อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ชี้แจงข้อโต้แย้งบทความเรื่องตำแหน่งผู้นำด้านศาสนาอิสลามในประเทศไทยของจุฬาราชมนตรีของ อ.อาลีคาน



โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ผมได้อ่าน “เพียงคร่าวๆ” จากข้อเขียนของน้องชายของผม - อ. อาลีคาน - ที่เขียนโต้แย้งบทความเรื่องตำแหน่งผู้นำด้านศาสนาอิสลามในประเทศไทยของจุฬาราชมนตรีที่ผมเขียนไป ...
ก็ขอขอบคุณน้องชายเป็นอย่างมากที่กรุณาสละเวลาอันมีค่าของท่าน เขียนโต้แย้งมา ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของความเห็นต่าง ...
ความจริงผมเอง ไม่มีเวลาพอที่จะเขียนโต้แย้งกลับท่านในเรื่องนี้ เพราะมีภาระในการเขียนบทความอีกหลายเรื่องที่ผม “ค้างหนี้” คือรับปากต่อท่านผู้อ่านไว้ และโดยใจจริงก็ไม่อยากจะเขียนโต้แย้งกลับไปให้กลายเป็นเรื่องยืดยาวด้วย ทั้งๆที่ผมมองเห็นจุดบกพร่องหลายจุดในข้อเขียนของท่านซึ่งผมอ่านไม่ค่อยเข้าใจจุดประสงค์นัก เพราะท่านเขียนค่อนข้างสับสน จับประเด็นไม่ค่อยจะถูก และดูเหมือนท่านจะยังแยกไม่ออกในระหว่าง “ผู้นำทางการปกครอง” กับ “ผู้นำทางศาสนา” ที่ผมกล่าวถึงอันเป็นข้อเท็จจริงของระบอบการปกครองของแทบทุกประเทศในปัจจุบันว่า เป็นคนละประเด็นกัน ...
ความจริง ถ้าท่านจะโต้แย้งผมในเรื่องนี้ให้ “กระชับ” และตรงประเด็นที่สุด ท่านก็ต้องชี้แจงว่า การที่ท่านไม่ยอมรับจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำศาสนาอิสลามในประเทศไทย เพราะเหตุผลอะไร ? ...
เพราะ 1 .... 2....3....4....5.... ฯลฯ.
สิ่งที่ผมขอชี้แจงเพียงสั้นๆกับท่าน อ.อาลีคานและท่านผู้อ่านเท่าที่เวลาอันเล็กน้อยของผมจะอำนวยให้ ก็เพียง 4 – 5 จุดคือ ...
1. เมื่อผมวิเคราะห์สาเหตุแห่งการที่บางคนไม่ยอมรับว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เป็นผู้นำศาสนาอิสลามในประเทศไทยออกเป็น 4 สาเหตุ ท่านก็กล่าวโต้แย้งในลักษณะว่า การวิเคราะห์ดังกล่าวของผม เหมือนกับผมไปโกรธเคืองใครมา ? ...
ขอตอบว่า จนบัดนี้ ผมยังมองไม่ออกเลยว่า ข้อเขียนของผมตรงนั้น เป็นลักษณะการเขียนของคนที่มีอารมณ์โกรธตรงไหน ? ..
หรือท่านผู้อ่านท่านใดมีความเห็นตรงกับท่าน อ.อาลีคานบ้างครับ ? ..
ส่วนตัวผม พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เป็นพยานได้ว่า ผมเขียนไปอย่างบริสุทธิ์ใจ ปราศจากอารมณ์โกรธใครทั้งสิ้นในการเขียนตอนนั้น อย่างที่ท่านเข้าใจ ...
แต่ถ้าท่านยังยืนกรานว่า ผมเขียนเหมือนคนมีอารมณ์โกรธ ผมก็ขออภัยท่านด้วยครับ ...
2. ที่ท่านพูดในลักษณะว่า ผู้เป็นจุฬาราชมนตรีแต่ละท่าน เสนอตัวเองเพื่อรับตำแหน่งนี้ซึ่งขัดกับหลักการอิสลาม ...
ผมคิดว่า ท่านน่าจะเข้าใจผิดนะครับ ...
เพราะเท่าที่ผมทราบมา ในการคัดเลือกผู้ที่จะเป็นจุฬาราชมนตรีแต่ละครั้งไม่ปรากฏว่า มีจุฬาราชมนตรีท่านใดเสนอชื่อตัวเองเข้ารับตำแหน่งเลย แต่มีผู้อื่น “เสนอชื่อท่าน” และชื่อผู้อื่นอีกหลายท่านขึ้นมา เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์คัดเลือกจุฬาราชมนตรีพิจารณา และชื่อผู้ใดที่ถูกเสนอขึ้นมาจะผ่านเข้าสู่การคัดเลือกลำดับต่อไป ก็ต้องมี “ผู้รับรอง”จำนวนหนึ่งด้วย (กี่คนผมจำไม่ได้) ...
