อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

จำนวนร็อกอะฮ์ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์



ท่านอัซ-ซุบกีย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ชัรฺหุ มินฮาจญ์” ว่า ...
وَرَأَيْتُ فِىْ كِتَابِ سَعِيْدِ بْنِ مَنْصُوْرٍ آثَارًا فِىْ صَلاَةِ عِشْرِيْنَ رَكْعَةً، وَسِتٍّ وَثَلاَثِيْنَ رَكْعَةً، لَكِنَّهَا بَعْدَ زَمَانِ عُمَرَ بْنِ الخْطَاَّب ِ...
“ฉันได้เห็นร่องรอย(คือรายงาน)ต่างๆมากมาย ในตำราของท่านสะอีด บินมันศูรฺ เรื่อง(การนมาซตะรอเวี๊ยะห์) 20 ร็อกอะฮ์ และ 36 ร็อกอะฮ์, แต่ทว่า ร่องรอยเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ เกิดขึ้น "หลัง" จากยุคของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ.แล้ว” ...
(จากหนังสือ “อัล-มะศอเบี๊ยะห์ ฟีศ่อลาติตตะรอเวี๊ยะห์” ของท่านอัส-สะยูฏีย์ เล่มที่ 1 หน้า 543)

 ท่านอิบนุอบีย์อัด-ดุนยา ได้บันทึกไว้เช่นกันในหนังสือ “ฟะฎออิลุ รอมะฎอน” จากท่านฮุชัยม์ บินบะชีรฺ .. โดยสืบสายรายงานถึงท่านอะฏออ์ บินอบีย์รอบาห์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 114), ..
 และท่านยูนุส บินอุบัยด์ บินดีนารฺ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 139) ว่า ท่านทั้งสองเคยเห็นเศาะหาบะฮ์ (และตาบิอีน) นมาซ(ตะรอเวี๊ยะห์) กันในเดือนรอมะฎอน 20 ร็อกอะฮ์ ..
ท่านอะฏออ์ บินอบีย์รอบาห์เป็นตาบิอีนรุ่นกลางๆ, ส่วนท่านยูนุส บินอุบัยด์เป็นตาบิอีนรุ่นเยาว์ ซึ่งทั้ง 2 ท่านเกิดหลังจากการสิ้นชีวิตของท่านอุมัรฺแล้ว ...
(ท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. สิ้นชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ. 23) ...

ดังนั้น ที่ทั้งสองท่านอ้างว่า เคยเห็น "เศาะหาบะฮ์" และตาบิอีน(บางกลุ่ม)ทำนมาซตะรอเวี๊ยะห์ 20 ร็อกอะฮ์ (ถ้ารายงานนี้ถูกต้อง) ก็ต้องเป็นเหตุการณ์หลังจากยุคของท่านคอลีฟะฮ์อุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. อย่างแน่นอน ... ไม่ว่าการนมาซตะรอเวี๊ยะห์ 20 ร็อกอะฮจะเกิดขึ้นในสมัยท่านอุมัรฺ หรือสมัยหลังจากท่านอุมัรฺ และไม่ว่าใครจะเป็นผู้ริเริ่มขึ้นมาก็ตาม ...

สิ่งที่นักวิชาการมีความเห็นสอดคล้องกัน และสามารถฟันธงได้ก็คือ นมาซตะรอเวี๊ยะห์ 20 ร็อกอะฮ์ เกิดขึ้นโดย "เศาะหาบะฮ์" ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...

