ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ถาม
อยากถามว่ากรณีที่ทั้งคู่เป็นแม่ม่ายแล้วจะนิกะใหม่แต่ที่บ้านไม่รู้ไปนิกะกันต่างจังหวัดอยู่สงขลาแต่ไปนิกะที่สตูล การนิกะจะสมบูรณ์มั้ยอาจารย์
ตอบ
วิธีการแอบไปนิกาห์กันต่างจังหวัด ผมไม่สนับสนุนและไม่เห็นด้วย กลัวเผลอๆจะได้เสียกันก่อนที่จะทันนิกาห์ การนิกาห์ก็จะใช้ไม่ได้เว้นแต่ทั้งคู่ต้องเตาบะฮ์ให้ถูกต้องก่อนเท่านั้น
และยังเป็นการไม่ให้เกียรติพ่อแม่ฝ่ายหญิงอีกด้วย
แต่ถ้าถามว่า การนิกาห์ในลักษณะนี้จะใช้ได้หรือไม่ ?
ผมขอตอบว่า นักวิชาการมีทัศนะว่า กรณีฝ่ายหญิงอยู่ห่างไกลจากบ้านหรือบิดา (วะลีย์) มาเป็นระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ก็สามารถให้ผู้นำในท้องที่นั้นๆ อาทิเช่น ประธานกรรมการจังหวัดทำการนิกาห์ให้ได้ แต่ถ้าท่านประธานฯ เรียกร้องเงินทองในการนิกาห์ให้ ก็อนุโลมให้ชายหญิงคู่นั้น แต่งตั้งผู้ชายที่มีคุณธรรมสักคนในท้องที่นั้นเป็นวะลีย์เฉพาะกิจ เพื่อทำการนิกาห์ให้กับเขาทั้งสอง (เรียกว่า นิกาห์แบบตะห์กีม)ก็ใช้ได้เช่นเดียวกันครับ
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
ขออธิบายเพิ่มเติมอีกนิดว่า กรณีหญิงชายที่แอบได้เสียกัน (ซินา) แล้วพากันไปนิกาห์ต่างจังหวัดนั้น
การนิกาห์จะใช้ไม่ได้เลยถ้าทั้งคู่ไม่เตาบะฮ์ให้ถูกต้องเสียก่อน
แล้วการเตาบะฮ์น่ีอย่านึกว่าเป็นของง่าย คือแค่กล่าวว่า อัสตัฆฟิรุ้ลลอฮัลอะซีม ก็ใช้ได้แล้ว อย่างนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะถ้อยคำดังกล่าวไม่ใช่การเตาบะฮ์ แต่เป็นดุอาชนิดหนึ่งเรียกว่า ดุอาอิสติฆฟารฺ ซึ่งเมืื่อเป็นดุอา พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.จะทรงตอบรับหรือไม่ตอบรับก็ได้
แต่การเตาบะฮ์ถ้าปฏิบัติถูกต้องจริงๆพระองค์ก็จะทรงตอบรับอย่างแน่นอน
ซึ่งการเตาบะฮ์นั้นจะมีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ประการคือ
1. ต้องยุติความชั่วดังกล่าวโดยเด็ดขาด
2. ต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่หวนกลับไปทำความชั่วนั้นซ้ำอีก และ
3 (ข้อนี้สำคัญที่สุดเพราะปฏิบัติยาก) คือ จะต้องเสียใจ, เศร้าใจอย่างแท้จริงในความชั่ว (ซินา) ที่เรากระทำลงไป
เพราะมันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อห้ามของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.อย่างร้ายแรงที่สุด ..
ขอเรียนว่า มีหลายคู่แล้วที่พากันมาหาผมเพื่อให้ช่วยนิกาห์ให้ ซึ่งผมก็ไม่เคยนิกาห์ให้คู่ใดเลย เพราะแต่ละคู่ที่พากันมา ต่างหัวเราะกระซิกกระซี้ต่อกันอย่างสบายใจ
พอผมอธิบายหลักการนิกาห์คนซินาให้ทราบ เขาก็บอกว่า เขาเตาบะฮ์กันมาเรียบร้อยแล้ว แล้วลักษณะหัวเราะต่อกระซิกกันมาอย่างนี้หรือครับการเตาบะฮ์ของพวกเขา ?
อย่าปฏิเสธความจริงที่ว่า การซินาเป็นความสุข, เป็น "บาปหวาน" ..
ดังนั้นผู้กระทำซินาส่วนมากจึงมักจะ "เสียดาย" ความสุขที่เคยได้รับ แทนที่จะสำนึกผิดและรู้สึก "เสียใจ" อันถือเป็นหัวใจของการเตาบะฮ์จริงๆดังกล่าวมาแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น