อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

ผลการกล่าวคำหย่า 3 เฏาะล๊าก ด้วยถ่อยคำเดียว


การหย่า หรือเฏาะล๊าก  (الطلاق) ตามหลักภาษาหมายถึง การแก้ ข้อผูกมัดของการแต่งงานออกโดยใช้คำหย่า (เฏาะล๊าก)

ประเด็นที่จะกล่าวในที่นี้ก็คือว่า การกล่าวคำหย่า 3 ครั้ง เอาไว้ในถ่อยคำเดียว ในเวลา และสถานที่เดียวกันนั้น จะถือว่าเป็นการหย่า 3 เฏาะล๊ากหรือไม่ เช่น ชายผู้เป็นสามีกล่าวกับหญิงผู้เป็นภริยาว่า"เธอถูกหย่าสามเฏาะลาก" หรือ "ฉันหย่าเเธอ ,ฉันหย่าเธอ ,ฉันหย่าเธอ" หรือ "นางถูกหย่า นางถูกหย่า นางถูกหย่า" เป็นต้น ซึ่งขณะกล่าวคำหย่าต้องสมบูรณ์ตามที่ศาสนบัญญัติไว้ครบถ้วน กล่าวคือ หญิงผู้เป็นภริยาอยู่ในช่วงที่สะอาด ปราศจากมีเลือดประจำเดือน  หรือเลือดหลังคลอดบุตร และก่อนหย่านั้นไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับนาง (แต่ไม่ได้ห้ามกรณีหญิงผู้เป็นภริยากำลังตั้งครรภ์ ซึ่งการหย่าจะไม่ตกแก่นางผู้ตั้งครรภ์ เกินกว่า 1 เฏาะล๊าก และปล่อยนางไว้อย่างนั้นจนกว่านางจะคลอดบุตร หลังจากนั้นการหย่าทุกครั้งก็จะตก) ชายผู้เป็นสามีเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ มีสติสัมปชัญญะ  และตัดสินใจด้วยตนเองได้  ไม่ได้ถูกบังคับ หรือมึนเมาโดยไม่รู้ว่าตัวเองพูดอะไร หรือโกรธที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

การรวมเอาการหย่า  3  ครั้งเอาไว้ด้วยถ้อยคำเดียว  จึงมีทัศนะของนักวิชาการต่างกันเป็น  3  ฝ่ายดังนี้

1. ทัศนะที่ว่าการหย่า 3 เฏาะล๊ากด้วยคำพูดครั้งเดียว เป็นทัศนะของปวงปราชญ์  ส่วนหนึ่งคือ ท่านอิบ อิหม่ามทั้ง  4  และ  กลุ่มอัซซอฮิรียะฮฺ   โดยมีรายงานจากซอฮาบะฮฺส่วนใหญ่  เช่น  ค่อลีฟะฮฺทั้ง  4  (ยกเว้นท่านอบูบักร)  และบรรดาอับดุลลอฮฺทั้ง  4  ท่าน  (คืออิบนุ  อุมัร,  อิบนุ  อัมร์,  อิบนุ  อับบ๊าส  และอิบนุ  มัสอู๊ด)  และอบูฮุรอยเราะฮฺ  เป็นต้น

