สำหรับการทำอุฏฮิยะห์ หรือทำกุรบานแทนผู้เสียชีวิตนั้น ไม่มีหลักฐานศอเฮียะห์ในเรื่องการทำกุรบานแทนผู้ตาย (เว้นแต่ กรณีผู้ตายได้สั่งเสียไว้ก่อนตายว่าให้ทำกุรฺบานแทนตน) ทั้งๆที่บุคคลอันเป็นที่รักยิ่งของท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เสียชีวิตไป แต่ก็ไม่หลักฐานว่าท่านรสูลทำกุรบานแทนผู้เสียชีวิตไปนั้น เช่นท่านหญิงฆอดิญะฮฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮา เป็นต้น ท่านรสูลก็ไม่เคยทำกุรบานให้นาง หรือคนอื่นๆเลย หรือแม้กระทั่งการสั่งให้บุคคลอื่นทำแทนผู้ตายก็ไม่เคยปรากฏหลักฐาน
สำหรับหะดิษบทวิพากษ์ต่อไปนี้ ที่ผู้ทำกุรบานแทนผู้ตายได้ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง ซึ่งเป็นฮะดีษฏออีฟ
2790 - حدثنا عثمان بن أبي شيبة قال ثنا شريك عن أبي الحسناء عن الحكم عن حنش قال
: رأيت عليا رضي الله عنه يضحي بكبشين فقلت له ما هذا ؟ فقال إن رسول الله صلى الله عليه و سلم أوصاني أن أضحي عنه فأنا أضحي عنه .
อุสมาน อิบนุ อบีชัยบะห์ เล่าให้เราฟังว่า ชะรีก เล่าให้เราฟังจาก อบี อัลฮัสนาอ์ จาก อัลฮะกัม จาก ฮะนัช กล่าวว่า "ฉันเคยเห็นท่านอาลี เชือดอุฏฮิยะห์ ด้วยแกะสองตัว ฉันจึงถามเขาว่า นี่คืออะไร เขาตอบว่า แท้จริงท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งเสียแก่ฉันให้เชือดอุฏฮิยะห์แทนท่าน ฉันจึงต้องเชือดอุฏฮิยะห์แทนท่าน" (สุนันอบีดาวูด ฮะดีษเลขที่ 2408)
حدثنا محمد بن عبيد المحاربي الكوفي حدثنا شريك عن أبي الحسناء عن الحكم عن حنش عن علي أنه كان يضحي بكبشين أحدهما عن النبي صلى الله عليه وسلم والآخر عن نفسه فقيل له فقال أمرني به يعني النبي صلى الله عليه وسلم فلا أدعه أبدا
มูฮัมหมัด อิบนุ อุบัยด์ อัลมุฮาริบีย์ อัลกูฟีย์ เล่าให้เราฟังว่า ชารี๊ก เล่าให้เราฟังจาก อบี ฮัสนาอ์ จาก อัลฮะกัม จาก ฮะนัช จาก อาลี ว่า "แท้จริงอาลีได้เชือดอุฏฮิยะห์ด้วยแกะสองตัว โดยตัวหนึ่งเชือดให้แก่ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และอีกตัวหนึ่งเชือดให้แก่ตัวเอง มีผู้ถามเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาตอบว่า ท่านใช้ให้ฉันทำมัน หมายถึงท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และฉันจะไม่ละทิ้งมันตลอดไป" (สุนันอัตติรมีซีย์ ฮะดีษเลขที่ 1415)
ฮะดีษบทนี้เป็นคำรายงานเดี่ยวโดยบรรดาผู้รายงานจากชาวกูฟะห์ ซึ่งอัลฮากิม กล่าวว่า
تفرد به أهل الكوفة من أول الإسناد إلى آخره لم يشركهم فيه أحد
