อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

การที่ผู้ตายในกุบูรฺถูกผ่อนปรนจากการทรมาน เพราะการ “ชะฟาอะฮ์” ของท่านนบี หรือเพราะการตัสเบี๊ยะของก้านก้านอินทผาลัมสด!???




การที่ผู้ตายในกุบูรฺถูกผ่อนปรนจากการทรมาน เพราะการ “ชะฟาอะฮ์” (การอนุเคราะห์) ของท่านนบี หรือเพราะการตัสเบี๊ยะของก้านก้านอินทผาลัมสด!???


มีนักวิชาการศาสนาท่านหนึ่งได้อ้างหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์บทหนึ่งซึ่งบันทึกโดยท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 216,  ท่านมุสลิม หะดีษที่ 292/111,  และท่านอื่นๆ จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.ซึ่งมีข้อความว่า ...

    مَرَّالنَّبِىُّ صَلَّىا للهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِقَبْرَيْنِ،  فَقَالَ : إِنَّهُمَا لَيُعَذَّبَانِ!  وَمَا يُعَذَّبَانِ فِىْ كَبِيْرٍ،  أَمَّا أَحَدُهُمَا فَكَانَ لاَ يَسْتَتِرُ مِنَ الْبَوْلِ، وَأَمَّا اْلآخَرُ فَكاَنَ يَمْشِىْ بِالنَّمِيْمَةِ، ثُمَّ أَخَذَ جَرِيْدَةً رَطْبَةً فَشَقَّهَا نِصْفَيْنِ،  فَغَرَزَ فِىْ كُلِّ قَبْرٍ وَاحِدَةً،  قَالُوْا :  يَارَسُوْلَ اللهِ  لِمَ فَعَلْتَ هَذَا ؟  قَالَ : لَعَلَّهُ يُخَفَّفُ عَنْهُمَا مَالَمْ يَيْبَسَا

“ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ผ่านกุบูรฺ 2 หลุม แล้วท่านก็กล่าวว่า  ทั้งสองนี้ กำลังถูกทรมาน, และใช่ว่าทั้งสองจะถูกทรมานเพราะเรื่องใหญ่โตก็หาไม่,  (คือ) หนึ่งจากสอง เพราะเขาปัสสาวะไม่สะเด็ด อีกคนหนึ่งเพราะชอบยุแหย่ให้คนทะเลาะกัน,  แล้วท่านนบีย์ก็เอากิ่งอินทผาลัมสดมากิ่งหนึ่งแล้วแบ่งมันออกเป็น 2 ซีก แล้วท่านก็ปักแต่ละซีกในแต่ละหลุม  พวกเขา (เศาะหาบะฮ์) ถามว่า .. โอ้ ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ทำไมท่านจึงทำอย่างนี้?  ท่านนบีย์ก็ตอบว่า .. เพื่อว่า ทั้งสองจะถูกผ่อนปรน (จากการทรมาน) ตราบใดที่ทั้งสองกิ่งนี้ยังไม่แห้ง” ...

แล้ว ก็แปลข้อความในภาษาอาหรับตอนท้ายสุดที่ลงเส้นหนาไว้ว่า .. “หวังว่า ก้านอินทผาลัมจะช่วยผ่อนปรนหรือบรรเทาการถูกทรมานให้แก่กุบูรฺทั้ง 2 หลุม ตราบใดที่มันยังไม่แห้ง” ...


แล้วท่านผู้นี้ยังอธิบายโต้แย้งผู้ที่มีทัศนะว่า การกระทำดังกล่าวของท่านนบีย์ ถือเป็น “ชะฟาอะฮ์” เฉพาะตัวของท่าน ว่า ..  ถ้าจะเอาบะรอกัตส่วนตัวแล้ว  ท่านนบีย์ก็ไม่จำเป็นต้องเอากิ่งอินทผาลัมสดมาปักให้ยุ่งยาก เพียงเอามือลูบที่หลุมทั้ง 2 ก็พอแล้ว ...


