ในลูกหลานและทรัพย์สิน
ลูกๆและทรัพย์สมบัติเป็นการทดสอบเรา และจะมีวิธีที่จะเอาชนะการทดสอบนี้อย่างไร
อัลลอฮฺได้กล่าวความว่า
“และพึงรู้เถิดว่า แท้จริงทรัพย์สินของพวกเจ้า และลูก ๆ ของพวกเจ้านั้น เป็นสิ่งทดสอบ”(อัล กุรอาน8:28)
“ได้ถูกทำให้สวยงาม(ลุ่มหลง)แก่มนุษย์ซึ่งความรักในบรรดาสิ่งที่เป็นเสน่ห์อันได้แก่ผู้หญิงและลูกชาย,ทองและเงินอันมากมาย และม้าดีและปศุสัตว์ และไร่นา นั่นเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ชั่วคราวในชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้เท่านั้น และอัลลอฮฺนั้น ณ พระองค์ คือที่กลับอันสวยงาม”(อัล กุรอาน3:14)
ความหมายของอายะฮฺนี้ที่กล่าวถึงความรักต่อสิ่งต่างๆ นำโดยผู้หญิง ลูกๆ คือการให้ความรักเกินกว่าการฏออะฮฺ(เชื่อฟัง)ต่ออัลลอฮฺและเราะซูล ศ็อลลัลลฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ซึ่งผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวนี้นับว่าน่ารังเกียจเป็นอย่างยิ่ง แต่หากว่าความรักดังกล่าวอยู่ในทิศทางของชะรีอะฮฺอันอยู่ในขอบเขตของการฎออะฮฺต่ออัลลอฮฺก็ย่อมได้รับการสรรเสริญ
ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวความว่า
“สิ่งอันเป็นที่รักแก่ฉันในโลกนี้ ได้แก่สตรีและน้ำหอม และสิ่งเย็นตาเย็นใจของฉันนั้นอยู่ในละหมาด” รายงานโดยอะหฺมัด 3/128 และในเศาะฮีฮฺ อัล ญามิอฺ 3124
คนจำนวนมากตามหลังภรรยาในเรื่องที่ต้องห้าม และตามใจลูกๆจนออกนอกการฏออะฮฺต่ออัลลอฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวไว้ความว่า
“ลูกคือความเศร้า ความขลาด ความเขลา และความตระหนี่” รายงานโดยอัฎ ฏ็อบรอนียฺ ในอัล กะบีร 24/241 และในเศาะฮีฮฺ อัล ญามิอฺ 1990
คำว่า “ความตระหนี่” หมายถึง เมื่อคนหนึ่งต้องการบริจาคสิ่งหนึ่งไปในหนทางของอัลลอฮฺชัยฏอนก็จะเตือนให้เขานึกถึงลูกๆ ทำให้เขาเกิดความคิดขึ้นว่า “ลูกๆของฉันมีสิทธิในทรัพย์นี้ยิ่งกว่าใคร ฉันต้องเหลือไว้ให้พวกเขา พวกเขามีความต้องการมันหลังจากฉันจากไป” เขาจึงไม่ยอมบริจาคออกไปในหนทางของอัลลอฮฺ
คำว่า “ความขลาด” หมายถึง เมื่อเขาต้องการออกไปญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ ชัยฏอนก็จะมาหาเขาแล้วกล่าวว่า “ท่านจะต้องถูกฆ่าและตายไป ลูกๆของพวกท่านก็จะสูญเสีย ต้องอยู่ตามลำพัง กลายเป็นเด็กกำพร้า” เขาจึงไม่ออกไปญิฮาด
คำว่า “ความเขลา” หมายถึง ลูกๆจะดึงพ่อออกจากการแสวงหาความรู้ ความพยายามที่จะศึกษาเล่าเรียน การเข้าร่วมกลุ่มศึกษา และการอ่านหนังสือ
คำว่า “ความเศร้า” หมายถึง เมื่อลูกๆไม่สบาย พ่อก็พลอยเศร้าโศกไปด้วย เมื่อลูกๆต้องการสิ่งใด แล้วพ่อหามาไม่ได้ พ่อก็ย่อมเสียใจ และเมื่อเขาเติบโตแล้วดื้อ ดังนั้นความเสียใจและความวิตกกังวลก็ยังคงมีอยู่ต่อไป
ทั้งนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายไม่ให้แต่งงานหรือมีลูก หรือทอดทิ้งการอบรมพวกเขา แต่หมายความว่าให้ระมัดระวังจากการสาละวนอยู่กับพวกเขาในเรื่องต้องห้ามต่างๆ
สำหรับการล่อลวงที่มาจากทรัพย์สิน ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวความว่า
“ทุกๆประชาชาติมีฟิตนะฮฺ(การทดสอบและการล่อลวง) ส่วนฟิตนะฮฺของประชาชาติของฉันคือ ทรัพย์สมบัติ” รายงานโดยอัต ติรมิซียฺ 2336 และในเศาะฮีฮฺ อัล ญามิอฺ 2148
ความกระหายต่อทรัพย์สร้างความเสื่อมเสียอย่างใหญ่หลวงต่อศาสนา ยิ่งกว่าหมาป่าโจมตีฝูงแกะเสียอีก ท่านนบี ศ็อลลัลลฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวความว่า
“หมาป่าสองตัวที่หิวโหยถูกส่งไปยังแกะ จะไม่สร้างความเสียหายได้เท่ากับความโลภของคนๆหนึ่งในทรัพย์สินและชื่อเสียงที่จะมีต่อศาสนาของเขา” รายงานโดยอัต ติรมีซียฺ หมายเลข 2376 และในเศาะฮีฮฺ อัล ญามิอฺ 5620
ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กระตุ้นให้ยึดเอาความพอเพียง โดยไม่ต้องการเพิ่มจนต้องหันห่างออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺ
“คนรับใช้และพาหนะในหนทางของอัลลอฮฺ เป็นสิ่งที่เพียงพอแก่ท่าน จากการรวบรวมทรัพย์สมบัติแล้ว” รายงานโดยอะหฺมัด 5/290 และในเศาะฮีฮฺ อัล ญามิอฺ 2386
ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้สำทับบุคคลที่สะสมทรัพย์ ที่นอกเหนือไปจากเพื่อการบริจาคไว้ความว่า “ความวิบัติจงประสบกับผู้ที่สะสมทรัพย์ ยกเว้นบุคคลที่กล่าวว่ากับทรัพย์สินว่า อันนี้ อันนี้ อันนี้ อันนี้(คือมีไว้บริจาค)ให้กับคนสี่คน อันนี้ให้กับผู้ที่อยู่ด้านขวา อันนี้แก่ผู้ที่อยู่ด้านซ้าย อันนี้ให้แก่ผู้ที่อยู่ข้างหน้า อันนี้ ให้แก่ผู้ที่อยู่ด้านหลัง” รายงานโดยอิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 4129 และในเศาะฮีฮฺ อัล ญามิอฺ 7137 หมายความว่าได้บริจาคเพื่อความดีไปทุกๆทาง
............................
สุวัฒน์ อิสมาแอล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น