โดยอาศัยหลักฐานดังนี้

รายงานจากมุยาฮิด เล่าว่า
 "ข้าพเจ้าได้อยู่กับอิบนิอับบาส ได้มีชายคนหนึ่งมาหาอิบนิอับบาส แล้วกล่าวว่า "ฉันได้หย่าภริยาของฉัน 3 เฏาะล๊าก อิบนิอับบาสนิ่ง จนฉันคิดว่าอิบนิอับบัสจะให้ผู้หญิงคืนดีกับเขา หลังจากนั้นเขาได้กล่าวว่า "คนหนึ่งของพวกท่านรีบร้อน เขาจึงกระทำเหมือนคนโง่" ต่อมาชายคนนั้นได้กล่าวว่า "โอ้อิบนิอับบาส แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า "และผูใดที่มีความย่ำเกลงอัลลอฮฺ พระองค์จะให้เขามีทางออก" แต่ท่านไม่มีความย่ำเกลงอัลลอฮฺ ดังนั้น ฉันจึงไม่มีทางออกของท่าน ท่านได้ละเมิดพระผู้อภิบาลของท่าน และภริยาของท่าน ก็ขาดกันกับท่าน(บาอิน)"(สายรายงานเศาะเฮียะฮ์ บันทึกหะดิษโดยอบูดาวูด)
รายงานจากสะฮัล อิบนุ สะอัด เล่าว่า
"เมื่อพี่น้องตระกูลอัจญะลานได้สาบานว่า ภริยาของเขาทำซีนา เขาได้กล่าวว่า โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺ ฉันอธรรมต่อนาง ถ้าฉันยังยึดเอานางไว้ นางถูกหย่า นางถูกหย่า นางถูกหย่า" (บันทึกหะดิษโดยอะหฺมัด)
รายงานจากอุบบาดะฮฺ อิบนุศศอมิต เล่าว่า
"คุณปู่ของฉันได้หย่าภริยาของเขา 1,000 เฏาะล๊าก แล้วก็ออกไปหาท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไปเล่าให้ท่านรสูลฟัง ท่านรสูลได้กล่าวแก่เขาว่า "ปู่ของเจ้าไม่กลัวอัลลอฮฺหรือ หย่า 3 เฏาะล๊ากนั้นเป็นสิทธิ์ของเขา ส่วนอีก 997 เฏาะล๊าก เป็นการสร้างศัตรู และอธรรม ถ้าอัลลอฮฺประสงค์ พระองค์ก็จะลงโทาเขา และพระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ก็ทรงอภัยโทษให้แก่เขา"

ทัศนะของนักวิชาการ

ท่านอิมามมาลิก อิบนุ อนัส กล่าวในเรื่องการหย่าขั้นเด็ดขาดว่า "ถ้าผู้หย่าเคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงคนนั้นแล้ว การหย่าก็ตก 3 เฏาะล๊าก"

ท่านอิมามชาฟีอี กล่าวว่า "ถ้าเขาตั้งใจ 1 เฏาะล๊าก ก็ตก 1 เฏาะล๊าก และสามารถกลับคืนดีอีกได้ ถ้าเขาตั้งใจ 2 เฏาะล๊าก ก็ตก 2 และถ้าเขาตั้งใจ 3 เฏาะล๊าก ก็ตก 3"

2. ทัศนะที่ว่าคำพูดดังกล่าวไม่ตกเฏาะล๊ากเลยเล ได้แก่ทัศนะบางท่านในหมู่อัตตาบิอีน มีรายงานเล่ามาจาก ท่านอิบนิอะลียะฮฺ ฮิชาม อิบนิล หะกัม และท่านอบูอุบัยดะฮฺ และบางคนในหมู่อะฮฺลิซซอฮิรฺ (มัซฮับดาวู๊ด อัซซอฮีรีย์) รวมถึงฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺ  ถือว่าไม่มีการหย่าเกิดขึ้น

3.ทัศนะที่ว่าการกล่าว 3 เฏาะล๊ากด้วยคำพูดครั้งเดียว ถือว่าเป็นการตกเป็นการหย่า 1 ครั้ง เป็นทัศนะของของฝ่ายซัยดียะฮฺและอัซซอฮีรียะฮฺบางส่วน,อาลี อิบนีอับบาส , อับดุรเราะฮฺมาน บุตรเอาฟ์ , ซุบัยรฺ บุตร เอาวาม , อะตออฺ , ตอวูส , อินบุ ดีนาร , อิกมะฮฺ สานุศิษย์ของอิมามมาลิก ฮะนาฟี และอะหฺมัด บางท่าน   อิบนุ  อิสหาก,  อิบนุตัยมียะฮฺและอิบนุ  อัลก็อยยิม




หลักฐานทัศนะที่ว่าการกล่าวคำหย่า 3 ครั้ง ด้วยถ่อยคำเดียว ถือเป็นการหย่า 1 เฏาะล๊าก