และ  ยังอ้างคำอธิบายของนักวิชาการหลายท่าน เช่นท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์และ ท่านอัล-กุรฺฏุบีย์ เป็นต้นว่า  ทำนองว่าการที่ผู้ตายในหลุมได้รับการผ่อนปรนจากการถูกทรมาน  ก็เพราะกิ่งอินทผาลัมสดนั้นช่วยอ่านตัสเบี๊ยะห์ให้ ..  ฯลฯ ...

วิภาษ
 การแปลของ ของท่านผู้นี้ จากข้อความหะดีษที่ว่า لَعَلَّهُ يُخَفَّفُ عَنْهُمَا مَالَمْ يَيْبَسَا   .. โดยแปลว่า .. หวังว่า ก้านอินทผาลัมจะช่วยผ่อนปรนหรือบรรเทาการถูกทรมานให้แก่กุบูรฺทั้ง 2 หลุม ... น่าจะเป็นคำแปลที่ผิดพลาดในคำแรก และบิดเบือนเข้าข้างตัวเองในวรรคหลัง ...


คำแรก .. คือคำว่า لَعَلَّ .. ซึ่งตามปกติแล้ว คำนี้ในอัล-กุรฺอ่านและในหะดีษส่วนใหญ่จะมีความหมายบอกเหตุผล (لِلتَّعْلِيْلِ) ซึ่งจะต้องแปลว่า เพื่อว่า, หรือ เพราะว่า ...

ข้อนี้แตกต่างกับคำว่า لَعَلَّ  ในคำพูดของสามัญชนทั่วไป ซึ่งมีความหมายว่า ใฝ่ฝันในด้านดี (اَلتَّرَجِّىْ) อย่างที่ผู้รู้ผู้นี้แปลว่า “หวังว่า” นั่นเอง, หรือมีความหมายว่า หวั่นเกรงเหตุร้าย (اَلتَّوَقُّعُ) ซึ่งแปลว่า “กลัวว่า” .. อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่กรณี ...


อย่าลืมว่า ตามเนื้อหาของหะดีษบทนี้  ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม มองเห็นในสิ่งที่สามัญชนมองไม่เห็น นั่นคือการถูกทรมานของผู้ตายในหลุมฝังศพ อันถือเป็นมุอฺญิซัตของท่าน ...


ดังนั้น การช่วยเหลือของท่านที่มีต่อผู้ตายด้วยการปักก้านอินทผาลัมสดที่หลุมศพของเขา จึงมิใช่ทำไปในลักษณะ “เผื่อฟลุก” จนเราต้องมาแปลคำว่า لَعَلَّ จากคำกล่าวของท่านด้วยความหมายว่า “หวังว่า” หรือ  “บางที” (ดังคำแปลในหนังสือ “มัสอะละฮ์อูกามา”  เล่มที่ 1 หน้า 27)  ...


แต่ .. การกระทำดังกล่าวของท่าน เป็นการกระทำที่มี “เหตุผล” และมีเป้าหมายชัดเจนชนิดหวังผลได้ .. จนถึงกับได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ด้วยว่า  การช่วยเหลือของท่านจะยังมีผลอยู่ตราบใดที่กิ่งอินทผาลัมยังไม่แห้ง ...


ส่วนในวรรคหลัง .. คือข้อความที่ว่า .. يُخَفَّفُ عَنْهُمَامَالَمْ يَيْبَسَا   .. ซึ่ง ท่านผู้นี้แปลว่า .. “ก้านอินทผาลัมจะช่วยผ่อนปรนหรือบรรเทาการถูกทรมานให้แก่กุบูรฺทั้ง 2 หลุม ตราบใดที่มันยังไม่แห้ง” .. ถือเป็นคำแปลที่ “บิดเบือน” เพื่อชักลากเข้าหาเป้าหมายของตนเองจนเกินไป ...


ที่ถูกต้องของประโยคนี้จะต้องแปลว่า .. “เพื่อว่าทั้งสอง จะถูกผ่อนปรน (จากการทรมาน) ตราบใดที่มันทั้งสองยังไม่แห้ง”  ดังที่ผมได้แปลไปนั้น ...