“ชาวกูฟะห์รายงานเดี่ยวจากต้นจนปลายสายรายงานโดยไม่มีผู้อื่นร่วมด้วย” อุลูมุ้ลฮะดีษของอัลฮากิม 1/219
บรรดานักวิชาการฮะดีษได้กำชับให้ระมัดระวังฮะดีษที่รายงานโดยบรรดาผู้รายงานจากชาวเมืองกูฟะห์เพียงลำพัง เพราะส่วนใหญ่จะเป็นฮะดีษอุปโลกน์ กรณีนี้เป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้นมิใช่คำตัดสิน
แม้ว่าฮะดีษบทนี้จะมีระบุอยู่ในบันทึกฮะดีษหลายชุดก็ตาม แต่ทั้งหมดล้วนมาจากสายรายงานเดียวกันคือ จาก ชารี๊ก จาก อบี อัลฮัสนาอ์ จาก อัลฮะกัม จาก ฮะนัช จาก อาลี ซึ่งท่านอิหม่ามอัลติรมีซีย์ ได้กล่าววิจารณ์ไว้ในท้ายฮะดีษว่า “นี่คือฮะดีษฆ่อรีบ” หมายถึง ฮะดีษที่มีผู้รายงานเพียงคนเดียวไม่ว่าในระดับใดก็ตาม และฮะดีษบทวิพาษ์นี้ ก็เป็นเพียงสายรายงานเดียวโดยที่ไม่มีรายงานจากสายอื่นมาสนับสนุน (ชะวาฮิด)
ดังนั้นหากฮะดีษบทนี้มีข้อบกพร่อง ไม่ว่าจากสายรายงาน,ตัวผู้รายงาน หรือเนื้อหา ก็จะทำให้ฮะดีษนี้อยู่ในสถานะ ฏออีฟ (อ่อน) และ เมาฏัวอ์ (เก้) เท่านั้น
ดังนั้นหากฮะดีษบทนี้มีข้อบกพร่อง ไม่ว่าจากสายรายงาน,ตัวผู้รายงาน หรือเนื้อหา ก็จะทำให้ฮะดีษนี้อยู่ในสถานะ ฏออีฟ (อ่อน) และ เมาฏัวอ์ (เก้) เท่านั้น
อัลมุนซิรีย์ ได้กล่าววิจารณ์ผู้รายงานว่า
1 – ชะรีก คือ อิบนุ อับดิลลาฮ์ อัลกอฏี (อัลนัคอีย์ อัลกูฟีย์) มีคำวิจารณ์เกี่ยวกับเขาหลายประการ และท่านอิหม่ามมุสลิม ได้บันทึกการรายงานของเขาเป็นกรณีคำรายงานสำทับเท่านั้น
2 – อัลฮะกัม คือ อิบนุอุตัยบะห์
3 – ผู้รายงานที่ชื่อ ฮะนัช นั้นไม่ใช่ อิบนุอับดิลลาฮ์ อัสสะบะอีย์ ตามที่บางคนเข้าใจ แต่เขาคือ ฮะนัช บิน อัล มัวตะมิร อัลกินานีย์ อัลกูฟีย์ ซึ่งบรรดานักวิชาการหลายท่านวิพากษ์วิจารณ์ในตัวเขา เช่น อิบนุฮิบบาน กล่าวว่า : มีความคลุมเครือมากเหลือเกินในคำรายงานของเขาเพียงลำพังจากท่านอาลีหลายประการ ไม่ละม้ายกับฮะดีษของผู้รายงานที่เชื่อถือได้ จนกระทั่งได้กลายเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ไม่สามารถอ้างเป็นหลักฐาน
4 – อบี อัลฮัสนาอ์ ครูของ อับดุลลอฮ์ เป็นบุคคลมัจญ์ฮุล ดังที่ทราบกันดี
ฉะนั้นฮะดีษบทนี้จึงฏออีฟ ( ตัวฮ์ฟะตุ้ลอะห์วะซีย์ 4/148)
อิบนุ ฮะญัร อัลอัสก่อลานีย์ ได้กล่าววิจารณ์ผู้รายงานชื่อ อบี อัลฮัสนาอ์ ว่า
"อบี อัลฮัสนาอ์ นั้น บางคนบอกว่า เขามีชื่อว่า อัลฮะซัน และบางคนก็บอกว่าเขาชื่อ อัลฮุเซน ซึ่งเขาอยู่ในสถานะมัจญ์ฮูล" (ตั๊กรีบุตตะห์ซีบ เล่มที่ 2 หน้าที่ 384 ลำดับที่ 8086)
ท่านฮาฟิซ อัสซะฮะบีย์ วิจารณ์ว่า
