ถาม เนื่องด้วยเดือนเราะมะฎอนนั้นมีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับมุสลิม และทุกคนต่างก็มีความขะมักเขม้นในการทำอิบาดะฮฺ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เห็นได้ประจักษ์ชัดที่สุดในเดือนนี้ ดังนั้นฉันอยากถามว่า การละหมาดตะรอวีหฺมีหุก่มเป็นเช่นไรสำหรับผู้ที่อยู่ในสภาพของการเดินทาง?
ตอบ -อัลฮัมดุลิลลาฮฺ- การสรรเสริญทั้งหลายเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ
การละหมาดตะรอวีหฺในเดือนเราะมะฎอนคือส่วนหนึ่งของการละหมาดกิยามุลลัยลฺ ซึ่งเป็นศาสนกิจที่อัลลอฮฺทรงยกย่องแด่ผู้ที่ปฏิบัติมัน ดังที่พระองค์ได้ดำรัสว่า
﴿ كَانُواْ قَلِيلٗا مِّنَ ٱلَّيۡلِ مَا يَهۡجَعُونَ ١٧ ﴾ [الذاريات: ١٧]
ความว่า “พวกเขาเคยหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน” (สูเราะฮฺ อัซ-ซาริยาต 17)
ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เองก็ได้ลุกขึ้นละหมาดกิยามุลลัยลฺ ทั้งในเดือนเราะมะฎอนและเดือนอื่นๆ และท่านไม่เคยละทิ้งการละหมาดกิยามุลลัยลฺเลยไม่ว่าจะพำนักอยู่ที่บ้านหรือขณะเดินทางก็ตาม
ท่านอิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ไม่เคยปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ละทิ้งการละหมาดกิยามุลลัยลฺไม่ว่าจะพำนักอยู่ที่บ้านหรือขณะเดินทางเลย ทั้งนี้กลับปรากฏว่าเมื่อท่านนบีได้เผลอนอนหลับไม่รู้สึกตัวหรือเจ็บป่วย (จนทำให้ไม่สามารถลุกขึ้นละหมาดกิยามุลลัยลฺได้) ท่านก็จะละหมาดชดในช่วงกลาวัน 12 ร็อกอัตแทน” จบการอ้างจากหนังสือ “ซาดุลมะอาด หน้า 1/311”
ท่านอัล-บุคอรี หมายเลข 945 ได้รายงานจากท่านอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า
« كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُصَلِّي فِي السَّفَرِ عَلَى رَاحِلَتِهِ حَيْثُ تَوَجَّهَتْ بِهِ يُومِئُ إِيمَاءً صَلاةَ اللَّيْلِ إِلّا الْفَرَائِضَ، وَيُوتِرُ عَلَى رَاحِلَتِه»
ความว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ละหมาดระหว่างการเดินทางบนพาหนะของท่านโดยการแสดงท่าทาง (ด้วยการก้มๆ เงยๆ) และโดยหันทิศตามที่พาหนะได้หันไป ยกเว้นละหมาดฟัรฎู (ท่านจะลงจากพาหนะมาละหมาดบนพื้นโดยหันไปทางกิบลัต) และท่านได้ละหมาดวิติรบนพาหนะของท่าน”
ท่านอัล-บุคอรี หมายเลข 1034 ได้รายงานจากท่านสาลิม บิน อับดุลลอฮฺ บินอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันมา ได้เล่าว่า
