อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

การมอบหมาย หรือ "วะเกล"


ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย


ถาม


ฉันสงสัยหลักการ “วะเกล” นิดหนึ่งค่ะ คือ ไม่ทราบว่า การ "วะเกล" นี้ต้องพูดออกมาตอบรับทั้งสองฝ่ายหรือไม่ค่ะ คือที่เห็นไม่ว่า การ "วะเกล"ให้เชือดกุรฺบาน หรืออากีเกาะฮ์ จะมีการจับตัวสัตว์กุรบานหรืออากีเกาะฮ์ แล้วมีการส่งมอบ พร้อมกับกล่าวว่า “สัตว์(กุรฺบาน, อากีเกาะฮ์)ตัวนี้ของ...วะเกลให้...” อีฝ่ายก็ตอบรับ และรับมอบสัตว์นั้นไปเชือด ประมาณนี้ค่ะ หากผู้ทำกุรบาน หรืออากีเกาะฮ์เจตนา "วะเกล" ให้ผู้ที่จะเชือดแทน โดยที่สัตว์นั้นอยู่ใกล้ๆทั้ง 2 คน แล้วผู้ทำการ "วะเกล" ก็ไปนำสัตว์นั้นมาเชือด โดยต่างฝ่ายต่างเข้าใจตรงกัน แต่ไม่ได้กระทำการพูดและส่งมอบอย่างที่กล่าวมาข้างต้น การ “วะเกล” นั้นใช้ได้ไหมค่ะ


ตอบ

ตามหลักการ ผู้มอบหมายงานใดของตนเองให้ผู้อื่นทำแทน จะต้องกล่าวเป็นวาจาให้ผู้รับมอบเข้าใจว่าเป็นการมอบหมาย ..

 ซึ่งบางครั้งก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้คำพูดที่เป็นพิธีการจนเกินไป อย่างเช่นเราต้องการมอบหมาย (วะเกล)ให้เพื่อนซึ่งกำลังจะไปตลาด ช่วยซื้อปลาทูที่ตลาดแทนเรา เราก็ไม่จำเป็นต้องพูดว่า
 "ผมวะเกลให้คุณซื้อปลาทูหนึ่งกิโลกรัมที่ตลาดแทนผมด้วย"
อะไรอย่างนี้ แต่เรายื่นเงิน 100 บาทให้เพื่อนแล้วพูดกับเพื่อนสั้นๆว่า
"ช่วยซื้อปลาทูมาซัก 1 กิโลกรัมด้วยนะ"
เพื่อนก็เข้าใจแล้วว่าเรามอบหมายให้เขาซื้อปลาทู เป็นต้น ..

ในกรณีที่คุณถามเรื่องการมอบหมายกันในการเชือดกุรฺบ่านก็เช่นเดียวกัน ผู้มอบหมายต้องกล่าวแก่ผู้รับมอบหมาย (โดยไม่จำเป็นต้องไปจับสายเชือกวัวหรือแพะ) ว่า ผมมอบหมายให้คุณเชือดวัวกุรฺบ่านตัวนี้แทนผมด้วย หรือจะพูดสั้นๆเพียงว่า นายช่วยเชือดวัวกุรฺบานตัวนี้แทนเราด้วยนะ แค่นี้ก็หมดเรื่องครับ ..

ส่วนผู้รับมอบหมาย ก็อาจรับคำสั้นๆว่า ครับ ก็ได้, หรือไม่พูดอะไรเลย แต่ปฏิบัติตาม คือจูงวัวตัวนั้นไปเชือดตามที่อีกฝ่ายมอบหมายมา ก็ถือว่า ใช้ได้เช่นเดียวกันครับ วัลลอฮุ อะอฺลัม .....

ผมขออธิบายเพิ่มเติมอีกนิดว่า ถ้าผู้มอบหมายไม่พูดอะไร ผู้รับมอบก็คงไม่ทราบจุดประสงค์ของผู้มอบได้หมือนกันว่า ต้องการอะไร ก็อาจจะเกิดปัญหาเข้าใจผิดกันได้ อย่างเช่นสมมุติคุณจะนำอัล-กุรฺอานสัก 10 เล่มไป "ฝาก" ไว้ที่บ้านเพื่อนคนหนึ่ง พอไปถึงคุณก็ยื่นอัล-กุรฺอานนั้นให้เขาโดยไม่ได้พูดอะไรเลย อย่างนี้ถ้าผมเป็นเพื่อนคนนั้นของคุณ ผมต้องเข้าใจว่า คุณ "ให้" อัล-กุรฺอานเหล่านั้นแก่ผมแล้วผมก็อาจนำมันไปแจกจ่ายแก่เด็กๆในหมู่บ้านคนละเล่มสองเล่มจนหมด และเมื่อคุณกลับมาทวงอัล-กุรฺอานที่ฝากไว้คืน จะเกิดอะไรขึ้น คุณคงเดาออกนะครับ .. ซึ่งในเรื่องการมอบหมายหรือวะเกลก็จะมีลักษณะคล้ายๆกันนี่แหละ เพราะฉะนั้น การเปล่งวาจาสำหรับผู้มอบหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็นครับ...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น