"อบี อัลฮัสนาอ์ นั้น ชะรี๊ก ได้รายงานต่อจากเขา แต่เขาไม่เป็นที่รู้จัก และเขาอ้างคำรายงานจาก อัลฮะกัม อิบนุ อุตัยบะห์" ( มีซานุ้ลเอียะอ์ติดาล เล่มที่ 4 หน้าที่ 515 ลำดับที่ 10106)
คำว่า “มัจฮูล” ในทางวิชาฮะดีษนั้น หมายถึงบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รู้จัก ไม่สามารถสืบประวัติของเขาได้ ซึ่งกรณีนี้มีผลทำให้ฮะดีษบทนี้อยู่ในสถานะ ฏออีฟ ไม่สามารถอ้างเป็นหลักฐานได้
เชคอัลบานี ได้คัดแยกฮะดีษบทวิพากษ์นี้จาก สุนันอัตติรมีซีย์ ไว้ในหมวดของ “ฏออีฟอัตติรมีซีย์” และได้คัดแยกจาก สุนันอบีดาวูด ไว้ในหมวดของ “ฏออีฟอบีดาวูด” ลำดับที่ 2790 และฮะดีษบทวิพาษ์นี้ที่อยู่ในบันทึกอื่นๆ ก็เป็นสานรายงานเดียวกันทั้งสิ้น
****
แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ที่มีชีวิตอยู่ต้องการทำบริจาคเศาะดะเกาะฮฺนำเนื้อกุรบานไปทำเศาะดะเกาะฮฺ แล้วเนียตเศาะดะเกาะฮฺแทนผู้ตายก็ย่อมกระทำได้ เพราะการเศาะดะเกาะฮฺแทนผู้ตายมีหลักฐานในเรื่องนี้ และการกระทำเช่นนี้เป็นหลักการพื้นฐานที่ศาสนาอนุมัติให้กระทำได้ เป็นการทำดีโดยทั่วๆไป อย่างกรณีบริจาคเศาะดะเกาะฮฺทั่วๆไป เช่น การบริจาคเงิน บริจาคที่ดินวะกาฟให้มัสยิด หรือการบริจาคทรัพย์สินทั่วๆไปให้แก่คนยากจน แล้วเนียตการทำเศาะดะเกาะฮฺแทนผู้ตาย แต่ไม่ใช่ทำเศาะดะเกาะฮฺ แล้วอุทิศผลบุญให้แก่ผู้ตาย เพราะอิสลามไม่มีการอุทิศผลบุญ(มีแต่ทำแทนผู้ตาย และการทำแทนผู้ตายก็ต้องมีหลักฐานศาสนาบัญญัติไว้) เรากระทำอิบาดะฮฺใดๆ เราจะได้รับผลบุญหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่พระองค์อัลลอฮฺ ศุบฮานาฮูวะตาอาลา เท่านั้น เราจะอุทิศผลบุญให้แก่ผู้ตาย แล้วเราทราบได้อย่างไรว่าพระองค์อััลลอฮฺได้ทรงตอบแทนผลบุญแก่เราหรือไม่เพียงใด
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
ความว่า "เมื่อลูกหลานอาดัมเสียชีวิตการงานทั้งหมดถูกตัดขาด ยกเว้นสามประการเท่านั้น (1) เศาะดะเกาะฮฺญาริยะฮฺ (2) ความรู้ที่ยังประโยชน์ และ (3) ลูกศอลิหฺ (ลูกยึดมั่นในศาสนา)ขอดุอาอฺให้แก่เขา (ผู้ตาย)" (บันทึกโดยมุสลิม)
ท่านหญิง อาอิชะฮฺเล่าว่า
ความว่า"มีชายผู้หนึ่งกล่าวแก่ท่านนบีว่า แท้จริงแม่ของฉันเสียชีวิตกระทันหัน, ฉันคิดว่าหากนางจะกล่าว (สั่งเสีย) นางต้องสั่งให้บริจาค (อย่างแน่นอน) เช่นนั้นหากฉันบริจาคแทนนาง,นางจะได้รับผลบุญหรือไม่ ? ท่านนบีตอบว่า ได้ (ผลบุญ) ซิ" (บันทึกโดยบุคอรีย์)
والله أعلم بالصواب
✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น