อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ชุดดำเพื่อการไว้ทุกข์



 ขอชี้แจงถึงหัวข้อสักนิดก่อนจะคุยในรายละเอียดว่า
ชุดดำตามหัวข้อนี้มิได้หมายถึงการแต่งตัวด้วยชุดดำปกติโดยทั่วไป แต่หมายถึงการแต่งชุดดำเพื่อการไว้ทุกข์ เนื่องจากการตาย เพราะฉะนั้นถ้าท่านแต่งตัวด้วยชุดดำตามปกติวิสัย ก็ทำไปเถิด มิได้เกี่ยวกับหัวข้อที่เราจะกล่าวต่อไปนี้

#ไว้ทุกข์คืออะไร

ในพจนานุกรมไทยฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า

ไว้ทุกข์ ก.แต่งกายหรือแสดงเครื่องหมายตามประเพณีนิยมว่าตนมีทุกข์เพระบุคคลสำคัญในครอบครัวเป็นต้นตายไป เช่น ไว้ทุกข์ให้พ่อ

ในพจนานุกรมฉบับ อ.เปลื้อง ณ นคร อธิบายว่า
ไว้ทุกข์  ก. ประดับเครื่องหมายแสดงความโศกเศร้าให้แก่ผู้ตาย

#มุสลิมไว้ทุกข์ได้หรือไม่

ไม่ปรากฏในคำสอนของศาสนาที่บังคับใช้หรือสนับสนุนให้มุสลิม (ชาย) ไว้ทุกข์แก่ผู้เสียชีวิต ไม่ว่าผู้เสียชีวิตจะเป็นญาติใกล้ชิดกันก็ตาม และก็ไม่อนุญาตให้มุสลิมวางกฎเกณฑ์การไว้ทุกข์เอาเอง เพราะไม่มีสิทธิ์ในการวางบัญญัติศาสนา  แม้กระทั่งขณะที่ท่านนบีเสียชีวิต, บรรดาศอฮาบะห์ก็มิได้กำหนดรูปแบบและวิธีการเพื่อไว้ทุกข์ให้ท่านแต่อย่างใด ไม่มีร่องรอยจากบรรดาค่อลีฟะห์, บรรดาศอฮาบะห์, ตาบีอีน, ตาบีอิตตาบีอีน และแนวทางของชาวสะลัฟแต่อย่างใด

นอกจากมุสลีมะห์ (สตรี) ที่ศาสนาบัญญัติให้นางไว้ทุกข์แก่ญาติใกล้ชิดได้ไม่เกิน 3 วัน และหากสามีตายก็ให้นางไว้ทุกข์ 4 เดือน 10 วัน ดังคำรายงานต่อไปนี้

"لاَ يَحِلُّ لاِمْرَأَةٍ تُؤْمِنُ بِاللهِ وَاليَوْمِ الآخِرِ أنْ تُحِدَّ عَلَى مَيِّتٍ فَوْقَ ثَلاَثَ إلاَّ عَلَى زَوْجٍ أرْبَعَةَ أشْهُرٍ وَعَشْراً"

“ไม่อนุมัติให้หญิงที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และเชื่อมั่นต่อวันอาคิเราะห์ในการไว้ทุกข์ให้แก่ผู้อื่นเกินกว่าสามวัน นอกจากไว้ทุกข์ให้สามีสี่เดือนสิบวัน”  ศอเฮียะห์บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 1202

การไว้ทุกของมุสลิมะห์นี้ คือการรักนวลสงวนตัว,ไม่ตกแต่งเครื่องประดับ, ไม่ออกนอกบ้านเมื่อไม่มีเหตุของความจำเป็น เป็นต้น

