ถ่อยคำชะฮะดะฮฺที่เราได้กล่าวออกไปว่า أَشْهَدُ أَنْ لا إِلهَ إلا اللهُ (อัชฮาดุอันลา อีลา ฮาอิลลัลลอฮฺ ) “ฉันขอปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ" นั้น เราได้กล่าวออกไปด้วยความอิคลาศ ความตั้งใจ ความบริสุทธิ์ใจ มีหัวใจที่เชื่อมั่น หรือกล่าวออกไปเพียงลมปากเท่านั้น แล้วเหตุใดจึงมีการกระทำที่ไม่ตรงกับปากที่กล่าวออกไป เรายังคิดจะพึ่งพาสิ่งอื่นมาเทียบเคียงกับพระองค์อัลลอฮ์ ศุบฮาฮูวะตาอา อีกหรือ ??? ทั้งที่เรากล่าว لا إِلهَ إلا اللهُ (ลา อีลา ฮาอิลลัลลอฮฺ ) ไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีกแล้ว ที่เรากราบไหว้ พึ่งพา ขอความช่วย นอกจากพระองค์อัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้น ไฉนเราถึงไม่มอบหมายต่อพระองค์ละ ??? เหตุใดถึงยังต้องไปพึ่งวันเวลา การโคจรของดวงดาว หรือสิ่งอื่นที่พระองค์สร้างขึ้นมา มันไม่เพียงพอหรือ??? กับบทบัญญัติศาสนา ที่ถูกวะฮีย์มายังท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถึงต้องไปพึ่งพาพิธีกรรมและหลักความเชื่อของศาสนาอื่น แล้วที่กล่าวไปในละหมาดอย่างน้อย 17 ครั้งในละหมาดฟัรดูว่า
إِيَّاكَ نَعْبُدُ وَإِيَّاكَ نَسْتَعِينُ ( 5 )
"เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกข้าพระองค์เคารพอิบาดะฮฺ และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกข้าพระองค์ขอความช่วยเหลือ"(อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-ฟาติหะฮฺน 1:5)
มันไม่ซึมซับเข้าไปในหัวหกของเราบ้างหรือ?
พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า
أَلَا لِلَّهِ الدِّينُ الْخَالِصُ وَالَّذِينَ اتَّخَذُوا مِن دُونِهِ أَوْلِيَاءَ مَا نَعْبُدُهُمْ إِلَّا لِيُقَرِّبُونَا إِلَى اللَّهِ زُلْفَىٰ إِنَّ اللَّهَ يَحْكُمُ بَيْنَهُمْ فِي مَا هُمْ فِيهِ يَخْتَلِفُونَ إِنَّ اللَّهَ لَا يَهْدِي مَنْ هُوَ كَاذِبٌ كَفَّارٌ ( 3 )
"พึงทราบเถิด การอิบาดะฮฺโดยบริสุทธิ์ใจนั้นเป็นของอัลลอฮฺองค์เดียว ส่วนบรรดาผู้ที่ยึดถือเอาบรรดาผู้คุ้มครองอื่นจากอัลลอฮฺ โดยกล่าวว่าเรามิได้เคารพภักดีพวกเขา เว้นแต่เพื่อทำให้เราเข้าใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงตัดสินระหว่างพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกันในเรื่องนั้น แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงชี้นำทางแก่ผู้กล่าวเท็จ ผู้ไม่สำนึกบุญคุณ" (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัซ-ซุมัร 39:31)
พระองค์อัลลอฮฺ ศุบฮานาฮูวะตาอาลา ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า
وَيَرْزُقْهُ مِنْ حَيْثُ لَا يَحْتَسِبُ وَمَن يَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ فَهُوَ حَسْبُهُ إِنَّ اللَّهَ بَالِغُ أَمْرِهِ قَدْ جَعَلَ اللَّهُ لِكُلِّ شَيْءٍ قَدْرًا ( 3 )
และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากที่ที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์โดยแน่นอนสำหรับทุกสิ่งอย่างนั้นอัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะไว้แล้ว(อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัฏเฏาะลาก 65:31)
