อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

ฟิดยะฮฺค่าชดใช้จากการละเมิดข้อห้ามในหัจญ์




ข้อห้ามสำหรับผู้ครองอิหฺรอมนั้นหากพิจารณาในส่วนของฟิดยะฮฺ อาจแบ่งได้ 4 ประเภท
1. การกระทำที่ไม่ต้องจ่ายฟิดยะฮฺ : การสมรส
2. การกระทำที่ต้องจ่ายฟิดยะฮฺขั้นหนัก : การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างพิธีหัจญ์ก่อนการตะหัลลุลเบื้องต้น ซึ่งฟิดยะฮฺในกรณีนี้ก็คือ อูฐหนึ่งตัว
3. การกระทำที่ต้องจ่ายฟิดยะฮฺเป็นสัตว์ หรือตัวเทียบปรับ : การฆ่าสัตว์บกที่รับประทานได้
4. จ่ายฟิดยะฮฺเหมือนฟิดยะฮฺของผู้มีเหตุจำเป็น : การฝ่าฝืนข้อห้ามอื่นๆ เช่นโกนผม ใช้เครื่องหอม เป็นต้น

ผู้ที่เจ็บป่วยหรือมีเหตุจำเป็นให้ต้องกระทำสิ่งต้องห้ามดังที่กล่าวมา (ยกเว้นการมีเพศสัมพันธ์) เช่น โกนผม หรือสวมใส่เสื้อผ้าที่เย็บเข้ารูป ก็อนุญาตให้กระทำได้ แต่จำเป็นต้องจ่ายฟิดยะฮฺของผู้มีเหตุจำเป็น

ฟิดยะฮฺผู้มีเหตุจำเป็น สามารถเลือกได้ระหว่าง 3 ประการดังต่อไปนี้
1. ถือศีลอด 3 วัน
2. หรือเลี้ยงอาหารผู้ยากไร้ 6 คน เป็นข้าวสาร หรืออินผลัม (ตามแต่อาหารหลักของแต่ละที่) คนละครึ่งศออฺ หรืออาจจะเลี้ยงอาหารคนละมื้อ ตามความเหมาะสมของแต่ละที่
3.หรือเชือดแพะ
อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า
(ﯦ ﯧ ﯨ ﯩ ﯪ ﯫ ﯬ ﯭ ﯮ ﯯ ﯰ ﯱ ﯲ ﯳ ﯴ ﯵ)
ความว่า "แล้วผู้ใดในหมู่พวกเจ้าป่วยลง หรือมีสิ่งที่ทำให้เขาเดือดร้อนบนศีรษะของเขา ก็ให้มีการชดเชย อันได้แก่การถือศีลอด การทำทาน หรือการเชือดสัตว์” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 196)            

การถือศีลอดสามารถกระทำที่ใดก็ได้ ส่วนการเลี้ยงอาหาร และการเชือดแพะนั้นให้ทำและแจกจ่ายแก่ผู้ยากไร้ชาวมักกะฮฺเท่านั้น

หุก่มของผู้ที่กระทำสิ่งต้องห้ามข้อใดข้อหนึ่งจากที่กล่าวมา
ผู้ใดกระทำสิ่งต้องห้ามเหล่านี้ด้วยความไม่รู้ หลงลืม หรือเพราะถูกบังคับก็ไม่ถือว่าเป็นบาปแต่อย่างใด และไม่ต้องจ่ายฟิดยะฮฺ แต่จำเป็นต้องหยุดกระทำสิ่งต้องห้ามนั้นทันที
และถ้าผู้ใดกระทำโดยเจตนาเนื่องจากมีความจำเป็น ก็จำเป็นที่เขาต้องจ่ายฟิดยะฮฺแต่ไม่ถือว่าเป็นบาปแต่อย่างใด
ส่วนผู้ใดเจตนากระทำโดยที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ จำเป็นที่เขาต้องจ่ายฟิดยะฮฺ และถือว่าเป็นบาป