เพราะฉะนั้น สมมุติว่า ต่อให้ใครอยากได้ตำแหน่งนี้ใจจะขาดจนกล้าเสนอชื่อตัวเองอย่างไร แต่ถ้ามีผู้รับรองไม่ครบ ก็จะปิ๋วตั้งแต่ช่วงแรกแล้วครับ ...
จากจุดนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากการคัดเลือกจุฬาราชมนตรีครั้งที่ผ่านมาว่า มีบางคนถูกเสนอชื่อขึ้นมาแล้ว (ซึ่งท่านเองก็คงไม่ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งนี้) แต่ชื่อท่านก็ต้องตกไป เพราะผู้รับรองไม่เพียงพอครับ ...
3. คำพูดของท่านที่พยายามอธิบายคำว่า اَلْجَمَاعَةُ ว่าหมายถึง “กลุ่มชน” เฉยๆ (ซึ่งอาจจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ได้) ผมว่า น่าจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของหะดีษที่กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้นะครับ เพราะผมมั่นใจว่าหะดีษทุกบทที่สั่งให้ “ยึดมั่น” กับ اَلْجَمَاعَةُ ย่อมหมายถึง “กลุ่มชนส่วนใหญ่” ของเหตุการณ์หรือกรณีย์นั้นๆมากกว่า ...
อันนี้ผมพูดถึง اَلْجَمَاعَةُ ในเรื่องการเมือง, การปกครองและสังคม, ไม่ได้พูดถึงเรื่องอิบาดะฮ์หรืออะกีดะฮ์นะครับ ...
เพราะ .. สมมุติ .. เมื่อเกิดขัดแย้งกันในเหตุการณ์ใดและมุสลิมแตกแยกออกเป็นหลายกลุ่ม แล้วเราก็แนะนำว่า ท่านนบีย์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สั่งว่าเมื่อเกิดฟิตนะฮ์หรือความวุ่นวายขึ้น ก็ให้เรายึดมั่นกับ اَلْجَمَاعَةُ คือ “กลุ่มชน” เฉยๆ ก็แสดงว่า ท่านนบีย์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สั่งว่า ประชาชนที่ฝักใฝ่ชอบพออยู่กับ “กลุ่มชน” ใด ก็ให้ยึดมั่นอยู่กับ “กลุ่มชน” ที่ตนเองรักชอบ อย่างนั้นหรือครับ ??? ...
ไม่เพราะอธิบายแบบนี้หรือครับ มุสลิมในปัจจุบัน จึงแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ เพราะมุสลิมที่ “ตะอัศศุ้บ” หรือคลั่งไคล้กลุ่มชน(อาจารย์)ใด ก็ยึดมั่น-เชื่อมั่นอยู่กับกลุ่มชนของอาจารย์นั้นเท่านั้นว่า เป็นฝ่ายถูกต้องไปทุกเรื่อง ...
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า اَلْجَمَاعَةُ ในเรื่องที่ผมพูดถึง – คือการถือบวชออกบวช - ผมว่า ย่อมหมายถึง “กลุ่มชนส่วนใหญ่” ที่ถือบวชออกบวชพร้อมผู้นำ, ไม่ใช่ “กลุ่มชนย่อยๆ” ของทีวีบางช่องแน่นอน ...
ตัวอย่างในเรื่องนี้ ได้แก่คำว่า اَلْجَمَاعَةُ ในอธิบายของท่านเช็คอบุล หะซัน อัซ-ซินดี้ย์ ด้านล่างหนังสือ “สุนัน อิบนุมาญะฮ์” เล่มที่ 1 หน้า 531 ซึ่งท่านอธิบายว่า ...

(( اَلْفِطْرُ يَوْمَ تُفْطِرُوْنَ )) : اَلظَّاهِرُ أَنَّ مَعْنَاهُ أَنَّ هَذِهِ اْلأُمُوْرَ لَيْسَ لِْلآحَادِ فِيْهَا دَخْلٌ، وَلَيْسَ لَهُمُ التَّفَرُّدُ فِيْهَا، بَلِ اْلأَمْرُ فِيْهَا إِلَى اْلإِمَامِ وَالْجَمَاعَةِ، وَيَجِبُ عَلَى اْلآحَادِ اِتِّبَاعُهُمْ لِْلإِمَامِ وَالْجَمَاعَةِ ...
“หะดีษที่ว่า .. (วันอีดิลฟิฏริ คือวันที่พวกท่านออกอีดฟิฏริกัน) .. ตามรูปการณ์แล้ว ความหมายของมันก็คือ สิ่งเหล่านี้ (การกำหนดวันถือศีลอดและวันออกอีด) มิใช่เป็นหน้าที่ของปัจเจกบุคคล (หรือบุคคลกลุ่มใด), และพวกเขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติมันโดยอิสระ .. ทว่า, ภารกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะต้องมอบต่อผู้นำและประชาชนส่วนใหญ่, และสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) สำหรับปัจเจกบุคคล (หรือกลุ่มบุคคล) ก็คือ พวกเขาต้องปฏิบัติตามผู้นำและประชาชนส่วนใหญ่” ...
