![]() |
Rohingya |
(ดู Myanmar-The Rohingya Minority: Fundamentel Rights Denied) รายงานของสำนักงานใหญ่ องค์กรนิรโทษกรรมสากล ประจำกรุงลอนดอนสหราชอาณาจักร
ประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญายังมีความหลากหลายมากในปัจจุบัน มีรายงานและงานวิจัยหลายส่วนที่ให้ข้อมูลไว้ ว่าเป็นผู้คนที่อยู่ในตอนเหนือรัฐอารากัน มีพ่อค้าชาวอาหรับเข้ามาค้าขายเป็นเวลายาวนาน
แต่ในมุมมองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ชาวโรฮิงญาเป็นประชาชนที่ “ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย” และอพยพมjาจากประเทศบังกลาเทศในสมัยที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ดังนั้นด้วยทัศนคติเช่นนี้ของรัฐบาลเผด็จการพม่า ทำให้ประชาชนชาวโรฮิงญาไม่ได้รับการรวมเข้าไปในกลุ่มชนพื้นเมือง (Indigenous groups) ในรัฐธรรมนูญพม่า ส่งผลให้ไม่ได้รับสัญชาติพม่า
การที่ชาวโรฮิงญาไม่ได้รับสัญชาติทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ จากรัฐบาล ทั้งยังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง มากกว่ากลุ่มชนกลุ่มน้อยหรือประชาชนเชื้อชาติอื่นๆ โดยเฉพาะจากความแตกต่างทางศาสนาและเชื้อชาติ ได้รับการคุกคาม และเลือกปฏิบัติในทุกระดับจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะนับถือศาสนา การเข้าถึงการศึกษา สิทธิในการรักษาโรค จนถึงไม่สามารถแต่งงานได้ ถูกบังคับให้เป็นแรงงานขั้นต่ำทั้งยังทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ เพื่อไปประกอบอาชีพ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนมาก
นอกจากนี้ชุมชนชาวโรฮิงญายังได้รับการปราบปรามอย่างต่อเนื่องโดยมีเหตุการณ์สำคัญในปี ค.ศ. 1962 1978 และ 1991 ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลบหนีภัยเข้าไปใน บังกลาเทศ ปากีสถาน ซาอุดิอาราเบีย เป็นหลัก โดยที่ประเทศรองลงมา คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรต มาเลเซีย และประเทศไทย (ดูรายละเอียดสั้นๆ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาที่เกี่ยวกับชาวโรฮิงญาได้ที่
http://en.wikipedia.org/wiki/Rohingya
ชาวโรฮิงญาที่มาอยู่ประเทศไทยมีฐานะเป็นคนไร้รัฐ เพราะพม่าไม่ยอมรับ ประเทศไทยก็ไม่รับรู้ และส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวเอง กลายเป็นคนที่ไม่มีเอกสาร ระบุว่าเกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน คนที่มีเอกสารบ้างก็จะเป็นใบรับรองขอลี้ภัยทางการเมืองจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เท่านั้น ดังนั้น แม้หางานทำได้ นายจ้างก็ไม่สามารถนำไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ เหมือนคนพม่าทั่วไป ส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพขายของ สำหรับคนที่เข้ามาอยู่นานและแต่งงานกับคนไทย แต่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ บุตรที่เกิดมาจึงมิได้สัญชาติไทย ฐานะโรฮิงญาจึงเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ถูกตำรวจจับกุมอยู่เรื่อยๆ และถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชนต่างๆอยู่เป็นประจำ
