อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

จุฬาราชมนตรี เป็นผู้นำทางศาสนาอิสลามในประเทศไทยหรือ ?


โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ถ้าท่านจะให้ผมตอบคำถามนี้ในลักษณะแบบกำปั้นทุบดิน ผมก็ต้องตอบว่า ...
1. ถ้าไม่ให้ท่านจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำทางศาสนาแล้ว จะให้ท่านเป็นผู้นำทางไหนล่ะครับ ? ...
2. การที่่บุคคลใดไม่ยอมรับจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำมุสลิมในประเทศไทย ก็เป็นเรื่องของ่เขา ...

แต่ผมมั่นใจว่า มุสลิมในประเทศไทยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ยอมรับท่านจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำครับ ! ...
ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเคยกล่าวว่า ...
عَلَيْكُمْ بِالْجَمَاعَةِ، وَإِيَّاكُمْ وَالْفِرْقَةَ، فَإِنَّ الشَّيْطَانَ مَعَ الْوَاحِدِ .........
“จำเป็นสำหรับพวกท่านจะต้องยึดถือ(ประชาชน)ส่วนใหญ่ไว้ และพวกท่านพึงระวังการปลีกตัว(ออกจากส่วนใหญ่) เพราะแท้จริง ชัยฏอนนั้นมันจะอยู่กับผู้ที่โดดเดี่ยว .............”
(บันทึกโดย ท่านอะห์มัด เล่มที่ 1 หน้า 26, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 2268, และท่านอื่นๆด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง สำนวนในที่นี้เป็นสำนวนของท่านอัต-ติรฺมีซีย์)

แต่ถ้าจะให้ผมตอบปัญหานี้ตามหลักฐาน, หลักการและเหตุผล ผมก็ขอย้อนถามท่านก่อนว่า ...
ทำไมท่านจึงคิดว่า จุฬาราชมนตรีไม่ใช่ผู้นำมุสลิมในประเทศไทย ?? ...
ผมเชื่อว่า คำตอบของท่านคงจะอยู่ในประเด็นใดประเด็นหนึ่งของ 4 ประเด็นต่อไปนี้ คือ ...
1. เพราะที่มาของตำแหน่งจุฬาฯ ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติ, แต่ถูกต้องตามกฎหมายกาเฟรฺเท่านั้น (ขออภัยที่ใช้คำว่า “กฎหมายกาเฟรฺ” แทนคำว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้ตรงต่อความเป็นจริงตามคำพูดของผู้กล่าวหา)
2. เพราะที่มาของตำแหน่งจุฬาฯ ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติ, และไม่ถูกต้องตามกฎหมายกาเฟรฺ ...
3. เพราะที่มาของตำแหน่งจุฬาฯ ถูกต้องตามบทบัญญัติ, แต่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายกาเฟรฺ ...
4. เพราะที่มาของตำแหน่งจุฬาฯ ถูกต้องตามบทบัญญัติด้วย, และถูกต้องตามกฎหมายกาเฟรฺด้วย ...
ผมมั่นใจว่า คำตอบของท่าน คงเป็นข้อที่ 1 .. นั่นคือ เพราะที่มาของตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติ, แต่ถูกต้องตามกฎหมายกาเฟรฺเท่านั้น จึงยอมรับไม่ได้ ...
หากคำตอบของท่านเป็นอย่างนี้ ผมก็อยากจะให้ท่านช่วยอธิบายว่า ข้ออ้างของท่านที่ว่า “ที่มาของตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติ” นั้น ไม่ถูกต้องตรงไหน ? อย่างไร ? ...
ในทัศนะผม เห็นว่า ที่มาของตำแหน่งจุฬาราชมนตรีนั้น ถูกต้องทั้งบทบัญญัติ, และถูกต้องตามกฎหมายกาเฟรฺด้วย ...
เหตุผลของผมเป็นอย่างนี้ครับ ...
