โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
คำว่า ฮายัต (حَاجَةٌ) มีความหมายภาษาไทยว่า ความจำเป็นหรือความต้องการอย่างแท้จริง, ความต้องการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ .. ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Need ...
การนมาซฮายัต จึงเป็นการนมาซเพื่อแสดงออกถึงความต้องการอย่างแท้จริงของผู้นมาซ ในการขอความช่วยเหลือจากพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ให้ทรงประทานให้ในสิ่งที่ตนต้องการนั้น ...
เป็นที่น่าสังเกตว่า การนมาซฮายัตนี้ ไม่เคยปรากฏข่าวว่าจะมีการปฏิบัติกันอย่างเอิกเกริกในประเทศมุสลิมอื่นๆ นอกจากในประเทศไทยเราเท่านั้น ...
หรือพวกเขาจะมีการปฏิบัติกันเป็นการส่วนตัว ผมก็ไม่ทราบ ...
แต่สำหรับในประเทศไทยแล้ว การนมาซฮายัตเป็นที่นิยมปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายและอย่างเปิดเผยโดยพี่น้องมุสลิมกลุ่มหนึ่ง ...
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน 4 จังหวัดภาคใต้ และในภาคกลางบางส่วน ...
เวลามีข่าวการลอบวางระเบิด, การก่อความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ก็จะมีมุสลิมกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันนมาซฮายัต เพื่อวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ช่วยปัดเป่าภัยพิบัติเหล่านี้ให้หายไปจากสังคม เพื่อประชาชนจะได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบสุข .. ดังมีปรากฏให้เห็นกันบ่อยทางทีวี ...
แม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นเจตนาดี .. แต่, อันเนื่องมาจากการนมาซ --ไม่ว่าจะเป็นนมาซฟัรฺฎูหรือนมาซสุนัต -- เป็นอิบาดะฮ์ที่มีรูปแบบชัดเจน และจะต้องปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เท่านั้น ...
การปฏิบัตินมาซ -- ทุกประเภท -- จึงไม่ได้มีความหมายเพียงว่า “เจอหลักฐาน” จากตำราเล่มใดแล้ว เราก็สามารถนำมาปฏิบัติได้เลย ...
ทว่า, .. ตามหลักการแล้ว “หลักฐาน” ดังกล่าว จะต้องเป็น “หลักฐานที่ถูกต้อง” มาจากท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมอีกด้วย ...
และการนมาซก็ไม่ใช่เป็น “فَضَائِلُ اْلأَعْمَالِ” หรืออิบาดะฮ์ประเภท “อาหารเสริม” ที่สามารถนำเอาหะดีษเฎาะอีฟมาอ้างเพื่อปฏิบัติได้ .. อย่างที่บางคนเข้าใจ ...
แต่การนมาซคืออิบาดะฮ์หลัก .. ไม่ว่าจะเป็นนมาซฟัรฺฎูหรือนมาซสุนัตก็ตาม ดังนั้น การปฏิบัตินมาซใดๆ โดยไม่มีหลักฐานจากหะดีษที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องเสี่ยง ต่อคำว่า “บิดอะฮ์” เป็นอย่างมากสำหรับมุสลิมที่มีอีหม่าน และเข้าใจในหลักการศาสนาอย่างแท้จริง ...
ผมเขียนเรื่องนมาซฮายัตนี้ มิใช่เพื่อเป็นการหักล้างความเข้าใจ, หรือเพื่อสกัดกั้นการกระทำของผู้ใด ...
แต่เป็นการเขียนเพื่อวิเคราะห์หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามหลักวิชาการ และเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้พี่น้องมุสลิมได้รับทราบว่า การนมาซฮายัตดังที่มีการปฏิบัติกันนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาหรือไม่อย่างไร ? .. เท่านั้น ...
หลักฐานเรื่องการนมาซฮายัตเท่าที่ตรวจสอบดูแล้ว ปรากฏว่า หลักฐานอ้างอิงสำคัญ มาจากหะดีษบางบท ดังต่อไปนี้ ...
หะดีษที่ 1. มีการอ้างรายงานว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ...
