الوضوء |
قال الله تعالى : يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا إِذَا قُمْتُمْ إِلَى الصَّلَاةِ فَاغْسِلُوا وُجُوهَكُمْ وَأَيْدِيَكُمْ إِلَى الْمَرَافِقِ وَامْسَحُوا بِرُءُوسِكُمْ وَأَرْجُلَكُمْ إِلَى الْكَعْبَيْنِ
ความหมาย
อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงมีรับสั่งว่า “โอ้บรรดาผู้มีศรัทธา เมื่อใดที่พวกท่านประสงค์จะละหมาด พวกท่านจง ล้าง ใบหน้าของพวกท่าน และพวกท่านจงล้างมือของพวกท่านจนถึงข้อศอก และพวกท่านจงลูบเช็ด ศีรษะ ของพวกท่าน และ พวกท่านจงล้างเท้าของพวกท่านจนถึงตาตุ่มทั้งสอง ”
ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์ที่ 6
อัลวุฎูอฺ น้ำละหมาดคืออะไร ?
อัลวฎูอฺ ( اَلْوُضُوْءُ ) หรือการอาบน้ำละหมาด คือ การใช้น้ำทำความสะอาดใบหน้า มือ แขน ศีรษะและเท้าตาม ขั้น ตอนที่ศาสนาบัญญัติ ส่วนคำว่า อัลวะฎูอฺ ( اَلْوَضُوْءُ ) นั้นแปลว่า น้ำสำหรับใช้อาบน้ำละหมาด
คุณค่าและความประเสริฐบางประการของการอาบน้ำละหมาด
1.การอาบน้ำละหมาด เป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้การละหมาดนั้นใช้ได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ( เซาะฮ์ ) ท่านอาบู ฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
لاَ يَقْبَلُ اللَّهُ صَلاَةَ أَحَدِكُمْ إِذَا أَحْدَثَ حَتَّى يَتَوَضَّأَ
“อัลลอฮ์จะทรงไม่พิจารณาตอบรับการละหมาดของผู้หนึ่งผู้ใดในหมู่พวกท่านในขณะที่มีหะดัษ จนกว่า เขาจะอาบน้ำละหมาดเสียก่อน ”
บันทึกโดยอะหมัด,อัลบุคอรีย์และอาบูดาวูด
2.การอาบน้ำละหมาดเป็นสาเหตุช่วยให้ความผิดต่างๆได้รับการลบล้างและการอภัยโทษจากอัลลอฮ์ ตะอาลา ท่านค่อ ลีฟะฮ์อุษมานบินอัฟฟาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
مَنْ تَوَضَّأَ فَأَحْسَنَ الْوُضُوءَ خَرَجَتْ خَطَايَاهُ مِنْ جَسَدِهِ حَتَّى تَخْرُجَ مِنْ تَحْتِ أَظْفَارِهِ
“บุคคลใดอาบน้ำละหมาด โดยเขาอาบอย่างดี (คืออย่างถูกต้องและประณีต) ความผิดบาปต่าง ๆ ของเขา จะหลุดออกจากร่างกายของเขา แม้กระทั่งจากไต้ซอกเล็บของเขา ”
บันทึกโดยอะหมัดและมุสลิม
3.การอาบน้ำละหมาด จะเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นประชาชาติของท่านนาบีมูฮำหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ในวันกิยามะฮ์ท่านอาบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า มีผู้เรียนถามท่านรอซูลุลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ ท่าน จะรู้จักประชาติของท่านที่อยู่ในยุคหลัง ๆ ได้อย่างไร ? ท่านรอซูลุลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวตอบว่า “ ท่านบอกเราสิว่า หากชายคนหนึ่งมีม้า ตัวหนึ่งหน้าแด่นเท้าขาวอยู่กลางฝูงม้าสีดำ เขาจะจำม้าของเขาได้ไหม ? ” พวกเขาตอบว่า “ ได้สิครับ ” ท่านรอซู ลุลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวต่ออีกว่า
فَإِنَّهُمْ يَأْتُونَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ غُرًّا مُحَجَّلِينَ مِنْ الْوُضُوءِ
“ แท้จริงพวกเขา (ประชาชาติของฉัน) จะมาในวันกิยามะฮ์ในสภาพที่พวกเขามีใบหน้าและเท้าที่ขาวนวล เป็นประกาย อันเนื่องมากจากการอาบน้ำละหมาด ”
บันทึกโดยอะหมัด,มุสลิม,อันนะซาอีย์และอิบนุมาญะฮ์
วิธีการอาบน้ำละหมาดตามซุนนะฮ์
ลักษณะวิธีการอาบน้ำละหมาดที่ถูกต้องตามซุนนะฮ์หรือแบบฉบับของ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะ ซัลลัม นั้น มีปรากฏตามคำรายงานของท่านฮุมรอน คนรับใช้ของท่าน ค่อลีฟะฮ์อุษมานบินอัฟฟาน ร่อฎิยัลลอ ฮุอันฮุ ว่า