และผู้ริเริ่มมันขึ้นมา อาจเป็นท่านอุบัยย์ บินกะอฺบ์ ร.ฎ.(ดังรายงานจากท่านอับดุลอะซีซ บินรุฟัยอฺ) และเป็นการกระทำหลังจากท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. สิ้นชีวิตไปไม่นาน จึงเป็นเหตุการณ์คาบเกี่ยวกับสมัยท่านอุมัรฺ ก็เป็นได้ ท่านอัล-บัยฮะกีย์ ได้กล่าวในหนังสือ "อัส-สุนัน อัล-กุบรออ์" เล่มที่ 2 หน้า 496 มีข้อความว่า ...
وَيُمْكِنُ الْجَمْعُ بَيْنَ الرِّوَايَتَيْنِ، فَإِنَّهُمْ كَاُنْوا يَقُوْمُوْنَ بِإِحْدَى عَشْرَةَ، ثُمَّ كَانُوْا يَقُوْمُوْنَ بِعِشْرِيْنَ وَيُوْتِرُوْنَ بِثَلاَثٍ وَاللهُ أَعْلَمُ
"เป็นไปได้ในการรวมสองรายงาน(ที่ขัดแย้งกัน)นี้ว่า พวกเขา (ประชาชนในสมัยท่านอุมัรฺ) เคยยืนนมาซ(ตะรอเวี๊ยะห์)กัน 11 ร็อกอะฮ์ก่อน, หลังจากนั้น พวกเขาก็ยืนนมาซ(ตะรอเวี๊ยะห์)กัน 20 ร็อกอะฮ์และนมาซวิเตรฺอีก 3 ร็อกอะฮ์ วัลลอฮุ อะอฺลัม" ... ท่านอัส-สะยูฏีย์ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มะศอเบี๊ยะห์ ฟีศ่อลาติตตะรอเวี๊ยะห์” ซึ่งรวมชุดอยู่ในหนังสือ “อัล-หาวีย์ ลิ้ลฟะตาวีย์” เล่มที่ 1 หน้า 542 เพื่อท้วงติงท่านอัล-บัยฮะกีย์และท่านอื่นๆที่อ้างรายงานจากท่านอัซ-ซาอิบ บินยะซีด ร.ฎ. ด้วยสายรายงานที่ถูกต้องว่า พวกท่านได้นมาซตะรอเวี๊ยะห์ในสมัยท่านอุมุรฺ 20 ร็อกอะฮ์ โดยท่านอัส-สะยูฏีย์ ได้กล่าวท้วงติงว่า ...
وَلَكِنْ فِى الْمُوَطَّأِ وَفِىْ مُصَنَّفِ سَعِيْدِ بْنِ مَنْصُوْرٍ بِسَنَدٍ فِىْ غَايَةِ الصِّحَّةِ عَنْ السَّائِبِ بْنِ يَزِيْدَ إِحْدَى عَشْرَةَ رَكْعَةً ...
“แต่ .. มีปรากฏในหนังสืออัล-มุวัฎเฎาะอ์(ของท่านอิหม่ามมาลิก) และหนังสืออัล-มุศ็อนนัฟของท่านสะอีด บินมันศูรฺ “ด้วยสายรายงานที่ถูกต้องสุดๆ” (จากท่านมุหัมมัด บินยูซุฟ) จากท่านอัซ-ซาอิบ บินยะซีด(ที่กล่าว)ว่า (พวกเราทำตะรอเวี๊ยะห์กันในสมัยท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ) 11 ร็อกอะฮ์” ... จากคำสั่งของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ.ที่สั่งท่านอุบัยย์และท่านตะมีมให้นำบรรดาเศาะหาบะฮ์นมาซตะรอเวี๊ยะห์กัน 11 ร็อกอะฮ์ ปรากฏว่า - ในช่วงแรกๆ - ท่านอุบัยย์ซึ่งเป็นอิหม่ามนำนมาซฝ่ายผู้ชายเลือกปฏิบัติตามข้อสาม .. คือใช้เวลานานมาก .. เพราะท่านนำพวกเขานมาซกันจนถึงเวลา(เกือบ)ปรากฏแสงอรุณจึงเสร็จสิ้นการนมาซ .. ดังรายงานที่ถูกต้องของท่านอิหม่ามมาลิกในหนังสือ อัล-มุวัฏเฏาะอ์ เล่มที่ 1 หน้า 137 หรือหะดีษที่ 248 ......

จากจุดนี้ จึง "อาจจะ" เป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงจำนวนร็อกอะฮ์ของนมาซตะรอเวี๊ยะห์จาก 11 เป็น 20 ภายหลังก็เป็นได้ ท่านอิบนุตัยมียะฮ์กล่าวว่า ...
وَأُبَىُّ بْنُ كَعْبٍ لَمَّا أَقَامَ بِهِمْ وَهُمْ جَمَاعَةٌ وَاحِدَةٌ لَمْ يُمْكِنْ أَنْ يُطِيْلَ بِهِمُ الْقِيَامَ، فَكَثَّرُوْاالرَّكَعَاتِ لِيَكُوْنَ ذَلِكَ عِوَضًا عَنْ طُوْلِ الْقِيَامِ، .................فَإِنَّهُ كَانَ يَقُوْمُ بِاللَّيْلِ إِحْدَى عَشْرَةَ رَكْعَةً أَوْ ثَلاَثَ عَشْرَةَ رَكْعَةً، ثُمَّ بَعْدَ ذَلِكَ كَانَ النَّاسُ بِالْمَدِيْنَةِ ضَعُفُوْا عَنْ طُوْلِ الْقِيَامِ، فَكَثَّرُوْاالرَّكَعَاتِ، حَتىَّ بَلَغَتْ تِسْعًا وَثَلاَثِيْنَ ...
“และท่านอุบัยย์ บินกะอฺบ์นั้น เมื่อท่านนำพวกเขานมาซ(ตะรอเวี๊ยะห์)เป็นญะมาอะฮ์เดียว ท่านก็ไม่อาจนำพวกเขายืนนมาซนานๆได้ พวกเขาจึงเพิ่มจำนวนร็อกอะฮ์ให้มากขึ้นเพื่อเป็นการทดแทนจากการยืนนานๆ, .................. เนื่องจากท่านอุบัยย์เคยยืนนมาซยามค่ำคืนเพียง 11 ร็อกอะฮ์หรือ 13 ร็อกอะฮ์ หลังจากนั้น(คือหลังจากเคยเพิ่มจาก 11 ร็อกอะฮ์เป็น 23 ร็อกอะฮ์แล้ว) ชาวเมืองมะดีนะฮ์ยังรู้สึกอ่อนล้าจากการยืนนมาซนานๆ พวกเขาจึงเพิ่มร็อกอะฮ์ให้มากขึ้นอีกจนถึง 39 ร็อกอะฮ์” ...
(จากหนังสือ “มัจญมูอุ้ลฟะตาวีย์” ของท่านอิบนุตัยมียะฮ์ เล่มที่ 23 หน้า 113) ... เมื่อ “เหตุผล” ที่ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนร็อกอะฮ์ให้มากขึ้นเพื่อทดแทนการยืนนมาซในแต่ละร็อกอะฮ์นานๆดังยุคแรกๆหมดไปแล้ว ผมจึงอยากถามว่า ...

