บิดอะฮฺ - อุตริกรรม ชะรีอะฮฺที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นใหม่
บิดอะฮฺ(อุตริกรรม) ถูกให้ความหมายว่าเป็นสิ่งที่ถูกนำเข้ามาในศาสนา โดยที่อัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ไม่เคยนำเข้ามา ไม่เคยสั่งใช้ โดยผู้คนเชื่อว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา มันจึงถูกกระทำไปด้วยความมุ่งหมายที่จะได้รางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ พร้อม ๆ กันนี้ ได้มีการวางวิธีการต่าง ๆ มีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่อ้างขึ้นมา เสมือนหนึ่งเป็นการวางฮุกมฺ(กฏเกณฑ์)ทางชะรีอะฮฺ(กฎหมายอิสลาม)
ดังนั้น บิดอะฮฺก็คือชะรีอะฮฺที่ถูกอุปโลกน์ขึ้น โดยตรงข้ามกับชะรีอะฮฺ อิลาฮียะฮฺ(กฎหมายของพระผู้เป็นเจ้า) มันจึงมีหลักนิติศาสตร์ของมันที่เป็นอิสระ มีชนิดของฟัรฎู(ข้อกำหนด)และวาญิบ(ข้อบังคับ) มีชนิดของ ซุนนะฮฺและมันดูบ(ข้อส่งเสริมให้กระทำ) ซึ่งในบางครั้งมันถูกวางขึ้นเท่าเทียมกับชะรีอะฮฺ อิลาฮียะฮฺ(กฎหมายของพระผู้เป็นเจ้า) และบางครั้งถูกวางไว้เหนือกว่าอีกทั้งในความสำคัญและความสูงส่ง
บิดอะฮฺจึงทำให้ขอบเขตของตัวมันเองหลุดออกไปจากความแท้จริงที่แจ่มชัด(คืออิสลาม) ซึ่งเป็นศาสนาที่ถูกทำให้สมบูรณ์แล้ว ตัวชะรีอะฮฺเองก็ถูกทำให้เสร็จสิ้นแล้วเช่นกัน
แล้วด้วยเหตุอันใดเล่าที่ต้องไปกำหนดขึ้นมาอีก แล้วด้วยเหตุผลอันใดเล่าที่ต้องไปวางหลักการเรื่องฟัรฎู(ข้อกำหนด) วาญิบ(ข้อบังคับ)อีก ทั้งที่แหล่งที่วางหลักการศาสนาได้ถูกปิดไปแล้ว แล้วการงานรูปแบบใหม่ชนิดไหนกันล่ะที่ได้อ้างไปยังศาสนานี้ มันจึงไม่สามารถเกิดสิ่งเหล่านี้ได้อีกแล้ว เว้นแต่เป็นสิ่งปลอมแปลงที่เกิดขึ้นมา ซึ่งมันเป็นสิ่งดีในแบบที่อิหม่ามมาลิกได้บอกไว้ว่า
“ใครก็ตามประดิษฐ์ขึ้นในอิสลามซึ่งอุตริกรรมชนิดหนึ่ง แม้มันจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เท่ากับเขาได้กล่าวหามุฮัมมัด ว่าหลอกลวงคำสอนแล้ว เพราะแท้จริงอัลลอฮฺได้ตรัสว่า วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งศาสนาของพวกเจ้า ดังนั้น หากว่าวันนั้นไม่มีศาสนา(ที่สมบูรณ์)เกิดขึ้นแล้ว วันนี้ก็ย่อมไม่มีศาสนาเช่นกัน” [1]
แท้จริงลักษณะพิเศษของชะรีอะฮฺที่อัลลอฮฺ ประทานลงมานั้นก็คือลักษณะที่สะดวกง่ายดายและก่อเกิดความดีงามในการประพฤติปฏิบัติ อีกทั้งสามารถนำไปใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ทุกท้องถิ่น และทุกดินแดน เนื่องจากว่าผู้ที่สามารถกำหนดนิติบัญญัติให้กับศาสนาได้ก็คือพระผู้สร้างมนุษย์ พระผู้ทรงรู้ดียิ่งถึงความจำเป็นต่าง ๆ รู้ดียิ่งถึงธรรมชาติ ศักยภาพ จุดอ่อนแอ และข้อด้อยของมนุษย์ ดังที่ปรากฏในอัล-กุรอานว่า “พระผู้ทรงสร้างจะมิทรงรอบรู้ดอกหรือ? พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนผู้ทรงตระหนักยิ่ง” [2]