دَعَا بِوَضُوءٍ فَأَفْرَغَ عَلَى يَدَيْهِ مِنْ إِنَائِهِ فَغَسَلَهُمَا ثَلاَثَ مَرَّاتٍ ثُمَّ أَدْخَلَ يَمِينَهُ فِي الْوَضُوءِ ثُمَّ تَمَضْمَضَ وَاسْتَنْشَقَ وَاسْتَنْثَرَ ثُمَّ غَسَلَ وَجْهَهُ ثَلاَثًا وَيَدَيْهِ إِلَى الْمِرْفَقَيْنِ ثَلاَثًا ثُمَّ مَسَحَ بِرَأْسِهِ ثُمَّ غَسَلَ كُلَّ رِجْلٍ ثَلاَثًا،ثُمَّ قَالَ : رَأَيْتُ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَتَوَضَّأُ نَحْوَ وُضُوْئِيْ هَذَا،وَقَالَ:مَنْ تَوَضَّأَ نَحْوَ وُضُوْئِيْ هَذَا ثُمَّ صَلَّى رَكْعَتَيْنِ لاَ يُحَدِّثُ فِيهِمَا نَفْسَهُ غَفَرَ اللهُ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ
“ ท่านอุษมานได้เรียกให้นำน้ำมาอาบน้ำละหมาดโดยเขา(ฮุมรอน)ได้รินน้ำจากภาชนะลงบนมือทั้งสอง แล้วเขา (อุษมาน)ก็ล้างมือนั้น 3ครั้งจากนั้นเขา (อุษมาน) ก็เอามือขวาจุ่มลงไปในน้ำนั้น (เพื่อวักน้ำขึ้นมา) แล้วเขาก็บ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูกและสั่งออกแล้วล้างหน้า 3ครั้งล้างมือทั้งสองจนถึงข้อศอกอีก 3ครั้งลูบเช็ดที่ศีรษะของเขา แล้วจึงล้างเท้าทั้งสองข้างอีก 3 ครั้ง ” และท่านอุษมาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ก็กล่าวขึ้นว่า “ ฉันได้เห็นท่านนาบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมอาบน้ำละหมาดเช่นที่ฉันอาบนี้ และท่าน นาบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็กล่าวว่า ผู้ใดอาบน้ำละหมาดอย่างที่ฉันอาบ จากนั้นเขาละหมาด 2 ร็อกอะฮ์ โดยที่เขามิได้นึกคิดถึงสิ่งใดเลยตลอดทั้ง 2 ร็อกอะฮ์นั้นอัลลอฮ์จะทรงอภัยโทษแก่เขาจาก ความผิดบาปที่ผ่านมาแต่ครั้งอดีต “
บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และอันนะซาอีย์
ท่านอับดุลลอฮ์อิบนุอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา รายงานว่า เขาได้เห็นท่านรอซูลุลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะ ซัลลัม อาบน้ำละหมาด (โดยเล่าถึงลักษณะวิธีว่าท่านรอซูลุลลอฮ์ทำแต่ละขั้นตอนนั้นอย่างละ 3 ครั้ง) ท่านอับดุล ลอฮ์อิบนุ อับาสกล่าวต่อว่า
وَمَسَحَ بِرَأْسِهِ وَأُذُنَيْهِ مَسْحَةً وَاحِدَةً
“และท่านรอซูลุลลอฮ์ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเช็ดศีรษะและใบหูทั้งสองข้างของท่านเพียงครั้งเดียว เท่านั้น”
บันทึกโดยอะหมัดและอาบูดาวูด
สรุปขั้นตอนวิธีการอาบน้ำละหมาด
1.เตรียมน้ำสะอาดไว้พอประมาณ ไม่สมควรใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองฟุ่มเฟือย
2.ล้างมือทั้งสองข้างให้สะอาด ก่อนหยิบจับภาชนะหรือล้วงมือในภาชนะ
3.รินน้ำจากภาชนะใส่มือทั้งสองข้างแล้วล้างพร้อมๆกันให้ทั่วจนถึงข้อมือ พร้อมกล่าวبِسْمِ اللهِ และตั้งเจตนาอาบ น้ำละหมาดเพื่ออัลลอฮ์ ตะอาลา
4. แปรงฟันหรือสีฟันให้สะอาด
5. ใช้มือขวาวักน้ำใส่ปากเพื่อกลั้วปากหรือบ้วนปาก โดยให้เหลือน้ำไว้ส่วนหนึ่งเพื่อสูดเข้าจมูก ใช้มือซ้ายบีบจมูกไว้เล็ก น้อยแล้วสั่งทิ้ง ส่วนน้ำในปากให้กลั้วปากให้สะอาดแล้วบ้วนทิ้ง ให้ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง
6. ล้างใบหน้าให้ทั่ว 3 ครั้ง โดยเริ่มจากชายผมด้านบนจรดรอยพับใต้คาง และระหว่างติ่งหูทั้งสองข้าง โดยพยายามขยี้บริเวณโคนผม และสางจอนข้างหูและเคราที่ดกหนาเพื่อให้น้ำเข้าเปียกทั่วบริเวณใบหน้า
7. ล้างแขนขวาจนถึงข้อศอกให้ทั่ว 3 ครั้ง เสร็จแล้วให้ล้างแขนซ้ายจนถึงข้อศอกให้ทั่วอีก 3 ครั้ง
8. เอามือจุ่มน้ำให้เปียกแล้วลูบเช็ดบนศีรษะให้ทั่ว โดยเริ่มลูบจากศีรษะด้านหน้าจนสุดท้ายทอยด้านหลัง แล้วลูบกลับมาด้านหน้าอีกครั้งโดยไม่ต้องยกมือ แล้ววกลงที่บริเวณใบหูทั้งสองข้างโดยเอานิ้วชี้เช็ดชอน ภายในรอยพับของใบหู และนิ้วหัวแม่มือลูบเช็ดด้านหลังใบหูจากด้านล่างขึ้นบนให้ทั่ว ทำเพียงหนึ่ง ครั้งเท่านั้น
