อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

บทบาทของมุสลิมอินโดนิเซีย



โดย อะนะ แชลาตัน
การแผ่ขยายของอิสลามเข้าไปยังหมู่เกาะอินโดนิเซียนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ได้ฝังรากแห่งความศรัทธาให้แก่ประชาชนในหมู่เกาะดังกล่าวได้อย่างแนบแน่นและมั่นคงกว่าหลักความศรัทธาของศาสนาฮินดู ซึ่งประชาชนเหล่านั้นได้รับนับถือมาก่อนเป็นเวลาหลายศตวรรษ หลักความศรัทธาของอิสลามที่กว้างขวางประกอบด้วยเหตุผลที่สามารถสร้างความศรัทธาเลื่อมใสให้แก่ประชาชนได้ทุกชั้นทุกวัย ผิดกับศาสนาฮินดูซึ่งได้เข้าไปมีอิทธิพลได้เฉพาะในวังและในหมู่บุคคลชั้นสูงเท่านั้น หลักการญิฮาดในอิสลามและหลักการศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า ก่อให้เกิดพลังอันมหาศาลกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญในการต่อสู้ทางชาตินิยมของชนชาติอินโดนิเซีย

การแผ่ขยายของอิสลามในอินโดนิเซียได้ดำเนินไปอย่างเข้มข้นที่สุด นับตั้งแต่ชนชาติตะวันตกเริ่มด้วยชนชาติโปรตุเกสได้เดินทางมายังตะวันออกไกลตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 ผลจากการเผยแพร่ของอิสลามนี้ทำให้ชนชาติอินโดนิเซียเกิดมีปฏิกิริยาขึ้นเพื่อทำการต่อต้านการขยายตัวของชนชาติเหล่านั้น โดยเฉพาะชนชาติฮอลันดาซึ่งมีความมุ่งมาตรปรารถนาที่จะเข้ามามีอิทธิพลในด้านการค้าและการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ควบกันไปด้วย ยิ่งกว่านั้นฮอลันดายังได้แสดงลวดลายที่จะมามีอิทธิพลในด้านการเมืองอีกด้วย ฉะนั้น!ประเทศอินโดนิเซียจึงได้ร่วมกันผนึกกำลังของตนเพื่อทำการต่อสู้ปกป้องอิสลามและประเทศชาติของตนอย่างสุดความสามารถ ทำให้เกิดสงครามขึ้นหลายครั้ง เริ่มต้นด้วยสงครามที่เรียกว่า “ศึกเตโปเนโกโร”ในเกาะชวาปีคศ.1825-1837 ศึกสังฆราชในเกาะสุมาตราตะวันตกปีคศ.1833-1837 ศึกอาเจ๊ะฮฺปีคศ.1873-1907 และศึกสิงห์มหาราชที่แคว้นตาปานูลี ปีคศ.1873-1907

เนื่องจากหมู่เกาะอินโดนิเซียซึ่งมีเป็นจำนวนพันฯเกาะในยุคนั้นยังไม่ได้รวมเป็นกลุ่มเป็นก้อน และต่างคนต่างปกครองกันเอง จึงทำให้ฮอลันดาซึ่งมีอาวุธทันสมัยกว่าสามารถเอาชนะอินโดนิเซียได้ในการสงครามทุกครั้งที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการต่อต้านของประชาชนอินโดนิเซียในระยะเริ่มแรกนี้ เป็นผลจากความศรัทธาและหลักการของอิสลามนั่นเอง

นักประวัติศาสตร์ชาวฮอลันดาชื่อ นาย Kahin Gecrge me Turnam ได้เขียนในหนังสือของเขาชื่อ”ลัทธิชาตินิยมและการปฏิวัติในอินโดนิเซีย”ในหน้าแรกมีข้อความว่า”ถึงแม้การตื่นตัวทางชาตินิยมได้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนอินโดนิเซีย เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 แล้วก็ตาม แต่พื้นฐานของการตื่นตัวทางชาตินิยมนี้ ได้เกิดขึ้นจากหลักการของอิสลามที่ได้แผ่ขยายเข้าไปยังอินโดนิเซียมาก่อนนั่นเอง”

ตลอดระยะเวลาประมาณ 300 ปี ฮอลันดาเข้าปกครองอินโดนิเซียนั้น ฮอลันดาได้ใช้วิธีการปกครองอย่างระมัดระวังที่สุด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการศาสนา หากได้เกิดผิดผลาดอะไรขึ้นมาแม้แต่นิดเดียว ย่อมจะเป็นภัยอันตรายอันใหญ่หลวงแก่การปกครองของตน

