หลายครั้งหลายครา เมื่อมุสลิมคนใด พูดสนทนาเป็นภาษาไทย ก็มีมุสลิมบางคนที่เข้าใจผิดว่า ภาษา"มลายู" ที่เขาพูดๆกัน เป็น "ภาษาอิสลาม" (หรือที่เรียกอีกคำหนึ่ง คือ ภาษาแขก เพราะคำว่าแขกนั้น คนมุสลิมเอง หรือคนต่างศาสนิก จะหมายถึงชาวมุสลิม) และมีการทักท้วงว่า "ทำไมไม่พูดภาษาอิสลาม"
มีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งไปรับราชการอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้โทรศัพท์มาอย่างร้อนรนบอกกล่าวให้ฟังว่า "มีเพื่อนมุสลิมที่นั้นได้ถามตนว่า ตนได้เข้ารับอิสลามตั้งแต่เมื่อไหร่? ทำไม? ถึงยังพูดภาษาอิสลามไม่ได้?!"
คำถามนี้มันคงทำให้เพื่อนคนนี้ และมุสลิมทั่วโลกที่พูดภาษามลายูไม่ได้ ต่างก็พิศวงงงงวยกันน่าดู...!!!
เมื่อก่อนตอนสมัยคุณตาคุณยาย ก็มีการห้ามไม่ให้ส่งไปเรียนหนังสือเป็นภาษาไทย (หรือภาษาซีแย) หากไปเรียนก็ห้ามนำหนังสือเรียนเข้ามาในบ้าน ก็ต้องนำไปเก็บไว้ในยุ้งข้าว ก็คงเข้าใจกันว่าการเรียนภาษาไทย ก็คือภาษาของคนที่นับถือพุทธศาสนากระมัง กลัวมันจะเป็นบาปจึงต้องห้ามเรียน หรือนำหนังสือมาเก็บไว้ในบ้าน จนคุณยาย ไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้
ซึ่งความคิดเหล่านี้เป็นที่เข้าใจผิดกันอย่างมาก เพราะอิสลามไม่มีภาษาที่ต้องพูดสนทนาไว้โดยเฉพาะ และไม่ได้ห้ามมิให้พูดภาษาอื่น หรือภาษาใดภาษาหนึ่ง ดังที่มุสลิมบางคนเข้าใจกัน พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า มนุษย์นั้นคือประชาชาติเดียวกัน พระองค์ทรงให้มนุษย์มีวามคิดที่จะสร้างภาษาขึ้นมาในการสื่อสารและรู้จักกัน
ภาษาของคัมภีร์ที่พระองค์อัลลอฮฺตะอาลาได้ประทานแก่บรรดารสูลของพระองค์
พระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ได้ประทานวะฮีย์ลงมายังบรรดารสูลแต่ละท่านของพระองค์ ด้วยภาษาที่ต่างกัน มันขึ้นอยู่ว่ารสูลท่านนั้น และบรรดาประชาชนที่ท่านจะนำคำดำรัสของพระองค์ไปเผยแพร่นั้น พูดภาษาใด เพื่อให้การสื่อสารนั้นเป็นที่เข้าใจ และสะดวกในการปฏิบัติ
สำหรับคัมภีร์อัล-กุรอาน ได้ถูกประทานวะฮีย์ลงมาเป็นภาษาอาหรับ เพราะท่านนบีมุหัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และประชาชนในพื้นที่ที่ท่านทำการเผยแพร่อัล-อิสลามนั้น ต่างก็พูดภาษาอาหรับ สำหรับสำเนียงของอัลกุรอาน เป็นสำเนียงของเผ่ากุเรช ที่เป็นชนเผ่าของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)
ดังพระองค์อัลลลอฮฺ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
نَزَلَ بِهِ الرُّوحُ الْأَمِينُ ( 193 ) อัช-ชุอะรออ์ - Ayaa 193
"อัรรูห์ ผู้ซื่อสัตย์ ได้นำมันลงมา"
عَلَىٰ قَلْبِكَ لِتَكُونَ مِنَ الْمُنذِرِينَ ( 194 ) อัช-ชุอะรออ์ - Ayaa 194
"ยังหัวใจของเจ้าเพื่อเจ้าจักได้เป็นผู้ตักเตือนคนหนึ่ง"
بِلِسَانٍ عَرَبِيٍّ مُّبِينٍ ( 195 ) อัช-ชุอะรออ์ - Ayaa 195
"เป็นภาษาอาหรับอันชัดแจ้ง"
(อัลกุรอาน สุเราะฮฺอัชชุอะรออฺ 26:193-195)
สำหรับคำภีร์ซะบูรฺ พระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ได้ทรงประทานแก่ท่านนบีดาวูด (อะลัยฮิสลาม) เป็นภาษา "ก๊อบตี"
คัมภีร์เตาร็อต พระองค์ประทานให้แก่ท่านนบีมูซา (อะลัยฮิสลาม) เป็นภาษาอิบรอนีย์ (ฮิบรู)
คัมภีร์อินญีล พระองค์ประทานให้แก่ท่านนบีอีซา(อะลัยฮิสลาม) เป็นภาษาซุรยานี
จากที่ยกตัวอย่างคัมภีร์ของพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ที่ได้ประทานให้แก่รสูลแต่ละท่านของพระองค์ เป็นภาษาที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่ว่ารสูลท่านนั้นและประชาชนในพื้นที่ที่ท่านทำการเผยแพร่พูดภาษาอะไรเป็นหลัก
