อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

ละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิดหรือที่โล่งแจ้ง



จะละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิดได้หรือไม่? นักวิชาการมีทัศนะต่างกัน คือ
ทัศนะว่าละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิดไม่ได้ นอกจากที่กลางแจงได้อย่างเดียว
 และทัศนะที่ว่าละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิดได้

ความเห็นและหลักฐานให้ละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิดไม่ได้

ทัศนะของผู้ที่ไม่ชอบให้ละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิด เพราะศพนั้นเป็นนะญิส และมีรายงานหะดิษ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า การละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิด ผู้ที่ทำการละหมาดนั้นไม่ได้รับอะไรเลย และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) แจ้งข่าวการตายของนะญาชีย์ กษัตริย์เอธิโอเปียในมัสยิด และท่านไม่ละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิด แต่ท่านออกไปละหมาดกลางแจ้ง

รายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุม) เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

 من صلى جنازة فى المسجد فلا شئ له
“ผู้ใดละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิด เขาก็ไม่ได้รับอะไร”
(หะดิษบทนี้มีผู้กล่าวว่าเป็นหะดิษฎออิฟ แต่นักวิชาหะดิษบางท่านยืนยันเป็นหะดิษเศาะเฮียะฮฺ)

ท่านอิหม่ามฮานีฟะฮ์ และมาลิกีมีทรรศนะว่า การทำละหมาดให้กับศพในมัสยิดนั้นเป็นมักโระฮ์

ส่วนมัซฮับฮัมบาลี อนุญาตให้ทำการละหมาดให้กับศพในมัสยิดได้หากไม่เกรงว่าจะไม่สร้างความเลอะเทอะเปรอะเปื้อนแก่มัสยิด มิเช่นนั้นก็ถือว่าฮารอม และฮารอมที่จะเอาศพเข้าในมัสยิด แม้จะไม่มีคนละหมาดให้แก่ศพก็ตาม

ท่านอิบนุกอยยิมกล่าวว่า ไม่ใช่แนวทางของท่านศาสดา(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่จะกำหนดให้กระทำการละหมาดให้กับศพในมัสยิด ซึ่งท่านศาสดา(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยละหมาดให้กับศพในมัสยิด เช่น ศพของซุเฮล บิน บัยดออฺ และน้องชายของเขา ทั้งสองแนวทางดังกล่าวอนุมัติให้กระทำได้แต่ที่ดีเลิศแล้ว ให้กระทำละหมาดให้กับศพนอกมัสยิด และมีการพูดกันอย่างยืดยาวเกี่ยวกับบทฮาดีษของท่าน อบีดาวู๊ด ที่ค้านกับฮาดีษของพระนางอาอีซะห์(ร่อฎียัลลอฮุอันฮา)

ความเห็นและหลักฐานให้ละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิดได้

ผู้ที่มีทัศนะว่าอนุญาตให้ละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิดได้นั้น เห็นว่าการละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิดได้ปฏิบัติกันในยุคท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และยุคบรรดาเศาะหาบะฮฺ ซึ่งมีหลักฐานที่เศาะเฮียะฮฺ มีผู้บันทึกเป็นจำนวนมาก และถือว่า “ศพผู้ศรัทธานั้นไม่เป็นนะยิส”
เพราะท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า
“ผู้ศรัทธานั้นไม่เป็นนะญิส(สกปรก)” (บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามอัชชาฟีอีย์)

และการที่ท่านรสูลแจ้งข่าวการตายของอันนะญาซีย์แห่งเอธิโอเปียในมัสยิด แล้วท่านออกไปละหมาดฆออิบนอกมัสยิด ศพนั้นมิได้อยู่ต่อหน้าในมัสยิด จะถือว่าเป็นเพราะเหตุที่ศพเป็นนะยิสไม่ได้

นักวิชาการตีความหะดิษอบูอุร็อยเราะฮฺที่ว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า
“ผู้ใดละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิด เขาก็ไม่ได้รับอะไร” หมายถึงจะได้รับผลบุญน้อยกว่าผู้ละหมาดญะนาซะฮฺ ณ ละหมาดกลางแจ้ง เพราะละหมาดในมัสยิดนั้นเมื่อละหมาดแล้วผู้คนก็รีบกลับไม่อยู่คอยฝังศพและดุอาอฺตัสบี๊ต จึงทำให้ได้รับผลบุญน้อย เพราะละหมาดในที่ดล่งติดกับกุบูรฺนั้นต่างกับการละหมาดในมัสยิดที่ห่างจากกุบูร การที่ท่านรสูลยังได้ละหมาดนอกมัสยิดเพื่อให้ผู้คนได้มีโอกาสแลเห็น และจะได้ร่วมละหมาดญะนาซะฮฺกันมากๆ


หลักฐานที่ว่ามีการละหมาดยะนาซะฮิในมัสยิด

รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (อุมมุลมุอฺมินีน ร่อฎียัลลอฮุอันฮา) เล่าว่า

