โดย อาจารย์บรรจง บินกาซัน
ความเชื่อพื้นฐานอย่างหนึ่งของทุกศาสนาคือ ความเชื่อในเรื่องการมีอยู่ของโลกหน้า หรือโลกหลังความตาย ซึ่งถูกเรียกด้วยถ้อยคำที่แตกต่างกัน เช่น นรกและสวรรค์ วันพิพากษาและวันแห่งการฟื้นคืนชีพ เป็นต้น
เหตุผลที่ความเชื่อเช่นนี้มีอยู่ในทุกศาสนา ก็เพราะศาสนาถูกส่งมาเพื่อจัดระเบียบและปฏิรูปมนุษย์ ทั้งนี้ เนื่องจากในสมัยก่อน สังคมมนุษย์ยังไม่มีรัฐบาลกลางที่คอยทำหน้าที่ออกกฎหมายจัดระเบียบควบคุมสังคมมนุษย์ กฎของศาสนาจึงต้องควบคุมมนุษย์ทางด้านวิญญาณ เพราะวิญญาณคือผู้บงการพฤติกรรมของมนุษย์ แต่เนื่องจากไม่มีอำนาจใดสามารถนำวิญญาณที่เป็นจอมบงการมนุษย์ตัวจริงไปลงโทษในโลกนี้ได้ การลงโทษวิญญาณจึงต้องเลื่อนไปยังโลกหน้า ซึ่งเป็นโลกที่ตามองไม่เห็น นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมคำสอนของทุกศาสนาจึงมีหลักความเชื่อในเรื่องนรกและสวรรค์เป็นพื้นฐาน
ถ้ามนุษย์มีความเชื่อว่า หลังความตายมีการลงโทษอย่างแสนสาหัสสำหรับคนทำบาปหรือทำชั่ว มนุษย์ก็จะคิดแล้วคิดอีกว่า ความชั่วที่ตัวเองจะทำนั้นคุ้มหรือไม่กับการถูกลงโทษ ถ้าเห็นว่าไม่คุ้ม มนุษย์ก็จะไม่ทำ ในทางตรงข้าม ถ้ามนุษย์เห็นว่าการทำความดีในโลกนี้ แม้ไม่มีใครเห็นและตอบแทน แต่โลกหน้ามีรางวัลตอบแทนให้อย่างมากมาย มนุษย์ก็จะทำความดีต่อไปโดยไม่หวังการตอบแทนจากมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งทำให้การทำความดีของมนุษย์มีความยั่งยืน
การฟื้นคืนชีพหลังความตาย วันพิพากษา นรกและสวรรค์จึงเป็นความจริงและเป็นความยุติธรรมที่ศาสนานำเสนอแก่มนุษย์ หากวิญญาณของมนุษย์ไม่มีความเชื่อในเรื่องนี้ ต่อให้มีกฎหมายนับสิบนับร้อยฉบับก็ไม่สามารถควบคุมมนุษย์ได้ตราบใดที่มนุษย์ยังมีชีวิต
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในเรื่องโลกหน้าได้ถูกเนื้อหนัง ความสุขและความสวยงามของวัตถุรอบตัวมนุษย์บดบังไว้ มนุษย์จึงมองโลกหน้าไม่เห็น และเมื่อไม่เห็นสิ่งใด มนุษย์ก็ด่วนสรุปว่าสิ่งนั้นไม่มี เมื่อเชื่อว่าโลกหน้าไม่มี มนุษย์ก็จะมีพฤติกรรมเยี่ยงสัตว์ที่เกิดมาเพียงเพื่อกิน นอน ถ่าย สืบพันธุ์และตายไปเยี่ยงสัตว์ที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองในโลกหน้า แต่เนื่องจากมนุษย์มีสติปัญญาและความสามารถเหนือกว่าสัตว์ เมื่อมนุษย์ทำความชั่ว มนุษย์ทำความชั่วได้มากกว่าสัตว์ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง
ชาวอาหรับสมัยก่อนหน้าอิสลามมีความเชื่อว่า การฟื้นคืนชีพหลังความตายเป็นเรื่องโกหกหรือนิยายปรัมปราที่ผู้คนเล่าสืบทอดกันมา ชาวอาหรับจึงทำความชั่วกันด้วยความโอหัง ด้วยเหตุนี้ยุคก่อนหน้าอิสลามในแผ่นดินอาหรับจึงถูกเรียกว่า “ยุคอวิชชา” (ญาฮิลียะฮ์) ที่เต็มไปด้วยความชั่วสารพัดเช่นเดียวกับโลกในยุคปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น