โดย ชะรีฟ วงศ์เสงี่ยม
==============
ข้อที่ 1
ชีอะฮฺอ้างหลักฐานจากอัล-กุรอานมากมายเพื่อสนับสนุนว่าท่านอาลีได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮฺให้เป็นผู้ปกครอง
ข้อที่ 2
เราต้องถามชีอะฮฺกลับไปว่าแล้วรู้ได้อย่างไรว่าสาเหตุของการประทานอัล-กุรอานโองการต่างๆที่อ้างมานั้นกำลังพูดถึงท่านอาลีอยู่เป็นการเฉพาะหรือถูกประทานมาให้ท่านอาลีเป็นการเฉพาะ
ข้อที่ 3
เมื่อถูกถามเช่นนี้ สุดท้ายชีอะฮฺก็ต้องกลับไปหาฮะดีษ ทั้งนี้ก็เพราะโองการของอัล-กุรอานที่ยกมานั้นไม่มีความชัดเจนและตรงประเด็นในตัวเอง โดยชีอะฮฺจะหยิบยกฮะดีษบทต่างๆมาขยายความว่าโองการเหล่านั้นกล่าวถึงท่านอาลี
ข้อที่ 4
เราต้องการชีอะฮฺกลับต่อไปว่า ฮะดีษบทต่างๆที่ยกมานั้นเป็นฮะดีษที่เชื่อถือได้หรือไม่ตามหลักวิชาการตรวจสอบฮะดีษ เพราะฮะดีษเกือบจะทั้งหมดเลยก็ว่าได้ที่ผู้รู้ชีอะฮฺยกมาอ้างเพื่อขยายอัล-กุรอานอีกทีนั้นเชื่อถือไม่ได้
ข้อที่ 5
เมื่อฮะดีษที่ถูกยกมาเพื่อขยายความโองการจากอัล-กุรอานเหล่าเป็นฮะดีษที่เชื่อถือไม่ได้แล้ว ข้อกล่าวอ้างของชีอะฮฺที่ว่าโองการต่างๆเหล่านั้นพูดถึงท่านอาลีก็ตกไปโดยปริยาย คือไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้
ข้อที่ 6
และตามหลักความเชื่อของชีอะฮฺแล้วตำแหน่งอิหม่ามถือว่าเป็นรากฐานหรือเสาหลักเสาหนึ่งของศาสนา และตำแหน่งอิหม่ามมีความสำคัญมากกว่าตำแหน่งนบีและตำแหน่งรซูลเสียอีก (ยกเว้นท่านนบีมุฮัมมัด ) เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาดที่การแต่งตั้งท่านอาลีให้เป็นอิหม่ามจะไม่ถูกกล่าวเอาไว้ในอัล-กุรอานอย่างชัดเจน ทั้งนี้ก็เพราะตำแหน่งนบีและตำแหน่งรซูลที่มีความสำคัญน้อยกว่าตำแหน่งความเป็นอิหม่ามก็ยังถูกกล่าวเอาไว้ในอัล-กุรอานอย่างชัดเจนเลย
ข้อที่ 7
แต่เมื่อความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น คือไม่มีอัล-กุรอานสักอายะฮฺเดียวที่กล่าวถึงการเป็นอิหม่ามของท่านอาลีอย่างชัดเจนในตัวของมันเอง (โดยไม่ต้องใช้ฮะดีษขยาย) การที่จะนำฮะดีษบทต่างๆมาอ้างเพื่อสนับสนุนการถูกแต่งตั้งเป็นอิหม่ามของท่านอาลี จึงไร้ความหมายไปโดยปริยาย เพราะเรื่องที่เป็นรากฐานหรือเสาหลักของศาสนานั้น ฮะดีษเพียงเข้ามาทำหน้าที่ในการให้รายละเอียดที่อัล-กุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนั้นเอาไว้แล้วเท่านั้น
ข้อที่ 8
และถ้าสมมุติว่าผู้รู้ชีอะฮฺยังจะคงดื้อดึง โดยนำฮะดีษมาเป็นตัวเริ่มต้นในการสนับสนุนความเชื่อของตนเอง (การแต่งตั้งท่านอาลีให้เป็นอิหม่ามผู้ปกครอง) เช่นนั้นเราต้องถามผู้รู้ชีอะฮฺต่อไปว่า ฮะดีษบทต่างๆที่ถูกนำมาอ้างนั้น มีความชัดเจนในตัวของมันเองหรือไม่? และมีฮะดีษบทอื่นๆในเรื่องเดียวกันที่มีความชัดเจนมากกว่าตรงประเด็นมากกว่าฮะดีษที่ถูกชีอะฮฺยกมาหรือไม่? ถ้ามี ถามต่อไปว่า ฮะดีษบทอื่นๆในเรื่องเดียวกันที่มีความชัดเจนมากกว่าตรงประเด็นมากกว่า ไปสนับสนุนความเชื่อของชีอะฮฺหรือไปแย้งและคัดค้านความเชื่อของชีอะฮฺ
ข้อที่ 9
กฎสากลข้อหนึ่งในการวิเคราะห์ก็คือ หลักฐานที่ไม่มีความชัดเจนในตัวของมันเองจะต้องถูกขยายความด้วยหลักฐานบทอื่นในเรื่องเดียวกันที่มีความชัดเจนและตรงประเด็นมากกว่าเพื่อให้ได้ความเข้าใจที่ถูกต้องจากหลักฐานที่ยังไม่ชัดเจนนั้น
ข้อที่ 10
และเมื่อวิเคราะห์ดูแล้วฮะดีษบทต่างๆที่ผู้รู้ชีอะฮฺอ้างมา ถึงแม้ว่าจะเป็นฮะดีษที่เชื่อได้ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนในตัวของมันเองเลย แต่จะต้องได้รับการขยายความด้วยกับฮะดีษอีกบทหนึ่งในเรื่องเดียวกัน ซึ่งผลปรากฎออกมาว่า เมื่อนำเอาฮะดีษที่มีเนื้อหาชัดเจนและตรงประเด็นมากกว่ามาขยายแล้ว กลับไปคัดค้านและแย้งกับความเชื่อของชีอะฮฺอย่างชัดเจน
ข้อที่ 11
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงสรุปได้ว่า ไม่มีอัล-กุรอานแม้แต่โองการเดียวและไม่มีฮะดีษแม้แต่บทเดียวจากฝ่ายของอะฮฺลิซซุนนะฮฺที่ไปสนับสนุนความเชื่อของชีอะฮฺ แต่กลับคัดค้านเสียด้วยซ้ำไป
ข้อที่ 12
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้รู้ชีอะฮฺก็จะหันกลับไปพึ่งฮะดีษของฝ่ายตนเอง ซึ่งเป็นฮะดีษที่ไม่ผ่านมาตรฐานในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺอยู่ดี เพราะกระบวนการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของฮะดีษของฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺนั้นละเอียด รอบคอบ รัดกุม ระมัดระวังเป็นอย่างที่สุด ไม่หละหลวมเหมือนฝ่ายชีอะฮฺทั้งนี้ก็เพื่อที่ให้ได้ฮะดีษของแท้มาอย่างมั่นใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น