โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 มาตรา 8 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีไว้ดังต่อไปนี้ …
(๑) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม
(๒) แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
(๓) ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ตามมาตรา ๓๕ (๑๑) เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
(๔) ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
และมาตรา 9 บัญญัติไว้ว่า จุฬาราชมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๗
อธิบาย
เมื่อเราพิจารณาดูสาระสำคัญจากมาตรา 8 และมาตรา 9 จะพบว่า ...
(1). ในมาตรา 8 (3) ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา อันหมายถึงวันถือศีลอดและวันออกอีด เป็นหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีซึ่งเป็น “ผู้นำระดับสูงสุด” ของมุสลิมในประเทศไทยเท่านั้น ...
หลักกฎหมายข้อนี้ สอดคล้องกับสิ่งที่มีปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม, และสมัยของคอลีฟะฮ์ซึ่งเป็นผู้นำของมุสลิมหลังจากการสิ้นชีวิตของท่านศาสดา .. ดังรายงานจากหะดีษที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ...
นั่นคือ ผู้ที่จะรับรองการเห็นดวงจันทร์ และประกาศให้ประชาชนถือศีลอดและออกอีดจะต้องเป็น “ผู้นำสูงสุดของมุสลิมในประเทศหรือในเมืองนั้นๆ” .. อันได้แก่ ตัวท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมเอง, หรือบรรดาคอลีฟะฮ์ซึ่งเป็นผู้นำของอาณาจักร (ประเทศ) อิสลามและพำนักอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่ง, หรือผู้นำ (أَمِيْرٌ) ในแต่ละเมืองหรือแต่ละประเทศราชที่ได้รับการแต่งตั้งจากคอลีฟะฮ์เท่านั้น ...
หมายเหตุ
คำกล่าวของบรรดานักวิชาการที่ว่า “จำเป็นสำหรับประชาชนในประเทศใดๆ จะต้องถือศีลอดและออกอีดตาม “อิหม่าม” (إِمَامٌ) ของพวกเขา” ...
คำว่า “อิหม่าม” ตามคำกล่าวข้างต้น ไม่ได้หมายถึงอิหม่ามประจำมัสญิด, อิหม่าม (ประธาน) ชมรมใดๆ ของมุสลิม, อิหม่าม(นายก) สมาคมใดๆของมุสลิม ฯลฯ อันเป็นเพียงอิหม่ามเฉพาะกลุ่ม ดังความเข้าใจผิดๆของบุคคลบางคน ...
แต่คำว่า “อิหม่าม” ในที่นี้ จะหมายถึง “إِمَامٌ أَعْظَمُ” หรือ “ผู้นำระดับสูงสุดของมุสลิมภายในประเทศ” ดังกล่าวมาแล้ว ...
(2). ในมาตรา 9 ทั้ง 3 วงเล็บ ระบุวาระสิ้นสุดของการเป็นจุฬาราชมนตรีไว้คือตาย, หรือลาออก, หรือทรงโปรดเกล้าฯ ให้ออก อย่างใดอย่างหนึ่ง ...
เพราะฉะนั้น ตราบใดก็ตามที่ไม่บังเกิดมีอย่างใดอย่างหนึ่งจากทั้ง 3 ประการนั้นปรากฏขึ้น ...
ตราบนั้น จุฬาราชมนตรีก็ไม่มีวันหลุดพ้นจากตำแหน่ง แม้ว่าจะมีพฤติการณ์บางอย่างที่เรา “รับไม่ได้” เกิดขึ้นในตัวของท่าน ...
หรือว่า .. ต่อให้มีคนจำนวนมากมายออกมาเดินขบวนขับไล่, หรือมีการล่ารายชื่อได้ถึง 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อให้มีการถอดถอนท่านออกจากตำแหน่งก็ตาม ...
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า สมมุติถ้าปรากฏมี “พฤติการณ์บางอย่าง” อันเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับเรา .. บังเกิดขึ้นในตัว “ผู้นำ” ของเรา ไม่ว่าจะเป็นจุฬาราชมนตรีท่านใดก็ตาม ...
เรามีสิทธิ์จะ “แยกตัว” ออกจากการฏออัต (طَاعَةٌ) ด้วยการไม่ปฏิบัติตามผู้นำใน “คำสั่งที่ถูกต้องของท่าน” .. ได้หรือไม่ ? ...
คำตอบก็คือ ไม่ได้อย่างเด็ดขาด! .. ตราบใดที่เรายังมีอีหม่านและเคารพเทิดทูนต่อคำสั่งของท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ดังหลักฐานต่อไปนี้ ...
1. ท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ว่า ...