ทั้งนี้ เพราะคำว่า “يُخَفَّفُ” ตามหลักไวยากรณ์อาหรับ เรียกว่า فِعْلٌ مَبْنِىٌّ لِلْمَفْعُوْلِ หรือกริยากรรมวาจก .. ซึ่งกริยาประเภทนี้ จะไม่มีการระบุตัว “ผู้กระทำ” หรือ فَاعِلٌ (ซึ่งในที่นี้ คือ “สิ่งที่ช่วยผ่อนปรน” ความทรมานให้ผู้ตายว่า หมายถึงอะไร? ..) เอาไว้เลย ...


การที่ท่านผู้นี้เอาหลักฐานมาจากไหนจึงกล้าฟันธงว่า فَاعِلٌ หรือ “สิ่งผ่อนปรน” ความทรมานให้ผู้ตายในหลุมของหะดีษบทนี้ หมายถึง “ก้านอินทผาลัมสด” ดังคำแปลของท่าน ?  ...


คำตอบก็คือ ไม่มี! .. นอกจากเป็นเพียงความเห็นแบบ “เข้าข้างตัวเอง” ล้วนๆ ...





ก็ขออธิบายเพิ่มเติม ณ ที่นี้ว่า นักวิชาการมีทัศนะขัดแย้งกันใน “สิ่งที่ช่วยผ่อนปรนความทรมานให้ผู้ตาย” .. ตามนัยของหะดีษบทนี้ ออกเป็น 2 ทัศนะคือ ...

ก. หมายถึง .. การอ่านตัสเบี๊ยะห์ของก้านอินทผาลัมสดที่ท่านนบีย์ปักที่หลุมของผู้ตาย ...

ข. หมายถึง.. การชะฟาอะฮ์ (การอนุเคราะห์หรือบะรอกัตจากดุอา) ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ที่มีให้แก่เขา ...

ตามทัศนะหลังนี้ ก้านอินทผาลัม – ไม่ว่าจะสดหรือแห้ง – ไม่มีผลในการบรรเทาความทรมานของผู้ตายแต่อย่างใด  ทว่า มันเป็นเพียงสิ่งที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ใช้เป็น “เครื่องกำหนดเวลาการชะฟาฮ์ของท่าน” เท่านั้น .. ดังจะเห็นได้จากคำตอบของท่านที่ว่า .. “เพื่อว่า ความทรมานของเขาทั้งสองจะถูกบรรเทาลง ตราบใดที่มันยังไม่แห้ง” ...



ความเชื่อของ ท่านผู้นี้และนักวิชาการที่มีทัศนะว่า ที่ผู้ตายได้รับการผ่อนปรนจากความทรมานก็เพราะก้านอินทผาลัมสดช่วยอ่านตัสเบี๊ยะห์ให้ -- (หมายความว่า ถ้าแห้งก็จะไม่อ่านตัสเบี๊ยะห์ต่อไป) -- นั้น ...


ทัศนะดังกล่าวนี้ เป็นทัศนะที่ “เฎาะอีฟ” ในมุมมองของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ .. ดังความเข้าใจจากสำนวนที่ท่านกล่าวถึงทัศนะนี้ในหนังสือ “ชัรห์มุสลิม” เล่มที่ 3 หน้า202, .. และทัศนะของ اَلْمُفَسِّرُوْن ที่แท้จริงในมุมมองของท่านก็คือผู้ที่กล่าวว่า โองการนี้มีความหมายกว้างๆ ไม่จำกัดการตัสเบี๊ยะห์ว่า จะมีเฉพาะในกิ่งไม้สดอย่างเดียว ...


ทั้งนี้ ก็เพราะพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงดำรัสในซูเราะฮ์อัล-อิสรออ์  โองการที่ 44  มีข้อความว่า ...