ก่อนอื่น ท่านต้องไม่ปฏิเสธความจริงว่า พื้นฐานเรื่องของผู้นำไม่ใช่เป็นเรื่องอิบาดะฮ์ซึ่งมีหลักการตายตัว แต่เป็นเรื่องของการปกครองซึ่งยืดหยุ่นได้, เปลี่ยนแปลงได้
เพราะฉะนั้นวิธีการได้มาซึ่งผู้นำก็ดี, ปัจจัยแวดล้อมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้นำก็ดี จึงย่อมมีการยืดหยุ่นหรือเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคตามสมัยและการปกครองของแต่ละประเทศ ไม่มีวันคงที่ตลอดกาลเหมือนอิบาดะฮ์ ...
แต่จุดสำคัญก็คือ .. ผู้นำของมุสลิม จะต้องมาจากการคัดเลือกและการยอมรับของมุสลิมส่วนใหญ่ (หรือทั้งหมด) ...
ในระบอบอิสลามของเราเอง วิธีการได้มาซึ่งผู้นำก็ใช่ว่าจะคงที่หรือมีแค่วิธีการเดียวเมื่อไร ...
เพราะหลังจากการสิ้นชีวิตของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม การเป็นผู้นำ (คอลีฟะฮ์)ของท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. เกิดจากการนำร่องให้สัตยาบันของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. ก่อนเป็นคนแรก ต่อจากนั้น ประชาชนทั้งหมดก็ให้สัตยาบันถัดมาตามลำดับ ซึ่งวิธีการนี้ ได้มีการปฏิบัติสืบต่อมาในการเป็นผู้นำของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. เช่นเดียวกัน ...
ตอนที่ท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. จะสิ้นชีวิต วิธีการได้มาของตำแหน่งผู้นำก็มีการเปลี่ยนแปลง โดยท่านอุมัรฺได้แต่งตั้งคณะบุคคลขึ้น 6 ท่าน (เรียกว่า อะฮ์ลุชชูรออ์) เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่ผู้นำหลังจากท่าน ...
อะฮ์ลุชชูรออฺประกอบขึ้นจากท่านอุษมาน, ท่านอะลีย์, ท่านฏอลหะฮ์, ท่านอัซ-ซุบัยร์, ท่านอับดุรฺเราะห์มาน, และท่านซะอัด ...
ผลการคัดเลือก ผู้นำตกเป็นของท่านอุษมาน บินอัฟฟาน ร.ฎ. ต่อมาประชาชนจึงมีการให้สัตยาบันกันภายหลัง ...
หลังจากนั้น ตำแหน่งผู้นำในหลายประเทศของอิสลามก็มีการเปลี่ยนมาเป็นระบบกษัตริย์ โดยมีการสืบทอดตำแหน่งต่อๆกันมา และบางประเทศของอิสลามก็เปลี่ยนผู้นำเป็นระบอบประธานาธิบดี อันมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ...
สรุปแล้วจะเห็นได้ว่า วิธีการได้มาซึ่งตำแหน่งผู้นำของอิสลาม มีการเปลี่ยนแปลงได้ “หลายรูปแบบ” ตามยุคสมัย ..
แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม - อื่นจากระบอบกษัตริย์ที่มีการสืบทอดตำแหน่งแล้ว ...
สุดท้าย ก็ “ผ่านการคัดเลือกมาจากประชาชน” ทั้งสิ้น ...
ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในยุคปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน .. คือ ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกมาจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัด, กรรมการอิสลามประจำจังหวัดก็มาจากการคัดเลือกของกรรมการอิสลามประจำมัสยิด และกรรมการอิสลามประจำมัสยิดก็มาจากการคัดเลือกของสัปปุรุษในแต่ละท้องที่ ตามลำดับ ...
ทุกขั้นตอน เป็นสิทธิ์ของมุสลิมเราที่จะจัดการกันเอง ...
การคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด รัฐบาลก็ไม่เข้ามาก้าวก่ายหรือชี้นำ แต่จะปล่อยให้มีการคัดเลือกกันอย่างอิสระตามดุลยพินิจของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัดเหล่านั้น ...
