الابتلاء |
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์...
พี่น้องที่รักทุกท่าน พึงทราบเถิดว่าชีวิตในโลกนี้ เป็นโลกแห่งการทดสอบ อัลลอฮฺได้ทดสอบผู้ศรัทธาทั้งในด้านความสุขและความทุกข์ อุปสรรคและความง่ายดาย การมีสุขภาพดีและการเจ็บป่วย ความมั่งมีและความยากไร้ และทดสอบเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ใฝ่ต่ำและความเคลือบแคลงสงสัย อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
﴿كُلُّ نَفۡسٖ ذَآئِقَةُ ٱلۡمَوۡتِۗ وَنَبۡلُوكُم بِٱلشَّرِّ وَٱلۡخَيۡرِ فِتۡنَةٗۖ وَإِلَيۡنَا تُرۡجَعُونَ﴾ [الأنبياء : 35]
ความว่า “ทุกชีวิตย่อมต้องลิ้มรสแห่งความตาย และเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยความชั่วและความดี และพวกเจ้าต้องกลับไปหาเราอย่างแน่นอน” (อัล-อัมบิยาอ์ : 35)
โองการข้างต้นชี้ให้เราได้รับทราบว่าบางครั้งอัลลอฮฺจะทดสอบพวกเราด้วยการให้ได้พบกับอุปสรรคปัญหาในชีวิต และบางครั้งจะทดสอบด้วยการให้เราได้รับปัจจัยยังชีพที่กว้างขวาง เพื่อเป็นที่ประจักษ์ว่าใครบ้างที่เป็นผู้ขอบคุณหรือเป็นผู้ปฏิเสธ และเพื่อประจักษ์ว่าใครบ้างที่อดทนหรือใครบ้างที่หมดหวัง
อิบนุ อับบาส ให้ความหมายของคำว่า (وَنَبۡلُوكُم) หมายถึง เราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยความชั่วและความดี หมายความว่า ด้วยความทุกข์และสุข สุขภาพที่ดีและเจ็บป่วย ร่ำรวยและยากจน หะลาลและหะรอม การยอมสวามิภักดิ์และการเนรคุณ ด้วยทางนำและทางที่หลงผิด (ตัฟซีรอิบนุกะษีร เล่มที่ 3 หน้า 178)
ส่วนความหมายของคำว่า (وَإِلَيۡنَا تُرۡجَعُونَ) หมายถึง แล้วเราจะตอบแทนผลแห่งการกระทำตามผลงานที่พวกเจ้าได้ปฏิบัติ หากใครอยู่ในสถานะผู้ศรัทธาและยำเกรงต่ออัลลอฮฺในทุกสภาวการณ์ที่พบเจอเขาจะได้รับการตอบแทนที่ดี แต่หากใครเนรคุณเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บแสบอย่างแน่นอน
อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลาตรัสว่า
﴿وَلَنَبۡلُوَنَّكُم بِشَيۡءٖ مِّنَ ٱلۡخَوۡفِ وَٱلۡجُوعِ وَنَقۡصٖ مِّنَ ٱلۡأَمۡوَٰلِ وَٱلۡأَنفُسِ وَٱلثَّمَرَٰتِۗ وَبَشِّرِ ٱلصَّٰبِرِينَ ١٥٥ ٱلَّذِينَ إِذَآ أَصَٰبَتۡهُم مُّصِيبَةٞ قَالُوٓاْ إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّآ إِلَيۡهِ رَٰجِعُونَ ١٥٦ أُوْلَٰٓئِكَ عَلَيۡهِمۡ صَلَوَٰتٞ مِّن رَّبِّهِمۡ وَرَحۡمَةٞۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُهۡتَدُونَ ١٥٧﴾ [البقرة : 155- 157]
