อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

โต๊ะตะเกี่ย อยุธยา



ถามโดย คนอยุธยา

เนื่องจากผู้ถามได้เขียนเล่าเหตุการณ์ที่ประสบมายาวมาก ทางทีมงานจึงขออนุญาตสรุปเป็นประเด็นและตั้งเป็นคำถามได้ดังนี้

เทศกาลของทุกปี โดยเฉพาะวันอีดเล็กและอีดใหญ่ จะมีมุสลิมจำนวนมากแห่กันไปทำพิธีที่มะก่อมของโต๊ะตะเกี่ย เพื่อขอริสกี ขอให้แคล้วคลาด บ้างก็มาแก้บน ผมรู้ดีว่าการทำอย่างนั้นเป็นชิริก แต่ไม่รู้จะห้ามปรามอย่างไร ได้แต่เตือนญาติใกล้ชิด และคนที่พอจะเตือนได้เท่านั้น แต่พวกเขาจะอ้างว่า ไม่ได้ขอกับตะเกี่ย เพียงให้ท่านช่วยขอต่ออัลลอฮ์อีกทีหนึ่ง ข้ออ้างของเขาถูกต้องหรือ

คำตอบโดย อาจารย์ฟารีด เฟ็นดี้

เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธว่า ยังมีพี่น้องมุสลิมของเราอีกจำนวนมาก กระทำสิ่งที่หมิ่นเหม่ต่อการตกศาสนา ด้วยการบวงสรวง, กราบไหว้, หรือวิงวอนขอต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ และเหตุการณ์ที่ว่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นที่เดียวตามคนอยุธยาได้ถามมา แต่มะก่อมของบรรดาผู้ที่เขาเชื่อว่าเป็นโต๊ะวะลีกะรอมัตนั้น กระจายอยู่ทั่วเมืองไทย และต่างก็มีตำนานพิสดารอันลือลั่น จนกล่าวกันว่า บุคคลเหล่านั้นตอนที่มีชีวิตอยู่เขาเป็นคนที่มีบุญญาธิการ บางคนสามารถเดินบนน้ำ บางคนเหาะเหิรเดินอากาศได้ บางคนหายตัวได้ บางคนแบ่งร่างไปปรากฏในหลายสถานที่ และฯลฯ สถานที่เหล่านี้ที่ขึ้นชื่อก็เห็นจะมี โต๊ะตะเกี่ย อยู่ที่อยุธยา, โต๊ะเกาะไร่ อยู่ที่ ฉะเชิงเทรา, โต๊ะระยองอยู่ที่ จ.ระยอง, และโต๊ะมะขามอยู่ที่ จ.ตราด เป็นต้น

เนื่องจากความหละหลวมของบรรดาผู้นำตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ที่ไม่เอารู้เอาชี้กับเรื่องที่เป็นอันตรายต่ออะกีดะห์ของบรรดามุสลิม แต่เขาจะให้ความสำคัญกับอาหารที่จะกินลงท้อง ที่ต้องกวดขันไล่ตีตราฮาลาล แต่มุสลิมเสพอะกีดะห์ผิดๆ เช่นนี้พวกเขากลับนิ่งเฉย จนวันเวลาผ่านไปเนินนานทำให้สถานที่เหล่านี้ถูกมองว่าขลังและศักดิ์สิทธิ จนกลายเป็นที่พึ่งทางใจของผู้คน และไม่เฉพาะมุสลิมเพียงอย่างเดียว บางที่ก็มีการจัดลิเก มหรสพถวาย ดูแล้วไม่ต่างอะไรกับศาลเจ้าพ่อ,เจ้าแม่ที่มีอยู่ดาษดื่น แต่ที่ไม่น่าเกิดขึ้นก็คือบริเวณที่ทำการนั้นคืออณาเขตของมัสยิด หรือบางที่ไม่ใช่เขตมัสยิดแต่ก็เป็นกุโบร์ของมุสลิม แต่การจะจัดการใดๆในปัจจุบันดูจะเป็นเรื่องยากเข้าไปทุกที เพราะบางสถานที่ก็ได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานไปแล้ว