ต่อเมื่อการคัดเลือกของพวกเรา - คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัดที่เป็นมุสลิมล้วนๆ - เสร็จเรียบร้อยแล้ว การทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงเกิดขึ้นภายหลัง ...
สรุปแล้ว คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ใดเข้ามารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ก็คล้ายๆกับอะฮ์ลุชชูรออฺในสมัยของท่านอุมุรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. นั่นเอง ...
ไม่ใช่กาเฟรฺคนใดทั้งสิ้น ...
เพราะฉะนั้น ผมขอถามว่า .. ตรงไหนหรือครับที่จะกล่าวได้ว่า ที่มาของตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติ ? ...
การมอง “ด้านเดียว” เพียงว่า ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เกิดจากการ “แต่งตั้ง” ตามกฎหมายกาเฟรฺ โดยไม่พิจารณาดูที่มาก่อนถึงการลงพระปรมาภิไธย ผมจึงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและเป็นความอคติกันมากกว่า ...
ในความเห็นส่วนตัวของผม (ไม่ใช่จะมองท่านในแง่ร้าย หากไม่พอใจก็ขออภัย) .. ผู้ที่ไม่ยอมรับตำแหน่งจุฬาราชมนตรีโดยอ้างเหตุผลว่า ตำแหน่งนี้มีที่มาจากกฎหมายกาเฟรฺ ...
ข้อเท็จจริงก็คือ ...
กฎหมายกาเฟรฺนั้น ท่านจะยอมรับมันถ้าท่าน “ได้”
แต่ท่านจะไม่ยอมรับมันถ้าท่าน “เสีย” ...
ถ้าท่านปฏิเสธคำกล่าวนี้ของผม และยังยืนยันทัศนะเดิมของท่านว่า “ทุกอย่างต้องถูกตามหลักการอิสลามเท่านั้นถึงจะยอมรับ” ...
ผมก็จะขอเรียนถามท่าน - ด้วยความเคารพ - ว่า
1. ขอโทษนะครับที่ต้องสมมุติว่า ถ้าจุฬาราชมนตรีท่านก่อนๆมีทัศนะคติในการถือบวชออกบวชตามซาอุฯ หรือตามประเทศใดก็ได้ในโลกเหมือนทัศนะของท่าน ...
คำพูดที่ว่า “จุฬาราชมนตรีไม่ใช่ผู้นำทางศาสนาของประเทศไทย” จะหลุดออกมาจากปากของท่านไหมครับ ??? ...
ขอให้ท่านตอบคำถามข้อนี้ออกมาจากใจจริง ตามประสาลูกผู้ชายชาติซุนนะฮ์นะครับ ...
2. สมมุติอีกนะครับว่า ถ้าท่านโจรกรรมรถยนตร์ของผู้อื่นแล้วถูกจับได้ แน่ใจไหมครับว่า ท่านจะยืนกรานไม่ยอมรับโทษ “จำคุก” ของกฎหมายกาเฟรฺ แต่จะเรียกร้องให้นำบทบัญญัติศาสนาเรื่องการลักขโมย – คือตัดมือ – มาใช้กับท่าน ?? ....
3. สมมุติอีกทีนะครับ .. สมมุติว่า ถ้าลูกชายหรือลูกสาวของท่านไปซินากับผู้อื่นที่มิใช่ผู้เยาว์ ด้วยการสมยอมของอีกฝ่ายหนึ่ง ...
แน่ใจไหมครับว่าท่านจะยังปากแข็ง .. ไม่ยอมรับกฎหมายกาเฟรฺในประเทศนี้ที่ไม่เอาเรื่องเอาราวกับฝ่ายใดเลย ...
แต่ท่านจะเรียกร้องให้นำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้ให้ลงโทษบุตรของท่านตามบทบัญญัติการลงโทษผู้ทำซินา คือ โบย 100 ครั้ง หรือขว้างจนตาย ?? ...