ฟิดยะฮฺของการฆ่าสัตว์บก
ผู้ใดเจตนาฆ่าสัตว์บกในขณะที่ครองอิหฺรอม : ถ้าหากสัตว์ที่เขาฆ่านั้นมีกำหนดเทียบปรับเป็นปศุสัตว์ก็ให้เขาเลือกระหว่างการจ่ายเป็นปศุสัตว์ตัวเทียบนั้นโดยให้เชือดและแจกจ่ายแก่ผู้ยากไร้ชาวมักกะฮฺ หรือตีราคาปศุสัตว์ตัวเทียบเป็นเงินแล้วนำเงินนั้นซื้ออาหารเลี้ยงผู้ยากไร้คนละครึ่งศออฺ หรือถือศีลอดแทนที่การเลี้ยงอาหารผู้ยากไร้ โดยให้ถือศีลอดหนึ่งวันต่อจำนวนผู้ยากไร้หนึ่งคน
แต่ถ้าหากไม่มีปศุสัตว์ตัวเทียบก็ให้ตีราคาสัตว์ที่ถูกฆ่านั้นเป็นเงิน และให้เลือกระหว่างเลี้ยงอาหารกับถือศีลอด
อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า :


يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تَقْتُلُوا الصَّيْدَ وَأَنتُمْ حُرُمٌ وَمَن قَتَلَهُ مِنكُم مُّتَعَمِّدًا فَجَزَاءٌ مِّثْلُ مَا قَتَلَ مِنَ النَّعَمِ يَحْكُمُ بِهِ ذَوَا عَدْلٍ مِّنكُمْ هَدْيًا بَالِغَ الْكَعْبَةِ أَوْ كَفَّارَةٌ طَعَامُ مَسَاكِينَ أَوْ عَدْلُ ذَٰلِكَ صِيَامًا لِّيَذُوقَ وَبَالَ أَمْرِهِ عَفَا اللَّهُ عَمَّا سَلَفَ وَمَنْ عَادَ فَيَنتَقِمُ اللَّهُ مِنْهُ وَاللَّهُ عَزِيزٌ ذُو انتِقَامٍ (


ความว่า "ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่าฆ่าสัตว์ล่าในขณะที่พวกเจ้ากำลังครองอิหฺรอมอยู่ และผู้ใดในหมู่พวกเจ้าได้ฆ่ามันโดยเจตนาแล้วไซร้ การชดเชยก็คือ (ปศุสัตว์) ชนิดเดียวกับที่เขาฆ่า โดยผู้ที่ยุติธรรมสองคนในหมู่พวกเจ้าจะกระทำการชี้ขาดมัน ในฐานะเป็นสัตว์พลีที่ไปถึงอัล-กะอฺบะฮฺ หรือไม่ก็ให้มีการไถ่โทษ ด้วยการให้อาหารแก่บรรดาผู้ยากไร้ หรือถือศีลอดเทียบเท่ากับสิ่งนั้น (การให้อาหาร)" (อัล-มาอิดะฮฺ  : 95)

ฟิดยะฮฺสำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ระหว่างยังประกอบพิธีหัจญ์หรืออุมเราะฮฺไม่เสร็จสิ้น
1. ฟิดยะฮฺสำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนการตะหัลลุลเบื้องต้น คือ อูฐหนึ่งตัว ถ้าไม่สามารถหาได้ก็ให้ถือศีลอด 3 วันในช่วงหัจญ์และอีก 7 วันเมื่อกลับไปถึงภูมิลำเนาของตน แต่ถ้าการมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นหลังตะหัลลุลเบื้องต้นก็ให้จ่ายเช่นเดียวกับฟิดยะฮฺผู้มีเหตุจำเป็น ซึ่งสตรีก็ให้ยึดหุก่มเช่นเดียวกันเว้นแต่ว่านางจะถูกบังคับให้กระทำ
2. ฟิดยะฮฺสำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ระหว่างพิธีอุมเราะฮฺก่อนการเดินสะแอ หรือโกนศีรษะเหมือนกับกรณีของผู้มีเหตุจำเป็น

