่องนี้ นักวิชาการหลายท่านยังเข้าใจผิดว่า หลักเกณฑ์ของละหมาดย่อและละหมาดรวมสำหรับคนเดินทางแล้ว เหมือนกัน ..
 คือถ้าออกเดินทางเมื่อไรก็สามารถละหมาดทั้ง "ย่อ" และ "รวม" ได้ทันที โดยไม่คำนึงว่า ตอนจะทำละหมาดรวมนั้น มีความจำเป็น เช่น รีบด่วนในการเดินทางหรือไม่ เป็นต้น ..

 ส่วนรายละเอียดและเงื่อนไขอื่นๆของละหมาดย่อและละหมาดรวม คุณต้องศึกษาเพิ่มเติมจากตำราหรือจากท่านผู้รู้ก็ได้ครับ

วัลลอฮุ อะอฺลัม .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น