4. ท่านจะยอมรับไหมครับว่า ในการเลือกตั้งจุฬาราชมนตรีครั้งที่ผ่านมา มีบุคคล 2 คนที่มีทัศนะตรงกันกับท่านในเรื่องการถือบวชออกบวชตามการเห็นเดือนต่างประเทศสมัครรับเลือกตั้งด้วย แล้วมีนักวิชาการบางคนเชียร์และสนับสนุนสุดลิ่มทิ่มประตู ...
ขอถามว่า ท่านจะเชียร์เขาไปทำไมครับในเมื่อการเลือกตั้งตำแหน่งจุฬาราชมนตรี มาจากกฎหมายกาเฟรฺ ? .. และสมมุติถ้าทั้ง 2 ท่านนั้นรับเลือกตั้งมาได้แล้วก็ปราศจากอำนาจและความหมายใดๆ ในเมื่อจุฬาราชมนตรีไม่ใช่เป็นผู้นำมุสลิมอย่างที่พวกท่านกล่าว ??? ...
5. ท่านจะยอมรับไหมครับว่า คณะกรรมการอิสลามทุกตำแหน่งและทุกระดับชั้นในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นอิหม่าม, คอเต็บ, บิลาล, กรรมการมัสยิด, กรรมการจังหวัด รวมทั้งกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยด้วย ..
ทุกตำแหน่งที่กล่าวมานี้ ไม่ได้ถูกแต่งตั้งมาตามกฎหมายอิสลามตามที่ท่านต้องการ! .. แต่ล้วนถูกแต่งตั้งมาจาก “กฎหมายกาเฟรฺ” ทั้งสิ้น ...
แล้วทำไมท่านจึงยอมรับตำแหน่งพวกเขาเหล่านี้ได้ทุกตำแหน่ง ? .. ยกเว้นเฉพาะตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตำแหน่งเดียวที่ท่านไม่ยอมรับ ?? ...
เผลอๆ ตัวท่านเอง – ขณะนี้ – อาจเป็นอิหม่าม, อาจเป็นกรรมการอิสลามตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งตาม “กฎหมายกาเฟรฺ” อยู่ก็ได้ ...
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านยึดมั่นแน่นแฟ้นในหลักการข้างต้นจริง ท่านก็ต้องปฏิเสธ อย่ายอมรับตำแหน่งเหล่านี้ของท่านด้วยสิครับ ...
ฯลฯ.
ขอย้ำอีกครั้งว่า เรื่องของผู้นำเป็นเรื่องการปกครองที่มีการยืดหยุ่นได้ มิใช่เรื่องอิบาดะฮ์ที่จะยืดหยุ่นมิได้นอกจากจำเป็นจริงๆ ..
ผมจึงอยากจะขอแนะนำพวกเรา - มุสลิมทุกคน - ว่า อย่าสุดโต่งเกินไปนัก แต่ให้ทำใจยอมรับสภาพความจริงที่ว่า ในยุคปัจจุบันนี้ ผู้ใดที่มุสลิม “ส่วนใหญ่” คัดเลือกเขามาเป็นผู้นำ – แม้จะไม่ถูกวิธีการร้อยเปอร์เซ็นต์ – เราก็ต้องยอมรับ ...
ตัวอย่างชี้ชัดในเรื่องนี้ก็คือ เรื่องการเลือกผู้ทำหน้าที่อิหม่ามนำนมาซ ...
ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สั่งให้พิจารณาผู้ที่เชี่ยวชาญอัล-กุรฺอานมากที่สุดเป็นอันดับแรก เพื่อทำหน้าที่อิหม่าม ...
หากผู้ที่เชี่ยวชาญอัล-กุรฺอานมีเสมอกัน ก็ให้เลือกผู้ที่เชี่ยวชาญซุนนะฮ์กว่าเป็นอิหม่าม ตามลำดับ ...
นี่คือ วิธีเลือกอิหม่ามตามคำสั่งท่านศาสดา, ซึ่งถือว่า เป็นวิธีเลือกอิหม่ามตามระบอบอิสลามมิใช่หรือครับ ...