((مَنْ كَانَتْ لَهُ إِلَى اللهِ حَاجَةٌ أَوْ إِلَى أَحَدٍ مِنْ خَلْقِهِ فَلْيَتَوَضَّأْ وَلْيُحْسِنِ الْوُضُوْءَ ثُمَّ لِيُصَلِّ رَكْعَتَيْنِ ثُمَّ لِيُثْنِ عَلَى اللهِ وَلْيُصَلِّ عَلَى النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ثُمَّ لْيَقُلْ : لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ الْحَلِيْمُ الْكَرِيْمُ سُبْحَانَ اللهِ رَبِّ الْعَرْشِ الْعَظِيْمِ، اَلْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ، أَسْأَلُكَ مُوْجِبَاتِ رَحْمَتِكَ وَعَزَائِمَ مَغْفِرَتِكَ، وَالْغَنِيْمَةَ مِنْ كُلِّ بِرٍّ، وَالسَّلاَمَةَ مِنْ كُلِّ إِثْمٍ، أَسْأَلُكَ أَلاَّ تَدَعَ لِىْ ذَنْبًا إِلاَّ غَفَرْتَهُ، وَلاَ هَمًّا إِلاَّ فَرَّجْتَهُ، وَلاَ حَاجَةً هِىَ لَكَ رِضًا إِلاَّ قَضَيْتَهَالِىْ، ثُمَّ يَسْأَلُ اللهَ مِنْ أَمْرِ الدُّنْيَا وَاْلآخَرِةِ مَا شَآءَ، فَإِنَّهُ يُقَدَّرُ))
“ผู้ใดต้องการ (ความช่วยเหลืออย่างแท้จริง) ต่อพระองค์อัลลอฮ์หรือต่อมนุษย์คนใด ก็ให้เขาทำวุฎูอ์ให้ดีที่สุด แล้วให้เขานมาซ 2 ร็อกอะฮ์, หลังจากนั้น ให้เขาสรรเสริญต่ออัลลอฮ์และเศาะละวาตให้แก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ต่อจากนั้นให้เขากล่าวว่า ...
((لاَ إِلَه َإِلاَّ اللهُ الْحَلِيْمُ الْكَرِيْمُ، سُبْحَانَ اللهِ رَبِّ الْعَرْشِ الْعَظِيْمِ، اَلْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ، أَسْأَلُكَ مُوْجِبَاتِ رَحْمَتِكَ، وَعَزَائِمَ مَغْفِرَتِكَ، وَالْغَنِيْمَةَ مِنْ كُلِّ بِرٍّ، وَالسَّلاَمَةَ مِنْ كُلِّ إِثْمٍ، أَسْأَلُكَ أَلاَّ تَدَعَ لِىْ ذَنْبًا إِلاَّ غَفَرْتَهُ، وَلاَ هَمًّا إِلاَّ فَرَّجْتَهُ، وَلاَحَاجَةً هِىَ لَكَ رِضًا إِلاَّ قَضَيْتَهَالِىْ))
“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ผู้ทรงขันติ ทรงเมตตา, มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮ์ผู้ทรงเป็นจ้าวแห่งบัลลังก์อันยิ่งใหญ่, บรรดาการสรรเสริญทั้งมวลเป็นของอัลลอฮ์ ผู้ทรงอภิบาลจักรวาลทั้งหลาย, ข้าฯ วิงวอนขอต่อพระองค์ซึ่งสิ่งที่ทำให้ได้รับความเมตตาจากพระองค์อย่างแน่นอน, และสิ่งที่ทำให้ได้รับการอภัยโทษจากพระองค์อย่างแท้จริง, และสิ่งซึ่งเป็นผลประโยชน์พลอยได้จากความดีทุกอย่าง, และการรอดพ้นจากความชั่วทุกอย่าง, ข้าฯ วิงวอนขอต่อพระองค์โปรดอย่าละทิ้งบาปใดแก่ข้าฯ เว้นแต่พระองค์ได้อภัยโทษมัน, และอย่าละทิ้งความระทมทุกข์ใดแก่ข้าฯ เว้นแต่พระองค์ได้ปลดเปลื้องมัน, และอย่าละทิ้งความต้องการใด (ของข้าฯ) ที่พระองค์ทรงพอพระทัย เว้นแต่พระองค์ได้โปรดสนองมันแก่ข้าด้วยเถิด” ...
