อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ไขข้อข้องใจหะดิษผลบุญละหมาดตะรอเวียะฮ์ 30 คืน




ตอบโดย อ.อาลี เสือสมิง

🏠

.....
คำถาม

อ้างจากหนังสือดุรเราะตุนนาศีหีน อ้างถึงรายงานจากท่านอลีเราะฏิยัลลอฮุอันฮุ ความว่า

คืนที่1 ผู้ละหมาดจะไม่มีบาปเหมือนกับตอนที่เขาถูกคลอดจากท้องมารดาใหม่ๆ
คืนที่ 2 อัลเลาะห์อภัยโทษแก่เขาและบิดาของเขาหากเขาทั้งสองเป็นผู้ที่ศรัทธาต่ออัลเลาะห์
คืน ที่ 3 มาลาอีกะจะประกาศใต้อารัชว่าเจ้าจงเริ่มทำความดีเถิดเพราะความชั่วทั้งหลาย ถูกลบล้างออกไปหมดแล้วเจ้าจงใช้ชีวิตให้สวยงามต่อไป
คืนที่4 เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับคนที่อ่านคัมภีร์เตารอต อินยีล ซาบูรและอัลกรุอาน
คืนที่5 ได้รับผลบุญเท่ากับผู้ที่ได้ไปละหมาดทีมัสยิดหะรอม มัสยิดนาบาวีมัสยิดอัลอักซอ
คืน ที่ 6ได้รับผลบุญเท่ากับผู้ที่ไปทำเตาวาฟ ณ บัลตุลมะมุร (กิบลัตของมาลาอีกะตรงกับบัยตุลเลาะ)หินและของมีค่าทั้งหมดในโลกนี้จะขออภัย ให้แก่เขา
คืนที่ 7 ได้ผลบุญเหมือนกับเขาได้เกิดในสมัยที่ท่านนาบีมูซาสงครามกับฟิรอูนและฮามาน
คืนที่ 8จะได้รับผลบุญเหมือนกับอัลเลาะห์ได้ประทานแก่นาบีอิบฮีม (อ.)
คืนที่ 9 บุญที่ได้รับจะเท่ากับบุญการอีบาดะของนาบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.)
คืนที่ 10 อัลเลาะห์จะทรงบันดาลให้พบแต่ความดีงามทั้งโลกนี้และโลกหน้า
คืนที่ 11 หากพวกเขาสิ้นชีวิตในคืนนี้ เขาก็เหมือนกับทากรที่ถูกคลอดใหม่ๆ
คืนที่ 12 เขาจะเกิดมาในวันกียามะด้วยใบหน้าที่ดุจดั่งจันทร์เพ็ญ
คืนที่ 13 เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ในวันกียามะ
คืนที่ 14 ในวันกียามะมาลาอีกะจะเป็นพยานยืนเคียงข้างเขา
คืนที่ 15 มาลาอีกะตลอดจนมาลักที่แบกอารัชต่างๆจะอวยพรให้แก่เขา
คืนที่ 16 เขาจะถูกบันทึกว่าเป็นผู้ปลอดภัยจากนรก
คืนที่ 17เขาจะได้บุญเท่ากับผลบุญบรรดานาบีรวมกัน
คืนที่ 18 มาลาอีกะจะประกาศชื่อของเขาว่า แน่แท้พระองค์อัลเลาะห์ทรงอภัยในตัวเขาและบิดามารดาของเขา
คืนที่ 19 อัลเลาะห์จะยกฐานะอันสูงส่งในชั้นฟิรเดาส์
คืนที่ 20 เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับผู้ที่ตายชาฮีด
คืนที่ 21 อัลเลาะห์จะสร้างบ้านหลังหนึ่งที่เต็มไปด้วยรัศมีให้แก่เขา
คืนที่ 22 เขาจะไปปรากฏตัวในวันกียามะโดยปราศจากความทุกข์
คืนที่ 23 อัลเลาะห์ได้เตรียมเมืองไว้สำหรับให้เขาครอบครอง
คืนที่ 24 อัลเลาะห์เปิดโอกาสรับดุอายี ่สิบสี่ประการ
คืนที่ 25 อัลเลาะห์ทรงยกโทษในกุโบร์ให้แก่เขา
คืนที่ 26 อัลเลาะห์ทรงยกผลบุญเท่ากับทำอีบาดะสี่สิบปี
คืนที่ 27 เขาจะเดินผ่านสะพานซีร็อตดุจฟ้าแลบ
คืนที่ 28 อัลเลาะห์ทรงยกฐานะให้เขาหนึ่งพันชั้น
คืนที่ 29 อัลเลาะห์ทรงประทานผลบุญให้เท่ากับประกอบพิธีฮัจย์หนึ่งพั นครั้ง
คืน ที่ 30 อัลเลาะห์ทรงกล่าวว่า \" โอ้บ่าวของฉันจงมารับประทานผลไม้ในสวรรค์และจงอาบน้ำซัลซาบีล (ซึ่งเป็นน้ำทิพย์ในสวรรค์)จงดื่มน้ำอัลเกาซัรซึ่งเราเป็นเจ้าของ เจ้าเป็นบ่าวของเรา เจ้าได้ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าเสร็จสมบูรณ์แล้ว
ข้อมูลจาก muslimthai.com ครับ เขาให้ความเห็นว่าเป็นหะดิษเมาฎัวะอฺ อาจารย์ช่วยบอกหน่อยว่าเป็นยังไง
เชี่อได้เหรอไม่