«كَانَ عَبْدُ اللَّهِ بْنُ عُمَرَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا يُصَلِّي عَلَى دَابَّتِهِ مِنْ اللَّيْلِ وَهُوَ مُسَافِرٌ ، مَا يُبَالِي حَيْثُ مَا كَانَ وَجْهُهُ»
ความว่า “ท่านอับดุลลอฮฺ บินอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้ละหมาดบนสัตว์พาหนะของท่านในช่วงค่ำคืนโดยที่ท่านเดินทางอยู่ โดยที่ท่านไม่สนว่าจะหันไปทิศทางใด”
ท่านอิบนิอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าอีกว่า
«وَكَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُسَبِّحُ عَلَى الرَّاحِلَةِ قِبَلَ أَيِّ وَجْهٍ تَوَجَّهَ ، وَيُوتِرُ عَلَيْهَا ، غَيْرَ أَنَّهُ لَا يُصَلِّي عَلَيْهَا الْمَكْتُوبَةَ»
ความว่า “ท่านเราะสูลุลอลฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวสรรเสริญ(ละหมาดสุนัต)บนพาหนะของท่าน โดยที่ท่านได้หันหน้าไปยังทิศที่มุ่งหน้าไป และท่านละหมาดวิติรฺบนพาหนะเช่นกัน แต่ท่านไม่ทำเช่นนั้นกับละหมาดฟัรฎู”
สำหรับการละหมาดสุนัตที่ผู้เดินทางควรต้องละเว้นนั้นคือ การละหมาดสุนัตเราะวาติบก่อนและหลังละหมาดซุฮฺริ สุนัตเราะวาติบหลังละหมาดมัฆริบ และสุนัตเราะวาติบหลังละหมาดอิชาอ์เท่านั้น ส่วนอื่นจากนี้ไม่ว่าจะเป็นสุนัตเราะวาติบก่อนศุบห์หรือสุนัตอื่น ๆ ก็ยังมีบัญญัติให้ละหมาดทั้งสำหรับผู้เดินทางและผู้พำนักอยู่ที่บ้าน
ท่านมุสลิม ในหนังสือ “เศาะฮีหฺ” ของท่าน หมายเลข 1112 ได้รายงานจากท่านหัฟศฺ บินอาศิม บินอุมัรฺ บินอัล-ค็อฏฏอบ ได้เล่าว่า
«صَحِبْتُ ابْنَ عُمَرَ فِي طَرِيقِ مَكَّةَ ، فَصَلَّى لَنَا الظُّهْرَ رَكْعَتَيْنِ ، ثُمَّ أَقْبَلَ وَأَقْبَلْنَا مَعَهُ حَتَّى جَاءَ رَحْلَهُ ، وَجَلَسَ وَجَلَسْنَا مَعَهُ فَحَانَتْ مِنْهُ الْتِفَاتَةٌ نَحْوَ حَيْثُ صَلَّى ، فَرَأَى نَاسًا قِيَامًا ، فَقَالَ مَا يَصْنَعُ هَؤُلَاءِ ؟ قُلْتُ : يُسَبِّحُونَ (أي : يصلون الراتبة) قَالَ : لَوْ كُنْتُ مُسَبِّحًا لَأَتْمَمْتُ صَلَاتِي ، يَا ابْنَ أَخِي ، إِنِّي صَحِبْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي السَّفَرِ ، فَلَمْ يَزِدْ عَلَى رَكْعَتَيْنِ حَتَّى قَبَضَهُ اللَّهُ ، وَصَحِبْتُ أَبَا بَكْرٍ فَلَمْ يَزِدْ عَلَى رَكْعَتَيْنِ حَتَّى قَبَضَهُ اللَّهُ ، وَصَحِبْتُ عُمَرَ فَلَمْ يَزِدْ عَلَى رَكْعَتَيْنِ حَتَّى قَبَضَهُ اللَّهُ ، ثُمَّ صَحِبْتُ عُثْمَانَ فَلَمْ يَزِدْ عَلَى رَكْعَتَيْنِ حَتَّى قَبَضَهُ اللَّهُ ، وَقَدْ قَالَ اللَّهُ : ﴿لَقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ﴾»