ด้วยเหตุที่กล่าวแล้วนี้ เราจึงไม่พบร่องรอยหรือแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทุกข์ในหมู่มุสลิมแต่อย่างใด แต่ปัจจุบัน มีผู้รู้ของเราบางท่านได้ออกมาให้คำตอบเกี่ยวกับการแต่งกายด้วยชุดดำเพื่อการไว้ทุกข์หลายราย  บ้างก็ว่าใส่ชุดดำไว้ทุกข์ไม่ได้เป็นที่ต้องห้าม , บ้างก็ว่าใส่ได้เพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องของศาสนา, บ้างก็ว่าใส่ได้เพราะเป็นกติกาของสังคม, และบ้างก็ว่าเป็นประเพณีนิยมเมื่อมีการตาย

มูลเหตุของการให้คำตอบที่แตกต่างกันนี้เนื่องจากการมองปัญหาและพิจารณาปัญหาต่างกันซึ่งเราจะเรียงลำดับให้เห็นต่อไปนี้

          #1 – ชุดดำไว้ทุกข์เป็นความเชื่อและแนวทางปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาใดหรือไม่

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อะไรที่เป็นความเชื่อและแนวทางการปฏิบัติของแต่ละศาสนานั้นเราไม่สามารถที่จะนำมาคละรวมกันได้ เนื่องจากบทบัญญัติที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงประทานแก่ท่านนบีให้ประกาศว่า
لَكُمْ دِيْنُكُمْ وَلِيَ دِيْنِ

“สำหรับพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน” ซูเราะห์อัลกาฟิรูน อายะห์ที่ 6

          แต่เมื่อเราสำรวจดูแล้วก็ไม่ปรากฏว่า การแต่งชุดดำไว้ทุกข์เป็นคำสอนของศาสนาพุทธแต่อย่างใด แต่เป็นประเพณีที่ชาวพุทธในประเทศไทยปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งจะนำมาพิจารณาในประเด็นถัดไป อินชาอัลลอฮ์

          1.1. บางท่านกล่าวว่า “หลักการพิจารณาว่าทำได้หรือไม่ ต้องดูว่า เป็นเรื่องศาสนาหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องศาสนาต้องไปดูว่าพระสงฆ์ทำหรือไม่ ชี ทำหรือไม่ เขาไม่ได้ทำ ก็แสดงว่า เป็นเรื่องทางสังคมไม่เกี่ยวกับศาสนา เมื่อเป็นเรื่องสังคมมุสลิมสามารถทำได้หากในกลุ่มทำ"

หลักการพิจารณาข้างต้นนี้ไม่ถูกต้องและก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวง คำว่า “พระสงฆ์,เณร,ชี ไม่ได้ทำก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องของศาสนาพุทธเป็นเรื่องสังคม”  หากยึดคำพูดนี้เป็นมาตรวัดเล้วละก็ , วันข้างหน้ามุสลิมอาจจะลอยกระทง เล่นสงกราน และ ฯลฯ โดยถือว่าไม่ใช่เรื่องศาสนาแต่เป็นเรื่องสังคม เพราะพระสงฆ์,เณร,ชี ไม่ได้ทำ

การที่เราจะรู้ว่าเป็นเรื่องของเขาหรือไม่ ก็ดูที่คำสอนในศาสนาเขา,ดูที่ความเชื่อและการปฏิบัติของศาสนิกชน ไม่ใช่พิจารณาแค่สงฆ์,เณร,ชี  ทำหรือไม่ทำเท่านั้น  เพราะการปฏิบัติบางเรื่องเป็นกิจเฉพาะของสงฆ์  และบางเรื่องก็เป็นกิจของฆราวาส
 
          #2 – ที่มาของชุดดำเพื่อการไว้ทุกข์

          การใส่ชุดดำไว้ทุกข์นั้น แม้จะไม่ปรากฏในคำสอนของศาสนาพุทธ แต่ก็เป็นประเพณีที่ชาวพุทธปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างช้านาน โดยในอดีตนั้นจะมีการจำแนกยศจำแนกวัยของผู้ตาย กล่าวคือ

ไว้ทุกข์ให้ผู้ใหญ่หรือเจ้าขุนมูลนายใช้สีขาว, ไว้ทุกข์ให้ผู้น้อยใส่สีดำ, ไว้ทุกข์ให้คนไม่ใช่ญาติใช้สีม่วงหรือสีน้ำเงินเข้ม

          ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการไว้ทุกข์ด้วยสีดำทั้งหมดในสมัยของรัชกาลที่ 8 หรือในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นยุครัฐนิยม ที่ปลุกกระแสให้คนไทยตามฝรั่ง นับแต่นั้นมาสีดำจึงเป็นสีของการไว้ทุกข์ของคนไทยโดยปริยาย

          หากจะถามว่า ทำไมฝรั่งมังค่าถึงต้องใส่ชุดดำเมื่อมีการตาย จากข้อมูลการสืบค้นนั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องของวิญญาณ บ้างก็ว่าเพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณเข้าสิงร่าง หรือแม่หม้ายที่สามีตายก็จะสวมชุดดำเพื่อไม่ให้วิญญาณของสามีจำตนเองได้ อย่างนี้เป็นต้น

          ส่วนคนจีนนั้นจะกำหนดสีเสื้อผ้าที่แตกต่างกันออกไปตามลำดับความสำคัญของเครือญาติที่ใกล้ชิด

          #3 –  ชุดดำไว้ทุกข์เป็นประเพณีที่ต้องห้ามหรือไม่

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มุสลิมไม่เคยสืบทอดประเพณีไว้ทุกข์ร่วมกับศาสนิกอื่น,  มุสลิมแสดงจุดยืนในเรื่องนี้อย่างเด่นชัดเสมอมา ไม่ว่าญาติพี่น้องที่ไม่ใช่มุสลิมเสียชีวิต,เพื่อนบ้าน,เพื่อนร่วมงาน,เพื่อนร่วมเรียน ต่างคนต่างปฏิบัติไม่ก้าวก่ายกัน  แต่มาวันนี้...มีบางคนของเราอาสาจะสืบทอดประเพณีนี้ร่วมกับเขา แล้วมันจะไม่มีผลเฉพาะกิจเท่านั้น แต่จะเป็นผลในวงกว้าง และมีผลระยะยาวต่อไปถึงลูกหลานของเราในภายภาคหน้าอีกด้วย เพราะมันจะกลายเป็นประเพณีร่วมกันของคนในสังคมนี้ไม่ว่าจะถือศาสนาใดก็ตาม  แต่ก่อนที่ท่านหรือใครจะอาสาสืบประเพณีนี้ขอได้โปรดพิจารณาหลักเกณฑ์ทางวิชาการสักนิด

          คำว่า “ประเพณี” นั้นในทางวิชาการเรียกว่า “อัลอุรฟุ”  ( العرف ) หรือ “อัลอาดะห์”  ( العادة ) คือสิ่งที่แพร่หลายในสังคม,เป็นที่รับรู้และปฏิบัติกันโดยทั่วไป ซึ่งจำแนกได้เป็นสองประเภทคือ

          3.1. อัลอุรฟุสซอเฮียะห์ ( العرف الصحيح  ) คือประเพณีที่ไม่ต้านหรือขัดกับคำสอนของศาสนา กล่าวคือ ไม่มีผลเสียต่ออะกีดะห์ และอิบาดะห์,  ไม่เป็นการละเมิดข้อใช้และข้อห้ามในศาสนา ไม่มีผลทำให้ของฮะล้าลเป็นของฮะรอม หรือของฮะรอมกลายเป็นของฮะล้าล อย่างนี้เป็นต้น  เช่น ประเพณีลงแขกในฤดูกาลเกี่ยวข้าว, การทำข้าวต้มมัดแจกจ่ายกันในวันอีด, การแสดงความเคารพหรือการรับไหว้ด้วยการสวัสดีต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม

          3.2 อัลอุรฟุสฟาซิด (  العرف الفاسد ) คือประเพณีที่ค้าน,หรือขัดกับคำสอนของศาสนา  คือประเพณีของศาสนา,ลัทธิ,กลุ่มชนที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อและการปฏิบัติของศาสนาอื่น , มีผลเสียต่ออะกีดะห์,และอิบาดะห์, มีผลต่อการละเมิดข้อใช้และข้อห้ามในศาสนา, หรือมีผลทำให้ของฮะล้าลกลายเป็นฮะรอมหรือของฮะรอมกลายเป็นของฮะล้าล อย่างนี้เป็นต้น  เช่นประเพณีลอยกระทง,สงกรานต์, แห่นางแมว, บุญบั้งไฟ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและหรือพิธีกรรมและวิธีการในศาสนาอื่นทั้งสิ้น

          อาจจะมีบางคนท้วงว่า การแห่นางแมวเป็นประเพณีของชาวอีสาน  ไม่ใช่ประเพณีของศาสนาพุทธซึ่งพระสงฆ์, เณร,ชี ก็ไม่ได้ทำ ขอเรียนว่า แม้การแห่นางแมวจะไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธและพระสงฆ์,เณร,หรือชี ไม่ได้ทำก็ตาม แต่มุสลิมก็ทำหรือร่วมด้วยไม่ได้ เพราะการแห่นางแมวเพื่อขอฝนต่อเทวดา มีความเชื่อ,วิธีการและเป้าหมายที่ผิดต่อคำสอนชองศาสนาอิสลาม

          หากจะกล่าวว่า การสวมชุดดำเพื่อการไว้ทุกข์นั้นเป็นประเพณี  ก็ต้องถามว่า เป็นประเพณีของใคร, มีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติอย่างไร, มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการปฏิบัติไหม, มีรูปแบบอย่างไร, มีกำหนดกฎเกณฑ์วัน เวลาและสถานที่ไหม, และเงื่อนไขการปฏิบัติอย่างไร, เกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ผิดหรือไม่, เหล่านี้คือมูลเหตุที่ต้องพิจารณา ให้ถี่ถ้วน  เพื่อจะได้ทราบแน่ชัดว่า มันเป็นประเพณีประเภทใด

          แต่จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็พอจะทราบแล้วว่า การแต่งชุดดำไว้ทุกข์ เป็นประเพณีที่คนไทยสืบถอดมาจากฝรั่ง กระทำเมื่อมีการตาย  เกี่ยวข้องความเชื่อในเรื่องศพและวิญญาณ  เป้าหมายเพื่อป้องกันและคุ้มครองไม่ให้วิญญาณเข้าสิงหรือจำคนเป็นได้  เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเป็น “อัลอุรฟุสฟาซิด”  ที่มุสลิมต้องออกห่างไม่สามารถกระทำได้

          #4 – บางท่านกล่าวว่ากล่าวว่า การแต่งชุดดำไว้ทุกข์ไม่ใช่เรื่องศาสนาแต่เป็นกติกาสังคม

ขอชี้แจงว่าคำพูดข้างต้นนี้ไม่ถูกต้อง

          เพราะคำว่า กติกาทางสังคมคือข้อตกลงร่วมกันของคนในสังคม และมีผลบังคับใช้กับทุกคนเพื่อความเสมอภาค
กติกาบางประเภทเป็นข้อกฎหมาย เช่นกฎจราจร เป็นต้น
และกติกาบางประเภทเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เช่นกฎของหมู่บ้านเป็นต้น

          การใส่ชุดดำเพื่อการไว้ทุกข์ไม่ใช่กติกาสังคมที่มุสลิมตกลงร่วมกันกับคนศาสนิกอื่น  เราไม่เคยตกลงกับขา และเขาก็ไม่เคยตกลงกับเราว่าถ้ ามีการตายทั้งเราและเขาต้องใส่ชุดดำ มิเช่นนั้นจะผิดกติกา ไม่เคยมีข้อตกลงหรือกติกาเช่นนี้มาก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็นกติกาที่เป็นข้อกฎหมายหรือกติกาที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติก็ตาม

