การนมาซตะฮัจญุด หรือนมาซกิยามุลลัยล์นั้นมีรายละเอียดดังนี้
นมาซตะฮัจญุด หรือ นมาซกิยามุลลัยล์
นมาซกิยามุลลัยล์ แปลว่า การนมาซในยามค่ำคืน ซึ่งมีชื่อเรียกอื่นด้วย เช่น นมาซตะฮัจญุด หรือถ้าอยู่ในเดือนเราะมะฎอนก็จะเรียกว่า นมาซตะรอวีหฺ หรือนมาซกิยามุลเราะมะฎอน ทำนองนี้เป็นต้น
1. มารยาทของการนมาซกิยามุลลัยล์
มีสุนนะฮฺสำหรับผู้ที่ต้องการจะนมาซกิยามุลลัยล์ดังต่อไปนี้
1.1 ตั้งใจจะนมาซกิยามุลลัยล์ก่อนจะล้มตัวนอน
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
« مَنْ أَتَى فِرَاشَهُ وَهُوَ يَنْوِى أَنْ يَقُومَ يُصَلِّى
مِنَ اللَّيْلِ فَغَلَبَتْهُ عَيْنَاهُ حَتَّى أَصْبَحَ كُتِبَ لَهُ
مَا نَوَى وَكَانَ نَوْمُهُ صَدَقَةً عَلَيْهِ مِنْ رَبِّهِ عَزَّ
وَجَلَّ »
“บุคคลใดที่นอนยังเตียงนอนของเขาในสภาพที่เขาตั้งเจตนาว่าจะตื่นขึ้นนมาซในยามค่ำคืน (ทว่า) เขากลับไม่ตื่นจนกระทั่งเข้าเวลานมาซศุบหฺ เช่นนี้ เขาจะถูกบันทึกตามสิ่งที่เขาตั้งเจตนาไว้ ส่วนการนอนหลับ (แล้วไม่ตื่นนมาซ) นั้นเป็นของขวัญที่พระเจ้ามอบให้แก่เขา”
1.2 ให้เริ่มทำนมาซ 2 ร็อกอะฮฺแบบกระชับก่อน หลังจากนั้นค่อยนมาซนานๆ ตามความต้องการ
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
إِذَا قَامَ أَحَدُكُمْ مِنَ اللَّيْلِ فَلْيَفْتَتِحْ صَلاَتَهُ
بِرَكْعَتَيْنِ خَفِيفَتَيْنِ
“เมื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดพวกท่านลุกขึ้นในยามค่ำคืน เขาจงเริ่มนมาซของเขาด้วย 2 ร็อกอะฮฺแบบกระชับ”
1.3 ส่งเสริมให้ปลุกครอบครัวลุกขึ้นนมาซด้วย
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
إِذَا أَيْقَظَ الرَّجُلُ أَهْلَهُ مِنَ اللَّيْلِ فَصَلَّيَا أَوْ صَلَّى
رَكْعَتَيْنِ جَمِيعًا كُتِبَا فِى الذَّاكِرِينَ وَالذَّاكِرَاتِ
“เมื่อบุคคลหนึ่งปลุกครอบครัวของเขาลุกขึ้นในตอนกลางคืน แล้วทั้งสองก็ยืนขึ้นนมาซ หรือนมาซ 2 ร็อกอะฮฺพร้อมกัน เช่นนั้นเขาจะถูกบันทึกไว้ในหมู่ผู้รำลึกชาย และผู้รำลึกหญิง”
1.4 หากตื่นขึ้นในสภาพที่ง่วง เช่นนี้ให้นอนก่อนจนกว่าจะหายง่วงเสียก่อน
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
إِذَا قَامَ أَحَدُكُمْ مِنَ اللَّيْلِ فَاسْتَعْجَمَ الْقُرْآنُ عَلَى
لِسَانِهِ فَلَمْ يَدْرِ مَا يَقُولُ فَلْيَضْطَجِعْ
“เมื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดในหมู่พวกท่าน (นมาซ) ในยามค่ำคืน แล้วเขาก็อ่านอัลกุรฺอานแบบอ้อแอ้ โดยที่เขาไม่รู้ว่ากล่าวอะไรออกไป เช่นนั้นเขาจงนอนเสียเถิด”
1.5 ไม่อนุญาตให้เกิดความยากลำบากแก่ตัวเอง โดยให้นมาซในยามค่ำคืนตามความสามารถของตน
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
يَا أَيُّهَا النَّاسُ خُذُوا مِنَ الأَعْمَالِ مَا تُطِيقُونَ فَإِنَّ
