อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สุญูดซะฮ์วี การให้สล่ามก่อนนมาซครบร็อกอะฮ์ของมัน

สุญูดซะฮ์วี

โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(ตอนที่ 2)

หมายเหตุ เรื่องสุญูดซะฮ์วี เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาด้านวิชาการที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับภาคปฏิบัติสำคัญในการแก้ไขข้อบกพร่องในนมาซ เพราะฉะนั้น ผู้อ่านจึงไม่ต้องรีบร้อนอ่าน แต่ให้อ่านช้าๆ และใคร่ครวญไปด้วยนะครับ ...

กรณีที่ 2 การให้สล่ามก่อนนมาซครบร็อกอะฮ์ของมัน

กรณีนี้ หมายถึงผู้นมาซเกิดหลงลืมขณะนมาซ และได้ให้สล่ามก่อนที่การนมาซจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และครบจำนวนร็อกอะฮ์ที่แท้จริงของมัน ...

ตัวอย่างที่ 1
ชายผู้หนึ่งนมาซซุฮ์รี่ เมื่อนั่งอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกในร็อกอะฮ์ที่สองเสร็จแล้ว ก็ให้สล่ามเลย โดยเข้าใจว่าตนนมาซครบ 4 ร็อกอะฮ์แล้ว ...
ในกรณีนี้ หากเขานึกได้หลังจากเวลาผ่านไปเนิ่นนานแล้ว ก็ให้เขานมาซซุฮ์รี่ใหม่ เพราะถือว่า นมาซที่เขาทำไปก่อนหน้านี้ เป็นโมฆะ ...
แต่ถ้าเขานึกได้ภายในเวลาอันสั้น – เช่นประมาณ 2-3 นาที – ว่า ตนนมาซขาดไป 2 ร็อกอะฮ์ ก็ให้เขารีบทำสองร็อกอะฮ์ที่ขาดไปนั้น .. และเมื่อให้สล่ามแล้ว ก็ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง แล้วจึงให้สล่ามอีกครั้งหนึ่ง ...
หลักฐาน
ท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. ได้รายงานมาว่า ...
صَلَّى لَنَارَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ صَلاَةَ الْعَصْرِ، فَسَلَّمَ فِىْ رَكْعَتَيْنِ، فَقَامَ ذُوالْيَدَيِنِ فَقَالَ : أَقُصِرَتِ الصَّلاَةُ يَارَسُوْلَ اللهِ ! أَمْ نَسِيْتَ ؟ فَقَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : "كُلُّ ذَلِكَ لَمْ يَكُنْ" فَقَالَ : قَدْكَانَ بَعْضُ ذَلِكَ يَارَسُوْلَ اللهِ! فَأَقْبَلَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَلَى النَّاسِ فَقَالَ : أَصَدَقَ ذُوالْيَدَيْنِ ؟ فَقَالُوْا : نَعَمْ ! يَارَسُوْلَ اللهِ ! فَأَتَمَّ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَابَقِىَ مِنَ الصَّلاَة،ِ ثُمَّ سَجَدَ سَجْدَتَيْنِ وَهُوَ جَالِسٌ بَعْدَ التَّسْلِيْمِ (ثُمَّ سَلَّمَ) ...

“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้นำพวกเรานมาซอัศรี่, แล้วท่านก็ให้สล่ามในร็อกอะฮ์ที่สอง ท่านซุลยะดัยน์ (เป็นฉายาของเศาะหาบะฮ์ท่านหนึ่ง) จึงลุกขึ้นยืนถามว่า .. “นมาซถูกย่อหรือ โอ้ ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ! หรือว่าท่านลืม ?” ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จึงตอบว่า .. “ทุกอย่างที่ว่ามาน่ะ ไม่มีเกิดขึ้นสักอย่างเดียวหรอก” ท่านซุลยะดัยน์จึงกล่าวแย้งว่า .. “มีบางอย่างจากที่ว่ามานั้น เกิดขึ้นจริงๆ โอ้ ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ !” ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จึงหันมาถามประชาชนว่า .. “ที่ซุลยะดัยน์ว่ามาเป็นความจริงหรือ ?” พวกเขาจึงตอบว่า .. “เป็นความจริงขอรับ โอ้ ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ !” ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จึงได้ทำนมาซที่ขาดไปนั้นจนเสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้น ท่านจึงสุญูด 2 ครั้งขณะที่ยังนั่งอยู่หลังจากการให้สล่าม .. (แล้วท่านก็ให้สลามอีกครั้ง)”...
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 1228, ท่านมุสลิม หะดีษที่ 99/573 และผู้บันทึกท่านอื่นๆ, สำนวนในที่นี้เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านมุสลิม, และข้อความในวงเล็บตอนท้าย เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านมุสลิม จากการรายงานของท่านอิมรอน บิน อัล-หุศ็อยน์ ร.ฎ.) ...
ตัวอย่างที่ 2
ชายผู้หนึ่งนมาซอัศรี่ เมื่อได้ 3 ร็อกอะฮ์ เขาก็นั่งอ่านตะชะฮ์ฮุดแล้วให้สล่าม เพราะเข้าใจว่าตนนมาซครบ 4 ร็อกอะฮ์แล้ว ในกรณีนี้ หากเขานึกได้หลังจากเวลาล่วงเลยไปเนิ่นนานแล้ว ก็ให้เขานมาซอัศรี่ใหม่ .. ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้วในหน้าที่ 7 ...
แต่ถ้าเขานึกได้ในระยะเวลาอันสั้น ก็ให้เขารีบทำร็อกอะฮ์ที่ขาดไปนั้นให้เสร็จสมบูรณ์, .. และหลังจากให้สล่ามแล้ว ก็ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง แล้วจึงให้สล่ามอีกครั้งหนึ่ง ...