หลักฐานจากอัลกุรอาน

พระองค์อัลลอฮฺ ศุบฮานาฮูวาตะอาลา ตรัสว่า
الطَّلَاقُ مَرَّتَانِ فَإِمْسَاكٌ بِمَعْرُوفٍ أَوْ تَسْرِيحٌ بِإِحْسَانٍ وَلَا يَحِلُّ لَكُمْ أَن تَأْخُذُوا مِمَّا 
آتَيْتُمُوهُنَّ شَيْئًا إِلَّا أَن يَخَافَا أَلَّا يُقِيمَا حُدُودَ اللَّهِ فَإِنْ خِفْتُمْ أَلَّا يُقِيمَا حُدُودَ اللَّهِ فَلَا جُنَاحَ عَلَيْهِمَا فِيمَا افْتَدَتْ بِهِ تِلْكَ حُدُودُ اللَّهِ فَلَا تَعْتَدُوهَا وَمَن يَتَعَدَّ حُدُودَ اللَّهِ فَأُولَٰئِكَ هُمُ الظَّالِمُونَ ( 229 ) 
"การหย่านั้นมีสองครั้ง แล้วให้มีการยับยั้งไว้โดยชอบธรรม หรือไม่ก็ปล่อยไปพร้อมด้วยการทำความดี และไม่อนุญาตแก่พวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสิ่งที่พวกเจ้าได้ให้แก่พวกนาง (มะฮัร) นอกจากทั้งทั้งสองเกรงว่าจะไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งขอบเขตของอัลลอฮ์ได้เท่านั้น ถ้าหากพวกเจ้าเกรงว่า เขาทั้งสองจะไม่ดำรงไว้ซึ่งขอบเขตของอัลลอฮ์แล้วไซร้ ก็ไม่มีบาปใด ๆ แก่เขาทั้งสองในสิ่งที่นางใช้มันไถ่ตัวนาง เหล่านั้นแหละคือขอบเขตของอัลลอฮ์ พวกเจ้าจงอย่าละเมิดมัน และผู้ใดละเมิดขอบเขตของอัลลอฮ์แล้ว ชนเหล่านั้นแหละคือผู้ที่อธรรมแก่ตัวเอง(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ 2:229)


จากอัลกุรอาน ไม่ได้บ่งบ่งถึงการหย่าที่ต่อเนื่องกันด้วยคำพูดแต่อย่างเดียว หากแต่ต่อเนื่องด้วยการติดตามมาด้วยการนับเป็นครั้ง ซึ่งนักอธิบายอัลกุรอานบางท่านจึงกล่าวว่า "การที่อัลลอฮฺ ศุบฮานาฮูวะตาอาลา ได้ตรัสว่าการหย่านั้น 2 ครั้ง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เห็นว่าสมควรที่จะให้การหย่านั้นมีขึ้นเป้นครั้งๆ มิใช่หย่า 2 เฏาะล๊ากรวดเดียวเลย เพราะถ้าหากพระองค์อัลลอฮฺทรงประสงค์เช่นนั้น พระองค์จะตรัสว่า "การหย่านั้น เฏาะล๊ากและสิ่งที่ปรากฏขึ้นเป็นครั้งหนึ่ง แล้วก็อีกครั้งหนึ่งนั้น มุกัลลัฟ ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำให้เกิดขึ้นในครั้งเดียวพร้อมกัน เช่นเดียวกับการสาปแช่ง(อัลลิอาน) ชายคนหนึ่งสาปแช่งภริยาของเขา  จะกล่าวว่าสาบานกี่สาบาน หรือยอมรับกี่ครั้ง ก็ถือเป็นครั้งเดียว

อายะฮฺอัลกุรอานข้างต้น มิใช้ระบุอย่างที่มีความเข้าใจกันว่า การกล่าวหย่าต่อเนื่องกันด้วยคำพูดเดียวกัน เท่ากับตกสาม และประเพณีก็ไม่ได้เป็นไปดังว่าการกระทำจะเกิดขึ้นซ้ำกันโดยเพียงคำพูดครั้งเดียว การหย่า 3 เฏาะล๊ากด้วยคำพูดคำเดียว ไม่เคยปรากฏในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม




หลักฐานจากหะดิษ

รายงานจากมะฮฺมูด บุตร ละบีด รอฎีญัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า
"ได้มีผู้เล่าให้ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ฟังถึงชายคนหนึ่ง ที่ได้หย่าภริยาของเขาหมดทั้ง 3 เฏาะลาก ท่านนบีได้ลุกขึ้นด้วยอาการโกรธ แล้วกล่าวว่า "คัมภีร์ของอัลลอฮฺจะถูกล้อเล่นอย่างนั้นหรือ ทั้งที่ฉันยังอยู่ในหมู่พวกท่าน? " จนในที่สุดชายคนหนึ่งลุกขึ้นยืน แล้วกล่าวว่า "โอ้ ท่านรสูลุลลอฮฺ ฉันจะไม่ฆ่าเขาหรือ" (บันทึกหะดิษโดยน่าซาอี ด้วยสายรายงานที่ดี)
 รายงานจากอิกริมะฮฺ จากอิบนิ อับบาสรอฎีญัลลอฮุอันฮุมา
 "รุนานะฮฺ บุตร อับดุยะซีด ได้หย่าภริยาของเขา 3 เฏาะลาก ในสถานที่แห่งเดียว ต่อมา รุกานะฮฺ เกิดความเสียใจอย่างรุ่นแรง  ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถามเขาว่า "ท่านหย่าหล่อนอย่างไร?" เขาตอบว่า "สาม" ท่านถามว่า "ในสถาที่เดียวใช้ไหม?" เขาตอบว่า "ถูกแล้ว" ท่านรสูลกล่าวว่า "ความจริงมันเป็นเพียงหนึ่งเท่านั้น จงกลับไปคืนดีกับหล่อนเถิด ถ้าหากท่านต้องการ ผู้เล่ากล่าวว่า "รุกานะฮฺ ได้กลับไปคืนดีกับหล่อน "(หะดิษเศาะเฮียะฮฺ...บันทึกหะดิษโดยอิมามอะหฺมัด, อบูดาวูด และอบียะอฺลา)

รายงานจาก อะบี อัซซอฮฺบาอฺ  รอฎีญัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า
"แท้จริงเขาได้กล่าวแก่อิบนิอับบาสว่า "ท่านทราบไหมว่า หย่าสามถูกนับเป็นหนึ่ง ในสมัยของท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และอบูบักร์ และสามปีแรกของการปกครอง โดยอุมัร"      อิบนุอับบาส ตอบว่า "ถูกแล้ว"(บันทึกหะดิษโดยมุสลิม อบูดาวูด และอะหฺมัด)
รายงานจากอิบุอับบาส รอฎีญัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า
"การหย่าในสมัยท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในสมัยอบูบักร์ และอีกสองปีของการดำรงตำแหน่ง คอลีฟะฮฺ  ของท่านอุมัรฺนั้น การหย่าสาม เป็นหนึ่ง (คำพูดเดียว 3 เฏาะลาก=  1 เฏาะลาก) ท่านอุมัรฺ บุตรของอัลคอตต็อบ ได้กล่าวว่า "ความจริงประชนรีบร้อนในงานชิ้นหนึ่ง ทั้งที่ความจริงพวกเขาควรมีความสุขุมในงานชิ้นนั้น และพวกเราก็ควรที่จะกำหนดมันใช้บังคับแก่ประชาชน" ท่านอุมัรฺจึงกำหนดมันใช้บังคับแก่ประชาชน(คือท่านอุมัร รอฎีญัลลอฮุอันฮุมา ก็ได้กำหนดให้หย่าสามเฏาะลากในคำพูดเดียวเป็นสามเฏาะลาก ท่านอุมัรฺได้เรียกอัครสาวกมาประชุมปรึกษาหารือในเรื่องดังกล่าว พวกเขาเห็นพ้องกับท่านอุมัรฺ ท่านอุมัรฺจึงได้นำข้อบังคับใช้กับประชนชนว่าเป็น 3 เฏาะลาก)" (บันทึกหะดิษโดยมุสลิม อบูดาวูด และอะหฺมัด)

 รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ   รอฎีญัลลอฮุอันฮา เล่าว่า
ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า"การหย่าทาสหญิงนั้น คือ ทำได้ 2 ครั้ง และกำหนดกักตัว(อิดดะฮฺ)ของหล่อน ก็คือ 2 ประจำเดือน" (บันทึกหะดิษโดยอบูดาวูด และติรฺมีซีย์)

รายงานจาก ท่านอุมัร  รอฎีญัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า
"แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้หย่าฮัฟเซาะฮฺ แล้วกลับคืนดีกับนาง(ตามคำสั่งของอัลลอฮฺ โดยมีวะฮีย์มายังท่าน"(บันทึกหะดิษโดยอะบูดาวูด และน่าซาอี)
รายงานจากอิบนิอับบาส รอฎีญัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า
"ปรากฏว่าชายคนหนึ่งเมื่อได้หย่าภรรยาของเขาแล้ว เขาก็มีสิทธิยิ่งที่จะคืนดีกับนาง แม้จะหย่าหล่อนถึง 3 ครั้งก็ตาม การเช่นนั้นได้ถูกยกเลิกด้วยคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ ศุบฮานาฮูวาตาอาลา ที่ว่า "การหย่า(ที่กลับคืนดีกันได้) มีเพียงสอง ดังนั้นให้ยึดไว้ให้ดี หรือปล่อยไปโดยคุณธรรม"(บันทึกหะดิษโดยอบูดาวุด ติรฺมีซีย์ และนาซาอี)





ทัศนะของนักวิชาการว่าการกล่าวคำหย่า 3 ครั้ง ด้วยถ่อยคำเดียว ถือเป็นการหย่า 1 เฏาะล๊าก


อิบนุ ก้อยยิม ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อิฆอษะตุ้ลละฮฺฟาน ว่า "ท่านได้ถือว่าเขาคนนั้นทำเล่นๆ กับคัมภีร์ของอัลลอฮฺ เพราะผู้นั้นได้ฝ่าฝืนนัยแห่งการหย่า เขาประสงค์ในสิ่งที่อัลลอฮฺไม่ประสงค์ เพราะอัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่ง ต้องการให้หย่าเพียง 1 เฏาะล๊าก เขาก็มีสิทธิ์กลับมาอยู่กับภริยาเมื่อเขาประสงค์ แล้วก็หย่าอีก 1 เฏาะล๊าก โดยที่เขาประสงค์ที่จะไม่กลับไปคืนดีกับนาง
ในทำนองเดียวกัน การตก 3 เฏาะลาก ในที่เดียวนั้นเป็นการฝ่าฝืนคำดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า "الطَّلَاقُ مَرَّتَانِ" ความว่า "การหย่านั้นมี 2 ครั้ง"
คำว่า 2 ครั้ง และ 3 ครั้ง ในภาษาของอัลกุรอาน และสุนนะฮฺ รวมทั้งภาษาอาหรับและภาษาของชนชาติอื่นๆ มันหมายความว่า หย่าที่ละครั้ง ที่ละครั้ง แล้วเมื่อเอา 2 ครั้ง และหลายครั้งมารวมกันไว้ในการพูดครั้งเดียว ถือเป็นการละเมิดขอบเขตของอัลลอฮฺ ตะอาลา และสิ่งที่คัมภีร์ของพระองค์บ่งชี้ แล้วเหตุใดที่เป้าหมายกับคำหย่าอย่างนั้นจะเป็นข้อชี้ขาดที่ตรงกันข้ามกับเป้าประสงค์ของบทบัญญัติ"