9. ล้างเท้าขวาจนถึงข้อเท้าให้ทั่ว 3 ครั้ง เสร็จแล้วให้ล้างเท้าซ้ายจนถึงข้อเท้าให้ทั่วอีก 3 ครั้ง ในขั้นตอน สุดท้ายนี้สมควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องพยายามทำให้น้ำนั้นเข้าเปียกให้ทั่วบริเวณ โดยเฉพาะตาม ซอกนิ้วเท้า และรอยแตกตามส้นเท้า
เสร็จแล้วให้กล่าวดุอาอฺหลังอาบน้ำละหมาด ท่านอุกบะฮ์บินอามิร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
مَا مِنْكُمْ مِنْ أَحَدٍ يَتَوَضَّأُ فَيُبْلِغُ أَوْ فَيُسْبِغُ الْوَضُوءَ ثُمَّ يَقُولُ : (أَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُ اللهِ وَرَسُولُهُ) إِلاَّ فُتِحَتْ لَهُ أَبْوَابُ الْجَنَّةِ الثَّمَانِيَةُ يَدْخُلُ مِنْ أَيِّهَا شَاءَ
“ คนใดก็ตามในหมู่พวกท่านที่เขาอาบน้ำละหมาดและทำอย่างประณีตบรรจง จนกระทั่งแล้วเสร็จจาก นั้นเขากล่าวว่า (ฉันขอให้สัตยฺปฏิญาณว่าแท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และแท้จริง มูฮำ หมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮ์และเป็นศาสนทูตของพระองค์ ) นอกเสียจากว่า ประตูสวรรค์ทั้ง 8 บานนั้น จะถูกเปิดให้แก่เขา และเขาจะเลือกเข้าจากประตูใดก็ได้ตามใจชอบ ”
บันทึกโดยอะหมัด,มุสลิมและอาบูดาวูด
ในบันทึกของอัตติรมิซีย์จากรายงานของอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ระบุเพิ่มว่า ให้กล่าวต่อจากประโยคคำปฏิญาณ ทั้งสองอีกว่า
اللَّهُمَّ اجْعَلْنِي مِنْ التَّوَّابِينَ وَاجْعَلْنِي مِنْ الْمُتَطَهِّرِينَ
( โอ้อัลลอฮ์ ขอพระองค์ทรงโปรดทำให้ข้าพระองค์เป็นผู้หนึ่งจากบรรดาผู้สำนึกผิดกลับตัวกลับใจ และขอทรงโปรดทำให้ข้าฯเป็นผู้หนึ่งจากบรรดาผู้มีความสะอาด )
รู่ก่นการอาบน้ำละหมาด
รู่ก่นหรือข้อบังคับที่จำเป็นในการอาบน้ำละหมาดมี 6 ประการ คือ
1.การตั้งเจตนาด้วยความบริสุทธิ์ใจ (เหนียต) อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงรับสั่งว่า
وَمَا أُمِرُوا إِلَّا لِيَعْبُدُوا اللَّهَ مُخْلِصِينَ
“และพวกเขามิได้ถูกบัญชาใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากเพื่อการภักดีต่ออัลลอฮฺ โดยมีเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อพระองค์ ”
ซูเราะฮ์อัลบัยยินะฮ์ อายะฮ์ที่ 5
และท่านรอซูลลุลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
إِنَّمَا اْلأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ،وَإِنَّمَا لِكُلِّ امْرِئٍ مَا نَوَى
"กิจกรรม (ศาสนกิจ) ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเจตนาที่แน่วแน่ และทุกคนย่อมต้องได้ตามเจตนาที่ตั้งไว้”
บันทึกโดยอัลบุคอรีย์
2.การล้างหน้าให้ทั่วเขตใบหน้า อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงมีรับสั่งว่า
فَاغْسِلُوا وُجُوهَكُمْ
“ และพวกท่านจงชำระล้างใบ หน้าของพวกท่าน ”
ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์ที่ 6
3.การล้างมือทั้งสองข้างจนถึงข้อศอก อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงมีรับสั่งว่า
وَأَيْدِيَكُمْ إِلَى الْمَرَافِقِ
“ และพวกท่านจงล้างมือของพวกท่านจนถึงข้อศอก ”
ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์ที่ 6
4.การลูบเช็ดศีรษะ (เส้นผม) อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงมีรับสั่งว่า
وَامْسَحُوا بِرُءُوسِكُمْ
“ และพวกท่านจงลูบเช็ดศีรษะ ของพวกท่าน ”
ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์ที่ 6
5.การล้างเท้าทั้งสองข้างจนถึงตาตุ่ม อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงมีรับสั่งว่า
وَأَرْجُلَكُمْ إِلَى الْكَعْبَيْنِ
“ และพวกท่านจงล้างเท้าของพวกท่านจนถึงตาตุ่มทั้งสอง”
ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์ที่ 6
การเรียงลำดับตามขั้นตอนโดยต่อเนื่อง จากข้อ 1 ถึง 5 ทั้งนี้เนื่องจากตัวบทหลักฐานที่รายงานลักษณะวิธี การอาบน้ำละหมาดของท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีเนื้อหาโดยสรุปตรงกันว่า ท่านรอซูลุล ลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อาบน้ำละหมาดตามขั้นตอนดังกล่าวทุกครั้งและอย่างต่อเนื่อง ไม่ปรากฏว่า มีตัวบทใดเลยระบุว่าท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยทำสลับขั้นตอน หรือหยุดพักเว้นระยะ ระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ
สุหนัตการอาบน้ำละหมาดสุหนัตหรือข้อควรปฏิบัติที่สำคัญๆในการอาบน้ำละหมาดมี 13 ประการ คือ
1.แปรงฟันหรือถูฟันให้สะอาด (ก่อนเริ่มต้นอาบน้ำละหมาด) ท่านอาบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงาน ไว้ว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
لَوْلاَ أَنْ أَشُقَّ عَلَى أُمَّتِي أَوْ عَلَى النَّاسِ َلأَمَرْتُهُمْ بِالسِّوَاكِ مَعَ كُلِّ صَلاَةٍ
“ แม้นว่าเราไม่เกรงว่าจะเป็นการสร้างภาระและความยากลำบากแก่ประชาชาติของเราแล้วไซร้ แน่ นอนเราจักต้องสั่งให้พวกเขาแปรงฟันทุกครั้งที่ละหมาด ”
บันทึกโดยอัลบุคอรีย์
และในบันทึกของอะหมัดระบุว่า
لأَمَرْتُهُمْ بِالسِّوَاكِ مَعَ كُلِّ وُضُوءٍ
“ ฉันต้องสั่งให้พวกเขาแปรงฟันทุกครั้งที่อาบน้ำละหมาด”
2.การกล่าวพระนามของอัลลอฮ์ “ อัล-บัสมะละฮ์” เมื่อเริ่มขั้นตอนอาบน้ำละหมาด ท่านรอซูลลุลอฮ์ ศ็อลลัล ลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
لاَ صَلاَةَ لِمَنْ لاَ وُضُوْءَ لَهُ وَلاَ وُضُوءَ لِمَنْ لَمْ يَذْكُرِ اسْمَ اللهِ تَعَالَى عَلَيْهِ
“ ย่อมไม่มีการละหมาดที่ถูกต้องสำหรับผู้ไม่มีน้ำละหมาด และไม่ถือเป็นการอาบน้ำละหมาดอย่างสม บูรณ์สำหรับผู้ที่ไม่กล่าวพระนามของ อัลลอฮ์ขณะอาบน้ำละหมาด”
บันทึกโดยอะหมัด,อาบูดาวูด,อัดติรมิซีย์และอิบนุมาญะฮ์
3.ล้างมือทั้งสองข้างจนถึงข้อมือ ท่านเอาส์อัสษะกอฟีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า
رَأَيْتُ النَّبِيَّ صلى الله عليه وسلم يَتَوَضَّأُ فَاسْتَوْكَفَ ثَلاَثًا
“ ข้าพเจ้าเห็นท่านนาบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อาบน้ำละหมาด โดยท่านจะล้างมือ 3 ครั้ง ”
บันทึกโดยอะหมัดและอันนะซาอีย์
4.บ้วนปากหรือกลั้วปากให้สะอาด ท่านละกีฏบินศ็อบเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวกำชับกับเขาว่า
إِذَا تَوَضَّأْتَ فَمَضْمَضْ
“ เมื่อท่านอาบน้ำละหมาดท่านจงบ้วนปาก (กลั้วปาก) ”
บันทึกโดยอาบูดาวูด
และในบันทึกของอะหมัด,อิบนุมาญะฮ์และอัลฮากิม จากท่านอับดุลลออฮ์อัสศ้อนาบิฮีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
إِذَا تَوَضَّأَ الْعَبْدُ الْمُؤْمِنُ فَتَمَضْمَضَ خَرَجَتِ الْخَطَايَا مِنْ فِيهِ،فَإِذَا اسْتَنْثَرَ خَرَجَتِ الْخَطَايَا مِنْ أَنْفِهِ
“ เมื่อบ่าวคนหนึ่งอาบน้ำละหมาด แล้วเขาได้บ้วนปาก ความผิดต่างๆจะหลุดออกจากปากของเขา และเมื่อเขาสั่งน้ำออกจากจมูก ความผิดต่างๆก็จะหลุดออกจากจมูกของเขา ”
5.สูดเข้าจมูกแล้วสั่งออกท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
وَإِذَا تَوَضَّأَ أَحَدُكُمْ فَلِيَجْعَلْ فِي أَنْفِهِ مَاءًا ثُمَّ لِيَنْتَثِرْ
“ เมื่อคนหนึ่งคนใดอาบน้ำละหมาด เขาจงเอาน้ำใส่จมูกแล้วจึงสั่งออก ”
บันทึกโดยมุสลิม
ในอีกรายงานหนึ่งท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
بَالِغْ فِي الاِسْتِنْشَاقِ إِلاَّ أَنْ تَكُونَ صَائِمًا
“ ท่านจงสูดน้ำเข้าจมูกให้ลึกมากที่สุด ยกเว้นกรณีเมื่อท่านกำลังถือศีลอดอยู่ ”