คำว่า اَلْجَمَاعَةُ จากคำอธิบายข้างต้นนี้ ผมว่าคงไม่หมายถึงแค่ “กลุ่มชน” เฉยๆหรอกครับ แต่จะหมายถึง “กลุ่มชนส่วนใหญ่” (ที่ถือบวชออกบวชพร้อมกับจุฬาราชมนตรี) ...
หรือท่านจะค้านผมในคำอธิบายข้างต้นนี้ ? ......
4. คำกล่าวของท่านที่โต้แย้งผมว่า .. ทุกคนสามารถใช้ตรรกะย้อนถามอาจารย์ได้ว่า .. “แล้วมีจุฬาราชมนตรีท่านไหนในอดีตจนถึงปัจจุบันที่ยอมรับและเห็นคล้อยตามการประจักษ์เห็นจันทร์เสี้ยวของคณะรัฐบาลซาอุดีอารเบียบ้างล่ะครับ ?” ...
ผมก็สามารถยืดอกตอบคำถามนี้อย่างเต็มภาคภูมิเลยครับว่า สมมุติถ้ามีจุฬาราชมนตรี .. ไม่ว่าในอดีต, ปัจจุบันหรือในอนาคตท่านใด .. ประกาศให้ประชาชนชาวไทยถือบวชออกบวชตามประเทศซาอุดีอารเบีย ...
อัลลอฮ์เป็นพยาน ! .. ผมและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามท่านครับ ...
ว่าแต่ .. คำถามของผมที่ถามแทงใจดำของท่านที่ว่า ...
“ขอโทษนะครับที่ต้องสมมุติว่า ถ้าจุฬาราชมนตรีท่านก่อนๆมีทัศนะคติในการถือบวชออกบวชตามซาอุฯ หรือตามประเทศใดก็ได้ในโลกเหมือนทัศนะของท่าน ...
คำพูดที่ว่า “จุฬาราชมนตรีไม่ใช่ผู้นำทางศาสนาของประเทศไทย” จะหลุดออกมาจากปากของท่านไหมครับ ???” ...
ท่านกล้าหาญพอที่จะตอบผมจากใจจริงของลูกผู้ชายชาติซุนนะฮ์ของท่านไหมครับ ? ...
5. คำกล่าวของท่านในลักษณะว่า หะดีษเรื่องคำสั่งให้ยึดมั่นกับ اَلْجَمَاعَةُ นั้น ถูกบันทึกในบทว่าด้วยเรื่อง اَلْفِتَنِ (ความวุ่นวายต่างๆ)บ้าง, เรื่อง لُزُوْمُ الْجَمَاعَةِ (ให้ยึดมั่นกับกลุ่มชนส่วนใหญ่) บ้าง ฯลฯ ...
ผมขอเรียนถามว่า แล้วปัจจุบันที่สภาพการถือบวชออกบวชในประเทศไทยเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ มันยังไม่เรียกว่า فِتْنِةٌ .. ที่สร้างความวุ่นวายและสร้างความเสื่อมเสียแก่สังคมมุสลิมเพียงพออีกหรือครับ ? ...
หรือต้องรอให้มุสลิมแต่ละฝ่ายยกพวกตะลุมบอนกัน คว้ามีดดาบมาฟันกันหรือคว้าปืนมาฆ่ากันก่อนถึงจะเรียกว่า فِتْنَةٌ ?? ...
และการที่ผม (และอีกหลายคน) เรียกร้องให้มุสลิมในประเทศไทยถือบวชออกบวชพร้อมกับจุฬาราชมนตรีในกรณีนี้ ถ้าไม่เรียกว่า เป็นการเรียกร้องให้ لُزُوْمُ الْجَمَاعَةِ คือ ยึดมั่นกับประชาชนส่วนใหญ่แล้ว จะให้เรียกว่าอะไรครับ ?? ...
นี่คือบางตัวอย่างที่ผมเขียนชี้แจงต่อข้อโต้แย้งของน้องชายของผม - อ.อาลีคาน - และคิดว่า หากท่านจะเขียนอะไรโต้แย้งมาอีก ผมก็คงจะไม่ชี้แจงกลับอะไรอีกทั้งสิ้น เพราะผมมีภาระด้านเขียนบทความอื่นๆอีกมากรออยู่ และก็ไม่อยากจะให้ใครนำเอาความเห็นต่างของเราไปขยายผล ...
ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นปัญญาชน จึงย่อมจะใช้วิจารณญาณตรวจสอบได้เองว่า ข้อมูลของท่าน อ.อาลีคานและของผม ข้อมูลใครน่าเชื่อถือและ “ตรงประเด็น” มากกว่ากัน ......
อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
11 ก.ค. 58 .. เวลา 12.00 – 13.15 น.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น