1. เป็นการแสดงถึงความเป็นเอกภาพของประชาชาติในระดับสากลภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง ภายใต้ปรัชญา "ประชาชาติเดียวกัน"
2. ในโลกนี้ทุ่งอะเราะฟะฮฺมีเพียงหนึ่งเดียว คือที่มักกะฮฺ และการวุกูฟของบรรดาหุจจาจญ์ก็มีเพียงวันเดียว คือวันที่ออกประกาศโดยทางการมักกะฮฺ
3. ยุคสมัยความเจริญทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ประชาคมโลกสามารถติดต่อสื่อสารและสัมผัสด้วยตาตนเองถึงบรรยากาศวันอะเราะฟะฮฺที่มีการถ่ายทอดสดไปยังทั่วทุกมุมโลก และทุกคนก็ยากที่จะปฏิเสธความจริงข้อนี้
4. ข่าวสารการเห็นจันทร์เสี้ยวในวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺที่นครมักกะฮฺ สามารถรับทราบโดยประชาคมโลกอย่างทั่วถึงและง่ายดายที่สุด พร้อมยังมีเวลาเหลือเฟือสำหรับประเทศอื่นๆเพื่อเตรียมความพร้อมในการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชาติระดับสากล
5. วันอะเราะฟะฮฺ วันอีดอัฎฮาและบรรดาวันตัชรีกถือเป็นห้วงเวลาที่ประเสริฐยิ่ง ที่ประชาชาติมุสลิมควรถือโอกาสนี้แสดงพลังแห่งเอกภาพและภราดรภาพ ไม่ใช่เป็นวันที่จมปลักในวังวนแห่งความแตกแยกอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
6.สอดคล้องกับความต้องการของมุสลิมทั่วโลกที่ถวิลหาสัจธรรมและปราศจากอคติ ซึ่งอยากผูกพันอิบาดะฮฺของตนพร้อมๆกับบรรดาฮุจจาจญ์ ทั้งศิยามวันอะเราะฟะฮฺ การละหมาดอีด การเชือดกุรบานและสัญลักษณ์อื่นๆทางศาสนา และยังสอดคล้องกับเจตนารมณ์สูงสุดแห่งชะรีอะฮฺที่ต้องการสร้างสังคมปรองดอง มีความเอกภาพภายใต้ปรัชญา "ประชาชาติเดียวกัน"
7. การออกอีดตามการเห็นจันทร์เสี้ยวในประเทศใดประเทศหนึ่งบนโลกนี้ ถือว่าทำได้และถูกต้อง และไม่มีอุละมาอฺท่านใดจากอดีตและปัจจุบันเห็นค้าน
8.การกำหนดอีดอัฎฮาตามวันอะเราะฟะฮฺคือสิ่งที่ถูกต้องกว่า และสะดวกกว่าสำหรับผู้ประสงค์จะปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบี โดยเฉพาะการถือศีลอดวันอะเราะฟะฮฺ ที่มีผลบุญมหาศาล
9. การกำหนดวันอีดตามจุดปรากฏจันทร์เสี้ยว(มัฏละอฺ) ที่ต่างกัน ไม่มีหลักฐานที่เศาะฮีหฺ(ถูกต้อง) และ เศาะรีหฺ(ชัดเจน) และน่าสอดคล้องกับยุคสมัยที่การติดต่อสื่อสารยากลำบากเช่นในอดีตเท่านั้น
10. ประสบการณ์อันล้ำค่าของมุสลิมในประเทศไทยที่มีความเอกภาพในการออกอีดอัฎฮานานเกือบทศวรรษ เนื่องจากยึดถือวันอะเราะฟะฮฺ ถือเป็นประสบการณ์ที่มีความสำเร็จที่สูงสุด ที่ผู้นำมุสลิมและชาวมุสลิมทั่วประเทศควรนำเป็นต้นแบบสร้างสังคมแห่งความปรองดองและสมานฉันท์
.....................................
แหล่งอ้างอิง
อีดอัฎฮาตามวันอะเราะฟะฮฺ ชะรีอะฮฺของอัลลอฮฺสู่ความเป็นเอกภาพของประชาชาติ
เขียนโดย ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา
จัดพิมพ์โดย สำนักเลขานุการ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
(ร่วมนำเสนอสิ่งดีๆ โดย เพจศาสนาอิสลาม - الإسلام)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น