อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

มัสยิดกับบาลาย และผลบุญของการละหมาดญะมาอะฮ์ในสถานที่ทั้งสอง

ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย


คำถาม
1.มัสยิดกับสูเหร่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร? เทียบกับบาลาย(หรือบาลอตามเรียกชื่อแถวสงขลาและสามจังหวัด ส่วนแถวสตูลตรังจะเรียกมะนาซะฮ์)มันต่างกันอย่างไรบ้าง?

จะถือว่าเป็นมัสยิดต้องมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง? ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยหรือไม่? หากสถานที่แห่งนั้นมีขนาดใหญ่จุคนมากพอ และมีผู้คนในหมู่บ้านมาละหมาดฟัรฎูมากพอ (ยกเว้นละหมาดวันศุกร์)จะถือเป็นมัสยิดได้หรือไม่? หากหมู่บ้านสองหมู่บ้านมีคนอาศัยอย่างหนาแน่น จึงมีพื้นที่ของหมู่บ้านไม่มาก ผู้คนทั้งสองหมู่บ้านไปมาหาสู่กันได้สะดวก ไม่มีลำคลอง หรือสิ่งกีดขวางกั้น และแต่ละหมู่บ้านมีสถานที่ละหมาดฟัรฎูขนาดใหญ่ เพียงแต่เมื่อละหมาดวันศุกร์จะไปรวมกันละหมาดสถานที่ละหมาดอีกหมู่บ้านหนึ่ง สถานที่ละหมาดของอีกหมู่บ้านหนึ่งจะถือว่าเป็นมัสยิดหรือไม่?

(มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า หมู่บ้านสามหมู่บ้านอยู่ติดกัน มีผู้คนหนาแน่นทั้งสามหมู่บ้าน และมีพื้นที่ไม่มาก ทุกหมู่บ้านมีสถานที่ละหมาดขนาดใหญ่ แต่สำหรับละหมาดวันศุกร์ ผู้คนทั้งสามหมู่บ้านจะมาละหมาดวันศุกร์เพียงมัสยิดเดียวที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย (รวมถึงการทำนิกะฮฺและหย่าทั้งสามหมู่บ้านต้องทำกับอีหม่ามที่นี้คนเดียว รายได้จากนิกะฮฺและหย่า หรือพิธีกรรมอื่นจะตกอยู่แก่ที่นี้แห่งเดียว) ส่วนสถานที่ละหมาดอีกสองหมู่บ้านยังไม่จดทะเบียน ปรากฎว่ารัฐบาลมีเงื่อนไขว่าหากสถานที่ละหมาดใดจะขอสนับสนุนงบจากรัฐบาลต้องมีการจดทะเบียนก่อน อีม่ามอีกสองหมู่บ้านจึงมีความประสงค์จะจดทะเบียนมัสยิด เพื่อของบจากรัฐบาลและจะทำการละหมาดวันศุกร์ในหมู่บ้านของตนแยกต่างหาก แต่อีหม่ามมัสยิดที่จดทะเบียนแล้วข้างต้นไม่ยอม โดยอ้างว่าจะเกิดความแตกแยก)

2.ผลบุญของผู้ที่ละหมาดญามาอะฮ์ที่มัสยิด 25 เท่า หรือ 27 เท่า รวมถึงการละหมาดญามาอะฮ์ที่บาลายด้วยหรือไม่? บาลายบางที่ก็ครบสมบูรณ์เหมือนมัสยิด ขาดแต่ยังไม่จดทะเบียนกฎหมายไทย และไม่ละหมาดวันศุกร์


ตอบ

1. คำว่ามัสยิดเป็นภาษาอาหรับ ส่วนสุเหร่า เป็นภาษามลายู ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นสิ่งเดียวกัน คือสถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ทำละหมาด ..

ส่วนบาลายหรือที่สอนหนังสือของเด็กปอเนาะสมัยก่อน(ที่ชาวบ้านแถว 3 จังหวัดภาคใต้เรียกกันว่าบาลาเซาะฮ์) คงจะเพี้ยนมาจากภาษาอาหรับว่า มัดรอซะฮ์ ซึ่งแปลว่า โรงเรียนอันเป็นสถานที่สอนหนังสือนั่นเองครับ วัลลอฮุ อะอฺลัม ..