     تُسَبِّحُ لَهُ السَّمَاوَاتُ وَاْلأَرْضُ وَمَنْ فِيْهِنَّ وَإِنْ مِنْ شَىْءٍ إلاَّ يُسَبِّحُ بِحَمْدِهِ وَلَكِنْ لاَ تَفْقَهُوْنَ تَسْبِيْحَهُمْ ..........
“ชั้นฟ้าทั้งเจ็ดและแผ่นดิน และที่อยู่ในนั้น ต่างกล่าวตัสเบี๊ยะห์ต่อพระองค์  และไม่มีสิ่งใด เว้นแต่มันจะตัสเบี๊ยะห์ด้วยการสรรเสริญพระองค์  แต่ว่าพวกเจ้าไม่เข้าใจการตัสเบี๊ยะห์ของพวกเขา ......”

คำว่า شَىْءٍ  (สิ่ง, สิ่งใด) เป็นสามานยนาม (إِسْمُ النَّكِرَةِ) ที่อยู่หลังคำปฏิเสธด้วยคำว่า إِنْ  (ไม่มี) .. ดังนั้น คำนี้จึงมีความหมายกว้างๆไม่จำกัด ดังกฎเกณฑ์ที่ว่า  ...
                                  اَلنَّكِرَةُ فِىْ سِيَاقِ النَّفْىِ تُفِيْدُ الْعُمُوْمَ

“นามนะกิเราะฮ์ที่อยู่ในความหมายปฏิเสธ จะให้ความหมายกว้างๆ”

โดยนัยนี้ คำว่า “ไม่มีสิ่งใด.. เว้นแต่” จึงมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า “ทุกๆสิ่ง”

โองการข้างต้นนี้แสดงว่า สรรพสิ่งทุกอย่างบนพื้นโลก  ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทุกชนิด  ลำคลองหนองบึง, ภูเขา, ทะเล, ก้อนหินดินทราย, พืชทุกชนิด --ไม่ว่าสดหรือแห้ง – ต่างก็กล่าว “ตัสเบี๊ยะห์” ต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ตามสภาพของมัน ซึ่งพวกเราไม่เข้าใจเอง..
ดังนั้น ผู้ที่กล่าวว่า ก้านอินทผาลัมสดจะกล่าวตัสเบี๊ยะห์ ส่วนก้านที่แห้งจะไม่กล่าวตัสเบี๊ยะห์นั้น จึงเป็นผู้ขัดแย้งและ “تَخْصِيْصٌ” .. คือ “จำกัด” ความหมายของอัล-กุรฺอ่านเอาเองโดยพลการ อันเป็นเรื่องต้องห้ามตามหลักการศาสนา ...





นอกจากนี้ ความเข้าใจดังกล่าวยังขัดแย้งกับหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์อีกบทหนึ่งซึ่งมีข้อความระบุอย่างชัดเจนว่า การที่ผู้ตายในกุบูรฺถูกผ่อนปรนจากการทรมาน ก็เพราะการ “ชะฟาอะฮ์” ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม  มิใช่เพราะการตัสเบี๊ยะห์ของก้านอินทผาลัมสด! ...


ท่านมุสลิมได้บันทึกหะดีษบทนี้ไว้ในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่าน เป็นหะดีษที่ 3012 โดยรายงานมาจากท่านญาบิรฺ บินอับดุลลอฮ์ ร.ฎ. อันเป็นหะดีษที่มีข้อความยืดยาวมาก  แต่มีข้อความในตอนหนึ่งว่า ...

