อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

อิสลามกับการจัดกิจกรรมวันเด็ก


    วันเด็กแห่งชาติในประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 โดยได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม เป็นวันเด็กแห่งชาติ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2506 ได้มีมติเปลี่ยนแปลงวันเด็กแห่งชาติมาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม โดยเริ่มจัดงานวันเด็กในปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา มีการให้คำขวัญวันเด็กทุกปีโดยนายกรัฐมนตรีไทย โดยมีวัตถุประสงค์จัดวันเด็ก ได้แก่
1. เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ

2. เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตน และอยู่ในระเบียบวินัยอันดี

3. เพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก กล่าวคือ เด็กและเยาวชน พึงได้รับสิทธิเท่าเทียมกันโดยปราศจากการแบ่งแยกหรือกีดกัน ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆในเรื่อง เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง เผ่าพันธุ์แห่งชาติ หรือ สังคมทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่น ๆ ไม่ว่าจะของเด็กหรือของครอบครัวก็ตาม เด็กและเยาวชน พึงได้รับการพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษ อันจะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทั้งทางกาย ทางสมอง และจิตใจเพื่อให้ร่วมอยู่ในสังคมได้อย่างปกติชน เด็กและเยาวชน พึงได้รับความมั่นคงทางสังคมและเติบโตอย่างสมบูรณ์  เด็กและเยาวชน มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา และเด็กและเยาวชน พึงได้รับการปกป้องให้พ้นจากการถูกทอดทิ้ง จากความโหดร้ายทารุณ และการถูกข่มเหง รังแกทุกชนิด เป็นต้น

ซึ่งในวันเด็กจะมีกิจกรรมสำหรับเด็กๆ ให้เด็กกล้าแสดงออก และสร้างความสนุกสนาน มีการแจกของต่างๆให้แก่เด็กๆ มีการเลี้ยงอาหาร เครื่องดื่มให้แก่เด็กๆ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการจัดกิจกรรมวันเด็ก ไม่ได้มีที่มา  หรืออยู่บนพื้นฐานจากความเชื่อ ลัทธิ ศาสนาของต่างศาสนิกแต่อย่างใด แต่มีขึ้นเพื่อสร้างความสำคัญแก่เด็กๆ ให้เด็กได้มีความคิด การกล้าแสดงออก พัฒนาบุคลิกภาพและความรู้ให้แก่เด็กๆ มีความเมตตาเห็นดูแก่เด็กๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลดีตามมาแก่เด็กๆ มากมาย โดยหลักของการจัดกิจกรรมวันเด็กนั้น จึงไม่เป็นที่ต้องห้ามตามบทบัญญัติอิสลาม ตราบใด ที่ไม่มีสิ่งต้องห้ามตามหลักการของศาสนาอิสลามอยู่ในงานนั้น อันได้แก่

1.การแสดงประกอบเสียงดนตรี การเต้น การรำ ประกอบเสียงเพลง เสียงดนตรี หรือการแสดงความสามารถที่ขัดกับหลักศาสนาอื่นๆ

2.การแต่งกายที่ไม่สภาพ เปิดเผยสิ่งที่ต้องห้าม

3.การปะปนระหว่างชายหญิง
เป็นต้น

ข้อเสนอแนะในการจัดงานวันเด็ก คือ ให้องค์กรมุสลิมได้จัดกิจกรรมแยกต่างหาก มีสถานที่จัดกิจกรรมที่เหมาะสม มีบริเวณแยกระหว่างชายหญิง ให้เด็กๆรวมถึงผู้ใหญ่แต่งกายที่สุภาพ  ถูกต้องตามหลักการศาสนา มีกิจกรรมที่ไม่ขัดต่อหลักการศาสนา เพื่อที่เด็กๆที่เป็นมุสลิมจะได้แสดงความสามารถในทางที่ไม่ขัดกับหลักการศาสนา  และไม่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นขณะจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ  ส่วนจะให้คนต่างศาสนิกจะเข้าร่วมด้วย ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องบอกกล่าวถึงวัตถุประสงค์และสิ่งที่อิสลามห้ามขณะจัดกิจกรรมนั้นให้เขาทราบด้วย

والله أعلم بالصواب



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น