อิบนุตัยมียะฮฺ ได้กล่าวว่าในหนังสือ ฟะตาวา เล่มที่ 2 หน้าที่ 22 ว่า "ไม่มีหลักฐานทางศาสนา คือ คัมภีร์ของอัลลอฮฺ สุนนะฮฺของท่านรสูล มติของนักปราชญ์ และหลักฐานว่าจำเป็นต้องตก 3 เฏาะลากเลย การนิกะฮฺของเขายังมั่นคงอย่างแน่ใจ ภริยาของเขายังเป็นที่ต้องห้ามแก่คนอื่นด้วยความแน่ใจ และในการที่บอกว่าจำเป็นที่ต้องห้ามแก่เขา เพื่อปกป้องการแต่งงานที่อัลลอฮฺ และรสูลของพระองค์ทรงห้าม เพราะการแต่งงานเพื่อทำให้ภริยาเป็นที่อนุมัติแก่สามีเดิม ไม่เคยปรากฏอย่างชัดเจนในสมัยท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และสมัยบรรดาฆ่อลีฟะฮฺของท่าน และไม่เคยมีใครรายงานมาเลยว่า มีหญิงที่กลับไปแต่งงานกับสามีเดิมอีก หลังจากถูกหย่า 3 เฏาะลาก แล้วในสมัยของพวกเขาด้วยการแต่งงานชั่วระยะหนึ่งเพื่อให้นางกลับไปคืนดีกับสามีเดิม แต่ความจริงแล้ว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สาปแช่งผู้ดำเนินการ และผู้ถูกดำเนินการ (คือเรื่องจินอบุตอฺ หรือที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า "เจ๊กตาบอด") จนกระทั้งเขา (อิบนุตัยมียะฮฺ) กล่าวว่า
สรุปแล้วบัญญัติที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้นำมาสู่ประชาชาติของท่านนั้น เป็นบัญญัติที่จำเป็นนั้นไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะไม่สามารถจะยกเลิกได้หลังจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้จากไปแล้ว"

อิบนุล ก็อยยิม ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอิบนุตัยมียะฮฺ ได้กล่าวว่า "ได้มีรายงานอย่างถูกต้องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ความจริงการหย่า 3 เฏาะลากนั้น ถือเป็นเฏาะลากเดียวในสมัยการปกครองของท่านอบีบักรฺ รอฎีญัลลอฮุอันฮุ และในช่วงแรกๆของสมัยการปกครองของท่านอุมัรฺ รอฎีญัลลอฮุอันฮุ และในที่สุดในสิ่งที่ถูกสมมุติขึ้นมาทั้งๆ ทั้งๆที่มันห่างไกลกัน เพราะบรรดาเศาะหะบะฮฺนั้นพวกเขาเคยปฏิบัติอย่างนั้น โดยไม่มีรายงานเป็นอย่างอื่น อย่างนี้แหละ ถึงแม้ว่ามันอาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่มันชี้ให้เห็นว่าพวกเขาชี้ขาดอย่างนั้นในช่วงที่ท่านนบียังมีชีวิตอยู่ และในช่วงการเป็นฆ่อลีฟะฮฺของท่านอบูบักรฺ ความจริงแล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เคยชี้ขาดอย่างนั้น และนั้นคือ การชี้ขาดของท่าน และการกระทำของบรรดาสาวกของท่านโดยที่เอาแบบอย่างกันมา โดยผ่านมือต่อมือ และไม่มีการค้านกัน"


ท่านอิมามอัชเชากานียฺ กล่าวว่า "นักวิชาการมีความเห็นไม่ตรงกัน การกล่าว 3 เฏาะล๊ากรวดเดียวว่าจะตกเป็น 3 หรือ 1 เท่านั้น ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าตกเป็นสาม คนอื่นๆมีความเห็นว่าตกเป็นหนึ่งเท่านั้น และนั้นเป็นของแท้ และฉันได้รายงานไว้มากมายในตำราที่ฉันได้เรียบเรียงขึ้น  และฉันจัดเรื่องนี้ไว้ในสาส์นฉบับหนึ่งต่างหาก"