หลังจากนั้น ก็ให้เขาขอต่อพระองค์อัลลอฮ์ในสิ่งที่เขาประสงค์จากกิจการของโลกนี้และโลกหน้า เพราะมันจะถูกกำหนดให้ (ตามที่ขอนั้น) ...
(บันทึกโดย ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 479, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 1384, และท่านอัล-หากิม เล่มที่ 1 หน้า 466, ... สำนวนข้างต้นนี้ เป็นสำนวนของท่านอิบนุมาญะฮ์ โดยรายงานมาจากท่านอับดุลลอฮ์ บิน อบีย์เอาฟา อัล-อัสละมีย์ ร.ฎ.) ...
อธิบาย
สถานภาพของหะดีษบทนี้ เป็นหะดีษ “มุงกัรฺ” ซึ่งถือว่าเป็นหะดีษที่อ่อนมาก (ضَعِيْفٌ جِدًّا) เนื่องจากผู้รายงานของมันคนหนึ่ง คือ فَائِدُ بْنُ عَبْدِ الرَّحْمَنِ الْكُوْفِىُّ เป็นผู้ที่ขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก ...
ท่านบุคอรีย์ได้กล่าววิจารณ์ในหนังสือ “اَلضُّعَفَاءُ الصَّغِيْرُ” ของท่าน หมายเลขบุคคลที่ 299 ว่า ...
((فَائِدُ بْنُ عَبْدِالرَّحْمَنِ الْعَطَّارُ الْكُوْفِىُّ أَرَاهُ أَبَاالْوَرْقَاءِ، عَنِ ابْنِ أَبِىْ أَوْفَى : مُنْكَرُ الْحَدِيْثِ))
“ฟาอิด บินอับดุรฺเราะห์มาน อัล-อัฏฏอรฺ แห่งเมืองกูฟะฮ์, ฉันมองว่า (ฉายาของ) เขาคือ อบู อัล-วัรฺกออ์, รายงาน(หะดีษ)มาจากท่านอบีย์เอาฟา, เป็นผู้รายงานหะดีษที่มุงกัรฺ (คือขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก)” ...
ท่านอัน-นะซาอีย์ได้กล่าววิจารณ์ในหนังสือ “اَلضُّعَفَاءُ وَالْمَتْرُوْكِيْنَ” ของท่าน หมายเลขบุคคลที่ 487 ว่า ...
((فَائِدُ أَبُو الْوَرْقَاءِ : مَتْرُوْكُ الْحَدِيْثِ))
“ฟาอิด (ฉายา) อบูอัล-วัรฺกออ์, เป็นผู้รายงานหะดีษที่ถูกเมิน (คือ อ่อนมาก)...
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้สรุปประวัติของท่านฟาอิดในหนังสือ “تَقْرِيْبُ التَّهْذِيْبِ” เล่มที่ 2 หน้า 107 ว่า ...
((فَائِدُ بْنُ عَبْدِ الرَّحْمَنِ الْكُوْفِىُّ ....... مَتْرُوْكٌ، إِتَّهَمُوْهُ))
“ฟาอิด บินอับดุรฺเราะห์มาน ชาวเมืองกูฟะฮ์, .......... เป็นผุ้รายงานหะดีษที่ถูกเมิน, นักวิชาการหะดีษทั้งหลายไม่ไว้วางใจเขา” ...
ท่านอัล-หากิม อัน-นัยซาบูรีย์ ได้กล่าววิจารณ์ท่านฟาอิดผู้นี้ว่า ...
((رَوَى عَنِ ابْنِ أَبِىْ أَوْفَى أَحَادِيْثَ مَوْضُوْعَةً))
“เขา (ฟาอิด) ได้รายงานมาจากท่านอิบนุ อบีย์เอาฟาอ์ เป็นหะดีษเมาฎั๊วะอฺ (หะดีษเก๊) จำนวนมาก”
(จากตะอฺลีกหนังสือ “اَلْكَاشِفُ” ของท่านอัษ-ษะฮะบีย์เล่มที่ 2 หน้า 325, และหนังสือ “تَحْقِيْقُ الْمِشْكَاةِ” ของท่านอัล-อัลบานีย์ เล่มที่ 1 หน้า 417) ...