1.1). เรื่องของมัสยิดตามหลักการอิสลาม ไม่เกี่ยวกับการจดทะเบียนตามกฎหมายหรอกครับ
เนื่องจากตั้งแต่สมัยท่านศาสดามาแล้ว ไม่เคยปรากฏว่า จะมีมัสยิดหลังใดต้องให้จดทะเบียนก่อนถึงจะเรียกว่ามัสยิดเลย เพราะมัสยิดตามหลักศาสนาจะหมายถึง "สถานที่ซึ่งบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้สละ(บริจาคหรือวะกัฟ)โดยเจตนา (เนียต) ให้เป็นสถานที่สำหรับละหมาดของประชาชน ทั้งในชุมชนนั้นๆหรือประชาชนทั่วไป" แล้วหลังจากนั้นก็จะมีการสร้างตัวอาคารขึ้นมาบนพิ้นที่แห่งนั้น ..

ซึ่งมัสยิดจะจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะคือ มัสยิดญาเมี๊ยะอฺหรือมัสยิดกลางที่ใช้ทำละหมาดทั้ง 5 เวลาและละหมาดวันศุกร์ประจำหมู่บ้านหรือตำบล กับมัสยิดธรรมดาที่ใช้ทำเฉพาะละหมาด 5 เวลา ไม่มีการทำละหมาดวันศุกร์ แบบเดียวกับมัสยิดประจำท้องที่รายรอบมัสยิดของท่านนบีย์ในสมัยอดีต ซึ่งจะทำเฉพาะละหมาด 5 เวลา แต่พอถึงวันศุกร์ ทั้งหมดจะต้องมาละหมาดวันศุกร์ร่วมกันที่มัสยิดกลางของท่านนบีย์ครับ ....

1.2).  ส่วนที่คุณเล่ามาว่า หมู่บ้านสามหมู่บ้านอยู่ติดกัน มีผู้คนหนาแน่นทั้งสามหมู่บ้าน และมีพื้นที่ไม่มาก ทุกหมู่บ้านมีสถานที่ละหมาดขนาดใหญ่ แต่สำหรับละหมาดวันศุกร์ ผู้คนทั้งสามหมู่บ้านจะมาละหมาดวันศุกร์เพียงมัสยิดเดียว ฯลฯ.. อันนี้คือความถูกต้องครับโดยไม่จำเป็นจะต้องไปพิจารณาว่าวันมัสยิดที่มีการรวมกันทำละหมาดวันศุกร์นั้น จะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียน ซึ่งผมเข้าใจว่า น่าจะเป็นมัสยิดหลังเก่าแก่ที่สุดของทั้ง 3 หลัง

เพราะฉะนั้น การที่มัสยิดอีก 2 หลังจะแยกไปทำละหมาดวันศุกร์กันเองเป็นเอกเทศ โดยไม่มีเหตุผลสมควร (เช่นมัสยิดหลังเก่าคับแคบจนขยายไม่ได้อีกแล้ว) จึงเป็น خلاف السنة คือขัดแย้งกับซุนนะฮ์ของท่านศาสดาครับ ..

ส่วนเรื่องที่ว่ามัสยิด 2 หลังเหล่านั้นจดทะเบียนแล้วหรือยังไม่จดทะเบียน ไม่ใช่ประเด็นปัญหาเรื่องการจะแยกหรือไม่แยกละหมาดวันศุกร์หรอกครับ ยิ่งถ้าเป้าหมายในการต้องการจะจดทะเบียนก็เพื่อหวังเงินอุดหนุนจากรัฐบาลด้วย และต้องการอ้างเป็นเหตุผลเพื่อแยกละหมาดวันศุกร์ด้วย ก็ถือเป็นความผิดพลาดและความไม่เหมาะสมทั้ง 2 ประการครับ ...


2. สถานที่ ที่ดีที่สุดสำหรับการละหมาดญะมาอะฮ์ก็คือมัสยิดครับ ส่วนบาลายหรือโรงเรียนนั้น หากอยู่ห่างไกลจากมัสยิดมากจนไม่สะดวกที่จะไปละหมาดญะมาอะฮ์ที่มัสยิดดังเช่นที่มีปรากฏในปอเนาะ่บางแห่งในอดีต ก็หวังว่า การละหมาดญะมาอะฮ์ที่บาลาย คงจะได้รับผลบุญ 25 หรือ 27 เท่านดังปรากฏในหะดีษด้วยครับ อินชาอัลลอฮ์ ...







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น