พระองค์อัลลอฮฺ ศุบฮานาฮูวะตาอาลา ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า
أَيْنَمَا تَكُونُوا يُدْرِككُّمُ الْمَوْتُ وَلَوْ كُنتُمْ فِي بُرُوجٍ مُّشَيَّدَةٍ وَإِن تُصِبْهُمْ حَسَنَةٌ يَقُولُوا هَٰذِهِ مِنْ عِندِ اللَّهِ وَإِن تُصِبْهُمْ سَيِّئَةٌ يَقُولُوا هَٰذِهِ مِنْ عِندِكَ قُلْ كُلٌّ مِّنْ عِندِ اللَّهِ فَمَالِ هَٰؤُلَاءِ الْقَوْمِ لَا يَكَادُونَ يَفْقَهُونَ حَدِيثًا ( 78 )
"ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าปรากฏอยู่ ความตายก็ย่อมมาถึงพวกเจ้า และแม้ว่าพวกเจ้าจะอยู่ในป้อมปราการอันสูงตระหง่านก็ตาม และหากมีความดีใด ๆ ประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็จะกล่าวว่าสิ่งนี้มาจากอัลลอฮฺและหากมีความชั่วใด ๆ ประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็จะกล่าวว่า สิ่งนี้มาจากเจ้า จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ทุกอย่างนั้นมาจากอัลลอฮฺทั้งสิ้น มีเหตุใดเกิดขึ้นแก่กลุ่มชนเหล่านี้ กระนั้นหรือ ที่พวกเขาห่างไกลที่จะเข้าใจคำพูด" (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-นิสาอ์ 4:78)
พระองค์อัลลอฮฺ ศุบฮานาฮูวะตาอาลา ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า
وَمَن يَدْعُ مَعَ اللَّهِ إِلَٰهًا آخَرَ لَا بُرْهَانَ لَهُ بِهِ فَإِنَّمَا حِسَابُهُ عِندَ رَبِّهِ إِنَّهُ لَا يُفْلِحُ الْكَافِرُونَ ( 117 )
"และผู้ใดวิงวอนขอพระเจ้าอื่นคู่เคียงกับอัลลอฮ์ โดยไม่มีหลักฐานพิสูจน์แก่เขาในการนี้ แท้จริงการคิดบัญชีของเขาอยู่ที่พระเจ้าของเขา แท้จริงบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาจะไม่ประสบความสำเร็จ"(อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-มุอ์มินูน 23:117)
ความเชื่อการดูวันฤกษ์ยาม และความเชื่อโชคลางต่างๆ ของมุสลิมบ้านเรา ที่สืบต่อกันมาโน้มนาน จนมันติดฝังลึกผสมผสานกับพิธีกรรมและหลักอากีดะฮฺของอิสลามจนมุสลิมบางท่านเข้าใจว่ามันคือหลักอากีดะฮฺอิสลาม ซึ่งแม้แต่โต๊ะครูบาบอบางท่านก็มีความเชื่อและปฏบัติเช่นนั้น สำหรับผู้ตาม หรือเอาวามนั้น ไม่ต้องพูดถึง พวกเขาต้องเชื่อตามโต๊ะครูบาบออย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น เมื่อจะมีพิธีกรรมใดๆ ก็ต้องดูฤกษ์ยามวันดีเสียก่อน อย่างเช่น การดูฤกษ์วันแต่งงาน วันออกรถ วันขึ้นบ้านใหม่ เปิดอาคาร หรือวันเปิดร้านหลังใหม่ เป็นต้น
อันแท้จริงแล้วการดูฤกษ์ยาม และการเชื่อโชคลางต่างๆนั้น ไม่มีในหลักคำสอนอิสลาม แต่เป็นหลักความเชื่อของคนโบราณ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งเดิมก่อนผู้คนในรัฐปัตตานีจะกลายเป็นมุสลิม ได้นับถือภูตผีปีศาจ จากนั้นก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาฮินดู ศาสนาพราหมณ์ จากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นพุทธ (มหายาน) จนกระทั่งสุดท้ายเปลี่ยนมานับถือศานาอิสลามจวบจนปัจจุบัน ซึ่งได้รับความเชื่อเหล่านี้สืบต่อกันมาผสมผสานกับความเชื่ออิสลาม ซึ่งความเชื่อในการดูฤกษ์และโชคลางนั้น เป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม และถือเป็นการทำชีริกเอาสิ่งอื่น คือวันเวลา การโคจรของดวงดาว มาเทียบเคียงพระองค์อัลลอฮฺ โดยเชื่อสิ่งเหล่านั้นมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่เขา ซึ่งท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่าบ่าวบางคนตื่นขึ้นมาจากที่นอนมีทั้งผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธศรัทธาอิสลาม อันเนื่องด้วยมีความศรัทธาอิหม่านต่อดวงดาวว่ามีอิทธิฤทธิ์ในการทำให้ฝนตก ซึ่งก็ไม่ต่างกันประการใด กับความเชื่อว่าวัน เวลา อันคำนวนจากการโคจรของดวงดาว มีผลดี ผลร้ายต่อการปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการศรัทธาอิหม่านต่อวันเวลาและดวงดาวนั้นเอง
รายงานจากท่านเซด บินคอลิด อัลญุฮันนีย์ เล่าว่า
“ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้นำพวกเราละหมาดศุบหฺที่ (ตำบล) หุดัยบิยะฮฺขณะยังคงมีร่องรอยของฝนที่ตกลงมาเมื่อคืน เมื่อเสร็จแล้วท่านนบีก็หันหน้ามาหาผู้คนทั้ง พลางกล่าวว่า พวกท่านทั้งหลายรู้ไหมว่าพระผู้อภิบาลของพวกท่านกล่าวเช่นใด พวกเขาตอบว่า อัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ย่อมรู้ดียิ่ง (ท่านรสูลกล่าวต่อว่า) พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสว่า ส่วนหนึ่งจากบ่าวของฉันตื่นขึ้นมามีทั้งผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธศรัทธา โดยผู้ใดกล่าวว่าฝนที่ตกแก่พวกเราด้วยความโปรดปราณและความเมตตาของอัลลอฮฺ นั่นถือว่าเขาคือผู้ศรัทธาต่อฉัน และปฏิเสธการศรัทธาต่อดวงดาว ส่วนผู้ใดที่กล่าวว่าฝนที่ตกลงมาด้วยอิทธิพล (การโคจร) ของดาวดวงนั้นดวงนี้ นั้นแหละเขาเป็นผู้ปฏิเสธการศรัทธาต่อฉัน และศรัทธาต่อดวงดาว” (บันทึกโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)
รายงานจากอิบนิอับบาส ร่อฎียัญลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"ผู้ใดได้ศึกษาหาความรู้จากดวงดาว ก็เท่ากับเขาได้ศึกษาแขนงหนึ่งจากการกระทำคุณ เขายิ่งเพิ่มมันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น (บันทึกหะดิษโดยอบูดาวูด และอะหฺมัด)รายงานจากอิบนิอับบาส ร่อฎียัญลอฮุอันฮุ เล่าว่า
ได้มีผู้ชายชาวอันศอรคนหนึ่งจากบบรดาอัครสาวกของ ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เล่าให้ฉันฟังว่า "ขณะที่พวกเขานั้งอยู่กับท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในคืนวันหนึ่ง ได้มีดวงดาวตกและส่องแสงสว่าง ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถามพวกเขาว่า "พวกท่านจะว่าอย่างไร ในสมัยยาฮีลียะฮฺ เมื่อมีเหมือนดวงดาวนี้ตก? " พวกเขากล่าวว่า "อัลลอฮฺและรสูลุลลอฮฺ ทราบดี พวกเราเคยกล่าวว่า บุคคลสำคัญจะถูกกำเนิด และคนสำคัญจะเสียชีวิตในคืนนี้ " ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า "แท้จริงมันไม่ถูกขว้างลงมาเพราะความตายของคนใด และไม่ใช่เพราะการเกิดของผู้ใด แต่พระผู้เป็นเจ้าของเราผู้ซึ่งมีบารอกัตและนามของพระองค์สูงยิ่ง เมื่อได้กำหนดงานขึ้นชิ้นหนึ่ง บรรดามาลาอีกะฮฺที่ทำหน้าที่แปกบัลลังก์ได้กล่าวตัสเบียะฮฺ หลังจากนั้นชาวฟ้าซึ่งอยู่ถัดจากพวกมะลาอิกะฮฺที่ทำหน้าที่แบกบัลลังก์ได้ถามมะลาอิกะฮฺที่แบกบัลลังก์ว่า พระผู้เป็นเจ้าของพวกท่านได้อะไรบ้าง พวกเขาได้เล่าให้พวกนั้นฟังว่า พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวอะไรบ้าง ต่อมาบางส่วนของชาวฟ้าก็ได้ขอให้ชาวฟ้าบางส่วนเล่าให้ฟังจนข่าวนั้นล่วงมาถึงฟากฟ้าแห่งโลกนี้ พวกญิรจึงไปแอบฟัง และนำไปบอกคนรักของมัน และพวกมันก็จะถุกขว้างด้วยดวงดาวนั้น ดังนั้นสิ่งใดที่พวกมันนำมาตามตรงข่าวนั้นก็เป็นความจริง แต่พวกเหล่านั้นจะเสริมแต่งและเพิ่มเติม (บันทึกหะดิษโดยมุสลิม และติรมีซี
ความหมายและที่มาของการดูฤกษ์ยาม และโชคลาง
“ฤกษ์” หมายถึงคราวหรือเวลาที่กำหนดหรือคาดว่าจะให้ผล เช่น ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้าย มักนิยมใช้ในทางดี เช่น หาฤกษ์แต่งงาน หาฤกษ์ยกเสาเอก ฤกษ์พานาที หมายถึง ระยะเวลาที่เป็นฤกษ์ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2525 หน้า 715) นั้นหมายความว่า เวลาที่คาดว่าจะให้ผลเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หากเราจะแต่งงาน จะซื้อรถหรือออกรถตามฤกษ์ ถ้าตามฤกษ์พานาทีก็จะเป็นลางดี แต่ถ้าเลยฤกษ์พานาทีก็จะซวย ถือว่าเรามอบหมายกิจการของเราให้กับฤกษ์ยามนั้น โดยมิได้มอบหมายให้กับพระองค์อัลลอฮฺเพียงผู้เดียว ประหนึ่งว่า เรามอบหมายพระองค์อัลลอฮฺด้วย และมอบหมายต่อฤกษ์ยามนั้นด้วย เช่นนี้ที่เรียกว่า "การตั้งภาคี" หรือ ชิริกนั่นเอง ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราแขวนตะกรุด หรือสิ่งใดก็ตามที่เราเชื่อว่าสิ่งนั้นจะปกป้อง หรือป้องกันเราจากภยันตรายต่างๆ ไว้ที่คอของเรา
ที่มาของความเชื่อฤกษ์ยาม ก็มาจากการการโคจรของดวงดาว ซึ่งได้ค้นพบว่ามีดาวเคราะห์ที่สามารถสังเกตุได้ด้วยตาเปล่า อยู่ 5 ดวง ซึ่งประกอบด้วย ดาวพุธ ดาวอังคาร ดาวศุกร์ ดาวพฤหัส และดาวเสาร์ เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ หรือกลุ่มดาวในจักรราศี และเมื่อรวมกับ ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ก็จะมีดาวบริวารของโลกทั้งสิ้น 7 ดวง (ซึ่งเข้าใจว่าดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ทั้ง 5 เป็นบริวารและโคจรรอบโลก) ซึ่งนำมานับวันทั้ง 7 และนำวันทั้ง 7 มาคำนวณฤกษ์ยาม
ส่วนโชคลางในภาษาอาหรับ ใช้คำว่า "ฏิยะเราะฮ์ طيرة " มาจากคำว่า "ตะตอยยะร่อ تطير " แปลว่า "ทำให้บิน" เพราะชาวอาหรับจะเสี่ยงโชคด้วยการใช้นกเป็นตัวกำหนด ด้วยการไล่ให้บินออกไปแล้วคอยดูว่านกจะบินไปทางทิศใด หากบินไปทางขวาอันเป็นทิศที่ดี ก็จะเริ่มปฏิบัติงานตามที่ตั้งใจไว้ เพราะเป็นลางดี แต่หากว่าบินไปทางซ้ายหรือทางที่ไม่ดี ก็จะไม่ปฏิบัติงานเพราะลางร้าย สิ่ง
ยกตัวอย่างความเชื่อการดูฤกษ์ยามตามโหราศาสตร์ ที่เป็นการตั้งภาคีต่อพระองค์อัลลอฮฺ