⌚⌚⌚⌚⌚
คำตอบ

الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

หะดีษที่อ้างมาอยู่ในหนังสือดุรร่อตุนนาซิฮีน  ฟิลวะอฺซิวัล  อิรฺชาดฺ  (درة الناصحين فى الوعظ والإرشاد)  ซึ่งรวบรวมโดยอุสมาน  อิบนุ  หะซัน  อิบนิ  อะฮฺหมัด  อัชชากิร  อัลคูบาวีย์  เป็นนักวิชาการในศตวรรษที่  13  แห่งฮิจเราะฮฺศักราช  หน้า  18  และ  19  โดยระบุที่มาว่า  มะญาลิซ  (مجالس)  ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นตำราเล่มใด  เพราะในหนังสือดุรร่อตุนนาซิฮีน  ผู้รวบรวมจะคัดข้อความจากตำรับตำราต่าง ๆ แล้วระบุชื่อว่าเป็นตำราที่มีชื่อว่าอะไร  แต่ไม่ระบุชื่อผู้เขียนหรือเจ้าของตำรา  อย่างคำว่า  มะญาลิซนี้อาจจะเป็น  มะญาลิซุลอับร๊อร,  หรือ  มะญาลิซุลอันว๊าร,  หรือ  มะญาลิซ  อัรฺรูมีย์  หรือ  นุซฮะตุ้ลมะญาลิซ  ไม่ทราบว่าเป็นเล่มใดในหน้าที่  18-19  ของหนังสือดุรร่อตุนนาซิฮีน  ซึ่งอ้างว่าคัดมาจากมะญาลิซ  ระบุว่า จากท่านอะลี  อิบนุ  อบีฏอลิบ  (ร.ฏ.)  ว่า  ท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ได้ถูกถามถึงบรรดาความประเสริฐของตะรอวีฮฺในร่อมาฎอน  ท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  กล่าวว่า  :  ผู้ศรัทธาจะออกจากบาปของตนในค่ำคืนแรกประหนึ่งดังวันที่มารดาของเขาคลอดเขาออกมา ...  อัลหะดีษ  แล้วก็ไล่เรียงไปจนครบ  30  คืน 

ข้อสังเกตจากข้อความที่ระบุในหะดีษนี้คือ

1. หะดีษนี้ไม่มีระบุหรือถูกบันทึกเอาไว้ในตำราหะดีษที่ถูกยึดถือเป็นมาตรฐาน  (كتب الأحاديث المعتمدة)  แต่ถูกระบุไว้ในตำราที่กล่าวถึงเรื่องการตักเตือนชี้แนะซึ่งมักเป็นตำราที่รวบรวมเอาทั้งหะดีษซอฮีฮฺ  หะซันฎ่ออีฟ  และเมาฎูอฺเอาไว้ตลอดจนเรื่องเล่าต่าง ๆ ที่ไม่มีที่มาหรือไม่มีสายรายงาน


