อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เมื่อวันอีดตรงกับวันศุกร์จะละหมาดญุมอัตอีกหรือไม่


                     สำหรับวันอีดิ้ลอัฎฮาปีนี้ ตรงกับวันศุกร์พอดี ซึ่งในกรณีที่วันอีดตรงกับวันศุกร์นี้ ยังมีนักวิชาการได้มีทัศนะต่างกัน ว่าเมื่อละหมาดอีดในวันศุกร์แล้ว จะต้องไปละหมาดวันศุกร์อีกหรือไม่? ซึ่งมีทัศนะต่าง 3 ทัศนะด้วยกันดังนี้

1 *** ละหมาดอีดแล้วไม่ต้องละหมาดวันศุกร์แต่ละหมาดบ่าย(ดุฮฺริ) ผู้เห็นด้วยกับทัศนะนี้ ได้แก่ ท่านอิมามอะหฺมัด อิบนิฮันบัล ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ(ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงเอ็นดูเมตตาท่าน)

2 ***ละหมาดอีดและละหมาดวันศุกร์ด้วย ผู้เห็นด้วยกับทัศนะนี้ ได้แก่ ท่านอิมามชาฟิอีย์ ท่านอิมามมาลิก และท่านอิมามอบูหะนีฟะฮฺ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ

3 *** ละหมาดอีดโดยไม่ละหมาดวันศุกร์และไม่ละหมาดบ่าย(ดุฮฺริ)  ไปละหมาดอัศริเลย ผู้เห็นด้วยกับทัศนะนี้ ได้แก่ ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบ๊าส และท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ ซุบัยรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา

เหตุผลของแต่ละทัศนะ

1...ทัศนะที่เมื่อละหมาดวันอีดแล้วไม่จำต้องละหมาดวันศุกร์อีก แต่ให้ละหมาดดุฮฺริ โดยอาศัยหลักฐานดังนี้

รายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"ได้มีการรวมวันอีดทั้งสอง (วันอีดและวันศุกร์) ในวันของพวกท่านในวันนี้ (วันอีด) ดังนั้น ผู้ใดไม่ประสงค์ที่จะละหมาดวันศุกร์ การละหมาดอีดในวันนั้นก้เป็นการเพียงพอสำหรับเขาแล้ว แต่เรา (ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาศอฮาบะฮฺ ณ นครมะดีนะฮฺ) จะละหมาดอีดและละหมาดวันศุกร์" (บันทึกหะดิษโดยอิมามอิบนุมาญะฮิ และท่านอิมามอัลบัยฮะกีย์)

รายงานจากท่านซัยดฺ อินนิลอัรกอม ร่อฎียัลลอฮฺอันฮุมา เล่าว่า
"ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ละหมาดอีด (ซึ่งอีดวันนั้นตรงกับวันศุกร์) แล้วท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ได้ผ่อนผันให้ไม่ต้องละหมาดวันศุกร์ โดยท่านกล่าวว่า ผู้ใดประสงค์จะละหมาดวันศุกร์ก็จงละหมาดเถิด" (บันทึกหะดิษโดยอิมามอบูดาวูด)

และทัศนี้ให้เหตุผลว่า ใครที่ละหมาดอีดแล้วการละหมาดญุมุอะฮฺก็ถูกเว้นไป แต่สำหรับอิหม่ามจำต้องดำรงการละหมาดญุมุอะฮฺเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสงค์จะละหมาดญุมุอะฮฺได้มีที่ละหมาดและสำหรับคนที่ไม่ได้ละหมาดอีด(จะได้มีที่ละหมาดญุมุอะฮฺด้วย) และนั่นคือการปฏิบัติที่มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และสาวกของท่าน อาทิเช่น ท่านอุมัร, อุษมาน, อิบนุมัสอู๊ด, อิบนุอับบาส, อิบนุซุบัยรฺ, และอื่นๆ โดยไม่มีทัศนะอื่นจากเศาะฮาบะฮฺดังกล่าวที่แย้งกับทัศนะนี้ และสำหรับสองทัศนะแรกเขาก็ไม่ได้รับรู้หลักฐานจากซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เกี่ยวกับกรณีวันศุกร์ตรงกับวันอีด ซึ่งท่านนบีละหมาดอีดและอนุโลม(ให้เว้น)การละหมาดญุมุอะฮฺ และมีอีกสำนวนหนึ่งท่านนบีกล่าวว่า "โอ้ผู้คนทั้งหลาย แท้จริงพวกท่านได้ประสบความดีแล้ว(คือละหมาดอีด) ดังนั้นใครประสงค์ที่จะละหมาดญุมุอะฮฺ(ด้วย)ก็จงปรากฏตัว เพราะเราจะละหมาดญุมุอะฮฺ(ด้วย)"