"ท่านอุมัร รอฎีญัลลอฮุอันฮุ มีความเห็นว่า เป็นการปรามมิให้ผู้คนหย่ากันอย่างพล่อยๆ จึงให้ตก 3 เฏาะลากทีเดียว เพื่อเป็นการลงโทษผู้คน ซึ่งท่านก็เห็นว่ามันเกิดความจำเป็นในช่วงวิกฤตเช่นนั้น นั่นเป็นการวินิจฉัยของท่านเอง สรุปก็คือ การหย่าในสมัยนั้น มันเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ท่านได้ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของสังคมที่ท่านเห็นว่าควรจะทำอย่างนั้น โดยที่จะไม่ทิ้งคำตัดสิ้นชี้ขาดที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยปฏิบัติเป็นแบบอย่างเอาไว้ และเคยเป็นที่ยึดถือของบรรดาสาวกของท่านในสมัยเหล่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอย่างนั้น คนหนึ่งก็จงกล่าวเถิดว่า นั้นเป็นไปตามที่พระองค์ทรงประสงค์ และด้วยอัลลอฮฺเท่านั้น คือความสำเร็จ"

ท่านอัชชากานี ได้กล่าวว่า เจ้าของหนังสืออัลบะฮฺริ ได้กล่าวไว้เช่นนั้น โดยรายงานมาจากอบีมูซา และรายงานหนึ่งจากอะลี อิบนิอับบาส ฏอวูส อะวูส อะฏอฮฺ ญาบิร อิบนุ เชด อัลฮาดี อัลกอเซ็ม อัลบากิร อะหฺมัด อิบนุอีซา อับดุลลอฮฺ อิบนุมูซา อิบนุอับดิลลาฮฺ และรายงานหนึ่งจาก เชด อิบนุ อะลี รอฎีญัลลอฮุอันฮุม

สิ่งที่เรียกร้องให้ท่านอุมัรฺ รอฎีญัลลอฮุอันฮุ ปรึกษาหารือกับบรรดาเศาะหะบะฮฺในเรื่องการหย่า 3 เฏาะล๊ากด้วยคำพูดครั้งเดียว ก็เป็นไปตามที่ได้แถลงไว้คือ "ผู้คนทั้งหลายรีบด่วนในงานที่พวกเขาจำเป็นต้องค่อยทำค่อยไป"

ท่านอิบนิตัยมียะฮฺ กล่าวว่า "การที่ท่านอุมัรฺ  รอฎีญัลลอฮุอันฮุ ถือว่าการกล่าว 3 เฏาะล๊าก ทำให้ตกเป็นสาม ก็เนื่องจากผู้คนทั้งหลายกล่าวเฏาะล๊าก(คำหย่า)กันพล่อยๆ ท่านจึงลงโทษคนเหล่านั้นด้วยการให้ตกเป็น 3 เฏาะล๊ากไปเลย และนี่เนื่องจากการใช้การวินิจฉัย(อิจญ์ติฮาด) ของท่าน เช่นเดียวกับการเพิ่มโทษการเฆี่ยนผู้ดื่มสุราจาก 40 ยุคท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และยุคฆ่อลีฟะฮฺอบูบักร์ รอฎีญัลลอฮุอันฮุ เป็น 80 ที เนื่องจากมีคนดื่มกันมาก และเป็นไปอย่างโจ่งแจ้ง จึงไม่ขัดข้องในการเพิ่มอัตราโทษในการเฆี่ยนตี"




การนำมาใช้ในศาลประเทศอียิปต์

ทัศนะนี้ที่เป็นแนวทางที่ดำเนิน และถือปฏิบัติกันในศาลในประเทศอียิปต์ในระยะหลังนี้ ซึ่งได้ระบุอยู่ในมาตรา 3 ของกฎหมาย ข้อที่ 25 ปี ค.ศ.1929 โดยมีข้อความต่อไปนี้ "การหย่าที่ระบุจำนวนเป็นคำพูดออกมา หรือทำสัญญาณ ถือว่าตก 1 เฏาะลากเท่านั้น"
ได้ระบุอยู่ในรายละเอียดเป็นข้อความที่อธิบายมาตรงนี้ว่า จึงจำเป็นที่ต้องเลือกเอาว่าตก 1 เฏาะล๊ากนั้น ก็เพราะว่าเป็นการปกป้องเพื่อให้เกิความสุขกับครอบครัว และเพื่อให้หลุดพ้นจากเรื่องมุฮัลลิล (จินอบุตอ , เจ๊กตาบอด) ซึ่งถือเป็นเรื่องสร้างความเสื่อมเสียให้กับบทบัญญัติอันสะอาดบริสุทธิ์ ทั้งที่ศาสนานั้นมิได้เป็นอย่างที่ผู้คนเข้าใจกับความจริงแล้วเรื่องมุฮัลลิล และมุฮัลละละฮฺ นั้นได้ถูกสาปแช่งไว้ และเพื่อหาทางออก แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องการหย่าร้าง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ทำลายสถาบันครอบครัวให้ถูกต้องตามนัยของศาสนา