การดูวันในการแต่งงานของคนนอกศาสนิกที่มุสลิมบางท่านนำมาประยุกต์ใช้
มีการนำดวงชะตาของทั้งสองคนมาวางฤกษ์ แล้วหาวันเดือนดีมาวางสอดคล้องกัน โดยอย่าให้ดวงชะตาของทั้งสองฝ่ายกระทบขัดแย้งกัน โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคู่คลองชีวิตวิตคู่กันยาวนานมีสุขสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ปราสบเกียรติยศ โดยดูจากคัมภีร์พระเวทย์ได้แจ้งวันเดือนในสุริยจักรวาลเป็นดีมีมงคล
-เดือนที่นิยมสมรส อ้าย ยี่ สี่ หก สิบสอง
-วันดี จันทร์ พุธ หัส ศุกร์
-เทวดาให้ฤกษ์ ข้างขึ้น 4 5 9 11 13 15 ค่ำดี
-ฤกษ์เรียงหมอนข้างขึ้น 6 10 13 ค่ำ
ห้ามให้ฤกษ์แต่งงาน ดังนี้
- วันอาทิตย์ ห้าม ขึ้น / แรม 12 ค่ำ
-วันจันทร์ ห้าม ขึ้น / แรม 11 ค่ำวันอังคาร ห้าม ขึ้น /แรม 7 ค่ำ
-วันพุธ ห้าม ขึ้น /แรม 3 ค่ำ
-วันพฤหัสบดี ห้าม ขึ้น / แรม 6 ค่ำ วันศุกร์ ห้าม ขึ้น / แรม 12 ค่ำ
-วันเสาร์ ห้าม ขึ้น / แรม 12 ค่ำ
ความเชื่อของชาวพุทธศาสนามีความเชื่่อข้อห้ามแต่งานตามวัน ได้แก่ วันพุธ วันอังคาร วันเสาร์และวันพฤหัสบดี ซึ่งมีตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้า คือพระพฤหัสบดี ทำการแต่งงาน บุตรสาวของตนในวันนี้ ต่อมาบุตรสาว มีชู้จึงถือเป็นวันไม่ควรทำพิธีแต่งงาน บุตรสาวของ พระพฤหัสบดี คือ พระจันทร์ แต่งงานกับพระอาทิตย์ และพระอังคาร มาเป็นชู้ มีเรื่องฟ้องร้องกัน เกี่ยวกับ คติความเชื่อ ตามวันนั้น มีคำกล่าวติดปาก เป็นที่รู้จักกันดี คือ ห้ามเผาผีวันศุกร์ ห้ามโกนจุกวันอังคาร ( บางตำราว่า ห้ามปลุกผีวันอังคาร ) และห้ามแต่งงานวันพฤหัสบดี
ตัวอย่างวันดีของการแต่งงานของคนนอกศาสนิก
วันพฤหัส 6 กันยายน 2555 เป็นมหัทธโนฤกษ์ คือฤกษ์ที่ใช้สำหรับงานมงคลต่างๆได้สารพัด เรียกได้ว่าเป็นฤกษ์ครอบจักรวาลก็ว่าได้ สามารถดำเนินงานต่างๆได้ทั่วไป เหมาะสำหรับจัดพิธีงานมงคลสมรส ที่ทั้งคู่บ่าวสาวจะใช้ชีวิตร่วมกัน จะมั่งมีศรีสุข มีทรัพย์สินเนืองนอง มีความมั่งคั่งเป็นเศรษฐีร่ำรวยดีมาก
วันเสาร์ 6 ตุลาคม 2555 เป็นเทศาตรีฤกษ์ คือฤกษ์ที่ใช้สำหรับการงานมงคลต่างๆ โดยเฉพาะเปิดกิจการใหม่ๆ จะเป็นศูนย์การค้า สถานบันเทิงทุกรูปแบบ ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และยังเหมาะสำหรับจัดพิธีมงคลสมรส ของคู่บ่าวสาวที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน จะได้รับการสนับสนุน หรือมีผู้ให้การอุปถัมภ์ค้ำชู มีความรุ่งเรืองรุ่งโรจน์ ของการใช้ชีวิตที่ราบรื่นสดใสดีมาก
การดูวันออกรถของคนนอกศาสนิกที่มุสลิมบางท่านนำมาประยุกต์ใช้
ตัวอย่าง
-ผู้ใดที่เกิด "วันอาทิตย์"
ควร ออกรถในวันอังคาร ซึ่งจะทำให้เจ้าดวงชะตามีบุญวาสนาเกียรติยศ ชื่อเสียงยาวไกล รองลงมาเป็นวันพุธ จะนำความเจริญรุ่งเรือง อุดมไปด้วยโภคทรัพย์ ยังมีคนอุปภัมภ์ค้ำชูมีชื่อเสียงในวงสังคม สามารถออกรถวันที่กล่าวได้ทั้งปี
-ผู้ใดที่เกิด "วันพฤหัสบดี"
ออกรถ วันพุธกลางวันได้ ตลอดปี จะนำความเจริญรุ่งเรืองในกิจการ การงาน ด้านมนุษยสัมพันธ์ดี มีผู้ช่วยเหลืออุปถัมภ์ค้ำจุน ....