ความว่า “และแน่นอนเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยเพียงเล็กๆ น้อยๆ จากความหวาดกลัว ความหิวโหย และด้วยการสูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่งจากทรัพย์สิน ชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่ผู้อดทนเถิด คือบรรดาผู้ที่ลั่นวาจาเมื่อประสบเคราะห์กรรมว่า แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และแน่นอนพวกเราจะกลับไปยังพระองค์ ชนเหล่านี้แหล่ะที่พวกเขาจะได้รับคำชมเชยและการเอ็นดูเมตตาจากพระเจ้าของพวกเขา และชนเหล่านี้แหล่ะคือผู้ที่ได้รับทางนำที่ถูกต้อง ” ( อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 155-157 )
﴿أَمۡ حَسِبۡتُمۡ أَن تَدۡخُلُواْ ٱلۡجَنَّةَ وَلَمَّا يَأۡتِكُم مَّثَلُ ٱلَّذِينَ خَلَوۡاْ مِن قَبۡلِكُمۖ مَّسَّتۡهُمُ ٱلۡبَأۡسَآءُ وَٱلضَّرَّآءُ وَزُلۡزِلُواْ حَتَّىٰ يَقُولَ ٱلرَّسُولُ وَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ مَعَهُۥ مَتَىٰ نَصۡرُ ٱللَّهِۗ أَلَآ إِنَّ نَصۡرَ ٱللَّهِ قَرِيبٞ ٢١٤﴾ [البقرة: 214]
ความว่า “ พวกเจ้าคิดหรือว่าจะได้เข้าสวรรค์ โดยที่ได้เยี่ยงอย่างของผู้ที่ล่วงลับก่อนหน้าพวกเจ้ายังมิได้มายังพวกเจ้าเลย ที่พวกเขาได้ประสบกับความยากลำบากและความเดือดร้อน พวกเขาเลยหวั่นไหว จนกระทั่งเราะสูลและผู้ศรัทธาที่อยู่กับเขากล่าวขึ้นว่า อัลลอฮฺจะช่วยเหลือเราเมื่อไหร่? พึงรู้เถิดว่าการช่วยเหลือของอัลลอฮฺอยู่ใกล้แล้ว” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 214)
มีรายงานจากค็อบบาบ อิบนุล-อะร็อต เล่าว่า ฉันได้ขอให้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ช่วยปกป้องพวกเราให้ท่านขอต่ออัลลอฮฺเพื่อช่วยเหลือพวกเรา (ในขณะที่เราได้รับการรังแกจากบรรดามุชริกีน ท่านจึงเตือนสติเพื่อให้เขามีความอดทนว่า
«كَانَ الرَّجُلُ فِيمَنْ قَبْلَكُمْ يُحْفَرُ لَهُ فِي الْأَرْضِ فَيُجْعَلُ فِيهِ، فَيُجَاءُ بِالْمِنْشَارِ فَيُوضَعُ عَلَى رَأْسِهِ، فَيُشَقُّ بِاثْنَتَيْنِ، وَمَا يَصُدُّهُ ذَلِكَ عَنْ دِينِهِ، وَيُمْشَطُ بِأَمْشَاطِ الْحَدِيدِ مَا دُونَ لَحْمِهِ مِنْ عَظْمٍ أَوْ عَصَبٍ، وَمَا يَصُدُّهُ ذَلِكَ عَنْ دِينِهِ، وَاللَّهِ لَيُتِمَّنَّ هَذَا الْأَمْرَ، حَتَّى يَسِيرَ الرَّاكِبُ مِنْ صَنْعَاءَ إِلَى حَضْرَمَوْتَ، لَا يَخَافُ إِلَّا اللَّهَ أَوْ الذِّئْبَ عَلَى غَنَمِهِ، وَلَكِنَّكُمْ تَسْتَعْجِلُونَ» [رواه البخاري برقم 3612]