และหะดีษเรื่องนมาซฮายัตข้างต้น ก็เป็นหะดีษที่ท่านฟาอิด บินอับดุรฺเราะห์มาน รายงานมาจากท่านอิบนุ อบีย์เอาฟา! ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ซึ่งเป็นทั้งนักวิชาการฟิกฮ์และนักวิชาการหะดีษแห่งมัษฮับชาฟิอีย์ ได้นำเอาหะดีษเรื่องนมาซฮายัตบทนี้จากการบันทึกของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ มาระบุลงไว้ในหนังสือ “اَلْمَجْمُوْعُ” เล่มที่ 4 หน้า 55 .. พร้อมกับเสนอคำวิจารณ์ของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ที่ว่า หะดีษนี้เป็นหะดีษเฎาะอีฟ! .. โดยไม่มีการท้วงติงใดๆทั้งสิ้น ซึ่งความหมายก็คือ ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ยอมรับการวิจารณ์ดังกล่าวนั้น ...
สรุปแล้ว หะดีษเรื่องนมาซฮายัตดังข้างต้น จึงถือว่า เป็นหะดีษที่ مُنْكَرٌ หรือ “เฎาะอีฟมาก” ตามความเห็นสอดคล้องกันของบรรดานักวิชาการหะดีษ ...
เมื่อเป็นหะดีษเฎาะอีฟมาก จึงไม่สามารถนำเอาหะดีษนี้มาอ้างเป็นหลักฐานเพื่อการปฏิบัติได้ .. ไม่ว่าในลักษณะของ فَضَائِلُ اْلأَعْمَالِ (งานประเภทเสริมบุญ) หรือลักษณะใดก็ตาม ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ได้กล่าวในอารัมภบทหนังสือ “اَلْمَجْمًوْعُ” เล่มที่ 1 หน้า 59 ว่า ...
((قَالَ الْعُلَمَاءُ : اَلْحَدِيْثُ ثَلاَثَةُ أَقْسَامٍ، صَحِيْحٌ وَحَسَنٌ وَضَعِيْفٌ، قَالُوْا وَإِنَّمَا يَجُوْزُ اْلإِحْتِجَاجُ مِنَ الْحَدِيْثِ فِى اْلأَحْكَامِ بِالْحَدِيْثِ الصَّحِيْحِ وَالْحَسَنِ، فَأَمَّا الضَّعِيْفُ فَلاَ يَجُوْزُ اْلإِحْتِجَاجُ بِهِ فِى اْلأَحْكَامِ وَالْعَقَائِدِ، وَتَجُوْزُ رِوَايَتُهُ وَالْعَمَلُ بِهِ فِىْ غَيْرِ اْلأَحْكَامِ كَالْقِصَصِ وَفَضَائِلِ اْلأَعْمَالِ وَالتَّرْغِيْبِ وَالتَّرْهِيْبِ))
“บรรดานักวิชาการกล่าวว่า หะดีษนั้นมี 3 ประเภทคือ หะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์, หะดีษหะซัน, และหะดีษเฎาะอีฟ, พวกเขากล่าวอีกว่า .. หะดีษที่จะนำมา “อ้างเป็นหลักฐาน”ในเรื่องหุก่ม (ทั้ง 5 คือ วาญิบ, สุนัต, ญาอิซหรืออนุญาต, มักรูฮ์, และหะรอม) ได้ ก็เฉพาะหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์และหะดีษหะซันเท่านั้น, อนึ่ง หะดีษเฎาะอีฟ ก็ไม่อนุญาตให้อ้างมันเป็นหลักฐานในเรื่องหุก่มดังกล่าวและในเรื่องอะกีดะฮ์ (ภาคศรัทธา) แต่อนุญาตให้ “รายงาน” และ “ปฏิบัติตาม” มันในเรื่องอื่นจากหุก่มต่างๆ .. อาทิเช่น ในเรื่องเล่าประวัติต่างๆ, ในงานประเภทเสริมบุญต่างๆ, ในเรื่องส่งเสริมให้ทำความดีและสำทับให้หวาดกลัวจากการทำความชั่ว” ...
เมื่อพิจารณาดูจากคำกล่าวของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ข้างต้นก็จะพบว่า บรรดานักวิชาการได้กำหนดเงื่อนไขของการอ้างและการปฏิบัติตามหะดีษต่างๆดังต่อไปนี้ ...
