โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
หะดีษบทที่ 2 หะดีษกุร็อยบ์
ท่านกุร็อยบ์ เป็นตาบิอีน (สิ้นชีวิตที่นครมดีนะฮ์เมื่อปี ฮ.ศ. 98) .. เป็นคนสนิทของท่านอุมมุลฟัฎล์ ร.ฎ. (ท่านอุมมุลฟัฎล์ ชื่อจริงคือ ลุบาบะฮ์ บินติฮาริษ เป็นพี่สาวของท่านหญิงมัยมูนะฮ์ ภริยาของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และเป็นมารดาของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.) ...
ท่านอุมมุลฟัฎล์ ร.ฎ. ได้ส่งท่านกุร็อยบ์ไปหาท่านมุอาวิยะฮ์ที่เมืองชาม (ปัจจุบันก็คือกรุงดามัชกัตเมืองหลวงของประเทศซีเรีย อยู่ทางทิศเหนือเยื้องตะวันตกนิดๆและห่างจากนครมดีนะฮ์ประมาณ 1100 กิโลเมตร) ตั้งแต่ก่อนเดือนรอมะฎอน พอปลายเดือนรอมะฎอนท่านกุร็อยบ์ก็กลับมามดีนะฮ์ ...
ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ได้สอบถามท่านกุร็อยบ์ถึงเรื่องเดือนเสี้ยวรอมะฎอนที่เมืองชาม ท่านกุร็อยบ์บอกว่า เมืองชามถือศีลอดวันศุกร์ เพราะที่โน่นเห็นเดือนเสี้ยวในคืนศุกร์ ...
ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ถามท่านกุร็อยบ์ว่า ท่านเห็นเดือนเสี้ยวด้วยหรือไม่ ? ..ท่านกุร็อยบ์ตอบว่า ครับ (คือ ผมเห็น) ท่านมุอาวิยะฮ์และประชาชนชาวเมืองชามก็เห็น
บทสนทนาตอนนี้จากการที่ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.ถามย้ำเรื่องการเห็นเดือนของท่านกุร็อยบ์ซึ่งเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมและเป็นคนสนิทของท่าน เป็นหลักฐานว่า ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. เชื่อคำบอกเล่าของท่านกุร็อยบ์ว่าที่เมืองชามมีการเห็นเดือนเสี้ยวในคืนศุกร์จริง จึงเป็นข้อหักล้างคำกล่าวของนักวิชาการบางท่านที่อ้างมั่วว่า ที่ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ไม่ยอมออกบวชตามการเห็นเดือนเมืองชามดังคำชักชวนของท่านกุร็อยบ์ เพราะท่านไม่เชื่อเรื่องการเห็นเดือนของท่านกุร็อยบ์ ...
การสนทนาต่อไปนี้ คือ “จุดสำคัญ” ของหะดีษบทนี้ ซึ่งผมจะนำลงจนจบแล้วอธิบาย คือ ...
فَقَالَ : لَكِنَّا رَأَيْنَاهُ لَيْلَةَ السَّبْتِ فَلاَ نَزَالُ نَصُوْمُ حَتَّى نُكْمِلَ ثَلاَثِيْنَ أَوْ نَرَآهُ، فَقُلْتُ : أَفَلاَ تَكْتَفِىْ بِرُؤْيَةِ مُعَاوِيَةَ وَصِيَامِهِ؟ فَقَالَ : لاَ! هَكَذَا أَمَرَنَا رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ
ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. จึงกล่าวว่า “แต่พวกเราเห็นมันในคืนวันเสาร์, ดังนั้น เราจะยังคงถือศีลอดกันต่อไปจนกว่าจะนับเดือนครบ 30 วัน หรือจนกว่าจะเห็นเดือนเสี้ยว”.. ฉัน (กุร็อยบ์) จึงถามว่า “การเห็นเดือนของท่านมุอาวิยะฮ์และการถือศีลอดของเขาจะยังไม่เพียงพอสำหรับท่านอีกหรือ?” ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ตอบว่า “ไม่! อย่างนี้แหละที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้สั่งใช้เราไว้” ...