-วันอาทิตย์ ควรนำรถออกเวลา 06.01 น. ถึง 08.24 น.(อาทิตย์ สี่ศูนย์ ฤกษ์ดีมาก)
และช่วงเวลา 13.13 น. ถึง 15.36 น. (อาทิตย์ สองศูนย์ ให้โชคลาภ)
-วันจันทร์ ควรนำรถออกเวลา 08.25 น. ถึง 10.48 น. (จันทร์ สี่ศูนย์ ฤกษ์ดี)
และช่วงเวลา 15.37 น. ถึง 18.00 น. (จันทร์ สองศูนย์ ให้ลาภและมีเสน่ห์
)
-วันอังคาร ควรนำรถออกเวลา 10.49 น. ถึง 13.12 น. (อังคาร สี่ศูนย์ ฤกษ์ใช้ได้)
และช่วงเวลา 06.01 น. ถึง 08.24 น (อังคาร สองศูนย์ ช่วงเวลานี้พอใช้ได้)
-วันพุธ ควรนำรถออกเวลา 13.13 น. ถึง 15.36 น. (พุธ สี่ศูนย์ ฤกษ์ปานกลาง)
และช่วงเวลา 08.25 น. ถึง 10.48 น. (พุธ สองศูนย์ มีโอกาสได้ลาภ
คนนอกศาสนิกโดยเฉพาะชาวพุทธศาสนามีความเชื่อว่า รถก็เหมือนเกวียน เหมือนเรือ ที่โบราณเชื่อว่ามีแม่ย่านางหรือเทวดาดูแลอยู่ เมื่อได้เวลาออกรถ สตาร์ตรถ ก่อนออกรถตั้งสติตั้งสมาธิให้ดี บีบแตร 3 ครั้ง แล้วขับรถตามทิศทางที่เลือกไว้
สีรถ
-บุคคลที่เกิดวันอาทิตย์ สี ที่เป็นมงคล ควรเป็นสีชมพู สีโอโรส เพราะเป็นเดช อำนาจ และบารมี สีเขียวเป็นสีแห่งโชคลาภเงินทอง หรือสีดำ สีเทา สีควันบุหรี่เป็นสีของมนตรี มีคนคอยช่วยเหลือ ผู้ใหญ่สนับสนุนดี สีอื่นๆไม่ดีและไม่เสีย (ธรรมดา) สีที่ต้องห้าม คือ สีฟ้า สีน้ำเงิน (เป็นสีที่อัปมงคลตลอดชีวิต) เพราะเป็นสีที่เป็นกาลกินีของบุคคลที่เกิดวันอาทิตย์ นอกจากนี้แล้ว บุคคลที่เกิดวันวันอาทิตย์
* อายุย่าง 23 , 32 , 41 , 50 , 59 , 68และอายุ 77 ปีห้ามซื้อรถสีชมพู สีโอโรส เพราะเป็นสีที่โชคร้ายในช่วงอายุที่ย่างมาถึง
บุคคลที่เกิดวันจันทร์ สีที่เป็นมงคล ควรเป็นสีเขียว หรือสีแดง เพราะเป็นเดช อำนาจ และบารมี สีดำ สีม่วงเป็นสีแห่งโชคลาภเงินทอง หรือสีฟ้า สีน้ำเงินเป็นสีของมนตรี มีคนคอยช่วยเหลือ ผู้ใหญ่สนับสนุนดี
สีอื่นๆไม่ดีและไม่เสีย (ธรรมดา) สีที่ต้องห้าม คือ สีแดง (เป็นสีที่อัปมงคลตลอดชีวิต) นอกจากนี้แล้ว บุคคลที่เกิดวันจันทร์ ช่วงอายุย่าง 22 , 31 , 40 , 49 , 58 และ 67 ปีห้ามซื้อรถสีเขียวทุกชนิด เพราะเป็นสีที่โชคร้ายในช่วงอายุที่ย่างมาถึง
ตัวอย่างความเชื่อฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ของคนนอกศาสนิก
วันที่ 9 ตุลาคม 2555 ตรงกับวันอังคาร แรม 9 ค่ำ เดือน 10 ถือฤกษ์ดีเป็น ราชาฤกษ์ การขึ้นบ้านใหม่ในวันนี้ จะได้รับความเชิดหน้าชูตาในสังคม ได้รับความมีเกียรติในสังคมที่กล่าวขานยกย่องชื่นชม มีชื่อเสียงขจรขจายหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศทุกทาง และจะมีความเจริญ มีความราบรื่น มีความสุขเป็นอย่างดี อุดมสมบูรณ์ มงคลทุกอย่าง
และสำหรับการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ก็ไม่หลักฐานในอิสลามเช่นเดียวกัน แต่ได้ยิบยืมพิธีของศาสนาอื่นมา แล้วนำการซิกรุลลอฮฺ การขอดุอาอฺมาแทนที่จนเหมือนว่าพิธีขึ้นบ้านใหม่เป็นของอิสลาม
.....................