สรุป 
การกล่าวคำหย่า(เฏาะล๊าก)ซ้ำๆ หรือรวบรัดทีเดียว ในถ่อยคำเดียวกันนั้น มีผลเป็นการหย่า 1 หย่า (เฏาะล๊าก) ตามหลักฐานอัลกุรอานและหะดิษที่กล่าวมาข้างต้น ถึงแม้ในยุคฆ่อลีฟะฮฺอุมัรฺ รอฎีญัลลอฮุอันฮุมา จะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าการหย่า 3 เฏาะล๊ากด้วยคำพูดครั้งเดียวก็ตาม ก็เกิดขึ้นด้วยความจำเป็น อันเนื่องจากผู้คนในยุคนั้นต่างกล่าวคำหย่ากันพล่อยๆ และรีบด่วน ท่านจึงลงโทษคนเหล่านั้นด้วยการให้ตกเป็น 3 เฏาะล๊าก แต่ท่านไม่ได้ให้ทิ้งคำตัดสิ้นชี้ขาดที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยปฏิบัติเป็นแบบอย่างเอาไว้ และเคยเป็นที่ยึดถือของบรรดาสาวกของท่านในสมัยเหล่านั้นแต่อย่างใด กล่าวคือหลัก ต้องนำหลักฐานการตัดสิ้นชี้ขาดจากท่านรสูล  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่าการกล่าวคำหย่าครั้งหนึ่ง มีผลเป็นการหย่า 1 เฏาะล๊ากเท่านั้น และหากอยู่ในช่วงวิกฤตมีความจำเป็นเช่นยุคฆ่อลีฟะฮฺอุมัรฺ  รอฎีญัลลอฮุอันฮุมา จึงจะนำหลักการหย่า 3 เฏาะล๊ากด้วยคำพูดครั้งเดียวมาใช้ได้ แยกเป็นประเด็นไป

 والله أعلم بالصواب

***ดาวน์โหลด PDF การหย่า 3 เฏาะล๊าก






4 ความคิดเห็น:

  1. แล้วแบบนี้ถ้าสามีหย่า 3 ในรวดเดียว โดยที่เราทั้งสองต่างพลาดพลั้งไป จะกลับมาคืนดีกันได้ไหมคะ

    ตอบลบ
  2. สามีบอกหย่า3เฏาะล๊ากในครั้งเดียวแต่ไม่เข้าใจคำว่าเฏาะล๊าก เพราะเป็นมุอันรับ ตอนพูดหย่าคือมีอีหม่ามบอกให้พูดตามแล้วสามีก็พูด ตอนนี้อยากกลับมาคืนดีกัน แบบนี้กลับมาคืนดีกันได้มั้ยค่ะ

    ตอบลบ
  3. สามีบอกหย่า3เฏาะล๊ากในคำเดียว แต่ไม่เข้าใจคำว่าเฏาะล๊ากเพราะเป็นมุอันรับ ตอนพูดหย่าพูดตามอีหม่าม ตอนนี้อยากกลับมาอยู่ด้วยจะกลับมาคืนดีกันได้มั้ยคะ

    ตอบลบ
  4. สามีบอกหย่า3เฏาะล๊ากในครั้งเดียวแต่ไม่เข้าใจคำว่าเฏาะล๊าก เพราะเป็นมุอันรับ ตอนพูดหย่าคือมีอีหม่ามบอกให้พูดตามแล้วสามีก็พูด ตอนนี้อยากกลับมาคืนดีกัน แบบนี้กลับมาคืนดีกันได้มั้ยค่ะ

    ตอบลบ