บันทึกโดยอะหมัด
6.สางเคราให้น้ำเปียกจนทั่วท่านอุษมานบินอัฟฟาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า
أَنّ النَّبِيَّ صلى الله عليه وسلم كَانَ يُخَلِّلُ لِحْيَتَهُ إِذَا تَوَضَّأُ
“ แท้จริงท่านนาบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สางเคราเป็นประจำเมื่ออาบน้ำละหมาด ”
บันทึกโดยอัดติรมิซีย์
และท่านอะนัสบินมาลิก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า
إِذَا تَوَضَّأَ أَخَذَ كَفًّا مِنْ مَاءٍ فَأَدْخَلَهُ تَحْتَ حَنَكِهِ فَخَلَّلَ بِهِ لِحْيَتَهُ
“ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม วักน้ำเต็มฝ่ามือและเทใส่ที่ใต้คางทั้งสองข้าง ใช้น้ำนั้นล้างและสางเครา ”
บันทึกโดยอาบูดาวูด
7.เช็ดใบหูทั้งสองข้าง ท่านอับดุลลอฮ์อิบนุอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า
وَأُذُنَيْهِ ظَاهِرِهِمَا وَبَاطِنِهِمَا
“ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เช็ดใบหูทั้งสองข้าง ทั้งด้านนอก ( หมายถึงหลังใบหู ) และด้านใน ( หมายถึงตามซอกหู )”
บันทึกโดยอัดติรมิซีย์
8.สางระหว่างนิ้วมือและนิ้วเท้าให้น้ำเปียกจนทั่ว ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
إِذَا تَوَضَّأْتَ فَخَلِّلْ أَصَابِعَ يَدَيْكَ وَرِجْلَيْكَ
“ เมื่อท่านอาบน้ำละหมาด ท่านจงสางระหว่างนิ้วมือและนิ้วท้างทั้งสองข้างของท่าน ”
บันทึกโดยอะหมัดและอัดติรมิซีย์
ในอีกรายงานระบุว่า
أَسْبِغْ الْوُضُوءَ وَخَلِّلْ بَيْنَ الأَصَابِعِ
“ ท่านจงอาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์ที่สุด และจงสางระหว่างนิ้วด้วย "
บันทึกโดยอัดติรมิซีย์และอิบนุมาญะฮ์
และการสางนิ้วเท้านั้นให้สางด้วยนิ้วก้อย
كَانَ يُخَلِّلُ أَصَابِعَ رِجْلَيْهِ بِخِنْصَرِهِ
“ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สางระหว่างนิ้วเท้าทั้งสองข้างด้วยนิ้วก้อย ”
บันทึกโดยอาบูดาวูดและอัดติรมิซีย
9.การเช็ดศีรษะและใบหูทั้งสองข้างในครั้งเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากการเช็ดศีรษะและใบหูนั้นให้ทำพร้อมกัน ในคราวเดียว กัน ให้เริ่มเช็ดศีรษะจากชายกระหม่อมด้านหน้าจนถึงสุดท้ายทอยและลูบย้อนกลับมาด้านหน้า อีกครั้ง โดยไม่ต้องยกมือ แล้วจึงเช็ดใบหูทั้งสอง ดังที่มีรายงานจากท่านรอซูลว่า
فَمَسَحَ رَأْسَهُ وَمَسَحَ مَا أَقْبَلَ مِنْهُ وَمَا أَدْبَرَ وَصُدْغَيْهِ وَأُذُنَيْهِ مَرَّةً وَاحِدَةً
“ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เช็ดศีรษะ โดยเช็ดจากด้านหน้า และเช็ดย้อนกลับจาก ด้านหลัง รวมถึงบริเวณขมับและใบหูทั้งสองข้างเพียงครั้งเดียว ”
บันทึกโดยอาบูดาวูดและอัดติรมิซีย์
10.ทำทุกขั้นตอนอย่างละ 3 ครั้ง ท่านอุษมานและอิบนิอาบีเอาฟา ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า
تَوَضَّأَ ثَلاَثًا ثَلاَثًا وَمَسَحَ رَأْسَهُ مَرَّةً
“ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทำขั้นตอนต่างอย่างละ 3 ครั้ง และเช็ดศีรษะเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ”
บันทึกโดยอะหมัด,มุสลิม,อัดติรมิซีย์และอิบนุมาญะฮ์
11.ทำด้านขวามือก่อนด้านซ้ายมือท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
وَإِذَا تَوَضَّأْتُمْ فَابْدَؤُوْا بِأَيْمَانِكُمْ
“ และเมื่อพวกท่านอาบน้ำละหมาด พวกท่านจงเริ่มด้านขวามือก่อน ”
บันทึกโดยอะหมัด,อาบูดาวูดและอัดติรมิซีย์
และโดยปกติแล้วท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โปรดที่จะทำกิจกรรมต่างๆด้วยมือขวา
كَانَ رَسُوْلُ اللهِ يُحِبُّ التَّيَامُنَ فِيْ تَنَعُّلِهِ وَتَرَجُّلِهِ وَطَهُوْرِهِ وَفِيْ شَأْنِهِ كُلِّهِ
“ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทรงโปรดที่จะใช้มือขวาสวมรองเท้า หวีผม ทำความ สะอาด และในกิจกรรมอื่นๆ”
บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม
12.ใช้น้ำอย่างประหยัด ท่านอะนัสบินมาลิกรายงานว่า
كَانَ رَسُوْلُ اللهِ يَغْتَسِلُ بِالصَّاعِ إِلَى خَمْسَةِ أَمْدَادٍ وَيَتَوَضَّأُ بِالْمُدِّ
“ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อาบน้ำวาญิบโดยใช้น้ำประมาณ 1 ซออฺ ถึง 5 มุด และอาบน้ำละหมาดโดยใช้น้ำเพียง 1 มุดเท่านั้น”
บันทึกโดยอะหมัด,อัลบุคอรีย์และมุสลิม
ครั้งหนึ่งท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เห็นสะอัดอาบน้ำละหมาดจึงกล่าวว่า “ อะไรกันนี่ ? ทำไมจึงฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองเช่นนี้ ? ” สะอัดกล่าวถามว่า “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ แม้กระทั่งในการ อาบน้ำละหมาดยังถือเป็นการฟุ่มเฟือยสิ้นเปลืองอีกกระนั้นหรือ ? ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวเตือนว่า
نَعَمْ ، وَإِنْ كُنْتَ عَلَى نَهْرٍ جَارٍ
“ ใช่แล้ว ต่อให้ท่านอยู่ท่ามกลางแม่น้ำที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดก็ตาม "
บันทึกโดยอะหมัดและอิบนุมาญะฮ์
13.อ่านดุอาอฺหลังอาบน้ำละหมาดท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“คนใดก็ตามใน หมู่พวกท่านที่เขาอาบน้ำละหมาด และทำอย่างประณีตบรรจงจนกระทั่งแล้วเสร็จ จากนั้น เขากล่าวว่า
أَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللَّهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُ اللَّهِ وَرَسُولُهُ
“นอกเสียจากว่าประตูสวรรค์ทั้ง 8 บานนั้นจะถูกเปิดให้แก่เขา และเขาจะเลือกเข้าจากประตูใดก็ได้ตาม ใจชอบ”
บันทึกโดยอะหมัด,มุสลิมและอาบูดาวูด
กรณีที่ทำให้เสียน้ำละหมาด กรณีหรือสาเหตุที่ทำให้เสียน้ำละหมาดมี 5 ประการ คือ
1. มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเคลื่อนออกจากทวารหนักและทวารเบา เช่น ผายลม อุจจาระ ปัสสาวะ อสุจิ น้ำหล่อลื่น เลือดประจำเดือน เลือดเสีย และพยาธิเป็นต้น อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงมีรับสั่งว่า
أَوْ جَاءَ أَحَدٌ مِنْكُمْ مِنَ الْغَائِطِ
"หรือเมื่อคนหนึ่งคนใดจากพวกท่านมาจากการถ่ายอุจจาระ (รวมถึงการถ่ายปัสสาวะด้วย) "
ซูเราะฮ์อันนิซาอฺ อายะฮ์ที่ 43
ท่านซ็อฟวานบินอัซซาล ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า
كَانَ رَسُوْلُ اللهِ" يَأْمُرُنَا إِذَا كُنَّا سَفَرًا أَوْ مُسَافِرِينَ أَنْ لاَ نَنْزِعَ خِفَافَنَا ثَلاَثَةَ أَيَّامٍ وَلَيَالِيهِنَّ إِلاَّ مِنْ جَنَابَةٍ وَلَكِنْ مِنْ غَائِطٍ وَبَوْلٍ وَنَوْمٍ
“ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ทรงใช้พวกเรา ขณะที่พวกเราเดินทาง ไม่ต้องถอดรองเท้าหุ้มส้นของพวกเราออก ตลอดสามวันสามคืนยกเว้นกรณีมีญะนาบะฮ์ ( ถอดเพื่ออาบน้ำวาญิบ) แต่ไม่ต้องถอดหากเนื่องจากถ่าย อุจจาระ,ปัสสาวะและตื่นจากนอนหลับ ”
บันทึกโดย อะหมัดและอัดติรมิซีย์
ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“เมื่อผู้ใดรู้สึกเกิดอาการอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นในท้องของเขา โดยที่เขาสงสัยว่ามีอะไรเคลื่อนออกมา บ้างเปล่า ? เมื่อเป็นเช่นนี้เขาไม่ต้องออกจากมัสยิดเพื่ออาบน้ำละหมาดใหม่ จนกว่าเขาจะได้ยินเสียง ผายลมหรือได้กลิ่น ”
บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม
ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวกับชายที่ถามถึงคนที่มีน้ำหล่อลื่นออกมาบ่อยครั้งว่า
يَغْسِلُ ذَكَرَهُ وَيَتَوَضَّأُ