หุก่มการตัดโค่นต้นไม้และล่าสัตว์ในเขตหะร็อม
1. ไม่อนุญาตให้ตัดต้นไม้ต้นหญ้าในเขตหะร็อมมักกะฮฺนอกจากต้นอิซค็อรฺและสิ่งที่มนุษย์เพาะปลูก ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพที่ครองอิหฺรอมหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าหากฝ่าฝืนก็ไม่ต้องจ่ายฟิดยะฮฺแต่อย่างใด และห้ามฆ่าสัตว์ในเขตหะร็อม หากฝ่าฝืนจำเป็นต้องจ่ายฟิดยะฮฺ
2. ไม่อนุญาตให้ล่าสัตว์หรือตัดต้นไม้ในเขตหะร็อมมะดีนะฮฺ หากฝ่าฝืนก็ไม่มีฟิดยะฮฺแต่อย่างใด แต่จะต้องถูกลงโทษตามแต่ผู้มีอำนาจจะเห็นควร และถือว่าเป็นบาป ส่วนพืชจำพวกหญ้านั้นอนุญาตให้นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ตามแต่ความจำเป็น และไม่มีเขตหะร็อมอื่นใดในโลกนี้นอกเหนือจากทั้ง 2 หะร็อมนี้

เขตหะร็อมมะดีนะฮฺ
ทางทิศตะวันออก เริ่มจาก อัล-หัรฺเราะฮฺ อัล-ชัรฺกิยะฮฺ
ทางทิศตะวันตก เริ่มจาก อัล-หัรฺเราะฮฺ อัล-ฆ็อรฺบิยะฮฺ
ทางทิศเหนือ เริ่มจาก ภูเขาเษารฺ
ทางทิศใต้ เริ่มจาก ภูเขาอีรฺ โดยเชิงเขาทางตอนเหนือของเขาอีรฺคือวาดิลอะกีก

หุก่มของผู้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามมากกว่าหนึ่งครั้ง
ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามข้อใดข้อหนึ่ง และได้ฝ่าฝืนซ้ำข้อเดิมโดยที่ยังไม่ได้จ่ายฟิดยะฮสำหรับครั้งแรกก็ให้เขาจ่ายเพียงครั้งเดียว ต่างจากการล่าสัตว์ ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามหลายๆประเภท เช่น โกนศีรษะ และใช้เครื่องหอม เช่นนั้นแล้วจำเป็นต้องจ่ายฟิดยะฮฺสำหรับแต่ละข้อเป็นกรณีๆไป
ไม่อนุญาตให้ทำการสมรสขณะที่ครองอิหฺรอม และถือเป็นโมฆะ แต่ไม่ต้องจ่ายฟิดยะฮฺแต่อย่างใด ส่วนการคืนดีของคู่หย่าร้างที่ยังไม่หย่าขาดนั้นถือว่าอนุญาตให้กระทำได้

ผู้ที่จำเป็นต้องเชือดฮัดย์(สัตว์เชือดสำหรับหัจญ์ประเภทตะมัตตุอฺและกิรอน)
ผู้ที่จำเป็นต้องเชือดฮัดย์ คือ ผู้ที่ประกอบพิธีหัจญ์แบบตะมัตตุอฺ และกิรอนในกรณีที่ทั้งสองไม่ใช่ชาวมักกะฮฺ ซึ่งวาญิบให้เชือดแพะหนึ่งตัว หรือ 1/7 ส่วนของอูฐ หรือ 1/7 ส่วนของวัว ส่วนผู้ที่ไม่สามารถหาฮัดย์ได้ก็ให้ถือศีลอด 3 วันในช่วงหัจญ์ จะก่อนหรือหลังวันอะเราะฟะฮฺก็ได้โดยให้อยู่ภายในวันที่ 13 ซึ่งเช่นนี้ถือว่าดีที่สุด และให้ถืออีก 7 วันเมื่อกลับไปยังถิ่นฐานภูมิลำเนาของตน ส่วนผู้ที่ทำแบบอิฟรอดนั้นไม่ต้องเชือดฮัดย์
อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า :

