อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

จุดประสงค์ของการกล่าว "อินชาอัลลอฮฺ"


การกล่าว "อินชาอัลลอฮฺ" : ان شاءالله : (หากเป็นความประสงค์ของอัลลอฮฺ) ความประสงค์ของพระองค์อัลลอฮ์นั้น มนุษย์ไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ได้ เหมือนกับการกำหนดกฏสภาวะการณ์ (กอฎอ-กอฎัร) จึงต้องกล่าวออกมาจากใจจริง ปากกับใจต้องตรงกัน นั้นหมายถึง การที่กล่าวคำนี้ออกมา ใจจริงต้องการที่จะทำตามที่รับปากไว้จริงๆ ต้องการจะไปตามที่นัดหมายไว้ หรือรับคำมั่นสัญญาใดว่าจะกระทำสิ่งใดในสิ่งที่ดีงาม หรือด้วยเหตุประการอื่น เช่น กล่าวเพื่อหวังต่ออัลลอฮ์ตะอาลา หรือกล่าวเพื่อเอาบะร่อกะฮ์ และปฏิบัติตามคำสั่ง นี้คือจุดมุ่งหมายของการกล่าวคำว่า "อินชาอัลลอฮฺ"

พระองค์  อัลลอฮ์ตะอาลา ทรงตรัสว่า

وَلَا تَقُولَنَّ لِشَيْءٍ إِنِّي فَاعِلٌ ذَلِكَ غَدًا إِلَّا أَنْ يَشَاءَ اللَّهُ

“และเจ้าอย่าพูดสิ่งหนึ่งว่า แท้จริงฉันจะกระทำสิ่งดังกล่าวในวันพรุ่งนี้  นอกจาก  กล่าวว่า  หากว่าอัลเลาะฮ์ทรงประสงค์” [อัลกุรอาน สูเราะฮ์อัลกะฮ์ฟฺ: 23-24]

ท่านอิบนุกะษีรกล่าวว่า
 "นี้คือการชี้แนะจากอัลลอฮ์ยังร่อซูลของพระองค์ ให้มีมารยาทในสิ่งที่มีความตั้งใจที่จะกระทำในอนาคต  โดยหวนกลับไปยังพระประสงค์ของอัลลอฮ์ผู้ทรงรอบรู้สิ่งที่เร้นลับและทรงรอบรู้สิ่งที่มีมาแล้วในอดีตและสิ่งที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคต" ตัฟซีรอิบนุกะษีร 5/148.

แต่เมื่อเรากล่าว "อินชาอัลลอฮ์" จากใจจริงแล้ว เกิดมีอุปสรรคขัดขวาง ไม่อาจไปตามที่นัดหมาย หรือไม่อาจปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ เช่น เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมไม่สามารถเดินทางไปที่นัดหมายได้ หรือเกิดมีญาติป่วยหนัก ต้องพาญาติไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลซึ่งตรงกับเวลาที่นัดหมาย เป็นต้น เช่นนี้ ผู้กล่าวก็ไม่มีบาปใดๆ เพราะไม่ได้เกิดจากการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ไปตามที่กล่าว "อินชาอัลลอฮฺ"ไว้ แต่มันเกิดจากเหตุวิสัย ความจำเป็นบางอย่างเท่านั้น ถือป็นประสงค์ของอัลลอฮฺตะอาลา

แต่ถ้าผู้ที่รับปากไม่ได้กล่าว "อินชาอัลลอฮฺ" แล้วเกิดมีอุปสรรคขึ้นมาตามกรณีข้างต้น ถึงแม้จะเป็นเรื่องสำคัญ ก็ถือมีบาป เพราะผู้นั้นไม่ได้กล่าว "อินชาอัลลอฮฺ" นั้นเอง

แต่มุสลิบ้านเราบางคนอาจเข้าใจสลับกัน หากกล่าว  "อินชาอัลลอฮฺ"  คือไม่ไป บางครั้งเมื่อคนหนึ่งกล่าว "อินชาอัลลอฮฺ"  อีกคนหนึ่งที่วอนขอ กล่าวว่า "ไม่เอา ต้องบอกว่า ไป" เนื่องจากไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันเมื่อมีการกล่าว "อินชาอัลลอฮฺ"  เพราะเมื่อไหร่มีการกล่าว "อินชาอัลลอฮฺ"  ก็มีการผิดนัดบ่อย ไม่ปฏิบัติตามสัญญา   กลายเป็นไม่มั่นใจสำหรับผู้รับค่ำมั่น มีการกล่าวลอยๆ และพร่ำเพรื่อ อ้างพระนามของอัลลอฮฺ ให้ผ่านพ้นความรับผิดชอบไปขณะนั้นเท่านั้นเอง

ดังนั้น ขอให้มุสลิมทุกคนใช้คำว่า "อินชาอัลลอฮ" ด้วยการตั้งเจตนาเพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์แห่งอัลลอฮ์ หากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา หรือใจไม่อยากจะกระทำสิ่งนั้น ก็ให้ปฏิเสธเขาไป อย่ากล่าวออกมาอย่งพร่ำเพรื่อจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

อินชาอัลลอฮ"พระองค์อัลลอฮฺตะอาลาจะให้ในสิ่งที่ท่านประสงค์ที่เป็นความดีได้เกิดขึ้น จะทำให้ท่านเป็นผู้ที่คนอื่นไว้วางใจ และเชื่อมั่นในคำพูด คำสัญญาที่ให้ไว้

     والله أعلم بالصواب



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น