1. ในเรื่องหุก่มทั้ง 5 และเรื่องอะกีดะฮ์หรือภาคศรัทธา หลักฐานที่นำมาอ้างจะต้องเป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์หรือหะดีษหะซันเท่านั้น ...
2. ในเรื่องของประวัติหรือเรื่องเล่าต่างๆ, เรื่องการปฏิบัติประเภทเสริมบุญบางอย่าง (فَضَائِلُ اْلأَعْمَالِ), เรื่องส่งเสริมให้ทำความดี, เรื่องการสำทับให้เกรงกลัวจากความชั่ว ก็อนุโลมให้ “ปฏิบัติตาม” หรือ “รายงาน” หะดีษที่เฎาะอีฟเพียงเล็กน้อยได้ ..
อย่างไรก็ตามในกรณีที่ 2 นี้ โดยเฉพาะในเรื่อง فَضَائِلُ اْلأَعْمَالِ นักวิชาการหะดีษก็ยังมีทัศนะขัดแย้งกันอยู่มากว่า จะอนุโลมให้นำหะดีษเฎาะอีฟมาปฏิบัติได้หรือไม่ ? ...
3. ในกรณีของหะดีษที่ “เฎาะอีฟมาก, โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นหะดีษเมาฎั๊วะอฺ” ด้วยแล้ว นักวิชาการต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่อนุญาตให้นำมาอ้างเป็นหลักฐานเพื่อการปฏิบัติ ไม่ว่าในเรื่องใดๆทั้งสิ้น! .. และไม่อนุญาตให้รายงานมัน นอกจากจะต้องชี้แจงสถานภาพของมันให้ทราบด้วย, หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องระบุผู้บันทึกหรือสายรายงานของมันให้ทราบด้วยทุกครั้งที่นำมาอ้าง ...
ดังนั้น การ “ปฏิบัติ” นมาซฮายัตตามหะดีษข้างต้นซึ่งเป็นหะดีษ “เฎาะอีฟมาก” ก็ดี, .. การ “อ้าง” หะดีษนมาซฮายัตมาเป็นหลักฐานในการปฏิบัติก็ดี, จึงเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” ตามหลักวิชาการและตามทัศนะของนักวิชาการหะดีษ .. ดังข้อมูลที่ได้อธิบายไปแล้ว ...
หะดีษที่ 2. ท่านอิหม่ามอะห์มัด ได้บันทึกในหนังสือ “อัล-มุสนัด” ของท่าน เล่มที่ 6 หน้า 442 – 443 โดยรายงานมาจากท่านอบู อัด-ดัรฺดาอ์ ร.ฎ. ว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ...
مَنْ تَوَضَّأَ فَأَسْبَغَ الْوُضُوْءَ ثُمَّ صَلَّى رَكْعَتَيْنِ يُتِمُّهُمَا، أَعْطَاهُ اللهُ عَزَّ وَجَلَّ مَا سَأَلَ، مُعَجَّلاً أَوْ مُؤَخَّرًا
“ผู้ใดทำวุฎูอ์อย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้น เขาก็นมาซ 2 ร็อกอะฮ์อย่างครบถ้วนทั้งสองร็อกอะฮ์นั้น พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ก็จะทรงประทานให้ในสิ่งที่เขาขอ ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าก็ตาม” ...
ท่านอัส-สยูฏีย์ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-ละอาลีย์ อัล-มัศนูอะฮ์” ของท่านว่า หะดีษบทนี้เป็นหะดีษหะซัน ...
ท่านเช็คซัยยิด ซาบิก ได้กล่าวในหนังสือ “ฟิกฮุสซุนนะฮ์ ว่า สายรายงานของหะดีษนี้ เศาะเหี๊ยะฮ์ (ถูกต้อง) ...
แต่ท่านอัล-ฮัยษะมีย์ ได้นำหะดีษนี้ลงบันทึกในหนังสือ “มัจญมะอ์ อัซ-สะวาอิด” ของท่าน เล่มที่ 2 หน้า 564 แล้วกล่าววิจารณ์ว่า ...