ความว่า “ฉันเคยร่วมเดินทางกับท่านอิบนิอุมัรฺไปยังเมืองมักกะฮฺ ซึ่งท่านได้นำเราละหมาดซุฮฺริ 2 ร็อกอัต แล้วท่านก็ลุกเดินไป เราก็เดินไปพร้อมท่านจนกระทั่งถึงที่เก็บสัตว์พาหนะ แล้วท่านก็นั่ง เราจึงนั่งพร้อมกับท่าน ทันใดนั้นท่านก็หันไปยังที่ที่ใช้ละหมาดเมื่อสักครู่ พลันเห็นผู้คนได้ยืนละหมาดกัน ท่านจึงกล่าวว่า พวกเขาได้ทำอะไรกัน ? ฉันได้ตอบว่า พวกเขาได้สรรเสริญพระองค์อัลลอฮฺกัน (ละหมาดสุนัตเราะวาติบ) ท่านอิบนิอุมัรฺจึงกล่าวว่า ถ้าฉันเลือกที่จะละหมาดสุนัตเราะวาติบแล้วไซร้ ฉันก็จะละหมาดฟัรฎูให้ครบ 4 ร็อกอัต อย่างแน่นอน โอ้หลานของฉันเอ๋ย ฉันได้ร่วมเดินทางกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในขณะเดินทาง ท่านไม่เคยละหมาดเกิน 2 ร็อกอัตเลย (และจะไม่ละหมาดสุนัตเราะวาติบอีก) จนกระทั่งอัลลอฮฺทรงให้ท่านเสียชีวิต และฉันได้ร่วมเดินทางกับท่านอบูบักรฺ ท่านไม่เคยละหมาดเกิน 2 ร็อกอัตเลย (และจะไม่ละหมาดสุนัตเราะวาติบอีก) จนกระทั่งอัลลอฮฺทรงให้ท่านเสียชีวิต และฉันได้ร่วมเดินทางกับท่านอุมัร ท่านไม่เคยละหมาดเกิน 2 ร็อกอัตเลย (และจะไม่ละหมาดสุนัตเราะวาติบอีก) จนกระทั่งอัลลอฮฺทรงให้ท่านเสียชีวิต และฉันได้ร่วมเดินทางกับท่านอุษมาน ท่านไม่เคยละหมาดเกิน 2 ร็อกอัตเช่นกัน (และจะไม่ละหมาดสุนัตเราะวาติบอีก) จนกระทั่งอัลลอฮฺทรงให้ท่านเสียชีวิต และแท้จริงอัลลอฮฺได้ดำรัสว่า “โดยแน่นอนยิ่ง สำหรับสูเจ้าในตัวเราะสูลุลลอฮฺนั้นมีแบบอย่างที่ดีงามยิ่งแล้ว” สูเราะฮฺ อัล-อะหฺซาบ : 21 ”
คำกล่าวที่ว่า وَلَوْ كُنْتُ مُسَبِّحًا لَأَتْمَمْتُ صَلَاتِيหมายความว่า ถ้าฉันเลือกที่จะละหมาดสุนัต แน่แท้ การละหมาดฟัรฎูให้ครบ 4 ร็อกอัตต้องเป็นสิ่งที่ฉันชอบจะกระทำยิ่งกว่า แต่ฉันก็ไม่เห็นด้วยที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดเช่นนั้น (คือทั้งละหมาดสุนัตเราะวาติบและละหมาดฟัรฎูให้ครบ 4 ร็อกอัตในขณะเดินทาง) เพราะที่เป็นสุนนะฮฺของท่านนบีนั้นคือให้ละหมาดย่อและงดละหมาดสุนัตเราะวาติบ
นักวิชาการคณะกรรมการถาวรเพื่อการวินิฉัยปัญหาศาสนา ถูกถามว่า “พวกท่านมีความคิดเห็นเช่นไรสำหรับผู้เดินทางที่ ได้ละหมาดย่อ (เนื่องจากการเดินทาง) ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับพวกเขาที่จะละหมาดตะรอวีหฺในเดือนเราะมะฎอนด้วยหรือไม่?”
