อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

หะดิษผลบุญละหมาดตะรอเวียะฮ์ต่อเนื่องสามสิบคืน






ตอบโดย อ.อาลี เสือสมิง

คำถาม

อยากทราบถึงฮาดีษที่ว่าถึงคุณค่าของการละหมาดตะรอเวียะฮ์ทั้ง  30  คืนครับ ว่าเป็นฮาดีษที่เชื่อถือได้หรือไม่ ?  อย่างไร ?  อ้างจากหนังสือดุรรอตุ้นนาซีฮีน  หน้า  19 ครับ...เพราะบทความดังกล่าวได้ขึ้นต้นด้วยประโยคที่ว่า  عن على بن أبى طلب رضى الله عنه  {سئل النبى عليه الصلاةوالسلام خن فضائل التراويح فىشهررمضان فقال ...และอีก 30 ข้อ
จึงรบกวนอาจารย์ช่วยบรรยายให้หน่อยครับ
ขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ

......
อยากทราบว่า หะดิษที่บอกคุณงามความดีการละหมาดตะรอเวียะห์ในเดีือนร่อมฎอนเป็นอย่างไรกันแน่ ?
ซึ่ง ตอนนี้และอดีตนั้นมีการบอกกล่าวกันเยอะมากๆ  แต่พอมาได้ยินว่า หะดีษที่บ่งบอกถึงคุณงามความดีดังกล่าวนั้น เป็นหะดีษเมาฎัวะอฺ  แสดงว่าไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานและบรรทัดฐานได้เลยแม้แต่น้อย  อันซึ่งปัจจุบันก็มีการสอนและบอกกล่าวกันอีกหลายสถานที่ เช่นที่หมู่บ้านของผมเอง  ดังนั้น เราจะมีวิธีใดบ้างที่จะชี้แจงและบอกกล่าวแก่พวกเขาถึงประเด็นดังกล่าวนั้น อย่างไงและอย่างไรดี  เพื่อความเป็นพี่น้องและเอกทัศน์ต่อความจริง  เพราะหากเราไปบอกเลยว่า สิ่งที่คุณบอกอยู่นั้น มันผิดน่ะ มันเป็นการทำบิดฺอะฮ์น่ะ  หากว่าไปพูดอย่างนี้เลย เกรงว่่า จะเกิดการไม่มองหน้ากัน หรือเกิดความแตกแยกกันอีกก็ได้  เพราะฉะนั้น หากเป็นอาจารย์ควรจะทำอย่างไรต่อประเด็นในคำถามดังกล่าวครับ...วัลลอฮุอะ อฺลัม - วัสสลามุอะลัยกุม วะรอห์มะตุลลอฮิ ตะอาลา วะบะรอกาตุฮฺ



คำตอบ

وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته

การละหมาดตะรอวีฮฺในค่ำคืนของรอมาฎอนนั้น  ถือเป็นซุนนะฮฺโดยอิจญ์มาอฺ  เนื่องจากมีรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ  (ร.ฎ.)  ว่า  :  ท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ส่งเสริมและเชิญชวนในการละหมาดยามค่ำคืนของรอมาฎอนโดยที่ท่านมิได้ใช้ให้พวกเขา  (เหล่าสาวก)  กระทำแบบเด็ดขาดและเคร่งครัด 

ท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  กล่าวว่า  :  (مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيْمَانًاوَاحْتِسَابًاغُفِرَلَه مَاتَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِه)  “ผู้ใดละหมาดยามค่ำคืนของรอมาฎอนอันเนื่องมาจากความศรัทธาและการมุ่งหวังผลานิสงค์  ก็ถูกอภัยให้แก่เขาผู้นั้นแล้วซึ่งบาปที่มีมาก่อน”  (รายงานพ้องกันโดยบุคอรีย์และมุสลิม) 


เพียงพอแล้วสำหรับความประเสริฐและคุณค่าของการละหมาดตะรอวีฮฺในการใช้หะดีษบทนี้เป็นหลักฐานประกอบกับหะดีษที่อิบนุคุซัยมะฮฺ  บันทึกเอาไว้จากท่านซัลมาน  อัลฟาริซีย์  (ร.ฎ.)  ในซ่อฮีฮฺของท่านและกล่าวว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้อง  ซึ่งระบุว่า  “เดือนซึ่งพระองค์ทรงกำหนดให้การถือศีลอดเป็นฟัรฎู  และการละหมาดในยามค่ำคืนเป็นกุศลกิจอาสา  ผู้ใดสร้างความใกล้ชิดกับพระองค์ด้วยประการหนึ่งจากความดี  ก็ประหนึ่งดังว่าผู้นั้นปฏิบัติ  1  ฟัรฎูในเดือนอื่น” 


กล่าวคือ  ทำซุนนะฮฺได้ภาคผลเท่ากับทำฟัรฎูนั่นเอง  เพียงเท่านี้ก็เหลือเฟือแล้วสำหรับคุณค่าและความประเสริฐของการละหมาดซุนนะฮฺตะรอวีฮฺโดยไม่ต้องไปอาศัยหะดีษที่ไล่เรียงลำดับผลบุญรายคืนมาเป็นหลักฐาน  เวลาอธิบายกับพี่น้องมุสลิมก็ให้นำเสนอหะดีษที่รายงานพ้องกันโดยบุคอรีย์และมุสลิม  และหะดีษอิบนุคุซัยมะฮฺที่กล่าวมาข้างต้น  ส่วนถ้าจะพาดพิงถึงหะดีษผลบุญรายคืนก็บอกกับพี่น้องว่า  เป็นหะดีษที่ไม่มีสายรายงาน  อย่าไปยึดเอามาเป็นหลักฐาน  พูดแค่นี้ก็พอ  ไม่ต้องรุนแรง 


ส่วนที่คุณ  dragon  ยกตัวอย่างสำนวนในการบอกกับพี่น้องว่า  “สิ่งที่คุณบอกอยู่นั้น  มันผิดน่ะ  มันเป็นการทำบิดอะฮฺน่ะ”  อันนี้ไม่ควร  แต่ให้พูดว่า  สิ่งที่คุณบอกอยู่นั้น  มันไม่ชัวร์น่ะ คุณน่าจะตรวจสอบหะดีษที่ว่าเสียก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร?  และให้ไปบอกกับคนที่ชอบสาธยายนั้นเป็นกรณีสองต่อสอง  อย่าไปขัดต่อหน้าผู้คน 


และจริง ๆ แล้ว  เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการทำบิดอะฮฺ  เพราะการละหมาดตะรอวีฮฺเป็นซุนนะฮฺ  ส่วนข้อมูลที่นำมาอ้างในการชักชวนผู้คนให้ปฏิบัติซุนนะฮฺนี้นั่นเป็นข้อมูลที่มีปัญหา  ปัญหาจึงอยู่ที่ข้อมูล  ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องบิดอะฮฺอะไรนั่น  ไปพูดเรื่องนี้ว่าเป็นบิดอะฮฺ  ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่กรณีที่เกี่ยวกับบิดอะฮฺก็จะเกิดเรื่องได้โดยเฉพาะกับคนที่แสลงหูกับคำ ๆ นี้  จึงต้องเรียบเรียงและเคลียร์ประเด็นในการอธิบายให้ดี!





والله ولي التوفيق







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น