رَوَاهُ أَحْمَدُ وَالطَّبْرَانِىِّ فِى الْكَبِيْرِ، وَفِيْهِ : مَيْمُوْنٌ أَبُوْ مُحَمَّدٍ، قَالَ الذَّهَبِىُّ : لاَ يُعْرَفُ
“รายงานโดยท่านอะห์มัดและท่านอัฏ-ฏ็อบรอนนีย์ในหนังสืออัล-มุอ์ญัม อัล-กะบีรฺ, ใน(ผู้รายงานของ)มัน มีชื่อ มัยมูน อบูมุหัมมัด(อัต-ตัยมีย์) ซึ่งท่านอัษ-ษะฮะบีย์กล่าวว่า “ไม่เป็นที่รู้จัก” ...
ท่านยะห์ยา บินมะอีนกล่าวว่า .. ฉันไม่รู้จักเขา” ...
ท่านอิบนุอะดีย์กล่าวว่า .. ถ้าว่ากันตามนี้ แสดงว่าเขา (มัยมูน อัต-ตัยมีย์) เป็นผู้ที่ไม่มีใครรู้จัก (مَجْهُوْلٌ) ...
(จากหนังสือ “ตะมามุลมินนะฮ์” ของท่านอัล-อัลบานีย์ หน้า 260) ...
สรุปว่า ที่ถูกต้องหะดีษบทนี้ จึงไม่ใช่เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์หรือหะดีษหะซัน แต่เป็นหะดีษเฎาะอีฟ .. วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
หะดีษที่ 3. มีผู้รู้บางท่าน ได้อ้างเอาหะดีษที่ถูกต้องบทหนึ่งซึ่งท่านอิบนุมาญะฮ์ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่าน, ภายใต้ชื่อบทว่า “بَابُ مَاجَاءَ فِىْ صَلاَةِ الْحَاجَةِ” หรือ “บาบ ว่าด้วยเรื่องการนมาซฮายัต” มาเป็นหลักฐานเรื่องนมาซฮายัต .. ทั้งๆที่ความจริง หะดีษบทนั้นมิใช่เป็นเรื่องของนมาซฮายัต และมิได้เกี่ยวข้องกับนมาซฮายัตแต่อย่างใด ...
ทว่า, มันเป็นเรื่องการ “ตะวัซซุล” ของคนตาบอดด้วย “ดุอา” ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ที่ได้สอนให้เขาอ่านเฉพาะตัวเป็นกรณีพิเศษ .. ดังจะได้อธิบายให้ทราบกันต่อไป ...
คำว่า “ตะวัซซุล” ตามหลักการศาสนาหมายถึง .. การอ้างหรืออาศัยสิ่งใดเป็นสื่อกลางเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ...
การตะวัซซุล มีทั้งที่อนุญาตและที่ต้องห้าม ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึงรายละเอียด ณ ที่นี้ ...
“ตะวัซซุล” ตามเนื้อหาของหะดีษบทนั้น คือการที่ชายตาบอดผู้หนึ่งได้อาศัยดุอาของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งสอนให้เขาโดยเฉพาะ .. เป็นสื่อ เพื่อให้พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ทรงรับคำวิงวอนของตนให้หายจากการตาบอด ...
ท่านอุษมาน บินหะนีฟ ร.ฎ. (สิ้นชีวิตในสมัยคอลีฟะฮ์มุอาวิยะฮ์ ร.ฎ.) ได้รายงานมาว่า ...