ความว่า “ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้าโดนจับฝังลงในหลุมค่อนตัว แล้วถูกผ่าศีรษะด้วยเลื่อยออกเป็นสองซีก แต่ก็ไม่ทำให้พวกเขาละทิ้งศาสนาได้ บางครั้งถูกทรมานด้วยการขูดเนื้อหนังร่างกายด้วยคราดเหล็ก แต่ก็ไม่ทำให้พวกเขาละทิ้งศาสนาได้ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่าทุกอย่างจะดีขึ้นอย่างแน่นอน กระทั่งว่าการเดินทางจากเมืองศ็อนอาอ์ไปยังเมืองหัฎเราะเมาตฺ (เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเยเมน – ผู้แปล) จะปลอดภัยไม่มีสิ่งที่น่ากลัวใดๆ เว้นแต่กลัวอัลลอฮฺเท่านั้น หรือแค่กลัวว่าสุนัขจิ้งจอกจะกินแกะเท่านั้น แต่พวกเจ้าใจร้อนเกินไปต่างหากเล่า” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข : 3612)
สะอัด บิน อบี วักกอศ เราะยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า
قُلْتُ: يَا رَسُولَ اللَّهِ أَيُّ النَّاسِ أَشَدُّ بَلَاءً؟ قَالَ: «الْأَنْبِيَاءُ، ثُمَّ الْأَمْثَلُ فَالْأَمْثَلُ، فَيُبْتَلَى الرَّجُلُ عَلَى حَسَبِ دِينِهِ، فَإِنْ كَانَ دِينُهُ صُلْبًا اشْتَدَّ بَلَاؤُهُ، وَإِنْ كَانَ فِي دِينِهِ رِقَّةٌ ابْتُلِيَ عَلَى حَسَبِ دِينِهِ، فَمَا يَبْرَحُ الْبَلَاءُ بِالْعَبْدِ حَتَّى يَتْرُكَهُ يَمْشِي عَلَى الْأَرْضِ مَا عَلَيْهِ خَطِيئَةٌ» [رواه الترمذي برقم 2398]
ความว่า ฉันถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถึงผู้ที่ถูกทดสอบจากอัลลอฮฺมากที่สุดว่าเป็นใคร? ท่านตอบว่า “คือ บรรดานบี ถัดมาก็เป็นผู้ที่มีสถานะที่ใกล้เคียงกับบรรดานบี ต่อๆ กันไปตามลำดับ คนผู้หนึ่งจะได้รับการทดสอบขึ้นอยู่กับความเคร่งครัดต่อศาสนาของเขา หากเขาเคร่งครัดมากจะถูกทดสอบมากกว่าผู้ที่ไม่เคร่งครัด การทดสอบจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งความผิดได้ถูกลบล้างจนหมดไปจากตัวเขา” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข : 2398)
ชายผู้หนึ่งเอ่ยถามท่านอิหม่ามอัช-ชาฟิอีย์ว่า “ท่านอบู อับดุลลอฮฺครับ ระหว่างคนมีความสุขที่รู้จักบุญคุณกับคนที่ถูกทดสอบแล้วอดทนใครมีความประเสริฐมากกว่ากันครับ?” ท่านอิหม่ามตอบเขาว่า เขาจะยังไม่มีความสุขจนกว่าจะถูกทดสอบ แท้จริงแล้วอัลลอฮฺได้ทดสอบนบีนูหฺ นบีอิบรอฮีม และนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะสัลลัม เมื่อพวกเขาต่างก็มีความอดทน อัลลอฮฺก็ให้พวกเขาอยู่อย่างมีความสุข ใครคนหนึ่งอย่าได้คิดเลยว่าเขาจะรอดพ้นจากความเจ็บปวดไปได้” (อัล-ฟะวาอิด ของอิบนุล-ก็อยยิม หน้า : 298)
อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
﴿وَعَدَ ٱللَّهُ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ مِنكُمۡ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ لَيَسۡتَخۡلِفَنَّهُمۡ فِي ٱلۡأَرۡضِ كَمَا ٱسۡتَخۡلَفَ ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِهِمۡ ٥٥﴾ [النور: 55]