وَأَتِمُّوا الْحَجَّ وَالْعُمْرَةَ لِلَّهِ فَإِنْ أُحْصِرْتُمْ فَمَا اسْتَيْسَرَ مِنَ الْهَدْيِ وَلَا تَحْلِقُوا رُءُوسَكُمْ حَتَّىٰ يَبْلُغَ الْهَدْيُ مَحِلَّهُ فَمَن كَانَ مِنكُم مَّرِيضًا أَوْ بِهِ أَذًى مِّن رَّأْسِهِ فَفِدْيَةٌ مِّن صِيَامٍ أَوْ صَدَقَةٍ أَوْ نُسُكٍ فَإِذَا أَمِنتُمْ فَمَن تَمَتَّعَ بِالْعُمْرَةِ إِلَى الْحَجِّ فَمَا اسْتَيْسَرَ مِنَ الْهَدْيِ فَمَن لَّمْ يَجِدْ فَصِيَامُ ثَلَاثَةِ أَيَّامٍ فِي الْحَجِّ وَسَبْعَةٍ إِذَا رَجَعْتُمْ تِلْكَ عَشَرَةٌ كَامِلَةٌ ذَٰلِكَ لِمَن لَّمْ يَكُنْ أَهْلُهُ حَاضِرِي الْمَسْجِدِ الْحَرَامِ وَاتَّقُوا اللَّهَ وَاعْلَمُوا أَنَّ اللَّهَ شَدِيدُ الْعِقَابِ ( 196 )
 ความว่า “ผู้ใดที่แสวงหาประโยชน์จนกระทั่งถึงเวลาหัจญ์ด้วยการทำอุมเราะฮฺ (ประกอบพิธีหัจญ์แบบตะมัตตุอฺ) แล้วก็ให้เชือดสัตว์พลีตามที่หาได้ ส่วนผู้ใดหาไม่ได้ก็ให้ถือศีลอดสามวันในระหว่างการทำหัจญ์ และอีกเจ็ดวันเมื่อพวกเจ้ากลับถึงบ้าน นั่นคือสิบวันเต็ม กรณีดังกล่าวนั้นสำหรับที่ครอบครัวของเขามิได้ประจำอยู่ที่มัสยิดหะรอม และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และพึงรู้ด้วยว่า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงลงโทษที่รุนแรง“ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 196)

การเชือดฮัดย์และการเลี้ยงอาหารนั้นจำเป็นต้องแจกจ่ายให้ผู้ยากไร้ในเขตหะร็อม ส่วนฟิดยะฮฺผู้มีเหตุจำเป็น ฟิดยะฮฺจากการสวมใส่เสื้อผ้า และดัมจากการมีอุปสรรคขวางกั้นให้จ่าย ณ สถานที่เกิดเหตุ ส่วนข้อปรับจากการล่าสัตว์ในเขตหะร็อมก็ให้แจกจ่ายแก่ผู้ยากไร้ในเขตหะร็อม ส่วนการถือศีลอดนั้นจะกระทำที่ใดก็ได้
ฮัดย์ของผู้ครองอิหฺรอมแบบตะมัตตุอฺและแบบกิรอน สุนัตให้เก็บไว้ทานส่วนหนึ่ง ให้เป็นฮะดิยะฮฺ และแจกจ่ายแก่ผู้ยากไร้ในเขตหะร็อม
ผู้ที่มีอุปสรรคกั้นขวางทำให้ไม่สามารถประกอบพิธีกรรมทั้งหมดให้เสร็จสิ้นได้จำเป็นต้องเชือดฮัดย์เท่าที่จะหาได้ ถ้าหากเขาไม่สามารถหาฮัดย์ได้ก็ถือว่าเขาสิ้นสุดจากการครองอิหฺรอมโดยที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายสิ่งใดชดเชย