และผู้ที่ละหมาดอีดแล้วจะถือว่าประสบวัตถุประสงค์ของการชุมนุม(ในวันศุกร์) และจำเป็นต้องละหมาดดุฮฺริถ้าไม่ได้ละหมาดญุมุอะฮฺ โดยละหมาดดุฮฺริตามเวลา เพราะการละหมาดอีดนั้นได้บรรลุเป้าหมายของละหมาดญุมุอะฮฺแล้ว และการบังคับให้ผู้คน(ละหมาดญุมุอะฮฺด้วย) เป็นความลำบากสำหรับพวกเขา และอาจขัดกับเป้าหมายของวันอีดที่ส่งเสริมให้สนุกสนานและประพฤติตัว(ตามอัธยาศัย) ซึ่งหากพวกเขาถูกบังคับให้ละหมาดญุมุอะฮฺก็เป็นการทำลายเป้าหมายของวันอีด ซึ่งวันญุมุอะฮฺเป็นอีดและวันอัลฟิฏรฺ(อีดเล็ก)กับวันอันนะหรฺ(อีดใหญ่)เป็นวันอีดเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นนโยบายของพระผู้บัญญัติเมื่อมีอิบาดะฮฺสองชนิดได้ปรากฏพร้อมกันก็จะประสมประสานกันเช่นเดียวกับการอาบน้ำละหมาดที่เข้าอยู่ในการอาบน้ำญะนาบะฮฺ

2...ทัศนะที่เมื่อละหมาดวันอีดแล้วต้องไปละหมาดวันศุกร์อีก โดยมีทัศนะว่าเมื่อวันอีดตรงกับวันศุกร์ มุสลิมผู่ที่บรรลุศาสนภาวะจะต้องปฏิบัติ 2 อย่าง กล่าวคือ จะต้องละหมาดอีดในฐานะที่ละหมาดอีดเป็นสุนนะฮฺ และละหมาดวันศุกร์ในฐานะที่ละหมาดวันศุกร์เป็นฟัรฎู การเลือกปฏิบัติละหมาดอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่สามารถทดแทนละหมาดอีกอย่างหนึ่งได้

ท่านอิมาม อิบนุฮัซมฺ กล่าวว่า
"และเมื่อวันอีดตรงกับวันศุกร์ ให้ทำการละหมาดอีดหลังจากนั้นก็ให้ทำละหมาดวันศุกร์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น และไม่มีมีรายงานที่ถูกต้องใดๆ มาค้านในเรื่องนี้" (หนังสือ อัลมุฮัลลา เล่มที่ 3 หน้า 303 ปัยหาเลขที่ 547)
ท่านอิมามอิบนิ มุนซิร , ท่านอิมามอิบนุ อารอบีย์ , ท่านอิมามอิบนุกุดามะฮฺ ท่านอิมาม อันอัยนี และท่านอิมามนะวะวีย์ ได้ยืนยันว่า นักวิชาการมุสลิมมีมติเป็นเอกฉันท์ในทุกยุคทุกสมัยว่า การละหมาดวันศุกร์เป็นฟัรฎู

และคำพูดของท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า "ผู้ใดไม่ประสงค์ที่จะละหมาดวันศุกร์ การละหมาดอีดในวันนั้นก็เป็นการเพียงพอสำหรับเขาแล้ว" ตามหะดิษที่บันทึกจากมามอิบนุมาญะฮฺ ท่านอิมามอัลบัยฮะกีย์ และอิมามอบูดาวูด ทั้ง 2 หะดิษยกไปแล้วนั้น ไม่ได้กล่าวถึงบุคคลทั่วๆไป หากแต่กล่าวถึงชาวชนบทที่มาร่วมละหมาดอีดกับท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ณ นครมะดีนะฮฺเท่านั้น ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เห็นว่าชาวชนบทเหล่านั้นมักจะร่วมละหมาดวันศุกร์กับท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นประจำทุกวันศุกร์ แต่เนื่องจากพวกเขามาละหมาดอีดกับท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมแล้วในตอนเช้า จึงเป็นเรื่องยากลำบากที่พวกเขาจะต้องมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อละหมาดวีันศุกร์กับท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ณ นครมะดีนะฮฺอีก ด้วยเหตุนี้ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงผ่อนผันให้พวกเขากลับบ้านไป โดยไม่ต้องมาละหมาดวันศุกร์อีก
 ส่วนคำว่า "เราจะละหมาดอีดและละหมาดวันศุกร์"เราในที่นี้หมายถึง ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาศอฮาบะฮฺ ณ นครมะดีนะฮฺ ที่ยังคงมาละหมาดวันศุกร์

และในยุคท่านฆอลีฟะฮฺอุสมาน ปรากฏวันอีดตรงกับศุกร์ ท่านอุสมานได้กล่าวคุฏบะฮิวันนั้นว่า
"ประชาชนทั้งหลาย วันอีดทั้งสองได้มาตรงกันในวันของพวกท่านในวันนี้ (วันอีดและวันศุกร์) ดังนั้น ผู้ใดจากชาวอัลอาลียะฮฺ (ชาวชนบทที่อาศัยในอัลอาลียะฮฺ) ประสงค์ที่จะละหมาดกับเราก็จงละหมาดเถิด และผู้ใดประสงค์จะกลับไปก็จงกลับไปเถิด" (บันทึกโดยอิมามบุคอรี)

