ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ถาม
พี่น้องมุสลิมในหมู่บ้านคนหนึ่ง เขาเหนียตจะไปทำฮัจญ์ แต่ปรากฎว่าเขาได้เสียชีวิตก่อนการทำฮัจญ์ในปีถัดไป ภรรยาของท่านจึงมอบหมายให้แซะห์ที่รับคนไปทำฮัจญ์ ทำฮัจญ์แทนท่าน โดยมอบ
เงินค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามที่แซะห์ตกลง และแซะห์ยังรับทำฮัจญ์ให้คนอื่นๆในเวลาและทำนองเดียวกันนี้อีกหลายคน อยากทราบว่าการทำฮัจญ์ดังกล่าวใช้ได้ไหม ค่ะ
ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม ..
ขออภัยที่ตอบช้า ผมเพิ่งกลับจากสงขลาครับ
หากแซะฮ์ที่รับทำหัจญ์แทนผู้ตายเป็นพี่หรือน้องผู้ตาย ผมก็จะตอบได้ด้วยความมั่นใจว่า ไม่น่าจะมีปัญหาครับ
แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันก็คือ แซะฮ์ที่รับจ้างไปทำหัจญ์แทนผู้ตาย ไม่มีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้านสายเลือดกับผู้ตายเลย
ไม่เหมือนดังที่ปรากฏในหะดีษที่อนุญาตให้พี่หรือน้องทำหัจญ์แทนกันได้
ด้วยเหตุนี้ แม้นักวิชาการบางมัษฮับจะมองว่า อนุญาตให้ญาติผู้ตาย "วะเกล" คือ มอบหมายให้ใครก็ได้ที่เคยทำหัจญ์ของตัวเองแล้วไปทำหัจญ์แทนผู้ตายได้
แต่ในมุมมองส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าวนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "รูปแบบ" ที่เป็นอยู่จริงในปัจจุบัน
เพราะมันไม่ใช่การ "วะเกล" ดังที่นักวิชาการในอดีตอนุญาต
แต่เป็นลักษณะการ "ว่าจ้างและรับจ้าง" ทำหัจญ์ - ซึ่งเป็นอิบาดะฮ์อย่างหนึ่ง - แทนกันเสียมากกว่า
จึงเป็นเรื่องของธุรกิจที่แฝงเข้ามาในรูปแบบการทำหัจญ์แทนกัน
นอกจากนั้น การที่แซะฮ์รับเงินค่าจ้างจากผู้ว่าจ้างหลายต่อหลายรายในปีหนึ่งๆทั้งๆที่ตัวเองมีสิทธิ์ทำแทนได้แค่คนเดียว (ตามสมมุติฐานที่ว่าอนุญาตให้รับจ้างทำแทนกันได้)
ย่อมแสดงว่า รายอื่นๆที่เหลือ แซะฮ์จะนำไป "จ้าง" คนอื่นทำแทนต่อๆกันไป(ด้วยค่าจ้างที่ "ต่ำ" กว่าราคาจากที่รับมาจากญาติผู้ตายโดยแซะฮ์จะเบียดบังเงินค่าจ้างส่วนหนึ่งไว้เป็นกำไรของตน)
ซึ่งหากจะมองว่าเป็นการวะเกลจากญาติผู้ตายให้แซะฮ์คนนั้นทำหัจญ์แทนญาติของตน
แต่แซะฮ์ก็ไปวะเกลคนอื่นทำแทนอีกต่อหนึ่ง
จึงกลายเป็น "วะเกลซ้อนวะเกล" ที่ไม่ปรากฏว่าจะญาติผู้ตายคนใดจะรับรู้หรือยินยอม
จึงเป็นเรื่องต้องห้ามตามหลักการวะเกล
สรุปแล้ว หากจะถามว่า การรับจ้างทำหัจญ์แทนกันลักษณะดังกล่าวนี้เศาะห์หรือไม่ ผมจึงขอตอบว่า ไม่ทราบ
แต่บอกได้เพียงว่า เป็นการรับจ้างทำอิบาดะฮ์แทนกันโดยไม่เคยปรากฏหลักฐานหรือแบบอย่างมาจากหะดีษบทใดครับ
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น