อิสติฆฟารคือการกลับตัวหรือการเตาบะฮฺ นั่นคือการขอให้อัลลอฮฺอภัยโทษ ลบล้างบาป ขจัดพิษภัยและร่องรอยของมันให้หมด พร้อมกับขอให้พระองค์ปกปิดมันไว้ (ดู มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน 1:307)
มีรายงานจากเศาะหาบะฮฺบางท่านกล่าวว่า มนุษย์ทั้งหลายมีมูลเหตุแห่งความปลอดภัยจากการลงโทษอยู่สองประการ นั่นคือ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และการอิสติฆฟาร ท่านนบีนั้นได้จากไปแล้ว ในขณะที่อิสติฆฟารจะยังคงอยู่จนถึงวันกิยามะฮฺ (ดู ตัฟซีร อัต-เฏาะบะรีย์ 2:381)
ในหะดีษกุดสีย์บทหนึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสว่า
"โอ้ มนุษย์ผู้เป็นลูกแห่งอาดัม แท้จริงเจ้าจะไม่วอนขอและไม่หวังต่อข้า เว้นแต่ข้าจะอภัยโทษให้เจ้าต่อบาปที่อยู่กับตัวเจ้าโดยข้าจะไม่สนใจเลย(ว่ามันจะมากมายแค่ไหนก็ตาม) โอ้ มนุษย์ผู้เป็นลูกแห่งอาดัม หากบาปของเจ้ามากมายก่ายกองจนเกือบล้นฟ้า แล้วเจ้าก็วอนขออภัยต่อข้า ข้าก็จะอภัยให้โดยไม่สนใจเลย(ว่ามันจะมากมายแค่ไหน) โอ้ มนุษย์ผู้เป็นลูกแห่งอาดัม หากเจ้ามาหาข้าด้วยบาปที่เต็มเกือบเท่าพื้นปฐพี แล้วเจ้าเข้าพบข้าโดยที่ไม่มีการตั้งภาคีใดๆ กับข้า ข้าก็จะเข้าหาเจ้าด้วยการอภัยโทษที่เต็มเท่าพื้นแผ่นดินนี้เช่นเดียวกัน"
(อัต-ติรมิซีย์ : 3540, อิบนุ เราะญับกล่าวว่า หะดีษนี้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสายรายงาน กล่าวคือเป็นหะดีษที่ใช้ได้ ดู ญามิอฺ อัล-อุลูม วัล-หิกัม 2:400)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เองได้ทำแบบอย่างที่สมบูรณ์เกี่ยวกับอิสติฆฟาร ท่านจะกล่าวอิสติฆฟารมากที่สุดกว่าคนอื่นๆ (อัน-นะสาอีย์ ใน อะมัล เยาม์ วัล ลัยละฮฺ : 10215) โดยจะกล่าวอิสติฆฟารไม่น้อยกว่า 70-100 ครั้งในแต่ละวัน (อัล-บุคอรีย์ : 6307, อัน-นะสาอีย์ ใน อะมัล เยาม์ วัล ลัยละฮฺ : 10205)
บางทีเศาะหาบะฮฺได้นับจำนวนการกล่าวอิสติฆฟารในวงสนทนาแต่ละครั้งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ถึงหนึ่งร้อยครั้ง (อบู ดาวูด : 1516, อัต-ติรมิซีย์ : 3434, อิบนุ มาญะฮฺ : 3814, เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ : 3486)
สำนวนการกล่าวอิสติฆฟาร ซึ่งท่านนบีได้สอนให้เรากล่าวตามวาระต่างๆ เช่น
- สำนวนที่ใช้กล่าวก่อนให้สลามในละหมาด (อัล-บุคอรีย์ : 799)
«اللّٰهُمَّ إِنِّي ظَلَمْتُ نَفْسِي ظُلْمًا كَثِيرًا، وَلَا يَغْفِرُ الذُّنُوبَ إِلَّا أَنْتَ، فَاغْفِرْ لِي مَغْفِرَةً مِنْ عِنْدِكَ، وَارْحَمْنِي إِنَّك أَنْتَ الْغَفُورُ الرَّحِيمُ»
- สำนวนการกล่าวหลังละหมาดเสร็จ (มุสลิม : 931)
أَسْتَغْفِرُ اللهَ (กล่าว 3 ครั้ง)
-สำนวนที่ใช้กล่าวก่อนนอน (อัล-ติรฺมิซีย์ : 3319)
" أستغفرالله العظيم الذي لا إله إلا هو الحي القيوم وأتوب إليه "
อ่านว่า "อัสตัฆฟิรุลลอฮัลอะซีม อัลละซี ลาอิลาฮะอิลลาฮุวัลหัยยุลก็อยยูม วะอะตูบุอิลัยฮิ" (กล่าว 3 ครั้ง)
(แต่สำหรับการกล่าวอิสติฆฟารตามสำนวนข้างต่นนี้มิได้เจาะจงเฉพาะช่วงก่อนนอนเท่านั้น แต่สามารถกล่าวได้ตลอดเวลา เพราะมีหะดิษอีกบทหนึ่งมิได้ระบุเจาะจงเวลาของการกล่าวไว้แต่อย่างใด)
- สำนวนที่ใช้กล่าวทุกเช้า-เย็น ที่เรียกว่า สัยยิดุล อิสติฆฟาร หรือ แม่บทแห่งการกล่าวอิสติฆฟารนั่นเอง (อัล-บุคอรีย์ : 6306)
«اللّٰهُمَّ أَنْتَ رَبِّي لَا إِلٰهَ إِلَّا أَنْتَ، خَلَقْتَنِي وَأَنَا عَبْدُكَ وَأَنَا عَلَى عَهْدِكَ وَوَعْدِكَ مَا اسْتَطَعْتُ، أَعُوذُ بِكَ مِنْ شَرِّ مَا صَنَعْتُ، أَبُوءُ لَكَ بِنِعْمَتِكَ عَلَيَّ، وَأَبُوءُ لَكَ بِذَنْبِي، فَاغْفِرْ لِي فَإِنَّهُ لَا يَغْفِرُ الذُّنُوبَ إِلَّا أَنْتَ»
- สำนวนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม มักจะกล่าวบ่อยในวงสนทนาของท่าน (อบู ดาวูด : 1516, อัต-ติรมิซีย์ : 3434, อิบนุ มาญะฮฺ : 3814, เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ : 3486)
«رَبِّ اغْفِرْ لِي وَتُبْ عَلَيَّ، إِنَّكَ أَنْتَ التَّوَّابُ الْغَفُورُ»
- สำนวนที่ใช้กล่าวเมื่อเสร็จจากการพูดคุยหรือที่เรียกว่า กัฟฟาเราะตุล มัจญ์ลิส (อัต-ติรมิซีย์ : 4333, เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ : 6192)
«سُبْحَانَكَ اللّٰهُمَّ وَبِحَمْدِكَ، أَشْهَدُ أَنْ لَا إِلٰهَ إِلَّا أَنْتَ، أَسْتَغْفِرُكَ وَأَتُوبُ إِلَيْكَ»
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกล่าวอิสติฆฟารให้ติดปากเสมอ ไม่ว่าจะด้วยสำนวนใดก็ตาม หากไม่สามารถที่จะท่องจำสำนวนที่ยาวๆ ก็เป็นการเพียงพอด้วยการกล่าวสั้นว่าๆ
أَسْتَغْفِرُ اللهَ وَأَتُوْبُ إِلَيْهِ
อ่านว่า "อัสตัฆฟิรุลลอฮฺ วะอะตูบุอิลัยฮิ"
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น