แต่ .. โทษที สมมุติถ้าเราจะเอาตามวิธีการนี้จริงๆมาใช้ในการเลือกอิหม่าม ขอถามว่า จะเหลืออิหม่ามที่ถูกต้องตามคำสั่งและเงื่อนไขข้อนี้ของท่านนบีย์กี่คนในประเทศไทย ?? ..
ทว่า ความจริงอันเป็นที่ยอมรับกันก็คือ .. เมื่อประชาชนส่วนใหญ่(หรือทั้งหมด)ของมุเก่มยอมรับเขาเป็นอิหม่าม เราก็ต้องอนุโลมให้เขาเป็นอิหม่าม แม้ที่มาของเขาจะไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขของท่านนบีย์จริงๆก็ตาม ...
ท่านจะยอมรับความจริงเรื่องนี้ไหมครับ ?? ....

เพราะฉะนั้น หากท่าน “ปฏิเสธ” ที่จะปฏิบัติตามผู้นำที่ท่านไม่ถูกใจ ก็จงปฏิเสธคำสั่งที่ท่านเห็นว่า “ขัดต่อบทบัญญัติ” สำหรับท่านเถิดครับ ...
อาทิเช่น ท่านจุฬาราชมนตรีสั่งให้ท่านไปร่วมในงานเมาลิดกลางที่ท่านจัดขึ้น, สั่งให้ท่านยกเสาเอกในการสร้างบ้านหรือสร้างมัสยิด, ท่านสั่งให้ท่านร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ทหารที่เสียชีวิต ฯลฯ ...
อย่างนี้ ท่านปฏิเสธไปก็ได้ครับ และผมก็ไม่คัดค้านท่านด้วย ...
แต่จงอย่าปฏิเสธ .. หรืออีกนัยหนึ่งให้ปฏิบัติตามในคำสั่งที่ “ถูกต้อง” ของผู้นำ อาทิเช่น ท่านสั่งให้ดูเดือนเสี้ยวเพื่อกำหนดวันถือศีลอดและออกอีดในประเทศของเราเอง เป็นต้น เพราะมันเป็นคำสั่งที่ถูกต้องตาม “ซุนนะฮ์” ที่ท่านใฝ่หามิใช่หรือครับ ...
บางคนกล่าวว่า ในตอนคัดเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่จุฬาราชมนตรี ทำกันไม่
โปร่งใส เพราะมีการจ่ายเงินกันบ้าง, มีการล็อบบี้กันบ้าง จึงยอมรับไม่ได้ ...
ผมก็ขอบอกว่า ถ้าท่านจะเอาสิ่งนี้มาเป็นบรรทัดฐานในการยอมรับ “ผู้นำ” ของท่าน ท่านก็ไม่มีวันยอมรับผู้นำคนไหนในโลกนี้ได้เลย แม้กระทั่งในรัฐอิสลามเอง ...
แน่ใจหรือครับว่า ทุกๆประธานาธิบดีในรัฐอิสลาม - ทุกคน - ได้ตำแหน่งมาอย่างโปร่งใส ไม่มีการล็อบบี้, ไม่มีการจ่ายเงิน ??? ...
แม้กระทั่งในการเลือกผู้นำที่อะฮ์ลิชชูรออฺปฏิบัติกันในสมัยท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. เองก็เถอะ ...
แน่ใจไหมครับว่าไม่มีการกระทำสิ่งที่เรียกกันว่า ล็อบบี้ ?? ...
ความจริง มุสลิมเราในประเทศไทยทุกคน คงไม่มีใครปฏิเสธว่า กฎหมายประเทศไทยให้เสรีภาพในการปฏิบัติตามความเชื่อของทุกๆศาสนายิ่งกว่าประเทศอื่นใดในโลก ไม่เชื่อท่านลองไปเป็นโรฮิงญาดูแล้วจะรู้ ...
เพราะฉะนั้น ขอเถอะครับ อย่าทำตนเป็นคนประเภทได้คืบแล้วจะเอาศอก เพราะข้ออ้างที่ว่า “ทุกอย่างต้องถูกตามหลักการอิสลามเท่านั้นถึงจะยอมรับ” ก็เหมือนท่านต้องการจะปกครองแบบ “รัฐอิสระ” ในประเทศที่ท่านอาศัยอยู่ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าท่านจะอยู่ในประเทศนี้หรือประเทศไหนในโลก แม้กระทั่งในรัฐของอิสลามเอง ...