ความว่า “อัลลอฮฺได้สัญญากับบรรดาผู้ศรัทธาและผู้กระทำความดีทั้งหลายในกลุ่มพวกเจ้าว่า แน่นอนพระองค์จะให้พวกเขาเป็นตัวแทนสืบช่วงในแผ่นดิน ดั่งที่พระองค์เคยให้มีตัวแทนสืบช่วงมาก่อนพวกเขาแล้ว” (อัน-นูรฺ : 55)
อิบนุล ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “ฉันขอต่ออัลลอฮฺให้พวกท่านเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติสามประการต่อไปนี้ ขอบคุณต่อความโปรดปราน เป็นผู้ที่อดทนเมื่อโดนทดสอบ และเป็นผู้ที่ขออภัยต่อความผิดพลาด เพราะสามประการนี้แหละที่จะแสดงถึงการมีความสุขของมนุษย์ และยังเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จในชีวิตของเขา ไม่มีใครคนใดที่จะหลุดอออกไปจากวังวนทั้งสามประการนี้ได้เลยในการใช้ชีวิตบนโลกนี้ของเขา” (อัล-วาบิล อัศ-ศ็อยยิบ มินัล-กะลิมิ อัฏ-ฏ็อยยิบ ของอิบนุลก็อยยิม หน้า : 294)
ดังนั้น การทดสอบที่ได้ประสบกับมุอ์มินถือเป็นการลบล้างความผิดแก่เขา เป็นการยกสถานะ จนเขาสามารถแยกแยะสิ่งดีชั่วได้ และยังมีเหตุผลอีกหลาย ประการอันเนื่องมาจากการทดสอบ
มีหะดีษรายงานจากท่านอิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า
دَخَلْتُ عَلَى رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَهُوَ يُوعَكُ وَعْكًا شَدِيدًا، فَمَسِسْتُهُ بِيَدِي فَقُلْتُ : يَا رَسُولَ اللَّهِ إِنَّكَ لَتُوعَكُ وَعْكًا شَدِيدًا، فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : «أَجَلْ، إِنِّي أُوعَكُ كَمَا يُوعَكُ رَجُلَانِ مِنْكُمْ» فَقُلْتُ : ذَلِكَ أَنَّ لَكَ أَجْرَيْنِ، فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «أَجَلْ»، ثُمَّ قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : «مَا مِنْ مُسْلِمٍ يُصِيبُهُ أَذًى مَرَضٌ فَمَا سِوَاهُ، إِلَّا حَطَّ اللَّهُ لَهُ سَيِّئَاتِهِ كَمَا تَحُطُّ الشَّجَرَةُ وَرَقَهَا» [رواه البخاري برقم 5660]
ความว่า วันหนึ่งฉันได้เข้าไปเยี่ยมท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในขณะที่ท่านกำลังป่วยหนัก ฉันได้สัมผัสกับมือของท่านแล้วเอ่ยถามท่านว่า ท่านเจ็บปวดทรมานมากหรือครับ? ท่านเราะสูลจึงตอบว่า “ใช่แล้ว ฉันเจ็บปวดมากขนาดเท่ากับพวกเจ้าสองคนเจ็บปวด” ฉันกล่าวว่า นั่นเป็นเพราะท่านได้รับภาคผลบุญสองเท่ามิใช่หรือ ? ท่านตอบว่า “ใช่” แล้วท่านก็กล่าวต่อไปอีกว่า “ไม่มีมุสลิมคนใดที่ประสบกับภัยพิบัติไม่ว่าเจ็บไข้ได้ป่วยหรืออื่นๆ ก็ตาม เว้นแต่ว่าอัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดของเขาดั่งใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาจากต้น” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข : 5660)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวอีกว่า