2. หะดีษที่อ้างว่ารายงานจากท่านอะลี  (ร.ฎ.)  ไม่ปรากฏสายรายงาน  (สะนัด)  ได้แต่อ้างถึงผู้รายงานสูงสุดคือท่านอะลี  (ร.ฎ.)  การจะรับเอาหะดีษมาปฏิบัติจะต้องทราบถึงที่มาและต้นสายปลายเหตุว่ามีผู้รายงานเป็นใคร  นักวิชาการระบุว่า  การอ้างสายรายงานเป็นส่วนหนึ่งจากศาสนา  (الإِسْنَادُمِنَ الدِّيْنِ)  เพราะถ้าไม่มีสายรายงานก็ตรวจสอบสถานภาพของหะดีษไม่ได้  การอ้างว่ารายงานจากท่านอะลี  (ร.ฎ.)  เพียงอย่างเดียวถือว่าไม่เพียงพอ  เพราะหะดีษเมาฎูอฺเป็นอันมากนั้น  ผู้แต่งหะดีษ  (กุ)  มักจะอ้างถึงบุคคลสำคัญเพื่อให้หะดีษดูน่าเชื่อถืออยู่แล้ว


3. ตัวบทของหะดีษ  (มัตฺน์)  มีเนื้อหาเกี่ยวกับความประเสริฐของการละหมาดตะรอวีฮฺ  โดยใช้สำนวนว่า \"ตะรอวีฮฺ\" ซึ่งคำ ๆ นี้ไม่มีระบุในสมัยของท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  แต่ได้กลายมาเป็นคำศัพท์เฉพาะ  (มุสฏ่อละฮาตฺ)  ที่นักวิชาการกำหนดขึ้นเพื่อเรียกการละหมาดกิยามุลลัยล์ในเดือนร่อมาฎอนในภายหลังว่า  \"ละหมาดตะรอวีฮฺ\"  และเนื้อหาของตัวบทที่ไล่เรียงจนครบ  30  คืนนั้นก็น่าคิดอยู่ว่าทำไมมันจึงละเอียดได้ขนาดนั้น  เพราะโดยลักษณะของตัวบทในซุนนะฮฺทั่ว ๆ ไปเมื่อกล่าวถึงความประเสริฐของสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือเรื่องหนึ่งใดก็จะกล่าวไอ้แบบกว้าง ๆ ไม่ลงลึกในรายละเอียดเช่นนี้  และรอมาฎอนในความเป็นจริงก็ไม่ได้ครบ  30  วันเสมอไป  และส่วนมากจะมี  29  วันด้วยซ้ำไป  แต่สำนวนในหะดีษระบุเอาไว้ครบจนดูเป็นเรื่องที่แน่นอนแบบจงใจ


4. นักวิชาการผู้สันทัดกรณีได้ระบุถึงประเด็นที่สังเกตได้ว่าหะดีษใดน่าจะเป็นหะดีษเมาฎูอฺเอาไว้หลายประเด็น  ส่วนหนึ่งคือ  หะดีษนั้น ๆ บอกถึงเรื่องราวที่สำคัญซึ่งย่อมเป็นปัจจัยให้มีบุคคลเป็นจำนวนมากรายงานหะดีษนั้นแต่ปรากฏว่ามีผู้รายงานเพียงคนเดียว  อันนี้ประเด็นหนึ่ง  ส่วนอีกข้อหนึ่งก็คือ  มีการสัญญาอันยิ่งใหญ่ต่อการกระทำที่เล็กน้อย  ตลอดจนไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกหะดีษนั้น ๆ ในตำรับตำราที่เชื่อถือได้  เป็นต้น  (ดิรอซาตฺ  ฟี  อุลูมิลหะดีษ  ;  ดร.มุฮัมมัด  อะลี  ฟัรฮาตฺ  หน้า  151) 


ข้อสังเกตก็คือว่าท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ได้ออกมาละหมาดตะรอวีฮฺ  (กิยามุลลัยล์)  ในรอมาฎอนตามที่มีรายงานอย่างถูกต้องเพียง  2  หรือ  3  คืนเท่านั้น  ถ้าหากการละหมาดตะรอวีฮฺมีผลบุญมากมายดังที่ระบุในหะดีษดังกล่าวแล้วท่านทำไมจึงละทิ้งในคืนหลัง  ในบางกระแสรายงานระบุด้วยซ้ำว่าท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ออกมาในค่ำที่  23,25  และ  27  (รายงานโดยอันนะซาอีย์,  อะฮฺหมัด  อิบนุ  อบีชัยบะฮฺ  และอิบนุคุซัยมะฮฺ)  แล้วคืนก่อนหน้านั้นเล่าทำไมท่านจึงไม่ออกมา  หรืออย่างน้อยท่านก็ต้องบอกกล่าวแก่เหล่าซอฮาบะฮฺถึงภาคผลอันมหาศาลให้ได้รับรู้  ซึ่งผลบุญที่ถูกระบุก็ดูจะเกินความเป็นจริง 