หะดีษบทนี้ บันทึกโดยท่านมุสลิม (หะดีษที่ 28/1087), ท่านอบูดาวูด (หะดีษที่ 2332), ท่านอัน-นะซาอีย์ (หะดีษที่ 2110), ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ (หะดีษที่ 693), ท่านอัล-บัยฮะกีย์ (เล่มที่ 4 หน้า 251) และท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ในหนังสือ “มุชกิล อัล-อาษารฺ” (เล่มที่ 1 หน้า 140 หรือหะดีษที่ 464) ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง ...
อธิบาย
ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. แสดงเจตจำนงว่า พวกท่านและชาวมดีนะฮ์จะถือบวชต่อไปและ “จะไม่ออกอีด” จนกว่าจะนับเดือนครบ 30 วัน หรือจนกว่าจะเห็นเดือนเสี้ยว ตามการเห็นเดือนคืนวันเสาร์ของชาวมดีนะฮ์ (โดยจะไม่คำนึงถึงการเห็นเดือนคืนศุกร์ของชาวเมืองชามแต่ประการใด) ...
ข้อความตอนนี้แสดงว่า ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.พูดถึงเรื่องอนาคตคือการออกอีด และการเสนอแนะต่อมาของท่านกุร็อยบ์ก็มิใช่เป็นการพูดเรื่องอดีต คือการเริ่มถือบวชที่ผ่านมาแล้วซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ท่านกุร็อยบ์จะเสนอแนะให้ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.กลับไปถือบวชในวันศุกร์พร้อมกับชาวเมืองชาม .. ดังความเข้าใจผิดของนักวิชาการประเทศไทยบางท่าน ...
ท่านกุร็อยบ์ได้ถามเชิงเสนอแนะต่อท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ว่า ให้ออกอีดโดย “ต่อยอด” จากการเห็นเดือนคืนวันศุกร์ของชาวเมืองชาม - ไม่ใช่ออกอีดตามการเห็นเดือนคืนวันเสาร์ของชาวมดีนะฮ์ – จะได้หรือไม่ .. ด้วยคำพูดที่ว่า ...
أَفَلاَ تَكْتَفِىْ بِرُؤْيَةِ مُعَاوِيَةَ وَصِيَامِهِ؟
“การเห็นเดือนของท่านมุอาวิยะฮ์และการถือศีลอดของเขาจะยังไม่เพียงพอสำหรับท่าน (ที่จะปฏิบัติตามในการออกอีด) อีกหรือ?”
ซึ่งท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ก็ตอบปฏิเสธทันควันว่า ...
لاَ! هَكَذَا أَمَرَنَا رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ..
“ไม่! อย่างนี้แหละ (คือลักษณะอย่างนี้แหละ) ที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้สั่งใช้เราไว้” ...
คำว่า لاَ (ไม่ ! ) ของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. เป็นการพูดปฏิเสธแบบย่อๆแต่เด็ดเดี่ยวเพื่อความกระชับ ซึ่งคำเต็มของมันก็คือ .. نََكْتَفِىْ بِرُؤْيَةِ مُعَاوِيَةَ وَصِيَامِهِ لاَ : “การเห็นเดือนและการถือศีลอดของมุอาวิยะฮ์ ไม่เพียงพอสำหรับพวกเรา .. (คือ เราไม่ตามหรอก) .. อย่างนี้แหละที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้สั่งใช้เราไว้” ...