«مَنْ يُرِدْ اللَّهُ بِهِ خَيْرًا يُصِبْ مِنْهُ» [رواه البخاري برقم 5645]
ความว่า “ผู้ใดที่อัลลอฮฺประสงค์ที่จะให้เขาได้รับความดีงามแล้ว พระองค์จะทดสอบเขา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรย์ หมายเลข : 5645)
อบู อุบัยดะฮฺ อัล-ฮะเราะวีย์ อธิบายว่า “อัลลอฮฺจะทดสอบพวกเขาด้วยอุปสรรคต่างๆ เพื่อที่จะตอบแทนความดีงามแก่พวกเขา ประชาชาติอิสลามโดนรังแก โดนรุมกินโต๊ะจากบรรดาผู้ปฏิเสธ อันเนื่องมาจากข้อบกพร่องในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ หรือไม่ก็เป็นการทดสอบความศรัทธาของพวกเขา ดังที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา กล่าวว่า
﴿وَلَوۡ يَشَآءُ ٱللَّهُ لَٱنتَصَرَ مِنۡهُمۡ وَلَٰكِن لِّيَبۡلُوَاْ بَعۡضَكُم بِبَعۡضٖۗ﴾ [محمد: 4]
ความว่า “และหากอัลลอฮฺประสงค์ แน่นอนพระองค์จะทรงช่วยเหลือผู้ศรัทธาให้มีชัยชนะเหนือบรรดาผู้ปฏิเสธโดยไม่มีการรบราฆ่าฟันกัน แต่ทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทรงทดสอบบางคนในหมู่พวกเจ้ากับอีกบางคน” (มุฮัมหมัด : 4)
﴿الٓمٓ ١ أَحَسِبَ ٱلنَّاسُ أَن يُتۡرَكُوٓاْ أَن يَقُولُوٓاْ ءَامَنَّا وَهُمۡ لَا يُفۡتَنُونَ ٢﴾ [العنكبوت: 1- 2]
ความว่า “อะลิฟ ลาม มีม มนุษย์คิดหรือว่าพวกเขาจะถูกปล่อยให้อ้างตนว่าเป็นผู้ศรัทธา โดยที่พวกเขาจะมิได้ถูกทดสอบ” (อัล- อังกะบูต : 1-2 )
ปัจจุบันนี้เราเห็นว่าบรรดาผู้ปฏิเสธที่ต่างศาสนากันได้ร่วมมือกันเป็นปฏิปักษ์ต่ออิสลาม ซึ่งก็สอดคล้องกับคำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า
«يُوشِكُ الْأُمَمُ أَنْ تَدَاعَى عَلَيْكُمْ، كَمَا تَدَاعَى الْأَكَلَةُ إِلَى قَصْعَتِهَا»، فَقَالَ قَائِلٌ : وَمِنْ قِلَّةٍ نَحْنُ يوْمَئِذٍ؟ قَالَ : «بَلْ أَنْتُمْ يَوْمَئِذٍ كَثِيرٌ وَلَكِنَّكُمْ غُثَاءٌ كَغُثَاءِ السَّيْلِ، وَلَيَنْزَعَنَّ اللَّهُ مِنْ صُدُورِ عَدُوِّكُمْ الْمَهَابَةَ مِنْكُمْ، وَلَيَقْذِفَنَّ اللَّهُ فِي قُلُوبِكُمْ الْوَهْنَ» فَقَالَ قَائِلٌ : يَا رَسُولَ اللَّهِ وَمَا الْوَهْنُ؟، قَالَ: «حُبُّ الدُّنْيَا وَكَرَاهِيَةُ الْمَوْتِ» رواه أبوداود برقم 4297]
ความว่า “ประชาชาติต่างๆ เกือบจะรุมกินโต๊ะพวกเจ้า ดั่งผู้ที่มารุมล้อมเพื่อรับประทานอาหารของพวกเขา” มีผู้ถามขึ้นว่า ในวันนั้นพวกเรามีจำนวนน้อยใช่ไหม? ท่านตอบว่า “เปล่าหรอก ทว่าพวกเจ้ามีจำนวนมาก แต่พวกเจ้ามีมากเหมือนกับฟองน้ำที่ลอยอยู่เหนือพื้นน้ำ โดยที่อัลลอฮฺจะทำให้ศัตรูไม่หวั่นกลัวต่อพวกเจ้า และทำให้จิตใจของพวกเจ้าอ่อนแอ” ชายผู้หนึ่งถามท่านว่า แล้วเรามีความอ่อนแออย่างไรหรือครับท่าน ท่านนบีตอบว่า “ความอ่อนแอ คือ การลุ่มหลงในดุนยาและรังเกียจต่อความตาย” (บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข : 4297)
