อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การอ่านศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุด เป็นสุนัตหรือเป็นวาญิบ ?


โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย


ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การอ่านศ่อละวาตหลังจากตะชะฮ์ฮุด ถือเป็น “บทบัญญัติ” ในนมาซ .. ดังหลักฐานที่ได้อธิบายผ่านมาแล้วนั้น แต่นักวิชาการก็ยังขัดแย้งกันในประเด็นที่ว่า บทบัญญัติการอ่านศ่อละวาตดังกล่าว .. โดยเฉพาะหลังจากตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย .. เป็นวาญิบหรือเป็นสุนัต ? ...
นักวิชาการในอดีตส่วนมาก อาทิเช่นท่านอบูหะนีฟะฮ์, ท่านอิหม่ามมาลิก ตลอดจนสานุศิษย์ของทั้งสองท่าน, ท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์, ท่านอัล-เอาซาอีย์ เป็นต้น กล่าวว่า การอ่านศ่อละวาตหลังจากตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย เป็นสุนัต! ...
หมายความว่า หากผู้ใดนมาซโดยไม่อ่านศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายของเขา ก็ไม่ทำให้เสียนมาซแต่อย่างใด ...
แต่นักวิชาการในอดีตบางท่าน อาทิเช่น ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์, ท่านอิหม่ามอะห์มัดจากรายงานครั้งหลังสุดของท่าน, ท่านอัช-ชะอฺบีย์, ท่านอิบนุลอะรอบีย์ เป็นต้น กล่าวว่า การอ่านศ่อละวาตหลังจากตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายเป็นวาญิบ หากใครไม่อ่านศ่อละวาต การนมาซของเขาก็ใช้ไม่ได้ ...
เศาะหาบะฮ์บางท่าน เช่นท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ, บุตรชายของท่าน คือท่านอับดุลลอฮ์, และท่านอิบนุมัสอูด ร.ฎ. ก็มีทัศนะว่า การอ่านศ่อละวาตหลังจากตะชะฮ์ฮุด ถือเป็นวาญิบในการนมาซเช่นเดียวกัน ...
สำหรับนักวิชาการยุคหลังหรือยุคปัจจุบันเท่าที่ทราบก็คือ ท่านเช็คมุหัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานีย์ซึ่งมีทัศนะว่า การอ่านศ่อละวาตแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมหลังจากตะชะฮ์ฮุด ถือเป็นวาญิบ .. มิใช่เฉพาะในตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายเท่านั้น แต่น่าจะรวมถึงตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกด้วย .. ซึ่งท่านอัล-อัลบานีย์อ้างว่า เป็นทัศนะของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์จากหนังสือ “อัล-อุมม์” เล่มที่ 1 หน้า 102 ดังจะถึงต่อไป ...
(จากหนังสือ “ศิฟะตุ ศ่อลาติ้นนบีย์” ของท่านอัล-อัลบานีย์ หน้า 170, 181-182)
ส่วนท่านเช็คบินบาสซึ่งเป็นนักวิชาการยุคปัจจุบันอีกท่านหนึ่งมีทัศนะว่า การอ่านศ่อละวาตแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมหลังจากตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกเป็นสุนัต แต่หลังจากตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายเป็นวาญิบ! .. ซึ่งทัศนะของท่านเช็คบินบาสดัง กล่าวนี้ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ท่านเอาหลักฐานใดมาจำแนกว่าการศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกเป็นสุนัต และการศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายเป็นวาญิบ ...
เพราะหลักฐานที่นำมาอ้างเรื่องการอ่านศ่อละวาตหลังตะชะฮ์ฮุดทั้งสองก็คือหลักฐานบทเดียวกัน ...
ที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดสำหรับท่านเช็คบินบาสในกรณีนี้ก็คือ ถ้ามองว่าการอ่านศ่อละวาตหลังตะชะฮ์ฮุดเป็นวาญิบ ก็ต้องเป็นวาญิบในทั้งสองตะชะฮ์ฮุด ..
หรือถ้ามองว่าเป็นสุนัต ก็ต้องเป็นสุนัตในทั้งสองตะชะฮฺฮุด เพราะไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องบทใดมาแบ่งแยกการอ่านศ่อละวาตในสองตะชะฮ์ฮุดนั้นว่า นั่นเป็นสุนัต นี่เป็นวาญิบ .. ดังรายละเอียดที่จะอธิบายในตอนต่อไป ...
ท่านอัช-เชากานีย์ เจ้าของหนังสือ “นัยลุ้ลเอาฏอรฺ” ได้นำหลักฐานจากหะดีษบางบทมาโต้แย้งและหักล้างหลักฐานของผู้ที่มีทัศนะว่าการอ่านศ่อละวาตหลังตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายเป็นวาญิบ แล้วท่านก็กล่าวสรุปว่า การอ่านศ่อละวาตหลังจากตะชะฮ์ฮุด .. ทั้งตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ในการนมาซ .. เป็นสุนัต ...
(สรุปจากหนังสือ “นัยลุ้ลเอาฏอรฺ” เล่มที่ 2 หน้า 321-324) ...
ผมจะไม่นำเอารายละเอียดความขัดแย้งตลอดจนหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายอ้างอิงเรื่องวาญิบหรือสุนัตการอ่านศ่อละวาตหลัง “ตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย” มาวิเคราะห์ ณ ที่นี้ เพราะจะทำให้ข้อเขียนนี้ยืดเยื้อและออกนอกประเด็นเกินไป และผมก็ไม่กล้าตัดสินความผิดถูกของ 2 ทัศนะที่ขัดแย้งกันในเรื่องสุนัต-วาญิบนี้ด้วย เพราะหลักฐานที่แต่ละฝ่ายนำมาอ้างค่อนข้างก้ำกึ่งกัน และหลายบทก็เป็นหะดีษเดียวกันด้วยซ้ำไป ...