   #5 – นบียังเคยยืนให้เกียรติศพชาวยิวจริงหรือ

          บางท่านกล่าวว่า "เป็นการให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิต การไว้ทุกข์ การแต่งดำ หรือการติดโบว์ดำ เป็นการไว้ทุกข์ เป็นแสดงความอาลัย เป็นการให้เกียรติ ที่เป็นเรื่องทางสังคมจึงสามารถทำได้ นบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) ได้ทำเป็นตัวอย่างด้วยการยืนให้เกียรติแก่ศพชาวยิว"

          การไว้ทุกข์ การแสดงความอาลัย และการให้เกียรติ ทั้งหมดนี้แตกต่างกัน

          นบียืนเมื่อศพผ่านถือเป็นการไว้ทุกข์หรือ? หรือเป็นการให้เกียรติศพ? หรือถือเป็นการไว้อาลัยต่อศพ?

          เปล่าเลย..นักวิชาการอธิบายว่า เนื่องจากมีมะลาอิกะห์ร่วมมาด้วย เนื่องจากอับดุลลอฮ์ อิบนิอัมร์รายงานว่า

عن عَبْدِ اللهِ بْنِ عَمْرٍو أنَّهُ سَألَ رَجُلٌ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ: يَا رَسُوْلَ اللهِ تََمُرُّ بِنَا جَنَازَةُ الكَافِرِ أَفَنَقُوْمُ لَهَا، فَقاَلَ: نَعَمْ قُوْمُوا لَهَا فَإنَّكُمْ لَسْتُمْ تَقُوْمُوْنَ لَهَا إنَّمَا تَقُوْمُوْنَ إعْظَاماً للَّذِي يَقْبِضُ النُفُوسَ

“ชายผู้หนึ่งถามท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมว่า :  โอ้ท่านรอซูลของอัลลอฮ์ มีศพกาเฟรผ่านมายังพวกเรา, พวกเราจะต้องลุกขึ้นยืนหรือเปล่า ท่านตอบว่า : ใช่ พวกเจ้าจะต้องยืนแต่ไม่ใช่ยืนเพื่อศพนั้น ทว่าพวกเจ้ายืนเพื่อให้เกียรติแก่ผู้ที่ปลิดวิญญาณ” มุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด  ฮะดีษเลขที่ 6285

อีกสำนวนหนึ่งจากก่อตาดะห์ จากท่านอะนัส รายงานว่า

أنَّ جَنَازَةً مَرَّتْ بِرَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَامَ، فَقِيْلَ: إنَّهَا جَنَازَةُ يَهُوْدِيِّ، فَقَالَ: إنَّمَا قُمْنَا للمَلاَئِكَةِ

“แท้จริงญะนาซะห์ได้ผ่านมาทางท่านรอซูลุ้ลลอฮ์
ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม แล้วท่านก็ลุกขึ้นยืน  แต่มีผู้กล่าวแก่ท่านว่า นั่นเป็นญะนาซะห์ชาวยิว ท่านตอบว่า แท้จริงเราลุกขึ้นยืนเพราะมะลาอิกะห์”  อัลมุสตัดร๊อกของอัลฮากิม / สุนันนะซาอีย์ ฮะดีษเลขที่ 1903

สรุปว่า ท่านนบีไม่ได้ยืนไว้ทุกข์, ไว้อาลัย,หรือให้เกียรติแก่ศพกาเฟรแต่อย่างใด

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่มีคำสอนของศาสนาที่ใช้หรือสนับสนุนให้มุสลิมไว้ทุกข์ให้แก่มุสลิมด้วยกัน ไม่ว่าผู้เสียชีวิตจะเป็นญาติใกล้ชิดกันก็ตาม

          แต่หากมุสลิมจะแต่งชุดดำเพื่อไว้ทุกข์ให้กาเฟร ถ้าเช่นนั้น ต่อไปนี้ก็ควรจะแต่งชุดดำไว้ทุกข์ให้แก่ พ่อแม่พี่น้องและญาติใกล้ชิดของเราด้วยไม่ดีกว่าหรือ

cr. อ.ฟาริด เฟ้นดี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น