“ เขาเพียงแค่ชำระล้างอวัยวะเพศของเขาให้หมดคราบ และอาบน้ำละหมาดใหม่เท่านั้น”
บันทึกโดยอะหมัด,มุสลิมและอัดติรมิซีย์
และท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยกล่าวชี้แจงกับหญิงที่มาถามถึงเลือดเสียว่า
ثُمَّ اغْتَسِلِي ثُمَّ تَوَضَّئِي لِكُلِّ صَلاَةٍ
“ เธอจงอาบน้ำวาญิบให้เรียบร้อยเสียก่อน จากนั้นให้เธออาบน้ำละหมาดใหม่ทุกครั้งที่จะละหมาด ”
บันทึกโดยอาบูดาวูด
2. ขาดสติชั่วขณะ เช่น หลับสนิท เป็นลม มึนเมา หรือสิ้นสติอย่างถาวร เช่น เป็นบ้าวิกลจริต การนอนหลับ สนิทนั้นทำให้เสียน้ำละหมาด ตามตัวบทหลักฐานที่ผ่านมาแล้วข้างต้น ส่วนการหลับไม่สนิท เช่น นั่งสัปหงกหรือ เผลอหลับ (เคลิ้ม) นั้นไม่ทำให้เสียน้ำละหมาด เนื่องจากมีรายงานจากอะนัสบินมาลิกว่า
"ระหว่างที่บรรดาซอฮาบะฮ์ของท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม รอเวลาละหมาดอิชาอฺ อยู่นั้น ปรากฏว่าหลายคนสัปหงกหัวงุบลงเพราะง่วงนอน จากนั้นพวกเขาก็ลุกขึ้นละหมาดโดยไม่มีใคร อาบน้ำละหมาดใหม่ "
บันทึกโดยมุสลิม
ในบันทึกของอัลบัซซารระบุด้วยว่า “ มีหลายคนที่นอนตะแคง ”
การขาดสติชั่วขณะ เช่นเป็นลมทำให้เสียน้ำละหมาดเช่นกัน ท่านหญิงอาอิชะฮ์รายงานว่า
" เมื่อครั้งที่ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทรงประชวน อาการทรุดหนักและหมดสติไปชั่วขณะ เมื่อท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม รู้สึกตัวฟื้นขึ้นมาจึงถามว่า “ ทุกคนละหมาดกันแล้วหรือยัง ?” ท่านหญิงตอบว่า “ ยังไม่มีใครละหมาดเลย ทุกคนรอละหมาดพร้อมท่าน ” ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอ ฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงให้นำน้ำมาเช็ดตัวเพื่อให้สดชื่นกระชุ่มกระชวยและอาบน้ำละหมาด แล้วท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พยายามฝืนลุกขึ้นยืน แล้วก็ฟุบหมดสติไปอีกครั้ง เมื่อท่านฟื้นและรู้สึกตัวก็ถาม ใหม่อีกว่า “ ทุกคนละหมาดกันแล้วหรือยัง ? ” ท่านหญิงก็ตอบอีกว่า “ยังไม่มีใครละหมาดเลย ทุกคนรอละ หมาดพร้อมท่าน ” ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ใช้ให้นำน้ำมาเช็ดตัวอีกครั้ง เพื่อให้กระชุ่ม กระชวยและอาบน้ำละหมาดใหม่.........ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พยายามลุกยืนหลายครั้ง แต่ลุกไม่ไหว จนกระทั่งท่านเหนื่อยและหมดแรง ท่านจึงให้คนไปตามอาบูบักรฺมานำละหมาดแทน "
บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม
3. สัมผัสอวัยวะเพศ ทวารหน้าและหลัง โดยปราศจากสิ่งปิดกั้น ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
مَنْ مَسَّ ذَكَرَهُ فَلْيَتَوَضَّأْ
“ ผู้ใดที่สัมผัสโดนวัยเพศของเขา เขาจงอาบน้ำละหมาด ”
บันทึกโดยอาบูดาวูด
ในอีกรายงานหนึ่ง ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
منْ مَسَّ ذَكَرَهُ فَلا يُصَلِّ حَتَّى يَتَوَضَّأْ
“ ผู้ใดที่สัมผัสโดนวัยเพศของตนเอง เขาจงอย่าละหมาด จนกว่าเขาจะอาบน้ำละหมาดให้เรียบร้อย เสียก่อน ”
บันทึกโดยมุสลิม,อาบูดาวูด,อัดติรมิซีย์และอันนะซาอีย์
และในบันทึกของอะหมัดและอัดฏ้อบรอนีย์ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
أَيُّمَا رَجُلٍ مَسَّ فَرْجَهُ فَلْيَتَوَضَّأْ و َأَيُّمَا امْرَأَةٍ مَسَّتْ فَرْجَهَا فَلْتَتَوَضَّأْ
“ ชายใดสัมผัสโดนอวัยวะเพศตนเองเขาจงอาบน้ำละหมาด และหญิงใดที่สัมผัสโดนอวัยวะเพศตนเอง เธอจงอาบน้ำละหมาด ”
และท่านรอซูลุล ลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้อีกว่า
مَنْ أَفْضَى بِيَدِهِ إِلَى فَرْجِهِ لَيْسَ دُونَهُ حِجَابٌ فَقَدْ وَجَبَ عَلَيْهِ الْوُضُوءُ
