ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ถาม
อาจารย์ครับมัสยิดที่บ้านอยู่ในกุโบร์มี2ชั้นทำการละหมาดชั้น2จะได้ไหมครับ มีคนอ้างทรรศนะของเชคมุฮัมมัดอับดุลสลามว่าทำได้ ช่วยอธิบายหน่อยครับ ละหมาดทื่บ้านแทนจะดีไหมครับ
ตอบ
คำว่า "กุโบรฺ" ของคุณ ผมเข้าใจว่าคงหมายถึง "สุสาน" หรืออาณาบริเวณที่ถูกกำหนดไว้ให้เป็นที่ฝังศพโดยเฉพาะซึ่งภาษาอาหรับจะใช้คำว่า المقبرة
ท่านอบูสอีด อัล-คุดรีย์ ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมว่า
الأرض كلها مسجد إلا المقبرة والحمام
(ผืนดินทั้งหมดเป็นที่สุญูด - คือใช้นมาซได้ - ยกเว้นบริเวณสุสานและห้องน้ำ) บันทึกโดยท่านอบูดาวูด, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์และท่านอิบนุมาญะฮ์ ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น การไปสร้างมัสญิดอันเป็นสถานที่นมาซในบริเวณสุสานจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้นแล้วครับ ..
ท่านอิบนุหัซม์ ได้กล่าวในหนังสือ "อัล-มุหั้ลลา" เล่มที่ 4 หน้า 27-28 โดยอ้างคำพูดของท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัลว่า ...
من صلى فى مقبرة أو إلى قبر أعاد أبدا
คือ ใครที่นมาซในบริเวณสุสาน หรือหันไปหาหลุมศพ เขาจะต้องนมาซใหม่ตลอดไป
ส่วนท่านอิบนุตัยมียะฮ์ได้กล่าวในหนังสือ "อัล-อิคติยารอตฯ" หน้า 25 ว่า
ولا تصح الصلاة فى المقبرة ولا إليها ..
คือ การนมาซในบริเวณสุสานหรือหันไปหาหลุมศพ ถือว่าไม่เศ๊าะฮ์ (ใช้ไม่ได้) ..
ส่วนจากคำถามของคุณอนุชาที่ว่า การนมาซบนชั้นสองของมัสญิดที่สร้างในบริเวณสุสานถือว่าใช้ได้ตามทัศนะของนักวิชาการดังที่อ้างมานั้น
ผมไม่ทราบว่า ท่านเอาอะไรมาจำแนกว่า นมาซชั้นบนใช้ได้ ส่วนนมาซชั้นล่างใช้ไม่ได้ ในเมื่อแต่ละชั้นของมัสญิดนั้น สร้างในสถานที่ต้องห้ามคือสุสาน เหมือนกัน เพราะตามรูปการณ์แล้วถ้าจะไม่ได้ก็คงไม่ได้ทุกชั้นนั่นแหละ
สรุปแล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าวครับ ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดก็ได้ั วัลลอฮุ อะอฺลัมครับ ..
ผมมองว่า การปลีกตัวออกจากมัสญิดลักษณะนี้ไปนมาซที่อื่น ไม่จัดเข้าอยู่ในประเด็น تفريق الكلمة
อันเป็นการแตกแยกที่ต้องห้ามหรอกครับ
เพราะประเด็นหลังเป็นกรณีที่มัสญิดหลังเดิมยังใช้เป็นสถานที่นมาซได้อย่างถูกต้อง
แต่เราแยกออกไปเพราะเกลียดชังอิหม่ามหรือใครเป็นการส่วนตัว จึงถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ในกรณีที่คุณถามมา มันไม่ใช่อย่างนี้มิใช่หรือครับ ?...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น