أَنَّ رَجُلاً ضَرِيْرَالْبَصَرِ أَتَى النَّبِىَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ : اُدْعُ اللهَ أَنْ يُعَافِيَنِىْ! قَالَ : إِنْ شِئْتَ دَعَوْتُ لَكَ، وَإِنْ شِئْتَ صَبَرْتَ فَهُوَ خَيْرٌ لَكَ، فَقَالَ : اُدْعُهُ! فَأَمَرَهُ أَنْ يَتَوَضَّأَ فَيُحْسِنَ وُضُوْءَهُ فَيُصَلِّىَ رَكْعَتَيْنِ، وَيَدْعُوَ بِهَذَاالدُّعَاءِ : اَللَّهُمَّ إِنِّىْ أَسْأَلُكَ وَأَتَوَجَّهُ إِلَيْكَ بِنَبِيِّكَ مُحَمَّدٍ نَبِىِّ الرَّحْمَةِ، يَا مُحَمَّدُ! إِنِّىْ تَوَجَّهْتُ بِكَ إِلَى رَبِّىْ فِىْ حَاجَتِىْهَذِهِ لِتُقْضَى لِىْ، اَللَّهُمَّ فَشَفِّعْهُ فِىَّ، (وَشَفِّعْنِىْ فِيْهِ قَالَ : فَفَعَلَ الرَّجُلُ فَبَرِأَ)
“ชายตาบอดผู้หนึ่ง ได้มาหาท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม แล้วกล่าวว่า “ท่านจงขอดุอาต่ออัลลอฮ์ให้ฉันหาย (จากตาบอด) ด้วยเถิด” ท่านนบีย์ฯ จึงกล่าวว่า “หากท่านประสงค์ (ให้ขอดุอา) ฉันก็จะขอดุอาให้ท่าน, แต่ถ้าท่านประสงค์ (ไม่ให้ขอดุอา) ท่านก็จงอดทน! ซึ่งจะเป็นการดีที่สุดสำหรับท่าน”, เขากล่าวว่า ท่านจงขอดุอาต่ออัลลอฮ์เถิด, ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จึงใช้ให้เขาทำวุฎูอ์อย่างดี แล้วให้เขานมาซ 2 ร็อกอะฮ์, เสร็จแล้วให้เขาขอดุอาดังต่อไปนี้คือ .. “โอ้อัลลอฮ์! แท้จริง ข้าฯ วิงวอนขอต่อพระองค์ และข้าฯ มุ่งมายังพระองค์ด้วย (บะรอกัตของดุอา) นบีย์แห่งพระองค์ คือท่านมุหัมมัด ซึ่งเป็นนบีย์แห่งความเมตตา, โอ้ ท่านมุหัมมัด! แน่แท้ ข้าฯ มุ่งไปยังพระผู้อภิบาลของข้าฯ ด้วยการอาศัย (ดุอา) ของท่านเพื่อให้ได้รับการสนองตอบในสิ่งที่ข้าฯ ต้องการนี้, โอ้ อัลลอฮ์! โปรดจงรับการอนุเคราะห์ของเขา (มุหัมมัด) ให้แก่ข้าฯ ด้วย (และจงโปรดอนุเคราะห์ข้าฯ เพราะเห็นแก่เขาด้วยเถิด” .. ท่านอุษมาน บินหะนีฟ ร.ฎ. กล่าวต่อไปว่า แล้วชายผู้นั้นก็ปฏิบัติตาม และเขาก็หาย (จากการตาบอด) ...
(บันทึกโดย ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 3578, ท่านอะห์มัด เล่มที่ 4 หน้า 138, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 1385, ท่านอัล-หากิม เล่มที่ 1 หน้า 458, และท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 1219) ...
หะดีษบทนี้ เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ ดังคำกล่าวของท่านอัล-อัลบานีย์ในหนังสือ “صَحِيْحُ سُنَنِ ابْنِ مَاجَهْ” เล่มที่ 1 หน้า 232 ...
อธิบาย
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า หะดีษบทนี้เป็นหลักฐานเรื่องการตะวัซซุล, มิใช่เป็นหลักฐานเรื่องการนมาซฮายัต ดังที่มีการปฏิบัติกัน ก็ด้วยเหตุผลจากการพิจารณาเนื้อหาและข้อเท็จจริงของหะดีษดังต่อไปนี้ ...
(1). ชายตาบอดผู้นั้น มาขอร้องท่านนบีย์ฯ ให้ขอดุอาให้เขาหายจากการตาบอด เพราะเขาทราบดีว่า ดุอาของท่านนบีย์ฯ นั้น “มุสตะญาบ” .. คือจะถูกรับอย่างแน่นอน! ต่างกับดุอาที่เขาขอด้วยตนเอง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะถูกรับหรือไม่ ...
(2). ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะวัลลัม ได้รับปากและสัญญาว่าจะขอดุอาให้กับเขา หากเขาประสงค์ .. ด้วยคำพูดที่ว่า : إِنْ شِئْتَ دَعَوْتُ لَكَ หากท่านประสงค์ ฉันก็จะขอดุอาให้ท่าน ...
แต่ขณะเดียวกัน ท่านก็แนะนำเขาในสิ่งที่ดีกว่า คือให้เขาอดทนในสภาพนั้นของเขาต่อไป ...
