อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559

มูรีด ฟันธง! ทางรอดของคนแต่งชุดดำ กรณีภาคบังคับ มีทางออก



การแสดงความเศร้าโศกเสียใจโดยสวมใส่เสื้อผ้าชุดสีดำเพื่อแสดงออกถึงการไว้อาลัยแก่ผู้ตายที่เป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม เช่นนี้มุสลิมสามารถกระทำได้หรือไม่?
ตอบ การไว้ทุกข์ในอิสลามไม่มีในบทบัญญัติ มีแต่การรออิดดะฮฺของสตรีซึ่งสามีเสียชีวิตเป็นระยะเวลา 4 เดือนกับ 10 วัน ซึ่งศาสนาให้นางครองตนเองด้วยความสำรวม ห้ามออกนอกบ้านยกเว้นจำเป็นเท่านั้น และสวมใส่เสื้อผ้าธรรมดาโดยไม่ดึงดูดเพศตรงข้าม ภาษาที่มุสลิมปัจจุบันเข้าใจง่ายเรียกว่า “ไว้ทุกข์” ซึ่งที่จริงก็เรียกไม่ถูก เพราะอิสลามไม่มีการไว้ทุกข์นั่นเอง
ส่วนกรณีเมื่อมีผู้เสียชีวิตที่เป็นมุสลิม หรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม ก็ไม่ถูกอนุญาตให้กระทำด้วยเช่นกัน กล่าวคือการสวมใส่เสื้อผ้าชุดสีดำเพื่อไว้ทุกข์ให้ผู้ตาย หรือแต่งชุดดำไปงานศพ เป็นวัฒนธรรมความเชื่อของพวกฝรั่ง (นัสรอนี) ซึ่งพวกเขามีความเชื่อว่า วิญญาณของคนตายจะกลับมา และหาร่างอยู่ การสวมชุดดำจึงทำให้วิญญาณจำไม่ได้ จะสังเกตว่าภรรยาม่ายฝรั่งจะคลุมหน้าไปงานศพ นางกลัวว่าวิญญาณสามีจะจำได้ เธอต้องคลุมดำ และแต่งดำไว้ทุกข์ 1 ปีเต็ม ความเชื่อค่านิยมแต่งชุดดำไปงานศพจึงถูกนิยมในหมู่คนไทยด้วยในช่วงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามนั่นเอง

สมัยก่อนคนไทยค่อนข้างจะครื้นแครง สวมใส่เสื้อผ้าไม่เคร่งครัดเจาะจงว่าเป็นสีดำหรือสีขาว อีกทั้งยังมีการละเล่นมหรสพยามค่ำคืนในงานศพอีกด้วย (ข้อมูลสนับสนุนจาหนังสือ 108 ซองคำถาม/สำนักพิมพ์สารคดี)
ประเด็นถัดมา หากในกรณีบุคคลสำคัญเสียชีวิตลง อาทิเช่น กษัตริย์ เป็นต้น ทางหน่วยงานเบื้องสูงบังคับให้มุสลิมสวมใส่ชุดสีดำเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ เช่นนี้ หากกล่าวถึงหลักคำสอนของอิสลามแล้ว มุสลิมไม่สามารถสวมใส่ชุดดำได้ (ดังที่กล่าวมาข้างต้น) เช่นนี้ให้มุสลิมสวมใส่สีอื่นๆ เรียบๆ ไม่ฉูดฉาด หรือใกล้เคียงแทนการสวมใส่เสื้อสีดำ อาทิเช่น สีเทา หรือสีขาว เป็นต้น

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า:
« مَنْ تَشَبَّهَ بِقَوْمٍ فَهُوَ مِنْهُمْ »
“บุคคลใดที่เลียนแบบชนกลุ่มใด เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มนั้น” [1]

สรุปในเบื้องต้นคือ ไม่อนุญาตให้มุสลิมสวมใส่ชุดสีดำไปงานศพ หรือใส่เพื่อไว้ทุกข์ให้แก่ผู้ที่เสียชีวิต เพราะเป็นวัฒนธรรมความเชื่อของชาวฝรั่ง (นัศรอนี) ที่มุสลิมจำเป็นต้องออกห่าง
อนึ่ง หากหน่วยงานราชการบังคับ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จริงๆ เพราะอาจถึงขั้นถูกไล่ออกจากงาน หรือต้องถูกตัดเงินเดือน อันมีผลกระทบถึงครอบครัว ทั้งๆ ที่ได้อธิบายหลักการอิสลามไปแล้วก็ตาม เช่นนี้ ถือว่าอยู่ในขั้นตอนของความจำเป็น (เฎาะรูเราะฮฺ) อนุญาตให้มุสลิมสวมใส่เพราะอยู่ในภาวะจำเป็นได้
« الضرووات تبيح المحظورات »
ความว่า “ความจำเป็นต่างๆ (ถูก) อนุโลม (ให้ทำ) ข้อห้าม (ต่างๆ) ได้เช่นกัน”
โดยมีเจตนาปฏิเสธการกระทำดังกล่าวด้วยหัวใจ และหวังการอภัยจากพระองค์อัลลอฮฺในการถูกบังคับดังกล่าว
ดังที่พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า:
فَمَنِ اضْطُرَّ غَيْرَ بَاغٍ وَلَا عَادٍ فَلَا إِثْمَ عَلَيْهِ إِنَّ اللَّهَ غَفُورٌ رَحِيمٌ
“แล้วผู้ใดอยู่ในภาวะคับขัน โดยมิใช่ผู้เสาะแสวงหา และมิใช่เป็นผู้ละเมิดขอบเขตแล้วไซร้ ก็ไม่มีบาปอันใดแก่เขา แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺผู้ทรงอภัยยิ่ง ผู้ทรงเมตตาเสมอ” [2]
แต่อย่างไรก็ตามขอให้มุสลิมแสดงจุดยืนจนสุดความสามารถเสียก่อน หากไม่ได้จริงๆ แล้วไซร้ ค่อยกระทำสิ่งที่เป็นข้อผ่อนผัน เฉกเช่นที่ท่านรสูลุลลอฮฺเคยกล่าวไว้ว่า
فَإِذَا أَمَرْتُكُمْ بِشَىْءٍ فَأْتُوا مِنْهُ مَا اسْتَطَعْتُمْ
“เมื่อฉันใช้พวกท่านกระทำสิ่งหนึ่ง จงยึดสิ่งนั้นตราบเท่าที่พวกท่านมีความสามารถเถิด” [3] (วัลลอฮุอะอฺลัม)
(มุรีด ทิมะเสน,14-10-59,ร้านแปดบรรทัด)


[1] หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 4033
[2] สูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 173
[3] หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 3321



"อะไรที่ทำได้ก็ทำ อะไรที่ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ" ในหลวงตรัสกับอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ครั้นเป็นประธานรัฐสภาจะต้องนำต้นฉบับรัฐธรรมนูญเข้าเฝ้า เพื่อลงพระปรมาภิไธย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น