จากที่ได้ยกมาข้างต้น ไม่ว่าการดูฤกษ์วันแต่งงาน วันออกรถ หรือวันขึ้นบ้านใหม่นั้น ไม่มีในหลักอากีดะฮฺอิสลาม ทั้งยังเป็นการพึ่งพาขอความช่วยจากสิ่งอื่นนอกจากพระองค์อัลลอฮฺ ถือเป็นชีริก เป็นที่ต้องห้ามในอิสลาม ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้แต่งงานกับท่านหญิงอาอีชะฮฺ ในเดือนเชาวาล เพื่อทำการโต้ตอบสิ่งที่พวกญาฮีลียะฮ์ได้ดำเนินอยู่และสิ่งที่บางคน จินตนาการไปว่าวันที่น่ารังเกียจในการแต่งงาน , ทำการแต่งงาน , และส่งตัวเข้าเรือนหอในเดือนเชาวาล ซึ่งถือเป็นสิ่งเหลวไหลไม่มีรากฐานที่มาให้กับมันเลย มันเป็นร่องรอยของพวกญาฮีลียะฮ์ ซึ่งพวกเขาถือว่าสิ่งดังกล่าวเป็นลางร้าย เนื่องจากชื่อของเดือนเชาวาลนั้น มาจากความหมายที่ว่า การยับยั้งและการยกเลิก (หมายถึงฝ่ายหญิงจะปฏิเสธและยกเลิกการแต่งงาน)"
รายงานจากท่านอุรวะฮ์ ร่อฎียัญลอฮุอัลฮุ เล่าว่า
عَنْ عَائِشَةَ قَالَتْ تَزَوَّجَنِي رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي شَوَّالٍ وَبَنَى بِي فِي شَوَّالٍ فَأَيُّ نِسَاءِ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كَانَ أَحْظَى عِنْدَهُ مِنِّي قَالَ وَكَانَتْ عَائِشَةُ تَسْتَحِبُّ أَنْ تُدْخِلَ نِسَاءَهَا فِي شَوَّالٍ
"จากท่านหญิงอา อิชะฮ์ ท่านนางกล่าวว่า ท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำการแต่งงานกับฉันในเดือนเชาวาล ดังนั้น ณ ท่านนบีแล้ว จะมีภริยาของท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์คนใดจากโชคดีไปกว่าฉัน อุรวะฮ์กล่าวว่า ท่านหญิงอาอิชะฮ์ชอบที่จะบรรดาสตรีของนางเข้า(เรือนหอ)ในเดือนเชาวาล" บันทึกหะดิษโดยมุสลิม (2551)
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่าอิสลามไม่มีการเชื่อโชคลาง ฤกษ์ยาม ไม่มีนกที่ใช้เสี่ยงทาย ซึ่งชาวอาหรับในสมัยยาฮิลียะฮฺมีความเชื่อในเรื่องโชคราง โดยนิยมใช้นกเป็นสื่อ โดยเชื่อว่าถ้านกบินมาทางขวาเป็นลางดี ถ้ามาทางด้านซ้ายเป็นลางร้าย ไม่มีดวงดาวที่ทำให้ฝนตก ซึ่งชาวอาหรับในสมัยยาฮิลียะฮฺมีความเชื่อว่าดวงดาวมีอิทธิพลทำให้ฝนตก ไม่มีเดือนซอฟัร ซึ่งชาวอาหรับในสมัยยาฮิลียะฮฺมีความเชื่อว่าเดือนซอฟัร เป็นเดือนต้องห้ามทำสงคราม ว่าเป็นเดือนต้องห้าม ปีหนึ่ง และอนุญาตปีหนึ่งสลับกันไป และทานรสูลยังกล่าวย้ำถึง 3 ครั้งด้วยกันว่าการเชื่อโชคลางนั้นเป็นการตั้งภาคี(ชีริก)
"ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีนกที่ใช้เสี่ยงทาย ไม่มีดวงดาวที่นำน้ำฝนมาให้ และไม่มีเดือนซอฟัร"(บันทึกหะดิษโดยบุคอรีย์ มุสลิม และอบูดาวูด)
รายงานจากท่านอะบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎียัญลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"ไม่มีการถือโชคลาง และโชคลางที่ดี คือ อัลฟะอลุ (สิ่งบอกเหตุที่ดี) มีผูถามว่า โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺ อัลฟะอลุ คืออะไร ? ท่านตอบว่า "คือคำพูดที่ดี ที่คนใดคนหนึ่งจากพวกท่านได้ยิน" (บันทึกหะดิษโดยบุคอรีย์ มุสลิม และอบูดาวูด)
