นิอฺมัตความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มีต่อปวงบ่าวของพระองค์นั้นมีมากมายและเกินที่จะพรรณนาได้ หนึ่งในนิอฺมัติอันยิ่งใหญ่ ก็คือ "นิอฺมัติของการพูด" ที่ทำให้มนุษย์สามารถบอกถึงความต้องการของตนเองได้ สามารถกล่าวคำพูดที่ดี สั่งใช้ให้ทำความดี และห้ามปรามความชั่ว ผู้ใดที่ขาดนิอฺมัติส่วนนี้ก็จะไม่สามารถกระทำสิ่งดังกล่าวได้ และไม่อาจสื่อสารกับผู้อื่นได้ นอกจากด้วยภาษามือ หรือการเขียน หากเาสามารถเขียนได้
อัลลออฺ อัซซะวะญัลลา ได้ดำรัสว่า :
"และอัลลอฮฺทรงยกอุทาหรณ์ชายสองคน หนึ่งในสองคนเป็นใบ้ เขาไม่สามารถในสิ่งใด และเขาเป็นภาระแก่นายของเาอีกด้วยไม่ว่าแห่งใดที่นายจะส่งเขาไป เขาจะไม่นำความดีใด ๆ มาเลย เขาจะเท่าเทียมกับผู้กำชับในทางที่เที่ยงธรรม และเขาอยู่ในทางที่เที่ยงตรงกระนั้นหรือ?" (ซูเราะฮฺ อัน-นะหลุ 16 : 76)
นักวิชาการบางท่านได้อรรถาธิบายอายะฮฺดังกล่าวนี้ว่า คือการยกตัวอย่างเปรียบเทียบของอัลลอฮฺระหว่างพระองค์เองกับบรรดารูปเจว็ด แต่นักอรรถาธิบายบางท่านมีทัศนะว่าเป็นการยกตัวอย่างเปรีัยบเทียบระหว่างผู้ปฏิเสธศรัทธากับผู้ศรัทธา
อิมามอัล-กุรฏุบีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือตัฟสีรของท่าน (ตัฟสีรอัล-กุรฏูบีย์ 9/149) ว่า "(การอรรถาธิบายนี้) เป็นรายงานจากท่านอิบนุอับบาส ซึ่งเป็นการอธิบายที่ดี เพราะมันมีความหมายครอบคลุมการยกตัวอย่างเปรียบเทียบดังกล่าวนั้น ได้อธิบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับ ทาสที่เป็นใบ้ซึ่งมิอาจให้ประโยชน์แก่ผู้อื่นใดและนายของเขาก็มิือาจใช้ประโยชน์จากเขาได้เต็มที่"
และพระองค์ได้ดำรัสว่า
"ดังนั้น จึงขอสาบานต่อพระเจ้าแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดินว่า แท้จริง (สิ่งที่ถูกสัญญาไว้นั้น) เป็นความจริงอย่างแน่นอน เสมือนกับที่พวกเจ้ากล่าวคำพูดออกมา" (ซูเราะฮฺอัช-ซาริยาต 51 : 23)
ดังนั้น แท้จริงแล้ว อัลลอฮฺทรงกล่าวสาบานด้วยพระองค์เองว่าการฟื้นคืนชีพ และวันแห่งการตอบแทนที่ถูกสัญญาไว้นั้น จะเกิดขึ้นจริงแน่นอน เช่นเดียวกับที่กา่รกล่าวคำพูดออกมานั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้สนทนาทั้งหลายและ ณ จุดนี้ เป็นการกล่าวถึงนิอฺมัตการพูดเช่นกัน
และพระองค์ ได้ดำรัสอีกว่า :
"ทรงสร้างมนุษย์ และทรงสอนการเปล่งเสียงพูด" (ซูเราะฮฺ อัร-เราะหฺมาน 55 : 3-4)
และพระองค์ทรงตรัสอีกว่า
"เรามิได้ให้เขามีดวงตาสองดวงดอกหรือ และ (เรามิได้ให้เขามี) ลิ้น และริมฝีปากทั้งสองดอกหรือ" (ซูเราะฮฺอัล-บะลัต 90 : 8-9)
ท่านอิบนุกะษีร กล่าวอธิบายว่า : ดำรัสของอัลลอฮฺว่า "เรามิได้ให้เขามีดวงตาสองดวงดอกหรือ?" หมายถึง : เพื่อให้เขาใช้มันมอง ส่วน "ลิ้น" หมายถึง : เพื่อให้เขาได้พูด บอกกล่าวถึงสิ่งที่อยู่ในใจ ส่วน "ริมฝีปากทั้งสอง" หมายถึง : เพื่อช่วยให้เขาพูดออกมาได้ ทานอาหารได้ และเพื่อสร้างงดงามแก่ใบหน้าและริมฝีปากของเขา
และเป็นที่ทราบกันดีว่า นิอฺมัตนี้จะเป็นความโปรดปรานที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อเราใช้มันไปในทางที่ถูกต้อง แต่เมื่อใดที่เราใช้มันในทางที่ไม่ดี มันก็จะเป็นภัยต่อตัวเราเอง และบางทีผู้ที่ปราศจากนิอฺมัตนี้ก็อาจจะมี่สภาพที่ดีกว่าผู้ที่มีมัน (แต่ใช้มันในทางที่ไม่ดี ) ก็เป็นไปได้
.............................................................................
(จากหนังสืิอ : นุ่มนวลเถิด โอ้พี่น้องอะฮฺลุสสุนนะฮฺ)
โดย : ชัยคฺอับดุลมุหฺสิน บินหะมัด อัล-อับบาด
แปลและเรียบเรียงโดย : ZUNNUR
อดทน เพื่อชัยชนะ โพส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น