เป็นความผิดฉกรรจ์นักหรือหากผู้ใดจะหันกลับไปนมาซตะรอเวี๊ยะห์ 11 ร็อกอะฮ์ เพื่อเป็นการปฏิบัติตาม "ซุนนะฮ์” ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และปฏิบัติตาม "คำสั่ง" ของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ.?? ... เราจะนำเอาหะดีษของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่ว่า .. "และทางนำที่ "ดีเลิศ" ที่สุด ก็คือทางนำของมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม" .. ไปวางไว้ตรงไหน ? ท่านอัส-สะยูฎีย์ได้บันทึกในหนังสือ “อัล-มะศอเบี๊ยะห์ ฟี ศ่อลาติตตะรอเวี๊ยะฮ์” (เล่มที่ 1 หน้า 542 จากหนังสือ “อัล- หาวีย์ ลิ้ลฟะตาวีย์”) ว่า ...
وَقَالَ الْجُوْرِىُّ _ مِنْ أَصْحَابِنَا _ عَنْ مَالِكٍ أَنَّهُ قَالَ : اَلَّذِىْ جَمَعَ عَلَيْهِ النَّاسَ عُمَرُ بْنُ الْخَطَّابِ أَحَبُّ إِلَىَّ، وَهِىَ إِحْدَى عَشْرَةَ رَكْعَةً! وَهِىَ صَلاَةُ رَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، قِيْلَ لَهُ : إِحْدَى عَشْرَةَ رَكْعَةً مَعَ الْوِتْرِ؟ قَالَ : نَعَمْ، وَثَلاَثَ عَشْرَةَ قَرِيْبٌ، قَالَ : وَلاَ أَدْرِىْ مِنْ أَيْنَ أُحْدِثَ هَذَاالرُّكُوْعُ الْكَثِيْرُ؟ ...
ท่านอัล-ญูรีย์ซึ่งเป็นนักวิชาการมัษฮับของเราท่านหนึ่ง(คือมัษฮับชาฟิอีย์) กล่าวรายงานมาจากท่านอิหม่ามมาลิกว่า ..
“สิ่งซึ่งท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ.ได้ให้ประชาชนกระทำร่วมกันเป็นสิ่งที่ฉันชอบที่สุด นั่นคือ 11 ร็อกอะฮ์! และนั่นก็เป็นนมาซของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม, มีบางคนกล่าวถามท่านว่า .. 11 ร็อกอะฮ์พร้อมกับวิตรี่ด้วยใช่ไหม? .. ท่านตอบว่า ใช่, และ 13 ร็อกอะฮ์ก็ใกล้เคียงกัน, (ท่านอิหม่ามมาลิกกล่าวต่อไปว่า) .. “ฉันไม่รู้เลยว่า จำนวนร็อกอะฮ์อันมากมายเหล่านี้ มันถูกริเริ่มมาจากไหน?” ...
ขนาดท่านอิหม่ามมาลิก (เกิดปี ฮ.ศ. 93 สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 179) ซึ่งถือว่าเป็นคนในยุคแรกๆยังไม่ทราบเลยว่า จำนวนร็อกอะฮ์ของนมาซตะรอเวี๊ยะห์ที่ทำกัน 23 ร็อกอะฮ์บ้าง, 39 ร็อกอะฮ์บ้างนั้นใครคือผู้ริเริ่มขึ้นมา และริเริ่มขึ้นมาสมัยไหน ...
แล้วพวกเราในยุคหลังๆนี้จะไป "ฟันธง" ได้อย่างไรว่า เป็นการกระทำโดยคำสั่งของท่านอุมัรฺ ?? หรือในสมัยของของท่านอุมัรฺ ?? ...




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น