اللَّهَ لاَ يَمَلُّ حَتَّى تَمَلُّوا ، وَإِنَّ أَحَبَّ الأَعْمَالِ إِلَى
اللَّهِ مَا دَامَ وَإِنْ قَلَّ
“โอ้ พี่น้องผู้คนทั้งหลาย พวกท่านจงปฏิบัติการงาน (อะมัล) ต่างๆ ตามความสามารถของพวกท่านเถิด แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺไม่ทรงเบื่อ เว้นแต่ว่าพวกท่านจะเบื่อซะเอง แท้จริงพระองค์ทรงรักการงานต่างๆ ณ ที่พระองค์อัลลอฮฺอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะเล็กน้อยก็ตาม”
อีกหะดีษหนึ่ง ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
يَا عَبْدَ اللَّهِ ، لاَ تَكُنْ مِثْلَ فُلاَنٍ ، كَانَ يَقُومُ
اللَّيْلَ فَتَرَكَ قِيَامَ اللَّيْلِ
“โอ้บ่าวของอัลลอฮฺ ท่านจงอย่างเป็นเฉกเช่นบุคคลผู้หนึ่งที่ปรากฏว่าเขายืนขึ้นนมาซกิยามุลลัยล์ จากนั้นเขาก็ละทิ้งการนมาซกิยามุลลัยล์”
2. เวลาของการนมาซกิยามุลลัยล์
การนมาซในยามค่ำคืน อนุญาตให้นมาซได้ตั้งแต่ช่วงต้น, ช่วงกลาง หรือช่วงท้ายของกลางคืน สรุปง่ายๆ อนุญาตให้นมาซในยามค่ำคืนตั้งแต่หลังนมาซอิชาอ์เรื่อยไปจนกระทั่งเข้าเวลานมาซศุบหฺนั่นเอง
ท่านอนัสถูกถามเกี่ยวกับการนมาซในยามค่ำคืนของท่านนบี ซึ่งเขาตอบว่า
مَا كُنَّا نَشَاءُ أَنْ نَرَاهُ مِنَ اللَّيْلِ مُصَلِّياً إِلاَّ رَأَيْنَاهُ
وَمَا كُنَّا نَشَاءُ أَنْ نَرَاهُ نَائِماً إِلاَّ رَأَيْنَاهُ
“ไม่ว่าเวลาใดที่เราต้องการเห็นท่านนบีนมาซในยามค่ำคืน เราก็จะเห็นท่านนบี (นมาซ) และเวลาใดก็ตามที่เราต้องการเห็นท่านนบีนอนหลับ เราก็จะเห็นท่านนบี (นอนหลับ) เช่นกัน”
ท่านอิมามฮาฟิซกล่าวว่า “การนมาซในยามค่ำคืนของท่านบีนั้นไม่มีเวลาเจาะจงตายตัว ซึ่งท่านนบีจะลุกขึ้นนมาซแล้วแต่ท่านนบีจะสะดวก”
3. เวลาที่ประเสริฐในการนมาซกิยามุลลัยล์
เวลาที่ประเสริฐในการนมาซกิยามุลลัยล์นั้น คือช่วงเศษหนึ่งส่วนสามสุดท้ายของกลางคืน (ประมาณตีสาม, ตีสามครึ่ง เป็นต้นไป)
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
يَنْزِلُ رَبُّنَا تَبَارَكَ وَتَعَالَى كُلَّ لَيْلَةٍ إِلَى السَّمَاءِ
الدُّنْيَا حِينَ يَبْقَى ثُلُثُ اللَّيْلِ الآخِرُ يَقُولُ مَنْ
يَدْعُونِى فَأَسْتَجِيبَ لَهُ مَنْ يَسْأَلُنِى فَأُعْطِيَهُ مَنْ
يَسْتَغْفِرُنِى فَأَغْفِرَ لَهُ
“พระผู้อภิบาลของพวกเราผู้ทรงจำเริญยิ่ง ผู้สูงส่งยิ่ง จะเสด็จลงมายังชั้นฟ้าของดุนยาในช่วงเศษหนึ่งส่วนสามสุดท้ายของกลางคืน ซึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลใดที่วิงวอนต่อฉัน แน่นอนยิ่งฉันจะตอบรับการวิงวอนของเขา และบุคคลใดที่ขอต่อฉัน เช่นนั้นฉันจะประทานให้แก่เขา และบุคคลใดที่ขอลุแก่โทษต่อฉัน ฉันจะอภัยโทษให้แก่เขา”
4. จำนวนร็อกอะฮฺของนมาซกิยามุลลัยล์