ไม่ว่าใครก็ตาม – ถ้าไม่คิดมากหรือคิดลึกจนเกินไป – เมื่อได้ฟังคำถามของท่านกุร็อยบ์ และฟังคำตอบของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ในตอนท้ายสุดนี้ ก็ย่อมจะเข้าใจ – เหมือนอย่างที่ท่านมุสลิม, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์, ท่านอัน-นะซาอีย์, ท่านอิหม่ามนะวะวีย์, ท่านมุบาร็อกปูรีย์ ท่านเช็คมะห์มูด มุหัมมัดค็อฏฏอบ อัซ-ซุบกีย์ และนักวิชาการอื่นๆอีก – เข้าใจ .. ในทันทีว่า การที่ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.ปฏิเสธที่จะตามการเห็นเดือนของท่านมุอาวิยะฮ์ที่เมืองชาม ก็เพราะท่านปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ที่เคยสั่งไว้ในลักษณะว่า ในการถือศีลอดหรือการออกอีดนั้น ให้ยึดถือการเห็นเดือนเสี้ยวของเมืองเองเป็นเกณฑ์, ไม่จำเป็น (คือไม่วาญิบ) จะต้องไปตามการเห็นเดือนของเมืองอื่น ...
การวิเคราะห์ในแง่ภาษา
คำว่า هَكَذَا จากคำพูดของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. เป็นคำที่มีความหมาย “บ่งชี้เชิงเปรียบเทียบ” ถึงประโยคหรือคำที่ใกล้ที่สุด(คำที่ใกล้ที่สุดกับ هَكَذَا คือคำว่า لاَ) .. ดังนั้นคำพูดของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ที่ว่า ...
لاَ! هَكَذَا أَمَرَنَا رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ
จึงมีความหมายเป็นภาษาไทยว่า ... “ไม่ ! (เราไม่ตามมุอาวิยะฮ์หรอก) .. อย่างนี้แหละที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยสั่งเราไว้ ...
ปัญหาก็คือ “อย่างนี้แหละ” คืออย่างไหน ??? ....
ก่อนที่จะอธิบายปัญหานี้ ผมขอถามท่านผู้อ่านสักนิดก่อนว่า ...
คำว่า “สิ่งนั้น” (ภาษาอาหรับใช้คำว่า ذَلِكَ).. กับคำว่า “อย่างนี้” หรือ “ลักษณะอย่างนี้” (ภาษาอาหรับใช้คำว่า هَكَذَا) มีความหมายเหมือนหรือต่างกันครับ ? ...
ท่านก็คงตอบว่า “ต่างกัน” เพราะคำแรกคือคำว่า “สิ่งนั้น” (ذَلِكَ) เป็นคำบ่งชี้ชัดเจนถึงสิ่งที่อยู่ห่างตัวออกไป, ส่วนคำหลัง คือคำว่า “อย่างนี้” หรือ “ลักษณะอย่างนี้” (هَكَذَا) เป็นคำ “บ่งชี้เชิงเปรียบเทียบ” สิ่งอื่นกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวว่า มีลักษณะคล้ายๆกัน!
เพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับภาษา ผมจึงขออภัยที่ต้องอธิบายความแตกต่างของคำว่า بِذَلِكَ กับคำว่า هَكَذَا ในแง่ภาษาอาหรับเพิ่มเติมว่า ...
จากคำว่า بِذَلِكَ .. พยัญชนะ ذَ ตามปกติ เป็นคำบ่งชี้ถึงสิ่งใกล้ตัว, ส่วนพยัญชนะ لِ ในคำๆนี้ ไวยากรณ์อาหรับเรียกว่า “ลามลิ้ลบุอฺดิ” (لِلْبُعْدِ) คือแสดงตำแหน่งห่างออกไป .. คำๆนี้จึงเป็นการ “บ่งชี้ถึงสิ่งที่ห่างตัวออกไปไม่มาก” จึงแปลเป็นภาษาไทยว่า “สิ่งนั้น” (ตรงกับภาษาอังกฤษว่า THAT ) ...
ส่วนคำว่า هَكَذَا .. พยัญชนะ “كَ” ในคำๆนี้ ไวยากรณ์อาหรับเรียกว่า “ก้าฟ ลิตตัชบีฮ์” (لِلتَّشْبِيْهِ) คือ เปรียบเทียบความเหมือนหรือความคล้ายคลึง ...