หุก่มของสัตว์บกที่มีปศุสัตว์ตัวเทียบกับที่ไม่มีตัวเทียบ
1. สัตว์บกที่มีปศุสัตว์กำหนดไว้เป็นตัวเทียบ เช่น นกกระจอกเทศ ต้องจ่ายเป็นอูฐหนึ่งตัว ม้าลาย วัวป่า ต้องจ่ายเป็นวัวหนึ่งตัว ส่วนหมาในให้เทียบปรับเป็นแพะตัวผู้หนึ่งตัว กวางให้เทียบปรับเป็นแพะตัวเมียหนึ่งตัว กระต่ายให้เทียบปรับเป็นลูกแพะตัวเมียที่อายุยังไม่ครบ 2 ปี นกพิราบและสัตว์ที่ใกล้เคียงให้เทียบปรับเป็นแพะหนึ่งตัว ส่วนสัตว์ประเภทอื่นๆให้เลือกคนสองคนที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาเป็นทำหน้าที่ตัดสินว่าต้องเทียบปรับเป็นสัตว์ประเภทใด
2. สัตว์บกที่ไม่มีปศุสัตว์ใดๆเป็นตัวเทียบ ให้เทียบราคาเป็นเงินแล้วซื้ออาหารแจกจ่ายผู้ยากไร้ โดยแจกให้คนละหนึ่งอุ้งมือ หรือถือศีลอดแทนที่

ประเภทของดัม(สัตว์เชือดต่างๆ ทั้งหมด)ในพิธีหัจญ์
1. ดัมตะมัตตุอฺ และกิรอน ประเภทนี้ให้ผู้ประกอบพิธีหัจญ์รับประทานส่วนหนึ่ง และแจกจ่ายอีกส่วนหนึ่ง อีกส่วนที่เหลือให้เลี้ยงผู้ยากไร้
2. ดัมฟิดยะฮฺ สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อหนึ่งข้อใดจากข้อห้ามสำหรับผู้ครองอิหฺรอม เช่น โกนศีรษะ หรือสวมใส่เสื้อผ้าที่เย็บเข้ารูป เป็นต้น
3. ดัมเทียบปรับ สำหรับผู้ที่ล่าสัตว์บกที่รับประทานได้
4. ดัมผู้ที่มีอุปสรรคขวางกั้นทำให้ไม่สามารถประกอบพิธีให้เสร็จสิ้นทุกขั้นตอนได้ และไม่ได้ตั้งเงื่อนไขไว้ครั้งที่ทำการเนียต
5. ดัมผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนการตะหัลลุล
ซึ่งดัมใน 4 กรณีสุดท้ายไม่อนุญาตให้ผู้จ่ายรับประทาน แต่ให้เชือดและแจกจ่ายแก่ผู้ยากไร้ในมักกะฮฺ

หุก่มการขนย้ายเนื้อออกนอกเขตหะร็อม
สิ่งที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์เชือดนั้นมี 3 ประเภท
1. ฮัดย์ตะมัตตุอฺ หรือกิรอน ให้เชือดในเขตหะร็อม ให้รับประทานส่วนหนึ่ง และแจกจ่ายให้ผู้ยากไร้ โดยสามารถขนย้ายออกไปนอกเขตหะร็อมได้
2. สิ่งที่เชือดในเขตหะร็อมเพื่อเป็นการเทียบจ่ายเนื่องจากล่าสัตว์บก หรือเป็นฟิดยะฮฺของผู้ที่มีความจำเป็น หรือได้ฝ่าฝืนกระทำสิ่งต้องห้าม ทั้งหมดนี้ให้แจกจ่ายแก่ผู้ยากไร้ชาวมักกะฮฺโดยไม่เก็บไว้รับประทานเอง
3. สิ่งที่เชือดนอกเขตหะร็อม เช่น ฮัดย์ผู้ที่มีอุปสรรคขวางกั้น หรือฟิดยะฮฺเทียบจ่ายเนื่องจากล่าสัตว์บก หรือในกรณีอื่นๆ ก็ให้แจกจ่าย ณ สถานที่เชือด แต่ก็อนุญาตให้ขนย้ายไปที่อื่น โดยต้องไม่เก็บไว้รับประทานเอง



والله أعلم بالصواب



มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์
محمد بن إبراهيم بن عبدالله التويجري

แปลโดย: อัสรอน  นิยมเดชา
ترجمة: عصران    نئيوم ديشا

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น