สำหรับข้ออ้างที่ว่า สาเหตุที่ไม่ยอมรับและไม่ปฏิบัติตามจุฬาราชมนตรี ก็เพราะผู้เป็นจุฬาราชมนตรีทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีการกระทำบางอย่างเป็นชิริก หรือทำผิดหลักการศาสนา เช่นมีรถประจำตำแหน่งที่ซื้อมาด้วยเงินจากกองสลากกินแบ่ง เป็นต้น จึงรับไม่ได้ ...
ผมไม่ทราบว่า ข้อหาเหล่านั้นจะเป็นจริงหรือไม่ ? ..
แต่ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง ท่านจะกล้าปฏิเสธคำสั่งของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมหรือครับ ? ...
คำสั่งของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่ว่า ...

((وَإِذَارَأَيْتُمْ مِنْ وُلاَتِكُمْ شَيْأً تَكْرَهُوْنَهُ فَاكْرَهُوْا عَمَلَهُ! وَلاَ تَنْزِعُوْا يَدًا مِنْ طَاعَةٍ))
“เมื่อพวกท่านเห็นสิ่งใดที่พวกท่านรังเกียจจากบรรดาผู้นำของพวกท่าน ก็จงรังเกียจเฉพาะพฤติการณ์ของเขา แต่อย่าแยกตัวออกจากการปฏิบัติตาม (ในสิ่งถูกต้อง) เป็นอันขาด” ...
(บันทึกโดย ท่านมุสลิม หะดีษที่ 65/1588 โดยรายงานมาจากท่านเอาฟ์ บินมาลิก ร.ฎ.) ...
ท่านจะเอาหะดีษบทนี้ไปวางไว้ตรงไหนครับ ? ....
รายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับเรื่องผู้นำเลว, ผู้นำชั่ว ให้ท่านติดตามอ่านจากตอนต่อไปเรื่อง “จำเป็นหรือไม่ที่ผู้นำจะต้องเป็น “มะอฺศูม” (ผู้ไร้บาป) ?” อินชาอัลลอฮ์ครับ ...
หมายเหตุ
คุณ Talubanee ได้กรุณาส่งข้อมูลมาให้ผมรับทราบว่า พี่น้องที่ยึดทัศนะที่ว่าเอาเดือนทั่วโลกให้ข้อมูลมาว่า ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคสลัฟ จะมีการตั้งป้อมปราการบนภูเขาสูงในแต่ละเมือง และรอรับฟังข่าวสารจากการดูเดือนของเมืองต่างๆ หากเมืองไหนเห็นเดือน ก็จะจุดไฟบนป้อมปราการภูเขาสูง เพื่อส่งสัญญาณบอกต่อๆกันในเมืองต่างถิ่น ...
ผมขอเรียนชี้แจงว่า หากข้อมูลนี้เป็นเรื่องจริงก็มีที่น่าสังเกตอย่างนี้ ...
1. คำว่า “มีการตั้งป้อมปราการบนภูเขาสูงในแต่ละเมือง” ตามรูปการณ์ก็น่าจะเป็นการส่งข่าวการเห็นเดือนเสี้ยวของทางในเมืองสู่ประชาชนชาวเมืองเดียวกันที่อาศัยอยู่รอบนอกมากกว่า ไม่ใช่เป็นการส่งข่าวไปยังต่างเมือง ...
เพราะตามข้อเท็จจริง แต่ละเมืองย่อมมีระยะทางห่างไกลกันมาก อาจมีภูเขา, มีต้นไม้สูงกั้นอยู่ระหว่างแต่ละเมือง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นแสงไฟเพียงริบหรี่จากการส่งข่าวด้วยวิธีนี้ในยุคโบราณซึ่งปราศจากไฟสปอร์ตไลท์แรงสูงเช่นปัจจุบัน ...