“ ผู้ใดที่ยื่นมือไปโดนอวัยวะเพศของตนเองโดยไม่มีสิ่งปิดกั้น แน่นอนการอาบน้ำละหมาดใหม่ถือว่าจำ เป็นบนเขาแล้ว ”
โดยอัลฮากิมและอิบนิอับดิลบัรรฺ
4. ริดดะฮ์ การสิ้นสภาพความเป็นมุสลิม เมื่อผู้มีน้ำละหมาดสิ้นสภาพความเป็นมุสลิม ด้วยสาเหตุใดก็ตาม ถือว่าน้ำละหมาดและผลงานที่เป็นความดีอื่นๆของเขาเสียทั้งหมดโดยทันที ทั้งนี้อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงมีรับสั่งว่า
وَمَنْ يَرْتَدِدْ مِنْكُمْ عَنْ دِينِهِ فَيَمُتْ وَهُوَ كَافِرٌ فَأُولَئِكَ حَبِطَتْ أَعْمَالُهُمْ فِي الدُّنْيَا وَالآخِرَةِ
" และผู้ใดในหมู่พวกท่านกลับออกจากศาสนาของเขา และเขาเสียชีวิตในสภาพของผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกนี้แหละ ผลงานของพวกเขาเสียหายไร้ผลทั้งในโลกนี้และในปรโลก "
ซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 217
และอัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงมีรับสั่งไว้ในอีกโองการว่า
وَمَنْ يَكْفُرْ بِالإِيمَانِ فَقَدْ حَبِطَ عَمَلُهُ وَهُوَ فِي الآخِرَةِ مِنَ الْخَاسِرِينَ
“ และผู้ใดปฏิเสธการศรัทธา แน่นอนงานของเขาก็ไร้ผล ขณะเดียวกันในวันปรโลกพวกเขาจะอยู่ในหมู่ ผู้ที่ขาดทุน”
ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์ที่ 5
5. การกินเนื้ออูฐ มีรายงานจากท่านญาบิริบนิสะมุเราะฮ์ กล่าวว่า
มีชายคนหนึ่งถามท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า “เราต้องอาบน้ำละหมาดเนื่องจากกิน เนื้อแพะ,แกะหรือไม่ ? ” ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า
إِنْ شِئْتُمْ فَتَوَضَّئُوا وَإِنْ شِئْتُمْ لاَ تَتَوَضَّئُوا
“ หากท่านประสงค์ ก็เชิญท่านอาบน้ำละหมาดใหม่ และถ้าหากท่านประสงค์ (จะไม่อาบ) ท่านก็ไม่ต้อง อาบ ” ชายผู้นั้นกล่าวถามอีกว่า “ เราจะต้องอาบน้ำละหมาดเนื่องจากกินเนื้ออูฐหรือไม่ ?” ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวตอบว่า
نَعَمْ تَوَضَّئُوا
“ ใช่แล้ว ท่านต้องอาบน้ำละหมาดเนื่องจากกินเนื้ออูฐ ”
บันทึกโดยอะหฺหมัดและมุสลิม
และยังมีรายงานจากท่านอัลบะรออฺ อิบนิอาซิบว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถูกถามถึง การอาบน้ำละหมาดเนื่องจากการกินเนื้ออูฐ ท่านกล่าวว่า
تَوَضَّئُوا مِنْهَا
“พวกท่านจงอาบน้ำละหมาดเนื่องจากการกินมัน”
บันทึกโดยอะฮฺหมัดและอาบูดาวูด
และมีรายงานจากอับดุลลอฮ์บินมุฆ็อฟฟัลว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าว
فَإِنَّهَا جِنٌّ مِنْ جِنٍّ خُلِقَتْ
“ เพราะว่าอูฐเป็นญินนฺ ถูกสร้างมาญินนฺ ”
คือถูกสร้างมาให้มีพฤติกรรมและนิสัยคล้ายกับญินนฺหรือชัยฏอน ในบางรายงานระบุว่าถูกสร้างมาจากชัยฏอน
فَإِنَّهَا خُلِقَتْ مِنَ الشَّيَاطِينِ
“ แท้จริงแล้วมันนั้นถูกสร้างมาจากเหล่าชัยฏอน”
และชัยฏอนนั้นถูกสร้างจากไฟ
وَالْجَانَّ خَلَقْنَاهُ مِنْ قَبْلُ مِنْ نَارِ السَّمُومِ
“ และอัลญานนฺ ( อิบลีส ) นั้น เราได้สร้างมันมาแต่ก่อนแล้วจากไฟร้อน ”
ซูเราะฮ์อัลฮิจรฺ อายะฮ์ที่ 27
จึงเป็นความสมเหตุสมผลที่ศาสนามีบัญญัติให้อาบน้ำละหมาดหลังจากการกินเนื้ออุฐ
อนึ่ง กรณีการรับประทานเนื้ออูฐเป็นสาเหตุทำให้เสียน้ำละหมาดนี้ เป็นทรรศนะและความเข้าใจของอิหม่าม อะหมัดและนักวิชาการในศาสตร์หะดืษ ในขณะที่นักวิชาการส่วนมาก ( อาบูหะนีฟะฮ์มาลิกและอัชชาฟิอีย์ ) มีทรรศนะและความเข้าใจ ว่าไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เสียน้ำละหมาด แต่เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่สมควรต้องอาบน้ำ ละหมาดด้วยทุกครั้ง
والله أعلم بالصواب
โดย อ.อับดุลลอฮฺ สุไลหมัด
http://www.warasatussunnah.net
✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น