เช่น  ในคืนที่  5  อัลลอฮฺจะทรงประทานผลบุญเท่ากับผู้ที่ละหมาด  ณ  มัสญิดสำคัญ  3  แห่งในคืนที่  8  ได้ผลบุญเท่ากับสิ่งที่อัลลอฮฺประทานแก่นบีอิบรอฮีม  (อ.ล.)  ในคืนที่  9  ได้รับผลบุญเท่ากับการทำอิบาดะฮฺของท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ซึ่งค้านกับตัวบทที่ถูกต้องอย่างชัดเจน  ในคืนที่  11  ก็มีข้อความคล้าย ๆ กับคืนแรก ในคืนที่  14  มาลาอิกะฮฺจะมาเป็นสักขีพยานแก่เขาว่าได้ละหมาดตะรอวีฮฺ  แล้วอัลลอฮฺจะไม่สอบสวนเขาในวันกิยามะฮฺ  ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีนักวิชาการท่านใดระบุว่า  บุคคลที่จะไม่ถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺนั้นส่วนหนึ่งคือคนที่ละหมาดตะรอวีฮฺในคืนที่  14  แต่อย่างใด  ในคืนที่  17  เขาจะได้รับผลบุญเยี่ยงบรรดานบีทั้งหลาย  ในคืนที่  24  เขาจะมีสิทธิได้รับคำขอที่ถูกตอบรับ  24  ประการ  ในคืนที่  28  อัลลอฮฺจะยกฐานะของเขาในสวนสวรรค์ถึง  1000  ขั้น  ในคืนที่  29  อัลลอฮฺจะประทานผลบุญเท่ากับฮัจญ์ที่ถูกตอบรับ  1000  ฮัจญ์  เป็นต้น 


ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าการละหมาดตะรอวีฮฺเป็นซุนนะฮฺและมีหะดีษที่ซ่อฮีฮฺรับรองอยู่แล้วว่ามีผลบุญมากมาย  แต่การระบุผลบุญในหะดีษดังกล่าวดูจะไม่สมเหตุสมผล  เพราะดูเหมือนว่าจะมีผลบุญมากกว่าการละหมาดฟัรฎูด้วยซ้ำไป 


ผู้ตอบได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้เกี่ยวกับหะดีษบทนี้  แต่ผู้ตอบก็คงไม่อาจหาญชี้ขาดว่าเป็นหะดีษเมาฎูอฺ  ถึงแม้ว่าจะมีประเด็นที่ทำให้เชื่อได้ว่า  น่าจะเป็นหะดีษเมาฎูอฺ  ผู้ตอบคงตอบได้เพียงว่าหะดีษบทนี้ไม่มีสายรายงาน  หาที่มาไม่ได้  (لاَأَصْلَ لَه)  ซึ่งนักวิชาการถือว่าเป็นหะดีษที่โมฆะ  (بَاطِلٌ)  ไม่อาจนำมาเป็นหลักฐานได้ 


อย่างไรก็ตาม  ต้องขอย้ำว่า  หะดีษที่ซ่อฮีฮฺซึ่งบ่งบอกถึงภาคผลในการละหมาดตะรอวีฮฺนั้นมีอยู่และก็เพียงพอแล้วในการนำมาเป็นหลักฐาน  โดยที่เราไม่ต้องไปอ้างหะดีษบทนี้เลยแม้แต่น้อย  เพราะถ้าเข้าข่ายว่าเป็นหะดีษเมาฎูอฺก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่  คือกล่าวตู่ว่าท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ได้กล่าวทั้ง ๆ ที่ท่านมิได้กล่าว  ซึ่งเป็นบาปหนัก  จึงขอเตือนพี่น้องว่า  อะไรที่ไม่ชัดเจนก็ควรหลีกห่างจากสิ่งนั้นเสีย







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น