รายงานจากท่านอับดิ้ลลาฮฺ ร่อฎียัญลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"การถือโชคลาง เป็นการตั้งภาคี การถือโชคลางเป็นการตั้งภาคี (ได้กล่าว) 3 ครั้ง เมื่อผู้ใดคนหนึ่งจากพวกท่านเห็นสิ่งที่เขารังเกียจ ให้เขากล่าวว่า
"اللهم لا يأتي بالحسنات إلا أنت ، ولا يدفع السيئا ت إلا أنت ، ولا حول ولا قوة إلا بك
(อัลลอฮุมมา ลา ยะฮฺตีบิฮัลซานาตี อิลลาอัลตาวาลา ยัดฟาอุสสัยยีอาตี อิลลาอันตา วาลาเฮาลาวา กูวาตาอิลลาบิกา)"
"โอ้พระองค์อัลลอฮฺ จะไม่มีผู้ใดจากพวกเรา นอกจากพระองค์ และจะไม่สามารถป้องกันความชั่วต่างๆ ได้นอกจากพระองค์ และไม่มีพลังและกำลังอันใดเว้รแต่ด้วยพระองค์"(บันทึกหะดิษโดยอบูดาวูด และอะหฺมัด)
รายงานจาก อิบนิอับบาส ร่อฎียัญลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"จะได้เข้าสวรรค์จากประชาชาติของฉัน 7 หมื่นคน โดยไม่ต้องสอบสวน พวกเขาคือพวกที่ไม่ขอการรักษาด้วยคาถา ไม่ถือโชคลาง แต่พวกเขามอบหมายต่อผู้อภิบาลของพวกเขา" (บันทึกหะดิษโดยบุคอรีย์ มุสลิม และติรฺมีซีย์)การดูเวลาตามความเป็นจริง ความพร้อม และความเหมาะสม
อิสลามมิได้ห้ามในการดำเนินการบนพื้นฐานของการทำกิจกรรมหรือเรื่องราวใดๆ ที่จะกำหนดเวลาตามความเป็นจริง ความพร้อม ความเหมาะสม และตามเหตุผลทางสติปัญญาที่ศาสนารองรับ ไม่ได้ผูกพันเกี่ยวข้องกับเรื่องโหราศาสตร์หรือโชคลาง อันได้แก่ ความเหมาะสมของสภาพดินฟ้าอากาศ ความพร้อมของร่างกาย หรือทรัพย์สิน เช่น จะปลูกบ้านวันไหน? ก็ให้พิจารณาว่าพร้อมหรือไม่ในส่วนของใบอนุญาต , ช่างที่จะลงมือสร้างบ้าน วัสดุอุปกรณ์พร้อมหรือไม่? จะกำหนดวันแต่งงานก็ให้ดูว่าทั้งสองฝ่ายพร้อมหรือไม่ มีคนช่วยงานหรือไม่? จะซื้อรถมีเงินพร้อมที่จะซื้อหรือไม่ มีความพร้อมที่จะออกรถหรือไม่ ขับรถชำนาญแล้วหรือยัง หรืออากาศวันออกรถสามารถขับขี่รถได้หรือไม่ เป็นต้น และเมื่อกำหนดวันเวลาสำหรับงานนั้นๆ แล้วก็ให้มอบหมาย (ตะวักกุล) ต่อพระองค์อัลลอฮฺ ศุบฮานาฮูวะตาอาลา และลงมือดำเนินการให้ดีที่สุด
จึงสรุปได้ว่าอิสลามนั้นห้ามการดูฤกษ์ยาม และความเชื่อโชคลางที่ไม่อยู่บนพื้นฐานอิสลาม อันเป็นการมอบหมายต่อสิ่งอื่น ที่เป็นการตั้งภาคีต่อพระองค์อัลลอฮฺ แต่อิสลามไม่ได้ห้ามในการกำหนดเวลาที่จะดำเนินการบางอย่าง ตามความเป็นจริง ความพร้อม ความเหมาะสม และตามเหตุผลทางสติปัญญาที่ศาสนารองรับแต่อย่างใด
والله أعلم بالصواب
ญาซากัลลอฮุค๊อยรอนค่ะ..
ตอบลบอยากทราบว่าบทความนี้ใครเป็นตนเขียนขึ้นมาครับ
ตอบลบอดีว่าผมจะเอาไปทำอ้างอิงในวิจัยอะครับ
รบกวนช่วยตอบกลับมาด้วยน่ะครับ
ต้องการอ้างอิงด้วยค่ะ โปรดระบุด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง
ลบ