หลักฐาน
ท่านอิมรอน บิน อัล-หุศ็อยน์ ร.ฎ. ได้รายงานมาว่า ...

سَلَّمَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِىْ ثَلاَثِ رَكَعَاتٍ مِنَ الْعَصْرِ، ثُمَّ قَامَ فَدَخَلَ الْحُجْرَةَ، فَقَامَ رَجُلٌ بَسِيْطُ الْيَدَيْنِ، فَقَالَ : أَقُصِرَتِ الصَّلاَةُ ؟ يَا رَسُوْلَ اللهِ ! فَخَرَجَ مُغْضِبًا، فَصَلَّى الرَّكْعَةَ الَّتِىْ كَانَ تَرَكَ، ثُمَّ سَلَّمَ، ثُمَّ سَجَدَ سَجْدَتَىِ السَّهْوِ، ثُمَّ سَلَّمَ
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ให้สล่ามในร็อกอะฮ์ที่ 3 ของนมาซอัศรี่ แล้วท่านก็ลุกขึ้นเดินเข้าห้อง, ชายผู้หนึ่งซึ่งมีมือทั้งสองข้างยาวจึงลุกขึ้นถามว่า .. “การนมาซถูกย่อหรือ โอ้ ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ?” .. ท่านจึงเดินกลับออกมาในลักษณะมีอารมณ์หงุดหงิด, แล้วท่านก็ทำนมาซในร็อกอะฮ์ที่ได้ละทิ้งไปนั้น หลังจาก
นั้นท่านก็ให้สล่าม, แล้วก็สุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง แล้วจึงให้สล่ามอีกครั้ง” ...
(บันทึกโดย ท่านมุสลิม, หะดีษที่ 102/574)
หมายเหตุ (โปรดอ่านช้าๆ)
ในกรณีที่อิหม่ามให้สล่ามก่อนนมาซเสร็จสิ้นสมบูรณ์ (อย่างเช่น ให้สล่ามในร็อกอะฮ์ที่สองของนมาซซุฮ์รี่) ดังตัวอย่างข้างต้นนั้น .. โดยในการนมาซนั้นมีมะอ์มูมมัสบูกอยู่ด้วย .. (มะอ์มูมมัสบูก คือมะอ์มูมซึ่งมานมาซไม่ทันอ่านฟาติหะฮ์ในร็อกอะฮ์แรก) .. ซึ่งหลังจากอิหม่ามให้สล่ามแล้ว ตามปกติเขาก็ต้องลุกขึ้นยืนทำนมาซในร็อกอะฮ์ที่เขามาไม่ทันและขาดไปนั้น ...
แต่สมมุติว่า .. ในขณะที่เขากำลังทำนมาซในร็อกอะฮ์ที่ขาดอยู่นั้น แล้วอิหม่ามเกิดนึกได้ว่า ตนยังนมาซซุฮ์รี่ไม่ครบ 4 ร็อกอะฮ์ จึงรีบลุกขึ้นทำร็อกอะฮ์ที่ได้ขาดไปนั้นต่อ ...
มะอ์มูมมัสบูกผู้นั้นจะต้องทำอย่างไรในกรณีดังกล่าวนี้ ? ...
เรื่องนี้ ท่านเช็คศอและฮ์ บิน อัล-อุษัยมีน ได้ให้ทัศนะว่า มะอ์มูมผุ้นั้นมีทางเลือก 2 ทางด้วยกันคือ ...