เพราะฉะนั้น คำว่า هَكَذَا จึงเป็นคำพูด “บ่งชี้ถึงสิ่งใกล้ตัวที่สุดในลักษณะเปรียบเทียบความคล้ายคลึง” .. จึงแปลเป็นภาษาไทยว่า “อย่างนี้” หรือ “ลักษณะอย่างนี้” ดังที่อธิบายมาแล้ว ...
ตัวอย่างเช่น ประโยคที่หนึ่งกล่าวว่า ...
ذَلِكَ مَا أَكَلْتُ : (นั่นแหละคือสิ่งที่เราเคยกิน .. เป็นการบ่งชี้ชัดเจนไปยังอาหารอย่างหนึ่งที่อยู่ “ห่างตัว” ออกไปที่ผู้พูดเคยกิน) ...
ส่วนประโยคที่สองกล่าวว่า ...
هَكَذَا أَكَلْتُ : (อย่างนี้แหละที่เราเคยกิน .. เป็นการบ่งชี้ถึงอาหารที่อยู่ “ใกล้ตัว” ว่าคล้ายๆกับอาหารที่ผู้พูดเคยกิน) ...
(ความหมายสองประโยคนี้ เหมือนกันไหมครับ ?? ...
เมื่อท่านเข้าใจแล้ว ก็ขอวกเข้าประเด็นอธิบายหะดีษบทนี้ในแง่ภาษาครับ ...
นักวิชาการบางท่าน ได้นำข้อความของหะดีษบางบทที่มีคำว่า بِذَلِكَ (สิ่งนั้น) ในหะดีษบทนั้น มาเปรียบเทียบกับคำว่า هَكَذَا (อย่างนี้) ในหะดีษของท่านกุร็อยบ์บทนี้ แล้วอธิบายว่าทั้งสองคำนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน ...
แต่ขอโทษที่ผมต้องบอกว่า ท่านเข้าใจผิด .. เพราะทั้งสองคำนี้มีความหมายต่างกัน ดังที่ผมอธิบายและยกตัวอย่างไปนั้น! ..
และความเข้าใจผิดในความหมายสองคำนี้ของท่านก็ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการอธิบายความหมายหะดีษกุร็อยบ์ .. คือ ท่านพยายามอธิบายคำพูดของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ที่ว่า ..
هَكَذَا أَمَرَنَا رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ
(ลักษณะอย่างนี้แหละที่ท่านรอศู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเคยสั่งเราไว้) .. ว่า คำว่า هَكَذَا ในประโยคนี้บ่งชี้ไปยังคำกล่าวที่อยู่ “ห่างไกล”ออกไป คือคำว่า ...
فَلاَ نَزَالُ نَصُوْمُ حَتَّى نُكْمِلَ ثَلاَثِيْنَ أَوْ نَرَآهُ،
.. ทั้งๆที่ระหว่างคำว่า هَكَذَا กับคำว่า ............ فَلاَ نَزَالُ نَصُوْمُ อยู่ห่างกันเพราะยังมีคำอื่นคั่นกลางอยู่อีก 2 ประโยค ...
การบ่งชี้ในลักษณะนี้ของท่าน ถือเป็นการผิดธรรมชาติของภาษาอาหรับที่คำว่า هَكَذَا จะต้องบ่งชี้ถึงสิ่งที่อยู่ “ใกล้ตัว” เสมอ และเป็นการบ่งชี้ในลักษณะเปรียบเทียบ, ไม่ใช่เป็นคำบ่งชี้ชัดเจนถึงสิ่ง “ไกลตัว” อย่างคำว่า ذَلِكَ ...
สมมุติถ้าท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ต้องการจะพูดบ่งชี้ชัดเจนไปยังคำว่า فَلاَ نَزَالُ نَصُوْمُ ... ซึ่งอยู่ห่างออกไป - ดังความเข้าใจของ อ.ท่านนั้น - ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ก็ต้องกล่าวแก่ท่านกุร็อยบ์ด้วยคำว่า ..أَمَرَنَا رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ما لاَ! ذَلِكَ
ซึ่งมีความหมายว่า (ไม่ ! “สิ่งนั้นแหละ” คือสิ่งที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมเคยสั่งเราไว้) ซึ่งจะเป็นคำที่มีความหมายบ่งชี้ “ชัดเจนถึงสิ่งที่อยู่ห่างตัวออกไป” ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ...