 ما صلى رسول الله – صلى الله عليه وسلم - على سهيل بن بيضاء إلا فى المسجد. وصلى الصحابة على أبي بكر وعمرفى المسجد بدون إنكارمن أحد؛ لأنها صلاة كسائر الصلوات 
นางได้สั่งให้นำศพของท่านสะอฺดิ อิบนิ อบีวักก๊อสไปที่มัสยิด เพื่อนางจะทำพิธีละหมาดให้ ผู้คนต่างไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้ (การนำศพเข้ามัสยิด) ท่านหยิงอาอิชะฮฺจึงกล่าวว่า : ช่างเร็วเหลือเกิน แท้จริง ท่านรสูล(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่ได้ละหมาดให้สุอัยลฺ อิบนิ บัยฎ็ออฺ นอกจากในมัสยิด” (บันทึกหะดิษโดยอิมามมาลิก ในหนังสือ “อัลมุวัฎเฎาะอฺ” บทว่าด้วยการละหมาดญะนาวะฮฺในมัสยิด)

ท่านอิมามมาลิก (ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า “คนทั้งหลายช่างเร็วเหลือเกินนั้น หมายถึงช่างเร็วเหลือเกินในการลืมแบบฉบับสุนนะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)
ท่านอิบนิ วะฮฺบิ กล่าวว่า “ช่างเร็วเหลือเกิน หมายถึงในการตำหนิและคัดค้าน”

รายงานจากท่านอบีซะละมะฮฺ อิบนิ อับดุรเราะฮฺมาน เล่าว่า
“เมื่อท่านสะอฺดิ อิบนิ อบีวักก็อส เสียชีวิต ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร่อฎียัลลอฮุอันฮา) กล่าวว่า : ท่านทั้งหลายจงนำศพของเขาข้ไปในมัสยิดเพื่อฉันจะละหมาดให้ แต่ก็มีผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของนางดังกล่าว เมื่อนางทราบเรื่องนี้นางก็กล่าวว่า : ฉันขอสาบานด้วยอัลลอฮฺว่า แท้จริงท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่บุตรของบัยฎ็ออฺทั้งสอง คือ สุฮัยลฺและน้องชายของเขาในมัสยิด” (บันทึกหะดิษโดยอิมามมุสลิม ในบทว่าด้วยการละหมาดญะนาซะในมัสยิด ,อิมามอบูดาวู๊ด ,อิมามอันนะซาอีย์, อิมามอัตติรมีซีย์ และอิมามอิบนิมาญะฮฺ)

อิมามมุสลิมกล่าวเกี่ยวกับหะดิษนี้ว่า “สุอัยลฺ” ที่ถูกกล่าวถึงในรายงานนี้ก็คือ “สุอัยลฺ อิบนิ ด๊ะอฺดิ” และ “บัยฎ็ออฺ” นั้นคือมารดาของเขานั่นเอง”

ท่านอิมามอันนะวะวีย์ กล่าวว่า “อุละมาอฺได้กล่าวว่า ; นางบัยฎ็ออฺผู้นี้ มีชื่อว่า ด๊ะอฺดิ และที่เรียกว่าบัยฎ็อบนั้น เพราะนางมีผิวพรรณขาว นางมีลูกชาย 3 คน ได้แก่ สะฮ์ลฺ, สุฮัยลฺ และซ๊อฟวาน สำหรับบิดาของเขาชื่อ “วะฮฺบิ อิบนุ ร่อบีอะฮฺ อัลกุร่อชียื อัลฟิฮฺรีย์”

รายงานซึ่งบันทึกโดยท่านสะอี๊ด อิบนิ มันซู๊ร และท่านอิบนิ อบีชัยบะฮฺว่า
“บรรดาเศาะหาบะฮฺได้ละหมาดยะนาซะฮฺให้แก่ท่านอบูบักรและท่านอุมัรฺในมัสยิด”

รายงานจากท่านฮิชาม อิบนิ อุรวะฮฺ เล่าว่า
“บิดาของฉันได้แลเห็นผู้คนทั้งหลายกำลังออก ไปจากมัสยิดเพื่อไปละหมาดญะนาซะฮฺ บิดาของแนจึงกล่าวว่า : นี่คนเหล่านี้จะไปไหนกัน แท้จริง การละหมาดยะนาซะฮฺของท่านอบูบักรนั้นไม่ได้ละหมาดที่อื่นนอกจากละหมาดในมัสยิด” (บันทึกโดยท่านอับดุรร๊อซซาก)

รายงานจากท่านนาเฟี๊ยะอฺ จากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมัรฺ (ร่อฎิยัลลอฮึอันฮุมา) กล่าวว่า
“การทำละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่ท่านอุมัรฺ อิบนิลคอฏฏ็อบ (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุมา)เกิดขึ้นในมัสยิด” (บันทึกโดยท่านอับดุรร๊อซซาก) เป็นรายงานที่เศาะเฮียะฮฺ

สรุป การละหมาดญะนาซะฮฺทั้งในมัสยิดและกลางแจ้ง มีแบบอย่างจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  และบรรดาเศาะหาบะฮฺ ทัศนะที่ถูกต้องที่สุด คืออนุญาตให้ละหมาดญะนาซะฮฺในมัสยิด แต่ถ้าละหมาดญะนาซะฮฺที่กลางแจ้งนั้นประเสริฐกว่า

والله أعلم بالصواب

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น