1. ให้เขาทำนมาซส่วนตัวต่อไปตามลำพังจนนมาซเสร็จสมบูรณ์ แล้วค่อยสุญูดซะฮ์วีทีหลัง หรือ ...
2. ให้เขากลับมานมาซตามอิหม่ามต่อไปอีกครั้งหนึ่ง เมื่ออิหม่ามให้สล่ามแล้ว ก็ให้เขาลุกขึ้นทำนมาซของเขาต่อไปจนครบ หลังจากนั้น จึงค่อยสุญูดซะฮ์วี หลังจากให้สล่ามแล้ว ...
ข้อหลังนี้ ถือว่า เป็นการกระทำที่ดีที่สุดและรอบคอบที่สุดสำหรับเขาในกรณีนี้ ตามทัศนะของท่านเช็คศอและฮ์ บิน อัล-อุษัยมีน .. วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
กรณีที่ 3. การละทิ้งบางรุก่นของการนมาซ
ผู้นมาซคนใดที่ละทิ้งรุก่นใดรุก่นหนึ่งของการนมาซเพราะลืม แล้วเกิดนึกขึ้นมาได้ในขณะที่กำลังทำรุก่นเดียวกันในร็อกอะฮ์ถัดไป ก็ให้ถือว่าเขากำลังทำรุก่นนั้นที่เขาได้ลืมไปของร็อกอะฮ์ก่อนหน้านี้ และการกระทำอิริยาบถต่างๆของนมาซในช่วงที่ทำไปหลังจากการลืมรุก่น ถือว่าศูนย์เปล่า ...
ตัวอย่าง
ชายผู้หนึ่งลืมสุญูดครั้งที่สองของร็อกอะฮ์แรก แล้วไปนึกได้ตอนกำลังสุญูดครั้งที่สองของร็อกอะฮ์ที่สองหรือร็อกอะฮ์ที่สาม ในกรณีนี้ให้ถือว่า การสุญูดตอนนี้เป็นสุญูดครั้งที่สองของร็อกอะฮ์แรกของเขา และสิ่งใดที่เขาทำไปหลังจากการลืมสุญูดในร็อกอะฮ์แรกจนกว่าจะนึกได้ ถือว่าศูนย์เปล่า ..
.
ในกรณีดังตัวอย่างข้างต้นนี้ ถือว่า เขาทำนมาซได้เป็นร็อกอะฮ์แรก ...
หลังจากนั้น ก็ให้เขาลุกขึ้นทำร็อกอะฮ์ที่สองและร็อกอะฮ์ถัดๆไปจนเสร็จ แล้วจึงให้สล่าม ถัดจากนั้น ก็ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้งแล้วจึงให้สล่ามอีกครั้งหนึ่ง ...
แต่ถ้าเขานึกได้ก่อนถึงรุก่นที่ลืมในร็อกอะฮ์ถัดไป ก็ให้เขารีบกลับไปทำรุก่นที่ลืมนั้นในทันที และให้ถือว่านั่นเป็นการนมาซในร็อกอะฮ์ที่ลืมนั้น หลังจากนั้นก็ให้เขานมาซต่อไปจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และเมื่อให้สล่ามแล้ว ก็ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง แล้วจึงให้สล่ามอีกทีหนึ่ง ...