สำหรับภาษาอาหรับก็ไม่ได้เป็นภาษาของศาสนาอิสลาม เป็นเพียงภาษาที่ใช้บันทึกคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺตะอาลาไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเท่านั้น หากจะแปลเป็นภาษาอื่น ก็ต้องมีอายะฮฺอัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับด้วย จะแปลเป็นภาษาอื่นโดดๆไม่ได้ เพื่อป้องกันการแปล และตีความอัลกุรอานที่ผิดเพี้ยน และสำหรับบทดุอาอ์ หรืออัลกุรอาน ที่จะอ่านในขณะละหมาดนั้น ก็ต้องอ่านเป็นภาษาอาหรับเท่านั้น เป็นภาษาอื่นไม่ได้
สำหรับภาษามาลายูนั้น เดิมทีไม่ได้ใชอักษรอาหรับ (ที่เรียกว่าอักษรยาวี) แต่พึ่งนำมาใช้ภายหลังที่อิสลามได้เข้ามาเผยแพร่ในเมืองชวา และกระจายมายังมะละกาและปัตตานีในภายหลัง
ซึ่งก่อนที่อิสลามเข้ามาเผยแพร่ในพื้นที่แห่งนี้ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนาได้มีความรุ่งเรื่องในแถบมลายู อิสลามเข้ามาภายหลังที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เผยแพร่ศาสนา ประมาณ 800 ปี หรือเมื่อประมาณ 600 ปีมานี้เอง
ภาษามลายูเดิมจึงได้รับอิทธิพลและยิบยืมมาจากภาษาบาลี สันสกฤตเป็นส่วนใหญ่ และถึงแม้จะมีชนชาติต่างๆเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่แห่งนี้ เช่น อาหรับ,จีน หรือฝรั่ง และได้ยิบยืมอักษรภาษาอาหรับมาใช้เป็นอักษรยาวี และเมื่อเป็นเมืองขึ้นของราชอาณาจักรอักกฤษก็ให้มีการใช้เป็นอักษรอักกฤษแทน หรือที่เรียกว่า ภาษาโรมีก็ตามที
แต่คำภาษาบาลี สันสกฤตเหล่านั้นยังคงใช้กันในชีวิตประจำของพวกเขา
อันได้แก่ ยาวี (Jawi) แปลว่า ชวา ที่เรียกติดปากกันว่า "อักษรยาวี" นั้นเดิมทีก็เป็นภาษาสันสกฤต คือ Yava
anik แปลว่า มาก,หลาย ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า อเนก
bahasa แปลว่าภาษา ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า ภาษา
duta แปลว่า ทูต ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า ทูต
guru แปลว่า ครู ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า ครู
jiwa แปลว่า ชีพ ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า ชีว
maha แปลว่า ยิ่งใหญ่ ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า มหา
manusia แปลว่า มนุษย์ ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า มนุษฺย
negara แปลว่า เมือง ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า นคร
puspa แปลว่า ดอกไม้ ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า ปุษฺป
kala แปลว่า เวลา ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า กาล
raja แปลว่า พระราชา ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า ราชา
sama แปลว่า เสมอกัน ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า สม
tiga แปลว่า สาม ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า ติก
utara แปลว่า ทิศเหนือ ยืมมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า อุตฺตร
เป็นต้น
จากที่ยกมากล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ภาษามลายู เดิมที อิทธพลของภาษาไม่ได้มีพื้นฐานมาจากภาษาอาหรับ ที่เป็นภาษาซึ่งได้บันทึกไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานแต่อย่างใด แต่ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาบาลี,สันสกฤตนั้นเอง ถึงแม้จะนำอักษรอาหรับ หรืออักษรอังกฤษมาใช้เป็นตัวอักษรก็ตาม
ดังนั้นภาษามลายูจึงไม่ใช่ภาษาอิสลาม และอิสลามไม่มีภาษาโดยเฉพาะแต่อย่างใด มุสลิมทั่วโลกสามารถพูดได้ทุกภาษา ไม่ว่า จะเป็นภาษาอาหรับ มลายู, อังกฤษ หรือภาษาจีนก็ตาม มุสลิมที่พูดภาษาไทยได้แต่พูดภาษามลายูไม่ได้ หรือมุสลิมที่พูดภาษามลายูได้แต่พูดภาษไทยไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ใช่มุสลิม เราอย่านำภาษาที่ต่างกันมาแบ่งแยกความเป็นพี่น้องผู้ศรัทธากันเลย จุดประสงค์สำคัญที่พระองค์อัลลอฮฺให้เรามีภาษาต่างกัน ก็เพื่อให้รู้จักกันและสืบวงศ์ตระกูลมนุษย์สืบไป
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น