อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พิธีโกนผมไฟและขึ้นเปลเด็กแรกเกิด ที่แท้ไม่ใช่การทำอากีเกาะฮ์


พิธีกรรมหนึ่งที่มีการจัดขึ้นในสังคมมุสลิมบ้านเรา อันเป็นพิธีรับขวัญเด็กแรกเกิด นั้นคือ พิธีโกนผมไฟ และพิธีขึ้นเปลรับขวัญเด็ก

ซึ่งหากดูผิวเผินแล้ว ก็จะเข้าใจว่ามันเป็นพิธีกรรมตามบทบัญญัติอิสลาม ที่เป็นแบบอย่างมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) สืบทอดมายังบรรดาเศาะหาบะฮ์ และมายังบรรดาบรรพชนยุคหลังเศาะหาบะฮฺ จนมาถึงพวกเราทุกวันนี้ คือจะเข้าใจว่า มันคือ พิธีทำอากีเกาะฮ์ (แกกะฮ์) ตามแบบฉบับของท่านรสูล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เพราะในพิธีทำอากีเกาะฮ์นั้นจะมีการโกนผมเด็กอยู่ในพิธีดังกล่าวด้วย

 แต่หากมีการสังเกตรายละเอียดแล้วมันกลับไม่ใช่ แต่มันคือประเพณีพิธีกรรมของคนเก่าแก่โบร่ำโบราณที่สืบต่อกันมา ที่ผสมผสานระหว่างพิธีกรรมของพราหมณ์ และอิสลาม(ที่อุตริขึ้นมาเป็นการเฉพาะ) คือสำหรับวิธีโกนผมไฟ การขึ้นเปล ตลอดจนความเชื่อต่างๆก่อนทำพิธี ได้แก่ การห้ามทำพิธีโกนผมไฟ และขึ้นเปล จนกว่าสายสะดือจะหลุดจากสะดือเด็กเสียก่อน (ต่างกับการทำอากีเกาะฮ์ ที่ให้ทำในวันที่ 7 นับแต่วันเด็กเกิด โดยไม่มีเงื่อนไขว่าสายสะดื้อต้องหลุดก่อน) วันที่ทำพิธีต้องเป็นวันคี่ โดยดูจากปฏิทินจันทรคติของไทย ไม่ใช่ตามวันที่ปฏิทินฮิศเราะฮ์ศักราช  เช่นวันที่ 21 มิถุนายน 2558 (สุริยคติ) จะตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนแปด(8) ปีมะแม ของปฏิทินจันทรคติของไทย (มุสลิมบางคนเข้าใจว่าเป็นวันปฏิทินอิสลาม โดยจะดูฤกษ์วันต่างๆตามปฏิทินจันทรคติของไทย ได้แก่ดูฤกษ์วันแต่งงาน ออกรถ หรือขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ)  ซึ่งหากดูตามวันปฏิทินอิสลาม วันนี้จะตรงกับวันที่  4 เดือนรอมาฎอน (เดือนที่ 9) โดยนับตั้งแต่เข้าเวลาละหมาดมัฆริบของวันที่ 20 (ของไทย) จนถึงเข้าเวลามัฆริบของวันที่ 21(ของไทย) ซึ่งหากสายสะดือหลุดจากสะดือเด็กในวันนี้ ก็จะทำพิธีโกนผมไฟและขึ้นเปลเด็กไม่ได้ เพราะตรงกับขึ้น 6 ค่ำ ซึ่งเป็นวันคู่  ต้องทำพิธีถัดไปอีกวันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันคี่นั้นเอง ห้ามมิให้นำเด็กลงเปลเพื่อให้เด็กนอน จนกว่าจะทำพิธีขึ้นเปลเด็กเสียก่อน และยังมีความเชื่ออื่นๆอีก ได้แก่ การห้ามให้สะดือตกลงน้ำ โดยมีความเชื่อว่า จะทำให้เด็กคนนี้จะเสียชีวิตด้วยการจมน้ำ หากเด็กกำมือ เด็กคนนี้จะเป็นคนตระหนี่ขี้เหนียว เป็นต้น  ซึ่งพิธีกรรมละหลักความเชื่อดังกล่าวข้างต้น มีที่มาจากพราหมณ์ และคนโบราณ