ตัวอย่าง
ชายผู้หนึ่งลืมการรุกั๊วะในร็อกอะฮ์ที่หนึ่ง แล้วไปนึกได้ขณะกำลังยืนอ่านฟาติหะฮ์ในร็อกอะฮ์ที่สองหรือร็อกอะฮ์ที่สาม ...
ในกรณีนี้ ให้เขารีบก้มลงรุกั๊วะอฺในทันทีที่นึกได้ โดยถือว่าการรุกั๊วะอฺครั้งนี้ คือการรุกั๊วะอฺในร็อกอะฮ์ที่หนึ่งของเขา จากนั้นก็ให้เขาทำนมาซต่อไปตามปกติจนเสร็จจากการให้สล่าม แล้วก็ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง แล้วจึงให้สล่ามอีกครั้งหนึ่ง ...
กรณีที่ 4. การสงสัยจำนวนร็อกอะฮ์, แต่ค่อนข้างมั่นใจในร็อกอะฮ์ใดร็อกอะฮ์หนึ่ง
ประเด็นนี้ หมายถึงผู้นมาซเกิดสงสัยในร็อกอะฮ์ที่กำลังกระทำอยู่ว่า เป็นร็อกอะฮ์ที่เท่าใดกันแน่ ? .. ร็อกอะฮ์ที่สองหรือร็อกอะฮ์ที่สาม เป็นต้น ...
แต่ขณะเดียวกัน ในการสงสัยดังกล่าวนั้น เขาก็ได้ให้น้ำหนักและค่อนข้างมั่นใจว่า น่าจะเป็นร็อกอะฮ์ใดร็อกอะฮ์หนึ่งของสองร็อกอะฮ์ที่สงสัยนั้น เช่นมั่นใจว่าน่าจะเป็นร็อกอะฮ์ที่สอง หรือน่าจะเป็นร็อกอะฮ์ที่สาม .. อย่างใดอย่างหนึ่ง ...
ในกรณีนี้ ก็ให้เขายึดถือเอาร็อกอะฮ์ที่เขาค่อนข้างมั่นใจนั้นเป็นหลัก ต่อจากนั้น ก็ให้เขาทำนมาซต่อไปตามปกติจนเสร็จสิ้นจากการให้สล่าม จึงสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง ...
ตัวอย่าง
ชายผู้หนึ่งนมาซอิชาอ์ แล้วเกิดสงสัยว่าร็อกอะฮ์ที่กำลังกระทำอยู่นี้ ไม่รู้เป็นร็อกอะฮ์ที่สามหรือร็อกอะฮ์ที่สี่ แต่หลังจากลังเลและทบทวนอยู่ชั่วครู่ เขาก็มั่นใจว่าน่าจะเป็นร็อกอะฮ์ที่สี่ ...
ในกรณีอย่างนี้ ก็ให้เขายึดเอาสิ่งที่เขามั่นใจนั้นเป็นหลัก .. นั่นคือให้ถือว่าเขากำลังทำร็อกอะฮ์ที่สี่อยู่ (ตามตัวอย่างข้างต้น) .. ดังนั้น หลังจากที่เขาได้นมาซต่อไปจนให้สล่ามแล้ว ก็ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง ...
หลักฐาน
ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ มัสอูด ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมว่า ...
إِذَا شَكَّ أَحَدُكُمْ فِىْ صَلاَتِهِ فَلْيَتَحَرَّالصَّوَابَ، فَلْيُتِمَّ عَلَيْهِ، ثُمَّ لْيُسَلِّمْ، ثُمَّ لْيَسْجُدْ سَجْدَتَيْنِ

“เมื่อคนใดจากพวกท่านเกิดสงสัยในการนมาซของเขา ก็ให้เขาจงใคร่ครวญค้นหาความถูกต้อง (คือ ที่มั่นใจว่าจะถูกต้อง), แล้วจาก (ร็อกอะฮ์) ที่มั่นใจว่าถูกต้องนั้น ก็ให้เขานมาซต่อไปจนครบแล้วจึงให้สล่าม หลังจากนั้นก็ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง” ...
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 401, ท่านมุสลิม หะดีษที่ 89/572 และผู้บันทึกท่านอื่นๆ) ...
สรุป
การสุญูดซะฮ์วีเพื่อชดเชยความบกพร่องของการนมาซตามที่มีรายงานมาจากซุนนะฮ์ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม มีทั้งการปฏิบัติก่อนให้สล่าม และการปฏิบัติหลังจากให้สล่ามแล้ว ...
การสุญูดซะฮ์วี ก่อนให้สล่าม จะมีใน 2 กรณีคือ ...

(1). การละทิ้งการอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก
(2). การสงสัยจำนวนร็อกอะฮ์ของการนมาซ โดยไม่มีความมั่นใจในร็อกอะฮ์ใดร็อกอะฮ์หนึ่งจากสองร็อกอะฮ์ที่สงสัยนั้น ...
ส่วนการสุญูดซะฮ์วี หลังการให้สล่าม จะมีใน 4 กรณี คือ ...
(1). การเพิ่มเติมบางรุก่นหรือบางวาญิบของการนมาซ
(2). การให้สล่ามก่อนนมาซครบร็อกอะฮ์ที่แท้จริงของมัน
(3). การละทิ้งบางรุก่นของการนมาซ
(4). การสงสัยจำนวนร็อกอะฮ์ของการนมาซ แต่ค่อนข้างมั่นใจในร็อกอะฮ์ใดร็อกอะฮ์หนึ่งจากสองร็อกอะฮ์ที่สงสัยนั้น ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น