اَلسَّمْعُ وَالطَّاعَةُ عَلَى الْمَرْءِ الْمُسْلِمِ فِيْمَا أَحَبَّ وَكَرِهَ، مَالَمْ يُؤْمَرْ بِمَعْصِيَةٍ! (فَإِنْ أُمِرَ بِمَعْصِيَةٍ فَلاَ سَمْعَ وَلاَ طَاعَةَ)
“การเชื่อฟังและการปฏิบัติตามผู้นำ เป็นหน้าที่ของผู้เป็นมุสลิม! ..ทั้งในสิ่งที่เขาชอบและในสิ่งที่เขาชัง ตราบใดที่เขา(ผู้ตาม)มิได้ถูกสั่งให้ทำชั่ว! (เพราะถ้าหากถูกสั่งให้ทำความชั่ว เขาก็ไม่จำเป็นจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม)”
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 7144 ท่านมุสลิม หะดีษที่ 38/1839, และท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 4217, ข้อความในวงเล็บเป็นข้อความจากการบันทึกของท่านมุสลิมและท่านอัน-นะซาอีย์) ...
2. ท่านเอาฟ์ บินมาลิก ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ว่า ...
((وَإِذَارَأَيْتُمْ مِنْ وُلاَتِكُمْ شَيْأً تَكْرَهُوْنَهُ فَاكْرَهُوْا عَمَلَهُ! وَلاَ تَنْزِعُوْا يَدًا مِنْ طَاعَةٍ))
“เมื่อพวกท่านเห็นสิ่งใดที่พวกท่านรังเกียจจากบรรดาผู้นำของพวกท่าน ก็จงรังเกียจเฉพาะพฤติการณ์ของเขา (เพียงอย่างเดียว) แต่อย่าแยกตัวออกจากการปฏิบัติตาม (ในสิ่งถูกต้อง) เป็นอันขาด”
(บันทึกโดย ท่านมุสลิม, หะดีษที่ 65/1588)
3. ท่าน อิบนุอับบาส ร.ฎ. ได้รายงานคำพูดของท่านศาสดามาว่า ...
((مَنْ رَآى مِنْ أَمِيْرِهِ شَيْأً يَكْرَهُهُ فَلْيَصْبِرْ! فَإِنَّهُ لَيْسَ أَحَدٌ يُفَارِقُ الْجَمَاعَةَ شِبْرًا إلاَّ مَاتَ مِيْتَةً جَاهِلِيَّةً))
“ผู้ใดจากพวกท่านได้พบเห็นสิ่งใดที่เขารังเกียจจากผู้นำของเขา ก็จงอดทน! เพราะผู้ใดก็ตามที่ แยกตนเองออกจากญะมาอะฮ์ (กลุ่มชนส่วนใหญ่) แม้เพียงคืบเดียว แล้วเกิดตายลงไป เขาก็ตายในสภาพของพวกญาฮิลียะฮ์”
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 7143, และท่านมุสลิม หะดีษที่ 55/1849)
4. ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ...
((أَفْضَلُ الْجِهَادِ كَلِمَةُ عَدْلٍ (كَلِمَةُ حَقٍّ) عِنْدَ سُلْطَانٍ جَائِرٍ أَوْ أَمِيْرٍ جَائِرٍ))
“การญิฮาด (การเสียสละ) ที่ประเสริฐที่สุด ก็คือ การ(กล้า)พูดความจริง ต่อหน้าผู้นำที่อธรรม”
(หะดีษบทนี้ในภาพรวม ถือเป็นหะดีษที่เศาะเหี๊ยะฮ์ .. ดังคำกล่าวของท่านอัล-อัลบานีย์ในหนังสือ “เศาะเหี๊ยะฮ์อบีย์ดาวูด” เล่มที่ 3 หน้า 820 เพราะมีการรายงานในลักษณะ ชาฮิด (ยืนยันซึ่งกันและกัน) มาจากเศาะหาบะฮ์หลายท่านคือ ...
1. ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ ร.ฎ. จากการบันทึกของท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 4344, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 2174, และท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 4011 ...
2. ท่านอบูอุมามะฮ์ ร.ฎ. จากการบันทึกของท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 4012 และท่านอะห์มัด เล่มที่ 5 หน้า 251, 256 ...
3. ท่านฏอริก บินชิฮาบ ร.ฎ. จากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 4220 และท่านอะห์มัด เล่มที่ 4 หน้า 314, 315) ...
ข้อความของหะดีษบทนี้ ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้แนะนำวิธีการ “ตอบโต้” ผู้นำที่อธรรมและมีพฤติการณ์ส่วนตัวที่ไม่ถูกต้องว่า ไม่ให้ใช้วิธีการแยกตัวออกห่าง, หรือใช้วิธีการพูดโจมตีลับหลัง ...
แต่ท่านศาสดาสั่งใช้ให้ “กล้าพูดความจริง” ต่อหน้าผู้นำคนนั้น ...
การที่ท่านศาสดากล่าวว่า การกล้าพูดความจริงต่อหน้าผู้นำที่อธรรม เป็นการเสียสละหรือ “การญิฮาด” ที่ประเสริฐสุด ก็เพราะการญิฮาดในสงครามโดยทั่วๆไป ผู้เข้าสู่สมรภูมิมีโอกาสเสี่ยงตายเพียง 50-50 .. คือ ไม่เขาตายก็เราตาย ...