ที่จริงตามข้อกำหนดของศาสนานั้น หน้าที่ของคนเป็นจะต้องขอดุอาอ์ให้กับผู้ตาย ไม่ใช่ไปขอเอาจากผู้ตาย และหากผู้ตายสามารถเนรมิตสิ่งใดให้ได้ละก็ บุคคลที่ประเสริฐที่สุดที่น่าจะวิงวอนขอมิใช่นบีมูฮัมหมัดหรอกหรือ เพราะท่านก็ตายไปแล้วเช่นกัน หรือบรรดาคลลีฟะห์ บรรดาศอฮาบะห์ผู้ทรงคุณธรรมทั้งหลายจะไม่ดีกว่าหรือ แต่เราก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะเราประกาศตนอยู่ทุกวัน และวันละหลายครั้งว่า

اِيَّاكَ نَعْبُدُ وَاِيَّاكَ نَسْتَعِيْنُ

“เฉพาะพระองค์อัลลอฮ์เท่านั้นที่เราจะอิบาดะห์ และเฉพาะอัลลออ์เท่านั้นที่เราจะวิงวอนขอช่วยเหลือ” ซูเราะห์อัลฟาติฮะห์ อายะห์ที่ 5

ด้วยเหตุนี้การวิงวอนขอต่อคนตายจึงเป็นชิริก (การตั้งภาคี) อย่างไม่ต้องสงสัยและไม่มีข้อขัดแย้งในหมู่ปวงปราชญ์
ท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

اِذَا مَاتَ الانْسَانُ اِنْقَطَعَ عَنْهُ عَمَلُهُ

“เมื่อมนุษย์ได้ตาย งานของเขาก็จบแล้ว” รายงานโดยอบูฮุรอยเราะห์ บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ฮะดีษเลขที่ 3084

บุคคลที่นอนอยู่ในกุโบร์นั้น เมื่อตอนเขามีชีวิตอยู่เขาก็ต้องทำอะมัลเหมือนอย่างกับเราที่ละหมาด,บวช,ซะกาต,ฮัจญ์, ขอดุอาอ์, และอื่นๆ แต่เมื่อเขาจากดุนยาไป งานของเขาก็จบ ข้างต้นนี้คือคำยืนยันจากท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม แต่เราผู้อยู่เบื้องหลังยังไม่ยอมให้งานของคนตายจบด้วยการเอาเขาเป็นสื่อให้ขอดุอาอ์ให้แก่เราอีก
ส่วนคำอ้างที่ว่า “ไม่ได้ขอกับตะเกี่ย เพียงให้ท่านช่วยขอต่ออัลลอฮ์อีกทีหนึ่ง” เป็นคำที่พ้องกับคำของพวกมุชรีกีนที่ได้กล่าวอ้างไว้ ซึ่งพระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงนำมากล่าวไว้ว่า

وَالَّذِيْنَ اتَّخَذُوا مِنْ دُوْنِهِ أوْلِيَاءَ مَا نَعْبُدُهُمْ اِلاَّ لِيُقَرَبُوْنَا الِى اللهِ زُلْفًا

“และบรรดาผู้ที่เอาสิ่งอื่นเป็นผู้คุ้มครองนอกจากอัลลอฮ์ (พวกเขากล่าวว่า) เราไม่ได้อิบาดะห์ต่อสิ่งเหล่านั้น นอกจากเพื่อทำให้เราได้ใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์” ซูเราะห์อัชซุมัร อายะห์ที่ 3

คนที่ให้คนตายขอดุอาอ์ให้เขาไม่แตกต่างจากมุชรีกีนในอายะห์ข้างต้นนี้เลย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น