      إِنِّىْ مَرَرْتُ بِقَبْرَيْنِ يُعَذَّبَانِ،  فَأَحْبَبْتُ بِشَفَاعَتِىْ أَنْ يُرَفَّهَ عَنْهُمَا، مَادَامَ الْغُصْنَانِ رَطْبَتَيْنِ ...
“แท้จริง ฉัน (ท่านนบี) ได้เดินผ่านหลุมฝังศพ 2 หลุม ซึ่ง (เจ้าของหลุม) ทั้งสองกำลังถูกทรมานอยู่  ดังนั้นฉันจึงใคร่จะให้ความทรมานของเขาทั้งสองบรรเทาลงด้วยการชะฟาอะฮ์ (การอนุเคราะห์) ของฉัน  ตราบใดที่กิ่งไม้ทั้งสองกิ่งนั้นยังสดอยู่” ...
ไม่ว่าหะดีษทั้ง 2 บทนี้จะเป็นเหตุการณ์เดียวกันหรือไม่ก็ตาม  แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ลักษณะการกระทำของท่านนบีย์ในหะดีษ 2 บทนี้ เหมือนกันทุกอย่าง! โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหะดีษของท่านญาบิรฺ ร.ฎ. ท่านนบีย์เองได้แจ้ง “เหตุผล” ไว้อย่างชัดเจนว่า  การที่ผู้ตายทั้งสองถูกผ่อนปรนความทรมานลงได้นั้น ก็เพราะการ “ชะฟาอะฮ์” ของท่าน  หาใช่เพราะเหตุอื่นใดไม่ ...


หะดีษจากการรายงานของท่านญาบิรฺ บินอับดุลลอฮ์ ร.ฎ. จึงถือเป็นการอธิบายหะดีษของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. อีกทีหนึ่ง ...
เป็นการ “เอาหะดีษอธิบายหะดีษ” อย่างแท้จริง ..

ท่านผู้นี้ได้กล่าวในลักษณะว่า .. สมมุติถ้าท่านนบีย์จะใช้บะรอกัตช่วยเหลือผู้ตาย ท่านก็ไม่จำเป็นต้องเอาก้านอินทผาลัมสดไปปักที่หลุมให้ยุ่งยาก  เพียงแต่ใช้มือลูบที่หลุมทั้ง 2 ก็พอแล้ว ...





วิภาษ
ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้วว่า  การที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมใช้ก้านอินทผาลัมสดปักที่หลุม ก็เพื่อเป็นการ “กำหนดเวลา” การชะฟาอะฮ์ของท่านว่า จะยังคงมีอยู่ตราบใดที่มันไม่แห้ง ..

ไม่ใช่เพื่อให้มันกล่าว “ตัสเบี๊ยะห์” ช่วยเหลือผู้ตายดังความเข้าใจของท่านผู้นี้

ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมเป็นรอซู้ลของอัลลอฮ์,  ท่านได้รับมุอฺญิซัตต่างๆซึ่งสามัญชนอย่างเราไม่ได้รับ  เพราะฉะนั้น ท่านจึงรู้ดีที่สุดว่า อะไรบ้างที่ท่านควรทำ, .. และเมื่อจะทำ ท่านควรจะทำอย่างไร ...

สามัญชนอย่างเราจึงไม่ควรไป “สู่รู้” หรือ “อวดรู้” ด้วยการกล่าววิจารณ์หรือแนะนำท่านนบีย์หรอกว่า ท่านควรทำอะไรและให้ทำอย่างไร ...

หน้าที่ของพวกเรามีเพียง “ปฏิบัติตามซุนนะฮ์ของท่าน” ให้เคร่งครัดก็พอแล้ว ...

ท่านผู้นี้ได้อ้างคำพูดของนักวิชาการหลายท่าน – ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ – ว่า  ที่ผู้ตายได้รับการบรรเทาความทรมานลงดังนัยของหะดีษบทนั้น ก็เพราะการกล่าวตัสเบี๊ยะห์ของก้านอินทผาลัมสด ...