ด้วยเหตุนี้เอง จึงปรากฏข้อปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ของชีวิตมนุษย์ทั้งหมดในชะรีอะฮฺของพระผู้เป็นเจ้า แต่เมื่อใดที่มนุษย์ยึดถือตัวเองเป็นผู้วางกฎให้ชีวิตตัวเองเสียแล้ว เขาจะไม่พบทางที่จะนำไปสู่ข้อปฏิบัติในด้านต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ตราบที่อุตริกรรมต่าง ๆ ได้ปะปนเข้ากับศาสนา ก็จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมจากการกำหนดของมนุษย์เองเข้าไป ความยุ่งยากซับซ้อนต่าง ๆ ก็ถูกเพิ่มเข้าไปในศาสนา จนกระทั่งว่ามันจะผลักดันให้ผู้คนต้องถอนเอาห่วงของศาสนาออกจากต้นคอของพวกเขา โดยที่พวกเขาได้ละทิ้งความโปรดปรานที่ถูกให้มอบให้แล้วในเรื่อง “การขจัดซึ่งความยุ่งยากต่างๆ” ไป ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า “และพระองค์มิได้ทรงทำให้เป็นการลำบากแก่พวกเจ้าในเรื่องของศาสนา” [3]
ลักษณะพิเศษอีกอย่างของชะรีอะฮฺ อิสลามียะฮฺ(กฎหมายอิสลาม) ก็คือการประสานกลมกลืนกันอย่างสมบูรณ์แบบ และความเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นสากล โดยสิ่งนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือแบ่งแยกออกจากันไม่ว่าอยู่ในยุคใดสมัยใดหรือดินแดนใด ดังนั้น หากมุสลิมคนใดเดินทางจากจุดหนึ่งในโลกมนุษย์ไปสู่อีกจุดหนึ่ง ก็จะไม่มีความยากลำบากหรือความยุ่งยากใด ๆ ในการปฏิบัติการงานต่างๆของศาสนา และการนำชะรีอะฮฺไปใช้ เขาไม่ต้องการวิถีชีวิตแบบใดเป็นการเฉพาะอีกแล้ว หรือต้องการแนวทางเฉพาะท้องถิ่น
แต่ บิดอะฮฺ นั้นขาดความสอดคล้องกลมกลืนกัน มันจะถูกหลอมละลายในเบ้าหลอมท้องถิ่นของแต่ละสถานที่ และต้องจัดข้อกำหนดของเมืองนั้น ๆ ที่แตกต่างจากเมืองอื่น ๆ จากประเทศนั้น ๆ ที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ มันจะก่อให้เกิดปัจจัยต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้นเป็นการเฉพาะ จะเกิดผลประโยชน์ส่วนบุคคล จะเกิดเป้าหมายของปัจเจกชนเป็นการพิเศษ
ดังนั้น จะเกิดบิดอะฮฺในแต่ประเทศที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนกัน แต่จะเป็นบิดอะฮฺของแต่ละมณฑล ของแต่ละเมือง ยิ่งกว่านั้นจะเกิดบิดอะฮฺของแต่ละอำเภอ แต่ละตำบล และของแต่ละบ้าน ในที่สุดสิ่งงมงายต่างๆก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว นำไปสู่ผลิตผลของศาสนาอันใหม่ที่ขัดแย้งปะทะกันและกันในทุก ๆ หมู่บ้านและทุก ๆ เมือง ในทุก ๆ อำเภอและทุก ๆ บ้าน
เพื่อประโยชน์ที่ครอบคลุมและยาวนานที่เราสามารถเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ท่านเราะซูล จึงห้ามเข้าใกล้บิดอะฮฺ ท่านได้สั่งให้พวกเราออกห่างจากทุก ๆ สิ่งที่เป็นบิดอะฮฺในศาสนา และให้ปกป้องและยึดมั่นต่ออัซ-ซุนนะฮฺ(แบบอย่างของท่านเราะซูล ) ท่านเราะซูลได้กล่าวว่า
ใครก็ตามที่ได้สร้างใหม่ในงานของเรานี้ โดยไม่ได้อยู่ในมัน มันจะถูกปฏิเสธ(จากอัลลอฮฺ) [4]พวกท่านพึงระวังการสร้างใหม่ในการงานต่างๆ แท้จริงทุกๆการสร้างใหม่นั้นเป็นอุตริกรรม และทุกๆอุตริกรรมนั้นเป็นความหลงผิด [5]
โดย เชค อบุล ฮะซัน อลี อัน-นัดวียฺ
อัล อัค แปลและเรียบเรียง
________________________
[1] รายงานโดยอิบนุล มาญะชูน จากมาลิก(อัน-นัดวียฺ)
[2] อัล มุลกฺ 14
[3] อัลกุรอาน 22:78
[4] รายงานโดยบุคอรียฺ
[5] รายงานโดยอะหฺมัดและอบูดาวูด คัดจากมิชกาต อัล มะศอบิหฺ, บาบ อัล อิอฺติศอม บิล กิตาบิ วัซ ซุนนะฮฺ(อัน-นัดวียฺ) เชคอัลบานียฺ จัดว่าเป็นฮะด๊ษ เศาะฮีฮฺ ในกิตาบุซ ซุนนะฮฺ หมายเลข 31(ผู้แปล)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น