จำนวนร็อกอะฮฺของนมาซกิยามุลลัยล์นั้น ท่านรสูลุลลอฮฺจะนมาซไม่เกิน 11 ร็อกอะฮฺ ไม่ว่าจะนมาซในช่วงเดือนเรามะฎอน หรือเดือนอื่นจากเราะมะฎอนก็ตาม
ท่านหญิงอาอิชะฮฺถูกถามเกี่ยวกับการนมาซกลางคืนในเดือนเราะมะฎอนว่าเป็นอย่างไร? ท่านหญิงอาอิชะฮฺตอบว่า
مَا كَانَ رَسُولُ اللَّهِ - صلى الله عليه وسلم -يَزِيدُ
فِى رَمَضَانَ وَلاَ فِى غَيْرِهِ عَلَى إِحْدَى عَشْرَةَ رَكْعَةً
“ไม่ปรากฏว่าท่านรสูลุลลอฮฺเพิ่มในเดือนเราะมะฎอน หรือนอกเราะมะฎอนมากไปกว่า 11 ร็อกอะฮฺ”
ส่วนบุคคลใดที่ต้องการนมาซกิยามุลลัยล์ หรือกิยามุลเราะมะฎอน (ตะรอวีหฺ) มากกว่า 11 ร็อกอะฮฺ ถือว่าเป็นมุสตะหับ (เรื่องที่ส่งเสริม) ด้วยหลักฐานที่ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวไว้ว่า
صَلاَةُ اللَّيْلِ مَثْنَى مَثْنَى
“การนมาซในยามค่ำคืนทีละสองร็อกอะฮฺ ทีละสองร็อกอะฮฺ”
5. อนุญาตให้นมาซกิยามุลลัยล์เป็นญะมาอะฮฺ
ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم- صَلَّى فِى
الْمَسْجِدِ ذَاتَ لَيْلَةٍ فَصَلَّى بِصَلاَتِهِ نَاسٌ ثُمَّ صَلَّى
مِنَ الْقَابِلَةِ فَكَثُرَ النَّاسُ
“แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺนมาซในมัสญิดในค่ำคืนหนึ่ง โดยท่านรสูลนมาซเป็นอิมามนำผู้คน จากนั้นมีผู้คนมานมาซตามท่านรสูลเป็นจำนวนมาก”
6. นมาซกิยามุลลัยล์ชดใช้
กรณีที่บุคคลหนึ่งนมาซกิยามุลลัยล์เป็นประจำ หรืออ่านอัลกุรฺอานเป็นประจำในยามค่ำคืน ทว่าบางครั้งเขาเผลอหลับไป เช่นนี้เขาสามารถชดใช้ได้ในช่วงเวลากลางวัน
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
« مَنْ نَامَ عَنْ حِزْبِهِ أَوْ عَنْ شَىْءٍ مِنْهُ فَقَرَأَهُ فِيمَا
بَيْنَ صَلاَةِ الْفَجْرِ وَصَلاَةِ الظُّهْرِ كُتِبَ لَهُ كَأَنَّمَا
قَرَأَهُ مِنَ اللَّيْلِ »
“บุคคลใดที่นอนหลับอันเนื่องจากงานประจำของเขา (คือสิ่งที่ทำอยู่ประจำ เช่นนมาซ, การอ่านอัลกุรฺอาน) หรือส่วนหนึ่งส่วนใดจากงานประจำของเขา ดังนั้นเขาจงอ่านในช่วงเวลาระหว่างนมาซศุบหฺ กับนมาซซุฮฺริ เช่นนั้นเขาจะถูกบันทึกประหนึ่งว่าเขาอ่านในเวลากลางคืน”
7. อนุญาตให้อ่านเสียงดังและเสียงค่อย
การนมาซกิยามุลลัยล์ ศาสนาอนุญาตให้อ่านได้ทั้งเสียงดังและเสียงค่อย
ท่านอับดุลลอฮฺเล่าว่า
كَيْفَ كَانَ قِرَاءَةُ النَّبِىِّ - صلى الله عليه وسلم -
بِاللَّيْلِ أَكَانَ يُسِرُّ بِالْقِرَاءَةِ أَمْ يَجْهَرُ فَقَالَتْ كُلُّ
ذَلِكَ قَدْ كَانَ يَفْعَلُ رُبَّمَا أَسَرَّ بِالْقِرَاءَةِ وَرُبَّمَا جَهَرَ
“ท่านนบีอ่านอย่างไรในเวลานมาซกลางคืน ท่านนบีอ่านเสียงค่อยหรือเสียงดัง? ท่านหญิงอาอิชะฮฺตอบว่า ทั้งหมดนั้น (หมายถึงทั้งอ่านเสียงค่อย และเสียงดัง) ท่านนบีเคยทำ บางครั้งท่านนบีก็อ่านเสียงค่อย และบางครั้งท่านนบีก็อ่านเสียงดัง”, والله أعلم
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น