วิภาษ
ข้ออ้างคำพูดของท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ดังกล่าว ถูกคัดลอกมาบันทึกในหนังสือ “ชัรฺห์ อัศ-ศุดูรฺ”  หน้า  313,  และหนังสือ “กัชฟุชชุบฮาต” หน้า 307  ...
แต่ข้อมูลจากคำพูดของท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ – จากตำราที่ท่านเขียนเอง --  ขัดแย้งและแตกต่างจากข้ออ้างข้างต้น เหมือนสีขาวกับสีดำ ...
เพราะ .. ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ “มะอาลิม อัส-สุนัน”  เล่มที่ 1  หน้า  18  ว่า ...
     إِنَّهُ مِنَ التَّبَرُّكِ بِأَثَرِ النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَدُعَائِهِ بِالتَّخْقِيْفِ عَنْهُمَا،  وَكَأَنَّهُ جَعَلَ مُدَّةَ بَقَاءِ النَّدَاوَةِ فِيْهِمَاحَدًّا لِمَا وَقَعَتْ بِهِ الْمَسْأَلَةُ مِنْ تَخْفِيْفِ الْعَذَابِ عَنْهُمَا،  وَلَيْسَ ذَلِكَ مِنْ أَجْلِ أَنَّ فِى الْجَرِيْدِ الرَّطْبِ مَعْنىً لَيْسَ فِى الْيَابِسِ،  وَالعَامَّةُ فِىْ كَثِبْرٍ مِنَ الْبُلْدَانِ تَفْرِشُ الْخُوْصَ فِىْ قُبُوْرِ مَوْتَاهُمْ،  وَأَرَاهُمْ ذَهَبُوْا إِلَى هَذَا،  وَلَيْسَ لِمَا تَعَاطَوْهُ مِنْ ذَلِكَ وَجْهٌ  
“แท้จริงเรื่องนี้ (คือเรื่องที่ผู้ตายได้รับการผ่อนปรนความทรมานในกุบูรฺ) ก็เป็นผลมาจากบารอกัตการกระทำของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม และดุอาที่ท่านขอให้บรรเทาความทรมานของเขาทั้งสอง,  และคล้ายกับว่าท่านจะกำหนดระยะเวลาแห่ง “ความสด” ของก้านอินทผาลัมมาเป็น “ขอบเขตเวลา” ที่ท่านได้ขอให้บรรเทาความทรมานของเขาทั้งสองดังกล่าว  มิใช่ว่าก้านอินทผาลัมสดจะมี “คุณสมบัติพิเศษ” ซึ่งไม่มีในก้านอินทผาลัมแห้งอะไรหรอก,  และประชาชนทั่วไปจำนวนมากในเมืองต่างๆมักจะนำเอาใบปาล์มสดมาปูหรือตบแต่งที่กุบูรฺคนตายของพวกเขา  ฉันมองว่า พวกเขาคงจะมีความเชื่ออย่างนี้แหละ ซึ่ง(ความจริง) สิ่งที่พวกเขากระทำลงไป มันไม่มีสาระอะไรเลย”


คำกล่าวข้างต้นของท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ ได้รับการสนับสนุนจากท่านอะห์มัด มุหัมมัดชากิร นักวิชาการหะดีษชาวอินเดีย ซึ่งได้กล่าวไว้ในหนังสือ “เศาะเหี๊ยะอฺ อัล-ญาเมียะอฺ”  เล่มที่ 1 หน้า 103 ว่า ...
     صَدَقَ الْخَطَّابِىُّ!  وَقَدِ ازْدَادَ الْعَامَّةُ إِصْرَارًا عَلَى هَذَاالْعَمَلِ الَّذِىْ لاَ أَصْلَ لَهُ وَغَلَوْافِيْهِ،  خُصُوْصًا فِىْ بِلاَدِ مِصْرَ تَقْلِيْدًا لِلنَّصَارَى حَتىَّ صَارُوْا يَضَعُوْنَ الزُّهُوْرَ عَلَى الْقُبُوْرِ
“ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์พูดถูกแล้ว  ประชาชนทั่วๆไปต่างยืนหยัดนำเอาสิ่งซึ่งไม่มีพื้นฐานใดๆนี้มาปฏิบัติกันมากขึ้นจนเลยเถิด ..โดยเฉพาะในประเทศอียิปต์ เพียงเพราะต้องการเลียนแบบพวกคริสเตียนจนกระทั่งว่า พวกเขาถึงขนาดนำเอาดอกไม้(พวงหรีด) ไปวางบนหลุมฝังศพกันแล้ว” ...