ประเด็นนี้ควรจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับการศึกษาเพิ่มเติม เพราะภาคประชาชนไทยทำงานกับองค์กรประชาธิปไตยพม่าจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องสิทธิของชาวโรฮิงญาเข้าไปในการถกเถียงกับองค์กรพม่าด้วย การไม่มีความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของประชาชนโรฮิงญาของประเทศไทยนั้น เห็นได้จากการเข้าใจผิดๆว่า ประชาชนชาวโรฮิงญาพูดภาษามลายูหรือเป็นกลุ่มนักรบรับจ้าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่มีข้อเท็จ จริงสนับสนุนแต่อย่างใด
‘โรฮิงญา’ ชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า เชื้อชาติอาระกันบอกเล่าถึงชีวิตที่สุดแสนจะโหดร้าย ที่พวกเขาถูกอธรรมจากทหารรัฐบาล
มามัด จอคิด อายุ 24 ปี จากจังหวัดมุสิดอ ซึ่งยังนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลระนอง หลังจากโดนทหารพม่าทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะเรือที่เดินทางกำลังลอยลำบริเวณจังหวัดมะริด ประเทศพม่า "ทันที ที่ทุกคนเห็นทหารพม่า ซึ่งนั่งเรือรบมาทั้งหมด 4 ลำ ล้อมรอบพวกเรา กลัวมากครับ เพราะทุกคนรู้ถึงกิตติศัพท์ความโหดร้ายของทหารพม่าเป็นอย่างดี"
บางคนตัวสั่นเทาไปหมด และแล้วในที่สุดพวกเราก็ได้รับการทำทารุณกรรมจริงๆ ตั้งแต่ทหารพม่าลงมาควบคุมตัว จะแตะ ต่อย ตบหน้า ถีบ จนกระทั่งนำตัวพวกเราไปยังเกาะแห่งหนึ่ง ทุกคนจึงถูกลงโทษโบยด้วยแส้จนได้รับบาดเจ็บ และใช้ผ้าพันชุบน้ำมันจุดไฟเผามาลน ตนเองโชคร้ายที่สุด เพราะเป็นแผลฉกรรจ์ที่ขา "เจ็บมากๆ ครับ แต่พวกเราทุกคนทนได้ เพราะความเจ็บปวดแค่นี้ เมื่อเทียบกับความโหดร้ายที่เราได้รับอยู่ทุกวันมันเทียบกันไม่ได้เลย"
มามัด จอคิด เล่าต่อว่า หลังจากพวกเรานอนทนทุกข์ทรมานอยู่ถึง 4 คืน 5 วัน ทหารพม่าจึงปล่อยลงเรือ และให้เดินทางต่อจนถูกทหารไทยจับตัว “ทุกคนดีใจ กราบพระอัลเลาะห์ทันทีที่เห็นทหารไทย เพราะทุกคนรู้ว่านั่นคือ รอดแล้วจากความรู้สึกในตอนนั้น” พวกเราไม่เคยคิดที่จะมาทำให้คนไทยยุ่งยาก เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะไปไหน ทุกประเทศล้วนรังเกียจพวกเรา
"แม้ ผมจะถูกควบคุมตัวในเมืองไทย โดนจองจำในห้องขัง ในเรือนจำ หรือที่ไหนๆ พวกเราดีใจเพราะนั่นเป็นชีวิตที่สุขสบายที่สุดที่ได้พบเจอ ตอนนี้ผมนอน
รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลระนอง คุณรู้ไหมว่าความรู้สึกผมเหมือนอยู่โรงแรมชั้น 1 อยู่ห้องพักดีๆ ได้กินอาหารอิสลามที่อร่อยที่สุดในชีวิตของผม ทั้งๆ ที่ผมน่าจะเป็นทุกข์กับสภาพบาดแผลที่ผมได้รับ แต่ความรู้สึกเป็นสุขมันมีมากกว่าจริงๆ ครับ ผมอิจฉาคนไทยจริงๆ ที่ได้เกิดมาบนผืนดินแห่งนี้ ผืนแผ่นดินที่มีแต่ความสุข ไม่เป็นผืนแผ่นดินที่มีแต่ความทุกข์เช่นผืนแผ่นดินของพวกผม" มามัด จอคิด กล่าว
นี่เป็นแค่เสี้ยวของความอธรรมที่ชาวโรฮิงญาได้รับ ยังมีอีกมากที่พวกเขาถูกอธรรมมากไปกว่านี้
กลุ่มชนที่ถูกทำให้ลืม
หมดความเป็นมนุษย์ ไร้ซึ่งสิทธิเสรี
มีแต่ความอธรรมที่พวกเขาได้รับ
ญะซากั้ลลอฮุค็อยร็อน...
ตอบลบ