อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรูฎูหรือนมาซสุนัต.


ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม 
ผมอ่านเจอหนังสือเล่มหนึ่ง บอกว่า มีหลักฐานจากหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ให้ยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัตได้ (ผมได้ถ่ายเอกสารหนังสือเล่มนั้นส่งมาให้อาจารย์แล้วด้วย) ถ้าเช่นนั้น การยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎูก็ไม่น่าจะมีปัญหา หรือน่าจะดีกว่าด้วยซ้ำไปตามความเห็นของผม ...
อาจารย์กรุณาช่วยชี้แจงด้วย .....


ตอบ 
ก่อนที่จะชี้แจงและทำความเข้าใจกับเอกสารที่ส่งมาให้ ผมก็ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้ถามและท่านผู้อ่านในปัญหาเรื่อง “การยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู” กันเสียก่อน .....
นักวิชาการ ต่างมีทัศนะที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการยกมือขอดุอาหลังจากนมาซฟัรฺฎูว่า จะเป็นที่อนุญาตให้ปฏิบัติได้หรือไม่ ? ซึ่งเราสามารถจะหาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ “ฟัตหุ้ล บารีย์” เล่มที่ 11 หน้า 141-143, หนังสือ “นัยลุ้ล เอาฏอรฺ” เล่มที่ 4 หน้า 34, และหนังสือ “ตั๊วะห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 2 หน้า 198-202 เป็นต้น ..
ท่านมุบาร็อกปูรีย์ ได้ตีแผ่หลักฐานของผู้ที่มีทัศนะว่า อนุญาตให้ยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎูได้, ในหนังสือ “ตั๊วะห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 2 หน้า 198-202, โดยได้อ้างอิงหะดีษจากคำพูดและการกระทำของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ที่ถูกบันทึกในตำราบางเล่มเอาไว้ว่า ท่านเคยใช้และเคยยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู มาประกอบ 5 บท, ซึ่งแต่ละบท ล้วนเป็นหะดีษเฎาะอีฟทั้งสิ้น ....
นอกจากนี้ ท่านมุบาร็อก ปูรีย์ยังได้อ้างหลักฐานจาก หะดีษที่ถูกต้อง (เศาะเหี๊ยะฮ์) หลายบท ที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เคยกล่าวถึงเรื่องการยกมือขอดุอาเอาไว้ (โดยมิได้กำหนดหรือจำกัดว่า เป็นดุอาชนิดใด และในกาลเทศะใด) มาสนับสนุนทัศนะนี้ ซึ่งท่านมุบาร็อก ปูรีย์ก็อนุโลมว่า การขอดุอา, ไม่ว่าจะหลังนมาซฟัรฺฎู หรือในกาลเทศะใด ก็ถือว่า เป็นดุอาเหมือนกัน จึงย่อมมีสิทธิ์ที่จะยกมือในการขอได้ ตามนัยกว้างๆของหะดีษที่ถูกต้องเรื่องการยกมือขอดุอาเหล่านั้น ...
แล้วท่านก็ได้กล่าวสรุปเอาไว้ในหนังสือดังกล่าว หน้า 202 ว่า ....
اَلْقَوْلُ الرَّاجِحُ عِنْدِيْ أَنَّ رَفْعَ اْليَدَيْنِ فِى الدُّعَاءِ بَعْدَالصَّلاَةِ جَائِزٌ لَوْفَعَلَهُ أَحَدٌ لاَ بَأْسَ عَلَيْهِ إنْ شَآءَ اللَّـهُ تَعَالَى .....
“ทัศนะที่มีน้ำหนักสำหรับฉันก็คือ การยกมือทั้งสองเพื่อขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู เป็นที่อนุมัติ, สมมุติถ้ามีผู้ใดปฏิบัติมัน ก็ไม่มีบาปอันใดสำหรับเขา อินชาอัลลอฮ์” ...
นี่คือ ทัศนะของนักวิชาการหะดีษมีระดับท่านหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู ที่เราสมควรจะต้องรับฟังเอาไว้ ....
ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ...
ขณะเดียวกัน นักวิชาการอีกหลายท่าน ก็ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่า มีหะดีษที่ถูกต้องบางบทรายงานมาว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคย “ขอดุอา” หลังนมาซฟัรฺฎูและเคยกล่าวถึงเรื่องการขอดุอาหลังนมาซฟัรูฎู ซึ่งท่านมูบาร็อก ปูรีย์เอง ก็ได้ยืนยันและยอมรับความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “ตั๊วะห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 2 หน้า 197 ด้วยเช่นเดียวกัน ...
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ทั้งๆที่ท่านนบีย์ส่งเสริมให้มีการยกมือขอดุอา แต่ไม่เคยปรากฏว่า จะมีหะดีษที่ถูกต้องบทใดรายงานมาว่า -- ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เคยยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู -- แม้แต่บทเดียว ....