แต่ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.กล่าวว่าلاَ! هَكَذَا أَمَرَنَا رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ อันมีความหมายว่า .. (ไม่ ! “อย่างนี้แหละ” ที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยสั่งเราไว้) ..
เพราะฉะนั้น ความหมายของคำว่า هَكَذَا (อย่างนี้แหละ) ของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ในหะดีษกุร็อยบ์จึงมีความหมายว่า การที่ท่านปฏิเสธไม่ยอมตามการเห็นเดือนเสี้ยวของมุอาวิยะฮ์ ก็เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบีย์ที่เคยสั่งไว้ในลักษณะว่า ไม่จำเป็นต้องไปตามการเห็นเดือนเสี้ยวของเมืองอื่นในการถือบวชออกบวชหรอก แต่ให้ดูเดือนเสี้ยวในเมืองของตัวเองก็ได้ ...
คำอธิบายความหมายหะดีษตอนนี้, ในลักษณะนี้ มิใช่ผมอธิบายเอง .. แต่เป็นคำอธิบายของท่านเช็คมะห์มูด มุหัมมัดค็อฏฏอบ อัซ-ซุบกีย์ ที่ได้อธิบายเอาไว้ว่า ....
(قَوْلُهُ هَكَذَا أَمَرَنَا رَسُوْلُ اللهِ) أَىْ أَمَرَنَا أَنْ لاَ نَعْتَمِدَ عَلَى رُؤْيَةِ غَيْرِنَا، وَلاَ نَكْتَفِىَ بِهَا، بَلْ لاَ نَعْتَمِدُ إِلاَّ عَلَى رُؤْيَةِ أَهْلِ بَلَدِنَا، ..... وَهَذَا هُوَ الْمُتَبَادِرُ
(คำพูดของท่านอิบนุอับบาสที่ว่า อย่างนี้แหละที่ท่านรอซู้ลฯ ได้สั่งใช้เรา) .. คือ ท่านรอซู้ลฯ ได้สั่งเรา(ในลักษณะ)ว่า ไม่ต้องไปยึดถือการเห็นเดือนของที่อื่นจากพวกเรา, และไม่ต้องไปตามการเห็นเดือนของเขา .. ไม่ ! เราไม่จำเป็นต้องยึดถือการเห็นเดือน (จากที่ใด) นอกจากการเห็นเดือนของชาวเมืองเราเองเท่านั้น ......... นี่คือ สิ่งที่เข้าใจได้ในทันที (จากคำกล่าวของท่านอิบนุอับบาสข้างต้นนี้) ...
(จากหนังสือ “อัล-มันฮัลฯ” เล่มที่ 10 หน้า 51)
การวิเคราะห์ด้านความหมาย
คำอธิบายของผู้รายงานและนักวิชาการเกี่ยวกับความหมายหะดีษกุร็อยบ์
ก. ท่านมุสลิม (สิ้นชีวิตปีฮ.ศ. 261) ได้กล่าวในการตั้งชื่อบทหะดีษของท่านกุร็อยบ์บทนี้ด้วยข้อความว่า ...
بَابُ بَيَانِ أَنَّ لِكُلِّ بَلَدٍ رُؤْيَتَهُمْ، وَأَنَّهُمْ إِذَا رَأَوُاالْهِلاَلَ لاَيَثْبُتُ حُكْمُهُ لِمَا بَعُدَ عَنْهُمْ
“บทว่าด้วยการอธิบายว่า สำหรับแต่ละเมือง ก็ให้ชาวเมืองดูเดือน (เพื่อกำหนดวันถือศีลอดและวันออกอีด) ของตนเอง, .. และเมื่อใดที่พวกเขาเห็นเดือนเสี้ยว หุก่มการเห็นเดือนของพวกเขา จะไปกำหนดสำหรับเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลจากพวกเขาไม่ได้” ...