และหนทางที่จะช่วยให้รอดพ้นจากวิกฤติดังกล่าวด้วยการยึดมั่นต่ออัลกุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อย่างเคร่งครัด จะต้องออกห่างจากการตั้งภาคี ห่างจากผู้ที่ให้มีภาคีหุ้นส่วน ร่วมกับอัลลอฮฺ และมุอ์มินจะต้องมีความเชื่อมั่นต่อการช่วยเหลือของอัลลอฮฺจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ แม้นศัตรูจะมีจำนวนมากเพียงใดหรือมีอำนาจปานใดก็ตาม แน่นอนอัลลอฮฺจะทรงช่วยเหลือปกป้องศาสนาของพระองค์และรวมถึงบรรดาผู้ศรัทธาอีกด้วย อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿حَتَّىٰٓ إِذَا ٱسۡتَيَۡٔسَ ٱلرُّسُلُ وَظَنُّوٓاْ أَنَّهُمۡ قَدۡ كُذِبُواْ جَآءَهُمۡ نَصۡرُنَا فَنُجِّيَ مَن نَّشَآءُۖ وَلَا يُرَدُّ بَأۡسُنَا عَنِ ٱلۡقَوۡمِ ٱلۡمُجۡرِمِينَ ١١٠﴾ [يوسف: ١١٠]
ความว่า “จนกระทั่งเมื่อบรรดาเราะสูลต่างหมดหวัง และคาดว่าพวกเขา (มุชริกีน) จะไม่ตอบรับสัจธรรมอีกแล้ว การช่วยเหลือของเราได้มายังพวกเขา ดังนั้นผู้ที่เราประสงค์ (บรรดาเราะสูลและผู้ศรัทธา) ก็จะถูกช่วยเหลือให้รอดพ้น และย่อมไม่มีใครที่จะมาขัดขวางการลงโทษของเราต่อบรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนได้” (ยูซุฟ : 110)
﴿وَلَا تَاْيَۡٔسُواْ مِن رَّوۡحِ ٱللَّهِۖ إِنَّهُۥ لَا يَاْيَۡٔسُ مِن رَّوۡحِ ٱللَّهِ إِلَّا ٱلۡقَوۡمُ ٱلۡكَٰفِرُونَ ٨٧﴾ [يوسف: ٨٧]
ความว่า “และพวกเจ้าอย่าได้ท้อแท้หมดหวังต่อความโปรดปรานของอัลลฮฺเลย แท้จริงไม่มีผู้ใดหมดหวังต่อความโปรดปรานของอัลลอฮฺนอกจากบรรดากลุ่มชนผู้ปฏิเสธ” (ยูซุฟ : 87)
﴿إِنَّا لَنَنصُرُ رُسُلَنَا وَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَيَوۡمَ يَقُومُ ٱلۡأَشۡهَٰدُ ٥١ يَوۡمَ لَا يَنفَعُ ٱلظَّٰلِمِينَ مَعۡذِرَتُهُمۡۖ وَلَهُمُ ٱللَّعۡنَةُ وَلَهُمۡ سُوٓءُ ٱلدَّارِ ٥٢﴾ [غافر: 51- 52]
ความว่า “แน่นอน เราจะให้การช่วยเหลือต่อบรรดาเราะสูลของเรา และบรรดาผู้ศรัทธาด้วย ในการใช้ชีวิตบนโลกนี้ และในวันที่ปวงพยานจะยืนขึ้นเป็นพยาน วันซึ่งข้ออ้างของผู้ที่อยุติธรรมไม่มีค่าอันใดทั้งสิ้น พวกเขาจะได้รับการสาปแช่งอย่างสาสม และมีที่พำนักอันชั่วช้ายิ่ง” (ฆอฟิรฺ : 51- 52)
والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อับดุศศอมัด อัดนาน
ตรวจทานโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ
✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น