สิ่งนี้ แสดงว่า การยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู ย่อมมิใช่เป็นบทบัญญัติ...
ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการบางท่านจึง ตัดสินว่า การยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู เป็นบิดอะฮ์ ! ......
ท่านเช็คอับดุลอะซีซ บิน บาซ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-ฟะตาวีย์” ของท่าน เล่มที่ 1 หน้า 74 ว่า ....
لمَ ْيَصِحَّ عَنِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَنَّهُ كَانَ يَرْفَعُ يَدَيْهِ بَعْدَصَلاَةِ الْفَرِيْضَةِ، وَلَمْ يَصِحَّ ذَلِكَ أَيْضًاعَنْ أَصْحَابِهِ- رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمْ – فِيْمَانَعْلَمُ، وَمَايَفْعَلُهُ بَعْضُ النَّاسِ مِنْ رَفْعِ أَيْدِيْهِمْ بَعْدَصَلاَةِ الْفَرِيْضَةِ بِدْعَةٌ لاَ أَصْلَ لَهَا .....
“ไม่เคยปรากฏหลักฐานที่ถูกต้องใดๆจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมว่า ท่านจะเคยยกมือทั้งสอง (เพื่อขอดุอา) หลังจากการนมาซฟัรฺฎู, และก็ไม่เคยปรากฏหลักฐานที่ถูกต้องใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกันจากบรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่าน (ขออัลลอฮ์ จงทรงโปรดปรานต่อพวกท่านด้วย) – เท่าที่เรารู้ - และการที่ประชาชนบางคนได้ยกมือทั้งสองของเขาขึ้นขอดุอา หลังจากนมาซฟัรฺฎูแล้ว ถือว่า เป็นบิดอะฮ์ที่ไม่มีหลักฐานใดๆทั้งสิ้น” .....
สรุปแล้ว เรื่องที่ว่า จะอนุญาตให้มีการยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎูได้หรือไม่ ? จึงเป็นเรื่องการ “มองต่างมุม” ของนักวิชาการ, ก็ขอให้ท่านผู้อ่านได้ใช้ดุลยพินิจของท่านเองในการปฏิบัติสิ่งนี้ ซึ่งผมของดเว้นที่จะแสดงความเห็นในลักษณะชี้นำใดๆทั้งสิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ...
ท่านเช็ค อัช-เชากานีย์ ได้เสนอ “ทางออก” ไว้ในหนังสือ “นัยลุ้ล เอาฎอรฺ” เล่มที่ 4 หน้า 34 อย่างเป็นกลางๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ -- ในตอนอธิบายหะดีษของท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ. ที่ว่า “ไม่เคยปรากฏว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะเคยยกมือทั้งสองของท่านในดุอาใดๆ นอกจากในการนมาซขอฝน, โดยท่านจะยกมือทั้งสองจนกระทั่งสามารถมองเห็นความขาวของรักแร้ทั้งสองของท่าน” --ว่า .....
وَالظَّاهِرُ اَنَّهُ يَنْبَغِى الْبَقَاءُعَلَى النَّفْيِ الْمَذْكُوْرِعَنْ أَنَسٍ، فَلاَ تُرْفَعُ الْيَدُفِىْ شَئْ ٍمِنَ اْلأدْعِيَِة إلاَّ فِى الْمَوَاضِعِ الَّتِىْ وَرَدَفِيْهَاالرَّفْعُ، وَيُعْمَلُ فِيْمَاسِوَاهَابِمُقْتَضَى النَّفْىِ...
“และตามรูปการณ์แล้วก็คือ ให้คงไว้ซึ่งการปฏิเสธ(การยกมือในการขอดุอาใดๆนอกจากดุอาขอฝน) ดังที่มีกล่าวไว้ในหะดีษของท่านอนัส, ดังนั้น จึงไม่ต้องยกมือในดุอาชนิดใดทั้งสิ้น เว้นแต่ในหลายๆกรณีที่มีรายงานมาว่า( ท่านนบีย์) เคยยกมือในดุอาเหล่านั้น, และให้ปฏิบัติในกรณีที่อื่นจากนี้ (คือ อื่นจากดุอาที่มีหลักฐานชัดเจนว่าท่านนบีย์ยกมือด้วย) ให้เป็นไปตามเป้าหมายแห่งการปฏิเสธนั้น (นั่นคือ ไม่ต้องยกมือในดุอาอื่นใดทั้งสิ้นนอกจากดุอาขอฝน และดุอาอื่นๆที่มีหลักฐานชัดเจนว่าท่านนบีย์เคยยกมือเท่านั้น) ....
วัลลอฮุ อะอฺลัม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น