(3). เมื่อชายตาบอดผู้นั้น ยังยืนกรานที่จะให้ท่านนบีย์ฯ ขอดุอาให้ด้วยคำกล่าวที่ว่า : اُدْعُهُ ท่านจงขอดุอาต่ออัลลอฮ์เถิด! แสดงว่าท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะต้องขอดุอาให้แก่เขาจริงๆตามที่ท่านสัญญาไว้นั้น! เพราะท่านนบีย์ฯ ไม่เคย .. และจะไม่ผิดสัญญากับผู้ใดเป็นอันขาด ...
เพียงแต่ว่า ดุอาที่ท่านขอให้แก่ชายตาบอดตามสัญญานั้น มิใช่ทางตรง, แต่เป็น “ทางอ้อม” .. คือ ท่านสอนให้เขาอ่านเอง ในสิ่งที่ท่านจะขอให้ ...
(4). เนื้อหาบางส่วนของดุอาที่ท่านนบีย์ฯ สั่งให้เขาอ่าน .. อันได้แก่ประโยคที่ว่า โอ้ อัลลอฮ์! โปรดจงรับการอนุเคราะห์ของเขา (มุหัมมัด) ให้แก่ข้าฯ ด้วย! .. บ่งบอกความหมายว่า การหายจากการตาบอดของชายผู้นั้น มิใช่เป็นเพราะการนมาซและดุอาที่เขาขอเอาเอง .. แต่เกิดจากการ “อนุเคราะห์และบะรอกัตของดุอาที่ท่านนบีย์ฯ สอนให้เขาอ่านแทนตัวท่าน” .. จนประสบผลสำเร็จตามที่ขอ ...
เมื่อได้พิจาณาอย่างละเอียดแล้วจึงเห็นได้ชัดเจนว่า เนื้อหาของหะดีษบทนี้ แตกต่างกับการนมาซฮายัตและการขอดุอาหลังนมาซฮายัต .. ดังที่มีการปฏิบัติกัน ...
เพราะท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยสัญญาหรือรับปากกับผู้นมาซฮายัตคนใดว่า ท่านจะขอดุอาให้พวกเขา, หรือจะให้การอนุเคราะห์ใดๆแก่พวกเขา .. เหมือนดังที่ท่านได้ให้สัญญาแก่ชายตาบอดผู้นั้น ...
และท่านก็ไม่เคยสอนให้ผู้นมาซฮายัตคนใด “ตะวัซซุล” ด้วยดุอาใดๆของท่านเป็นการเฉพาะและเป็นกรณีพิเศษ! .. เหมือนดังที่ท่านสอนคนตาบอดคนนั้นให้ตะวัซซุลด้วยดุอาของท่านในหะดีษบทนั้น ...
ทว่า, .. ดุอาทั้งหมดที่ผู้นมาซฮายัตขอ เป็นดุอาที่ว่ากันเอาเอง, จากความรู้สึกนึกคิดของผู้ (นำ) นมาซฮายัตเอง .. เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น และเป็นตัวบงการให้มีการนมาซฮายัตในแต่ละครั้ง ...
แต่เป็นไปได้เช่นกันว่า บางครั้ง (หรือบ่อยครั้ง) .. ดุอาที่ขอกันเองหลังนมาซฮายัต อาจจะไม่ตรงและไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ .. ซึ่งผมคิดว่า ไม่น่าจะเดาผิด ...
นอกจากนั้น วิธีการนมาซฮายัตดังหะดีษบทข้างต้น – สมมุติว่าถ้าสายรายงานของมันเชื่อถือได้ -- ก็เป็นการแนะนำให้ปฏิบัติเป็นการส่วนตัว (مُنْفَرِدًا) ...
แต่ที่นิยมปฏิบัติกันในประเทศไทยก็คือ มีการกระทำกันในลักษณะ “ญะมาอะฮ์” อย่างเอิกเกริก ซึ่งนอกจากจะมิใช่เป็นรูปแบบของนมาซฮายัตที่มีกล่าวในหะดีษแล้ว ยังเป็นการอุตริรูปแบบใหม่ของนมาซฮายัตให้เกินเลยจากที่มีระบุในหะดีษอีกด้วย ...
สรุปแล้ว หะดีษบทข้างต้นจึงมิใช่เป็นหลักฐานเรื่องการนมาซฮายัต ดังกล่าวมาแล้ว ...
วัลลอฮุ อะอฺลัม ..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น