คณะกรรมการถาวร ฯ ได้ตอบว่า “การกิยามเราะมะฎอน (ละหมาดตะรอวีหฺ) นั้นคือสุนนะฮฺ โดยที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้ และด้วยเหตุนี้เอง บรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม จึงได้นำมาปฏิบัติตามกันมา และมันได้ดำเนินมาเรื่อยๆ จนถึงเรา ณ ทุกวันนี้ ดังมีบันทึกในตำราหะดีษเศาะฮีหฺของอัล-บุคอรีและมุสลิมจากหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ละหมาดในบางคืน หลังจากนั้นบรรดาเศาะหาบะฮฺก็ได้ร่วมละหมาดพร้อมกับท่าน และแล้วท่านก็ได้ล่าช้าที่จะออกมาละหมาดร่วมกับพวกเขา โดยที่ท่านได้ละหมาดในบ้านของท่านเองในค่ำคืนที่เหลือของเดือนนั้น โดยที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “ฉันเกรงว่าจะเป็นฟัรฎูเหนือพวกท่านในการละหมาดกลางคืน (ตะรอวีหฺ) ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้พวกท่านอ่อนล้าที่จะปฏิบัติมัน”
และมีบันทึกในเศาะฮีหฺอัล-บุคอรีอีกว่า ท่านอุมัรฺได้รรวมผู้คนให้ละหมาดตะรอวีหฺตามหลังท่านอุบัย บิน กะอับ และมีบันทึกในตำราหะดีษเศาะฮีหฺของอัล-บุคอรีและมุสลิม จากหะดีษของท่านอบี สะละมะฮฺ บิน อับดุรเราะหฺมาน ซึ่งท่านได้ถามท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮาว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ละหมาดกิยามุลลัยลฺอย่างไรบ้าง ? ท่านหญิงได้ตอบว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะไม่ละหมาดทั้งในเดือนเราะมะฎอนและเดือนอื่นๆ มากกว่า 11 ร็อกอัต และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยเดินทางในช่วงเดือนเราะมะฎอน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเดินทางเพื่อไปพิชิตเมืองมักกะฮฺ โดยที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ออกเดือนทางในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ในปีที่ 8 ของการฮิจญ์เราะฮฺ
ท่านอิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า ไม่เคยปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ละทิ้งการละหมาดกิยามุลลัยลฺไม่ว่าจะพำนักอยู่ที่บ้านหรือขณะเดินทางเลย ทั้งนี้กลับปรากฏว่าเมื่อท่านนบีได้เผลอนอนหลับไม่รู้สึกตัวหรือเจ็บป่วย (จนทำให้ไม่สามารถลุกขึ้นละหมาดกิยามุลลัยลฺได้) ท่านก็จะละหมาดในช่วงกลางวันจำนวน 12 ร็อกอัตแทน” (ซาดุลมะอาด 1/311) และด้วยหลักฐานข้างต้นนี้เองที่เป็นคำอธิบายได้ว่า ถ้าพวกเขาได้ละหมาดตะรอวีหฺในขณะเดินทาง ก็ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามแบบฉบับสุนนะฮฺของท่านนบี” จบการอ้างจากฟะตาวาโดยคณะกรรมการถาวร ฯ (7/206)
ข้อสรุปคือ การละหมาดตะรอวีหฺ เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ สำหรับผู้เดินทาง เช่นเดียวกับที่ได้ส่งเสริมให้ทำสำหรับผู้พำนักอยู่ที่บ้าน เนื่องด้วยมีแบบฉบับจากการปฏิบัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งท่านมีความขะมักเขม้นในการละหมาดกิยามุลลัยลฺ ทั้งในขณะเดินทางและพำนักอยู่ที่บ้าน
เราขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺ ให้ทรงประทานเตาฟีกแก่เราและแก่ท่านในการเชื่อฟังพระองค์และได้รับความพึงพอพระทัยจากพระองค์
อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่ง
................................
มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด
محمد صالح المنجد
ผู้แปล: แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ
ผู้ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน
Ref :: http://www.islamqa.com/ar
คำถามหมายเลข 79593
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น