ความขัดแย้งเรื่องวาญิบ – สุนัต จึงเป็นเพียงการ “มองต่างมุม” ของนักวิชาการในความหนัก - เบาของคำสั่งท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเท่านั้น ...
ตัวอย่างเช่น “คำสั่ง” ให้อ่านศ่อละวาตจากหะดีษของท่านฟุฎอละฮ์ บิน อุบัย ร.ฎ. ที่ว่า ...
أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ رَأَى رَجُلاً يُصَلِّىْ، لَمْ يَحْمَدِاللهَ وَلَمْ يُمَجِّدْهُ وَلَمْ يُصَلِّ عَلَى النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَقَالَ النَّبِىُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : عَجَّلَ هَذَا، ثُمَّ دَعَاهُ النَّبِىُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ : إِذَا صَلَّى أَحَدُكُمْ فَلْيَبْدَأْ بِحَمْدِ رَبِّهِ وَالثَّنَاءِ عَلَيْهِ، وَلْيُصَلِّ عَلَى النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَلْيَدْعُ مَا شَاءَ ...
ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เห็นชายผู้หนึ่งนมาซ โดยไม่ได้กล่าวสรรเสริญและยกย่องพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. และมิได้กล่าวศ่อละวาตแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านจึงกล่าวว่า .. “ชายผู้นี้รีบเร่งจนเกินไป” .. แล้วท่านก็เรียกเขามาและกล่าวว่า .. “เมื่อพวกท่านคนใดนมาซ ก็ให้เขาเริ่มต้นด้วยการสรรเสริญพระผู้อภิบาลของเขาและยกย่องพระองค์ และจงอ่านศ่อละวาตแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และให้เขาขอดุอาตามที่เขาประสงค์” ...
หะดีษบทนี้ เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์, บันทึกโดยท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 1481, ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 710, ท่านอะห์มัด เล่มที่ 6 หน้า 18 และท่านอัล-หากิม เล่มที่ 1 หน้า 401 ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ชัรฺหุมุสลิม” เล่มที่ 4 หน้า 124 ว่า .. คำสั่งในหะดีษนี้ (ที่ว่า .. และ “จงอ่าน” ศ่อละวาตแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถือว่า เป็นวาญิบ .. (ตามกฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐานของวิชาอุศูลุ้ลฟิกฮ์) ...
ดังนั้น ความหมายจากคำสั่งนี้ก็คือ วาญิบจะต้องอ่านศ่อละวาตแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในการนมาซ ...
แต่ท่านเจ้าของหนังสือ “มุนตะกอ อัล-อัคบารฺ” ได้อธิบายหะดีษนี้ในลักษณะว่า คำสั่งให้ศ่อละวาตในนมาซข้างต้นเป็นสุนัตไม่ใช่วาญิบ เพราะถ้าวาญิบให้อ่านศ่อละวาตแก่ท่านนบีย์ในการนมาซ ท่านนบีย์ก็จะต้องสั่งให้ชายผู้นั้นนมาซใหม่ด้วย เนื่องจากนมาซครั้งแรกของเขาถือว่าไม่เศ๊าะห์(ใช้ไม่ได้) เพราะไม่มีการอ่านศ่อละวาตให้แก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...
การที่ท่านนบีย์มิได้ใช้ให้เขานมาซใหม่จึงแสดงว่านมาซเก่าของเขายังใช้ได้ ดังนั้น คำสั่งให้อ่านศ่อละวาตแก่ท่านในหะดีษบทนี้จึงมิใช่เป็นวาญิบ ...
(จากหนังสือ “นัยลุ้ลเอาฏอรฺ” เล่มที่ 2 หน้า 326-327) ...
ดังนั้น หากจะถือตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ที่มองว่า การอ่านศ่อละวาตแก่ท่านนบีย์ – แม้กระทั่งในตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย – เป็นเพียงสุนัต (คือถ้าไม่อ่านก็ไม่เสียนมาซ) ผมก็คิดว่า แล้วมีความจำเป็นอย่างใดหรือที่พวกเราจะมาโต้แย้งกันว่า ต้องอ่านศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกด้วยหรือไม่? ...
ลงขนาดการอ่านศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายยังเป็นเพียงสุนัต(ตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่) การอ่านศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกก็ไม่ต้องพูดถึง! ...
เพราะความหมาย “สุนัต” ก็ดังที่รู้ๆกันดี .. คือ ถ้าทำก็ได้บุญ, ถ้าไม่ทำก็ไม่บาป.. แค่นั้นเอง ...
เมื่อเราตัดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการอ่านศ่อละวาตเป็นสุนัตหรือเป็นวาญิบออกไป เหลือเพียงอย่างเดียวที่ “ไม่ขัดแย้ง” คือ การอ่านศ่อละวาตหลังจากตะชะฮ์ฮุดในการนมาซ เป็น “บทบัญญัติ” ดังได้กล่าวมาแล้ว ...
ปัญหาต่อมาก็คือ ...
การอ่านศ่อละวาตแก่ท่านนบีย์เป็นบทบัญญัติเฉพาะตะชะฮ์ฮุดครั้งหลังหรือทั้งสองตะชะฮ์ฮุด?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น