ข. ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ (สิ้นชีวิตปีฮ.ศ. 676)ได้กล่าวในการอธิบายการตั้งชื่อบทหะดีษของท่านมุสลิมข้างต้นว่า ...
فَيْهِ حَدِيْثُ كُرَيْبٍ عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ، وَهُوَ ظَاهِرُ الدَّلاَلَةِ لِلتَّرْجَمَةِ
“ในบทนี้ มี (กล่าวถึง) หะดีษของท่านกุร็อยบ์, จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.. ซึ่งหะดีษบทนี้ ชัดเจนในการสื่อความหมายของการตั้งชื่อบท” (คือไม่จำเป็นต้องตามการเห็นเดือนจากเมืองอื่น) ...
(จากหนังสือ “ชัรฺหุมุสลิม” ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 7 หน้า 197)
ค. ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ (สิ้นชีวิตปีฮ.ศ. 279) ได้กล่าวในตอนเริ่มต้นหะดีษของท่านกุร็อยบ์บทนี้ว่า ...
بَابُ مَا جَاءَ لِكُلَّ أَهْلِ بَلَدٍ رُؤْيَتُهُمْ
“บทว่าด้วยสิ่ง (คือหะดีษ) ที่มี (รายงาน) มาว่า อนุญาตสำหรับชาวเมืองใดๆนั้น ให้พวกเขาดูเดือนของพวกเขาเอง”
แล้วท่านอัต-ติรฺมีซีย์ก็กล่าวปิดท้ายหะดีษของท่านกุร็อยบ์ด้วยข้อความว่า ...
حَدِيْثُ ابْنِ عَبَّاسٍ حَدِيْثٌ حَسَنٌ صَحِيْحٌ غَرِيْبٌ، وَالْعَمَلُ عَلَى هَذَاالْحَدِيْثِ عِنْدَ أَهْلِ الْعِلْمِ : أَنَّ لِكُلِّ أَهْلِ بَلَدٍ رُؤْيَتَهُمْ ...
“หะดีษของท่านอิบนุอับบาส (บทนี้) เป็นหะดีษที่สวยงาม, ถูกต้อง และฆอรีบ (แปลก), มีการปฏิบัติกันตามหะดีษบทนี้สำหรับบรรดานักวิชาการ : นั่นคือ สำหรับชาวเมืองใด ก็ให้พวกเขาดูเดือนของพวกเขาเอง” ...
ง. ท่านมุบาร็อกปูรีย์ นักวิชาการหะดีษชาวอินเดีย (สิ้นชีวิตปีฮ.ศ. 1353) ได้กล่าวในหนังสือ “ตั๊วะห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” อันเป็นหนังสืออธิบายหะดีษอัต-ติรฺมีซีย์ของท่าน เล่มที่ 3 หน้า 377 ว่า ...
(فَقُلْتُ : أَلاَ تَكْتَفِىْ بِرُؤْيَةِ مُعَاوِيَةَ وَصِيَامِهِ؟ قَالَ : لاَ! إلخ) هَذَا بِظَاهِرِهِ يَدُلُّ عَلَى أَنَّ لِكُلِّ أَهْلِ بَلَدٍ رُؤْيَتَهُمْ، وَلاَ تَكْفِىْ رُؤْيَةُ أَهْلِ بَلَدٍ ِلأَهْلِ بَلَدٍ آخَرَ ...
“แล้วฉัน (กุร็อยบ์) จึงกล่าวถามว่า .. “การเห็นเดือนของท่านมุอาวิยะฮ์และการถือศีลอดของเขายังไม่เพียงพอสำหรับท่านอีกหรือ?” ท่านอิบนุอับบาสก็ตอบว่า “ไม่!” คำตอบนี้ ตามรูปการณ์แล้วแสดงว่า แต่ละเมืองมีสิทธิจะดูเดือนของตนเอง, และการเห็นเดือน ณ เมืองหนึ่ง ไม่เพียงพอ (คือไม่จำเป็น) สำหรับอีกเมืองหนึ่ง”
จ. ท่านอัน-นะซาอีย์ ได้ตั้งบทเกี่ยวกับหะดีษของท่านกุร็อยบ์ไว้เช่นกันว่า ...