ท่านบุคอรีย์ได้นำรายงานหนึ่งจากท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. มาบันทึกไว้ในหนัง “เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่านในบาบที่ 81 จากกิตาบ อัล-ญะนาอิซ มีข้อความว่า ...
   وَرَأَى ابْنُ عُمَرَ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ فُسْطَاطًا عَلَى قَبْرِعَبْدِالرَّحْمَنِ  فَقَالَ : إِتْزِعْهُ يَا غُلاَمُ! فَإِنَّمَا يُظِلُّهُ عَمَلُهُ
“ท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ได้เห็นกระโจมหลังหนึ่งบนหลุมศพของท่านอับดุรฺเราะห์มาน ท่านจึงกล่าว (แก่เด็กคนหนึ่ง) ว่า .. นี่แน่ะไอ้หนู! รื้อมันออกไปซะ  เพราะไม่มีสิ่งใดให้ร่มเงาแก่เขาได้นอกจากอะมั้ลของเขาเท่านั้น”  ...


ท่านอิบนุรอชิด ได้กล่าวอธิบายว่า ...
                 وَيَظْهَرُ مِنْ تَصَرُّفِ الْبُخَارِىِّ أَنَّ ذَلِكَ خَاصٌّ بِهِمَا ...
“ตามรูปการณ์จากท่วงทีของท่านบุคอรีย์ก็คือ เรื่องดังกล่าวนี้ (การที่ท่านนบีย์ปักก้านอินทผาลัมบนหลุมศพ) เป็นเรื่อง “เฉพาะ” ของหลุมศพทั้งสองเท่านั้น” ...


(จากหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์”  เล่มที่ 3  หน้า 223) ...
ท่านเช็คอับดุลอะซัซ บินบาซ อดีตประธานฝ่ายฟัตวาปัญหาศาสนาของราชอาณาจักรสอุดีอารเบียได้กล่าวใน “ฟุตโน้ต” หนังสือฟัตหุ้ลบารีย์เล่มและหน้าดังกล่าว เพื่อเสริมข้อความตอนนี้ ว่า ...
    اَلْقُوْلُ بِالْخُصُوْصِيَّةِ هُوَالصَّوَابُ،  ِلأَنَّ الرَّسُوْلَ عَلَيْهِ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ لَمْ يَغْرِزِِالْجَرِيْدَةَ إِلاَّ عَلَى قُبُوْرٍ عَلِمَ تَعْذِيْبَ أَهْلِهَا،  وَلَمْ يَفْعَلْ ذَلِكَ لِسَائِرِالْقُبُوْرِ،  وَلَوْ كَانَ سُنَّةً لَفَعَلَهُ بِالْجَمِيْعِ،  وَِلأَنَّ الْخُلَفَاءَ الرَّاشِدِيْنَ وَكِبَارَالصَّحَابَةِ لَمْ يَفْعَلُوْا ذَلِكَ،  وَلَوْكَانَ مَشْرُوْعًا لَبَادَرُوْا إِلَيْهِ ..     “ทัศนะที่ว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม” เป็นทัศนะที่ถูกต้อง  เนื่องจากท่านนบีย์ไม่เคยปักก้านอินทผาลัมให้ นอกจากบนหลุมที่ท่านรู้ว่าเจ้าของหลุมนั้นกำลังถูกทรมานอยู่,  และท่านก็ไม่เคยกระทำดังกล่าวให้กับหลุมฝังศพทั่วๆไปแต่อย่างใด  ถ้าหากการกระทำดังกล่าวเป็นซุนนะฮ์หรือแบบอย่างเพื่อให้ปฏิบัติแล้ว ท่านก็ต้องทำอย่างนั้นกับหลุมฝังศพทั่วๆไปแน่นอน,  และเนื่องจากบรรดาคอลีฟะฮ์ผู้ปราดเปรื่องทั้งสี่ตลอดจนเศาะหาบะฮ์ผู้อาวุโสอื่นๆก็ไม่ปรากฏว่า จะเคยมีการกระทำกันอย่างนี้  ซึ่งถ้าหากสิ่งนี้เป็นบทบัญญัติของศาสนาแล้วไซร้ พวกเขาก็คงรีบเร่งกระทำตามกันเป็นแน่ ..........”

والله أعلم

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น