3...ทัศนะที่เมื่อละหมาดวันอีดแล้วไม่ต้องละหมาดวันศุกร์และไม่ละหมาดบ่าย(ดุฮฺริ)  แต่ไปละหมาดอัศริเลย โดยอาศัยหลักฐานดังนี้


รายงานจากท่านอะฏออ์ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า
“วันศุกร์กับวันอีดฟิตริตรงกันในสมัยของท่านอิบนุซุบัยร์ ท่านกล่าวว่า สองอีดมาบรรจบในวันเดียวกัน ฉะนั้นจึงได้รวมทั้งสองไว้ด้วยกัน โดยละหมาดอีดและละหมาดวันศุกร์ด้วยกัน 2 รอกอะห์ในเช้าตรู่ จากนั้นก็ไม่ได้ละหมาดอื่นใดอีกจนกระทั่งละหมาดอัศร์” (หะดิษเศาะเฮียะฮฺ บันทึกโดยอบูดาวู๊ด ฮะดีษที่ 906)
รายงานจากอะฏออ์ อิบนิอบีรอบาฮ์ เล่าว่า
“ท่านอิบนุซุบัยร์ได้นำเราละหมาดอีดซึ่งตรงกับวันศุกร์ในตอนเช้า และเมื่อเราได้ไปละหมาดวันศุกร์ ท่านก็ไม่ได้ออกมานำเราละหมาด พวกเราจึงต่างคนต่างละหมาด ขณะนั้นท่านอิบนุอับบาสอยู่ที่เมืองฏออิฟ เมื่อท่านกลับมาเราจึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง ท่านกล่าวว่า ถูกต้องตรงตามซุนนะห์แล้ว” (หะดิษเศาะเฮียะฮฺ บันทึกโดยอบูดาวู๊ด ฮะดีษที่ 905)


สำหรับฟัตวาคณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยทางวิชาการและฟัตวา (ซาอุฯ) เลขที่ 21160 ลงวันที่ 8/11/1420  เกี่ยวกับทัศนะที่เห็นว่า ผู้ที่ละหมาดอีดแล้ว ถือว่าไม่จำเป็นต้องละหมาดญุมอะฮฺและดุฮรีในวันดังกล่าวอีก

ลงนามโดย :

1- เชคอับดุลอะซีซ บิน อับดิลลาฮฺ อาลัชชัยคฺ (มุฟตีสูงสุด)
2- เชคอับดุลลอฮฺ บิน อิบดิรเราะหฺมาน อัลฆุดัยยาน
3- เชคบักร บิน อับดิลลาฮฺ อบูเซด
4- เชคศอลิหฺ บิน เฟาซาน อัลเฟาซาน

โดยเนื้อหาฟัตวาในข้อ 6. ระบุว่า..

القول بأن من حضر صلاة العيد تسقط عنه صلاة الجمعة وصلاة الظهر ذلك اليوم قول غير صحيح، ولذا هجره العلماء وحكموا بخطئه وغرابته، لمخالفته السنة وإسقاطه فريضةً من فرائض الله بلا دليل، ولعل قائله لم يبلغه ما في المسألة من السنن والآثار التي رخصت لمن حضر صلاة العيد بعدم حضور صلاة الجمعة، وأنه يجب عليه صلاتها ظهراً والله تعالى أعلم.

"ทัศนะที่เห็นว่า ผู้ที่ละหมาดอีดแล้ว ถือว่าไม่จำเป็นต้องละหมาดญุมอะฮฺและซุฮรีในวันดังกล่าวอีกนั้น เป็นทัศนะที่ไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ บรรดาอุละมาอ์จึงไม่ยอมรับทัศนะดังกล่าว และตัดสินว่าเป็นทัศนะที่ผิดและแปลก เนื่องจากเป็นทัศนะที่ขัดแย้งกับสุนนะฮฺ และเป็นการยกเลิกฟัรดูหนึ่งจากบรรดาฟัรดูต่างๆ ที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้ โดยปราศจากหลักฐาน เป็นไปได้ว่าผู้ที่มีทัศนะเช่นนี้ ไม่ได้ทราบถึงตัวบทสุนนะฮฺและอาษารฺต่างๆในประเด็นนี้ ที่อนุโลมให้ผู้ที่ละหมาดอีดแล้วไม่ต้องละหมาดญุมอะฮฺได้ แต่ก็วาญิบสำหรับเขาที่ต้องละหมาดซุฮรีแทน.. วัลลอฮุอะอฺลัม"



والله أعلم بالصواب

✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น