สำหรับการอ่านบัณซันญีในพิธีขึ้นเปลเด็ก อันเป็นบทร้อยแก้ว และบทร้อยกรอง ไม่ใช่หนังสือศาสนา ทั้งเรื่องที่แต่งขึ้น ผสมผสานกับเรื่องเล่าปรำปรา หรืออุปโลกน์ขึ้นมาปะปน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกอุตริขึ้นมาทั้งสิ้น หากผู้ที่อ่านหรือทำพิธีเชื่อว่าการอ่านมันแล้วเป็นเรื่องอิบาดะฮฺและได้รับผลบุญมันก็เป็นที่ต้องห้าม

จะเห็นได้ว่าพิธีโกนผมไฟเด็ก (นุหรีโกนหัว) พิธีขึ้นเปล (นุหรีขึ้นเปล) มันไม่ใช่การทำอากีเกาะฮฺตามหลักศาสนาอย่างที่คิด เพราะการทำพิธีเหล่านี้ ไม่ได้มีการยึดติดกับการเชือสัตว์อากีเกาะฮ์เด็ก  แต่เป็นพิธีที่แยกต่างหาก ซึ่งพวกเขาจะให้ความสำคัญกับพิธีโกนผมไฟและขึ้นเปลเด็ก และมีหลักปฏิบัติโดยนำพิธีพราหมณ์และคนโบราณมาประกอบในพิธี เหมือนพิธีอื่นๆ เช่น พิธียกเสาเอก พิธีขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น และจะให้โต๊ะลาแบทำการกินบุญ และขอดุอาอ์ให้เหมือนพิธีทำบุญอื่นๆ

แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับการทำอากีเกาะเด็กเท่าไหร่หนัก หนำซ้ำมุสลิมบางคนในกำปงนั้นอาจไม่ทราบเสียด้วยซ้ำว่ามีการทำอากีเกาะฮฺสำหรับเด็กแรกเกิดตามบทบัญญัติอิสลาม ทั้งที่การทำอากีเกาะฮฺ (การเชือดอันเนื่องจากการเกิดของเด็ก) ถือเป็นสุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ (สุนนะฮฺที่เน้นหนักให้กระทำ) ถึงแม้ว่าพ่อของเด็กจะยากจนก็ตาม และนักวิชาการบางท่านเห็นว่า มันจำเป็นจะต้องทำ (วาญิบ) ได้แก่ ท่านอัลลัยษ์ และดาวูด อัซซอหิรี เป็นต้น

สำหรับนักวิชาการบางท่านได้มองว่าการทำพิธีขึ้นเปลรับขวัญเด็กเป็นเรื่องประเพณีมิใช่พิธีกรรมทางศาสนา ไม่มีสิ่งใดที่เป็นข้อห้ามทางศาสนา แต่เมื่อวิเคราะห์ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะพบว่า พิธีกรรมเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นประเพณีตามปกติ แต่มีหลักความเชื่อ และหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นเข้ามาปะปนด้วย

ซึ่งหากผู้รู้ศาสนา หรืออิมามมีการเน้นหนักให้คนในกำปงมีการปฏิบัติตามสุนนะฮฺนบีอย่างเคร่งคลัด และละทิ้งพิธีกรรมต่างๆ ที่สืบต่อกันมาอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติอิสลามนั้นเสีย ด้วยการพรำสอน และทำความเข้าใจแก่สัปบุรุษในกำปง โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ทีมีอิทธิพลในการปฏิบัติพิธี ว่าสิ่งที่ปฏิบัตินั้นไม่มีอยู่ในบทบัญญัติอิสลาม จะทำให้มุสลิมเกิดความเข้าใจ และมุ่งปฏิบัติในพิธีที่เป็นสุนนะฮฺอย่างเคร่งคลัดต่อไป




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น