แต่การกล้าพูดความจริงต่อหน้าผู้นำ,..โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นผู้นำที่อธรรมและโหดร้ายเข้าด้วยแล้ว ในสมัยก่อนโอกาสเป็นผีหัวขาด (ฝ่ายเดียว) ย่อมมีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปแน่นอน ...
ถึงเป็นสมัยนี้ก็เถอะ หากเป็นบางประเทศที่ยังใช้วิธีการปกครองระบอบเผด็จการ – ไม่ว่าเผด็จการทหารหรือเผด็จการรัฐสภา -- อยู่ละก็ ...
ใครขืนวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำตรงๆอย่างเผ็ดร้อน แม้จะลับหลังก็ตาม ..โอกาสที่จะโดนสั่ง “เก็บ” หรือโดน “อุ้มฆ่า” ชนิดหาศพไม่เจอ ก็ยังมีสูงอยู่ดีอีกนั่นแหละ ...
แต่ในประเทศไทยเรา ก็คงไม่ถึงกับ “หัวขาด” เหมือนเมื่อก่อน เพียงแต่อาจจะต้องขึ้นศาลด้วยข้อหา “หมิ่นประมาท” ผู้นำเท่านั้น (หากผู้นำจะเอาเรื่องกันจริงๆ) ...
สรุป
1. ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คือตำแหน่งผู้นำทางศาสนาที่ถูกต้องของชาวไทยมุสลิมทั้งประเทศ .. ทั้งตามบทบัญญัติศาสนา และตามพระราชบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ...
2. มุสลิมในประเทศไทยทุกคน วาญิบจะต้องปฏิบัติตามท่านจุฬาราชมนตรีใน ”คำสั่งที่ถูกต้องต่อบทบัญญัติ” ของท่านโดยเคร่งครัด ไม่ว่าคำสั่งนั้น เราจะชอบหรือไม่ชอบ, เต็มใจหรืออึดอัดใจที่จะปฏิบัติตาม ...
3. ไม่วาญิบให้ปฏิบัติตามผู้นำในคำสั่งที่ “ฝ่าฝืน” ต่อบทบัญญัติศาสนา ...
4. ไม่อนุญาตให้มุสลิมคนใด “แยกตัว” ออกจากการปฏิบัติตามผู้นำและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ปฏิบัติตามผู้นำในสิ่งที่ถูกต้อง, มิฉะนั้น เขาก็จะตายเยี่ยงพวก “ญาฮิลียะฮ์” ดังคำกล่าวของท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม
5. พฤติการณ์ส่วนตัวใดๆของผู้นำที่ “ผิด” ต่อบทบัญญัติจนเรายอมรับไม่ได้ เราก็ไม่มีสิทธิ์อ้างพฤติการเหล่านี้เพื่อจะแยกตัวออกจากการฏออัตในเรื่องที่ “ถูกต้อง” ของผู้นำคนนั้น ...
ทว่า ท่านศาสดาได้แนะนำว่า เรามี “ทางเลือก” ในการปฏิบัติอยู่เพียง 2 ทาง (ไม่มีทางเลือกที่ 3 อีก) คือ ...
5.1. ให้เราอดทนต่อพฤติการณ์อันไม่ถูกต้องของผู้นำคนนั้น หรือ ...
5.2. อย่าพูดโจมตีลับหลัง! แต่ให้กล้าพูดตักเตือน, ชี้แจงความผิดพลาดและพูดความจริง “ต่อหน้า” ผู้นำคนนั้น ...
แต่เท่าที่มีการปฏิบัติกันในบางกลุ่มของผู้ที่รังเกียจพฤติการณ์บางอย่างของ “ผู้นำมุสลิมในประเทศไทย” คือจุฬาราชมนตรี ทั้งอดีตและปัจจุบัน พวกเขากลับปฏิบัติ “สวนทาง” กับคำสั่งท่านศาสดา คือ ...
1. ไม่ยอมอดทนต่อพฤติการณ์ที่ไม่ถูกต้องของผู้นำ ...
2. ไม่มีความ “กล้า” พอที่จะ “ญิฮาด” ตามคำสั่งของท่านศาสดา.. ด้วย การพูดตักเตือนและพูดความจริงต่อหน้าผู้นำ ...
ที่แย่ไปกว่านั้น พวกเขายังใช้วิธีการ “นินทา” .. คือ การโพนทะนาความไม่ถูกต้องของผู้นำลับหลังในที่สาธารณะอีกต่างหาก ...
อย่างนี้ถ้าเป็นสมัยอดีต ผมไม่แน่ใจว่า บุคคลเหล่านี้จะถูกเรียกว่าอะไรดี ? ...
“อะฮ์ลิซ ซุนนะฮ์” (ผู้ปฏิบัติตามซุนนะฮ์) หรือ “คอวาริจญ์” (พวกนอกคอก) กันแน่ ? ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น