إِخْتِلاَفُ أَهْلِ اْلآفَاقِ فِى الرُّؤْيَةِ
“ความแตกต่างของชาวเมืองต่างๆในการเห็นเดือน”
ซึ่งท่านอิหม่ามอัซ-ซินดี้ย์ได้อธิบายว่า การตั้งชื่อบทดังกล่าวของท่านอัน-นะซาอีย์ มีความโน้มเอียงไปในด้านความหมายที่สอง (คือ ประชาชนแต่ละเมืองมีสิทธิดูเดือนของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องไปตามการเห็นเดือนของเมืองอื่น) ...
(จากหนังสือ “สุนันอัน-นะซาอีย์” พร้อมคำอธิบายของท่านอิหม่ามอัซ-ซินดี้ย์ เล่มที่ 4 หน้า 436) ...
ฉ. ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 4 หน้า 123 ว่า ...
وَقَدِ اخْتَلَفَ الْعُلَمَاءُ فِىْ ذَلِكَ عَلَى مَذَاهِبَ، أَحَدُهَا ِلأَهْلِ كُلِّ بَلَدٍ رُؤْيَتُهُمْ، وَفِىْ صَحِيْحِ مُسْلِمٍ مِنْ حَدِيْثِ ابْنِ عَبَّاسٍ مَا يَشْهَدُ لَهُ ...
“บรรดานักวิชาการได้ขัดแย้งกันในเรื่องนี้ (คือเรื่องการดูเดือนเสี้ยวเพื่อกำหนดวันถือศีลอดและวันออกอีด) เป็นหลายทัศนะด้วยกัน ทัศนะที่หนึ่ง อนุญาตให้ประชาชนแต่ละเมือง ปฏิบัติตามการเห็นเดือนของตนเองได้ .. ซึ่งในหนังสือเศาะเหี๊ยะฮ์มุสลิม มีรายงานจากท่านอิบนุอับบาส (หมายถึงหะดีษกุร็อยบ์บทนี้) เป็นสิ่งยืนยันทัศนะนี้” ...
หมายเหตุ
มีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า สมมุติถ้าท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ทราบข่าวการเห็นเดือนของเมืองชามมาตั้งแต่ต้น ท่านก็คงยอมรับและปฏิบัติตามอย่างแน่นอน ...
ผมขอชี้แจงว่า การที่ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ปฏิเสธที่จะตามการเห็นเดือนของเมืองชาม มิใช่เป็นการปฏิบัติตามอารมณ์ของท่านเอง แต่ท่านก็บอกแล้วว่า ท่านปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ! ...
เพราะฉะนั้น การทราบข่าวของท่านตอนต้นเดือนหรือปลายเดือนจึงมิใช่ประเด็นในเรื่องตามหรือไม่ตามครับ ...
ท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ ได้กล่าวอธิบายข้อความดังข้างต้นนี้ไว้ในหนังสือ “มุชกิล อัล-อาษารฺ” เล่มที่ 1 หน้า 141 ว่า ...
وَلَيْسَ فِيْهِ عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ أَنَّهُ لَوْ كَانَ ذَلِكَ إِتَّصَلَ بِهِ فِىْ حَالِ قُدْرَتِهِ عَلَى اسْتِعْمَالِ ذَلِكَ الْخَبَرِ فِى الصَّوْمِ يَسْتَعْمِلُهُ ....
“ไม่มีสิ่งใดเลยในหะดีษนี้ที่จะบ่งบอกว่า สมมุติถ้าท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ได้รับข่าว (การเห็นเดือน) ในขณะที่ท่านสามารถจะปฏิบัติตามข่าวในการถือศีลอดได้ (หมายถึงสมมุติถ้าได้รับข่าวการเห็นเดือนที่เมืองชามตั้งแต่ต้นเดือน) แล้วท่านจะนำมันมาปฏิบัติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น