2. การส่งข่าวการเห็นเดือนระหว่างเมืองต่อเมืองด้วยการใช้สัญญาณไฟ ขัดแย้งกับเงื่อนไขที่นักวิชาการญุมฮูรฺ(นักวิชาการส่วนใหญ่ของ 4 มัษฮับ) กำหนดว่า ข่าวการเห็นเดือนที่เชื่อถือได้ จะต้องกระทำโดยบุคคลที่มีคุณธรรมจากเมืองที่เห็นเดือน ไปแจ้งข่าวการเห็นเดือนนั้นต่อผู้นำของเมืองที่ไม่เห็นเดือนเท่านั้น ...
ท่านเช็คมะห์มูด มุหัมมัดค็อฏฏอบ อัซ-ซุบกีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-มันฮัลฯ” อันเป็นหนังสืออธิบายหะดีษของท่านอบูดาวูด เล่มที่ 10 หน้า 51 ว่า ..
وَقَالَ أَهْلُ هَذَااْلَمَذْهَبِ : إِنَّمَا يَلْزَمُ الصِّيَامُ مَنْ لَمْ يَرَوْا بِرُؤْيَةِ غَيْرِهِمْ إِذَاثَبَتَ عِنْدَهُمْ رُؤْيَةُ أُؤلَئِكَ بِطَرِيْقٍ شَرْعِىٍّ مُوْجِبٍ بِشَهَادَتِهِمْ، كَأَن يَّشْهَدَ اثْنَانِ فَأَكْثَرَ أَنَّ قَاضِىَ بَلَدِكَذَا شَهِدَ عِنْدَهُ اِثْنَانِ بِرُؤْيَةِ اْلِهلاَلِ فِىْ لَيْلَةِكَذَا وَقَضَى بِشَهَادَتِهِمَا فَلِهَذَاالْقَاضِىْ أَن يَّحْكُمَ بِشَهَادَتِهِمَا
“ผู้ที่ยึดถือตามทัศนะนี้ (คือ ทัศนะที่ว่าเมื่อมีการเห็นเดือนที่เมืองหรือประเทศใด ก็จำเป็นสำหรับเมืองหรือประเทศอื่นจะต้องปฏิบัติตามการเห็นเดือนนั้น) กล่าวว่า การจำเป็นต้องถือศีลอดสำหรับผู้ที่ไม่เห็นเดือน ด้วยการปฏิบัติตามการเห็นเดือนของผู้อื่น จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อการเห็น (เดือนเสี้ยวของเมืองอื่น)นั้น เป็นที่แน่ชัดสำหรับพวกเขาตามแนวทางของบทบัญญัติ ด้วยการเป็นพยานของพวกเขาเองเท่านั้น, อย่างเช่น มีบุคคล 2 คนหรือมากกว่าสองคน ไปเป็นพยานยืนยัน (ต่อผู้นำของประเทศที่ไม่มีการเห็นเดือน) ว่า แท้จริง มีบุคคล 2 คน ได้ไปเป็นพยานยืนยันต่อผู้นำของประเทศนั้นๆว่า เขาทั้งสองได้เห็นเดือนเสี้ยวในคืนนั้นๆ ..และผู้นำของประเทศนั้นก็ยอมรับการเป็นพยานของบุคคลทั้งสองนั้นแล้ว ในกรณีนี้ ก็อนุญาตให้ผู้นำของเมืองนี้ ตัดสินยอมรับการเป็นพยานของเขาทั้งสอง” .. (ด้วยการประกาศให้ชาวเมืองของตนถือศีลอดหรือออกอีดตามการเห็นเดือนในประเทศอื่นดังกล่าวได้) ...
เงื่อนไขและคำกล่าวของท่านเช็คมะห์มูด มุหัมมัด ซุบกีย์ ข้างต้นนี้ สอดคล้องตรงกันกับคำกล่าวของท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 4 หน้า 123 โดยอ้างมาจากคำพูดของท่านอัล-กุรฺฏุบีย์ ...
ก็คงเข้าใจนะครับ ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น