ศาสตราจารย์ Snouck Hurgroneje ที่ปรึกษาของฮอลันดาฝ่ายกิจการของอิสลามได้ทำรายงานเสนอแนะไปยังรัฐบาลฮอลันดา ให้พยายามสกัดกั้นการขยายตัวของอิสลามในหมู่ประชาชนอินโดนิเซีย เพื่อมิให้เกิดการตื่นตัวในทางการเมืองมากขึ้น ฉะนั้นฮอลันดาจึงได้ดำเนินนโยบายบีบคั้นทางเศรษฐกิจ และสกัดกั้นการตื่นตัวทางชาตินิยมของชาวอินโดนิเซียทุกวิถีทาง ฮอลันดาจึงได้ดำเนินนโยบายเช่นนี้ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน เริ่มตั้งแต่ปี 1830 จนถึงปี 1910 ผลจากการดำเนินนโยบายของฮอลันดาเช่นนี้ ทำให้ประชาชนอินโดนิเซียเริ่มตื่นตัวและเข้าใจทันทีว่า ตนไม่สามารถที่จะปกป้องศาสนาอิสลามและความอยู่รอดของตนได้โดยปราศจากการศึกษา

การดำเนินนโยบายการปกครองของฮอลันดาในลักษณะเช่นนี้ เป็นผลทำให้อินโดนิเซียได้วิวัฒนาการไปสู่การสร้างชาติของตนเองได้โดยไม่รู้ตัว เพราะเป็นการรวบรวมชนชาติอินโดนิเซียซึ่งประกอบด้วยหลายเผ่าหลายภาษาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอยู่ใต้การปกครองอันเดียวกัน การใช้ภาษามาลายูเป็นภาษากลางยิ่งทำให้เผ่าพันธุ์ต่างฯได้มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ภาษามาลายูกลายเป็นอุปกรณ์อันสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามตามหมู่เกาะอินโดนิเซียได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ในที่สุดประชากรตามหมู่เกาะดังกล่าว 90 เปอร์เซ็นต์ได้ยอมรับนับถือศาสนาอิสลามด้วยความเลื่อมใสศรัทธาจนกระทั่งบัดนี้ ในขณะเดียวกันการตื่นตัวในด้านการศึกษาของชาวอินโดนิเซียเริ่มปรากฏตัวขึ้น ในปี1906 ท่านมาส วาฮิดีน ซุเดโร โฮโซโด นายแพทย์คนสำคัญของอินโดนิเซีย เริ่มเดินทางตะเวณไปยังทั่วเกาะขวา เพื่อดำเนินการเรียไรเงินตั้งกองทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาอินโดนิเซีย เขาได้ออกนิตยสาร2ฉบับ เป็นภาษามาลายูและภาษาชวา ได้เขียนบทความปลุกใจประชาชนอินโดนิเซียให้ตื่นตัวในด้านการศึกษา เป็นผลทำให้นักศึกษาในวิทยาลัยการแพทย์ในชวา 3 นาย ได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการศึกษาขึ้น ให้ชื่อว่า “บุดี โฮโตโม”เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม1908 โดยมีท่านระเด่นโซโมเป็นหัวหน้า ในเวลา1ปีต่อมาก็มีสมาชิกเป็นจำนวนหมื่น ได้ดำเนินการเฉพาะบนเกาะชวาและเกาะมาดูราเท่านั้น ในไม่กี่ปีต่อมา นางการฺตินี สตรีชั้นนำของอินโดนิเซียเริ่มทำการรณรงค์กำจัดปริมาณคนไม่รู้หนังสือให้น้อยลง นางได้ออกมาทำการรณรงค์อย่างเปิดเผยในปี 1911 นี่คือการตื่นตัวในด้านการศึกษาของชนชาติอินโดนิเซียในระยะเริ่มต้น

การตื่นตัวทางชาตินิยมของชาวอินโดนิเซียในระยะเริ่มต้นนี้ ได้มีส่วนเกี่ยวพันกับศาสนาอิสลามอย่างแน่นแฟ้นทีเดียว การปฏิรูปอิสลามในตะวันออกกลางยังได้ส่งผลสะท้อนมายังอินโดนิเซียในยุคเริ่มต้นของการตื่นตัวนี้เช่นกัน ผู้นำการปฏิรูปศาสนาอิสลามในตะวันออกกลางที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการตื่นตัวในอินโดนิเซีย ได้แก่ท่าน มุฮัมมัด อับดุฮฺ ระหว่างปี 1848 ถึงปี 1905 ท่านผู้นี้ได้ดำเนินการโฆษณาชักชวนให้มุสลิมีนอินโดนิเซียร่วมกันกำจัดความเชื่ออันงมงายทางศาสนาให้หมดสิ้นไป ประชาชาติมุสลิมจะต้องดำเนินตามแนวทางอันเที่ยงแท้โดยถืออัล-กรุอานและอัล-หะดีษเป็นหลัก ท่านได้กระตุ้นเตือนประชาชาติมุสลิมให้ศึกษาวิทยาการสมัยใหม่จากตะวันตก การเรียกร้องของท่านได้ส่งเสียงกึกก้องไปยังทั่วทุกมุมโลกมุสลิมผ่านนิตยสาร”อัล-มะนารฺ”และ”อุรุวะตุล-วุษกฺ”ในขณะเดียวกันการปฏิรูปศาสนาโดยกลุ่ม วาฮาบีย์ ในประเทศสะอูดีก็มีอิทธิพลต่อการตื่นตัวของชาวมุสลิมอินโดนิเซียมิใช่น้อยเช่นกัน ทัศนะและข้อคิดเห็นใหม่ฯที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางได้ถูกบรรดานักศึกษาอินโดนิเซียที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัรฺ ในอียิปต์นำเอากลับมายังอินโดนิเซียเช่นกัน

ยังมีสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการตื่นตัวทางชาตินิยมในอินโดนิเซีย นั่นคือความรู้สึกไม่พึงพอใจของชาวมุสลิมอินโดนิเซียอันมีต่อชาวจีน ซึ่งได้เปรียบในด้านการค้าเหนือชาวมุสลิมในเกาะชวา ฉะนั้นบรรดาพ่อค้าชาวมุสลิมในเมืองสุระการฺตา จึงได้รวมหัวกันจัดตั้งสหกรรณ์การค้าขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1909 ภายใต้การนำของท่านฮัจญีสะมันฮุดี ได้ดำเนินการต่อสู้ไม่เฉพาะแต่ในด้านการค้าอย่างเดียวเท่านั้น หากรวมทั้งกิจการเกี่ยวกับอิสลามอีกด้วย

ในปี 1911 สหกรณ์การค้ามุสลิมนี้ได้เปลี่ยนเป็นบริษัทการค้ามุสลิม เรียกเป็นภาษาอินโดนิเซียว่า “ซาริกัต ดาฆัง อิสลาม”(บรษัทการค้ามุสลิม)มีวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่เพื่อดำเนินการต่อต้านชาวจีนซึ่งกำลังบีบบังคับชาวมุสลิมในด้านการค้า จนทำให้เกิดสงครามระหว่างเชื้อชาติขึ้นในเมืองสุระการฺตาและสุระบายา ต่อมาบริษัทการค้าดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อเป็นองค์กรมุสลิม ภายใต้การนำของท่าน อุมัรฺ สะอี๊ด โจโกร อามิโนโต มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมการค้า วัฒนธรรมและศาสนาอิสลาม ฉะนั้นภายในระยะเวลาเพียง5ปีเท่านั้น องค์กรมุสลิมที่กล่าวนี้ได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น8แสนคน

เนื่องจากองคฺกรมุสลิมนี้ได้มีสมาชิกเป็นจำนวนมากมายเช่นนั้นแล้ว จึงเกิดมีความเข้าใจกันในขณะนั้นว่า องค์กรมุสลิมนี้พร้อมที่จะทำสงครามศาสนาขึ้นกับฮอลันดา

ต่อมาในปี 1912 ได้มีการจัดตั้งองค์กรมุสลิมเพื่อส่งเสริมกิจการศาสนาอิสลามขึ้นอีกแห่งหนึ่งในเมือง ย็อกยาการฺตามีชื่อว่า”มุฮัมมัดมาดียะฮฺ”ภายใต้การนำของท่าน อะหมัด ดะหฺลาน ได้ทำการต่อสู้ตามแนวทางของการปฏิรูปศาสนาอิสลามในประเทศอียิปต์โดยไม่มีข้อผูกพันกับ มัซฮับทั้งสี่แต่ประการใด หากแต่ได้ยึดบทบัญญัติในอัล-กรุอานและอัล-หะดีษ เป็นหลักสำคัญในการดำเนินงาน ทั้งนี้เป็นเพราะในยุคนั้นปรากฏว่าในอินโดนิเซียได้มีการปะปนผสมผสานกันระหว่างศาสนากับขนบธรรมเนียมจนแยกกันไม่ออก และมีความเข้าใจกันว่าขนบธรรมเนียมบางอย่างได้เป็นบทบัญญัติของศาสนาเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันนั้นยังได้เอาหลักการของศาสนาฮินดูบางอย่างมาปะปนกับหลักการของอิสลามด้วย พฤติกรรมเช่นนี้ได้มีอยู่ทั่วฯไปโดยเฉพาะในเกาะชวา ซึ่งเคยตกอยู่ใต้อิทธิพลของศาสนาฮินดูมาก่อน

ฉะนั้น จึงเป็นภาระหน้าที่อันดับแรกขององค์กร มุฮัมมัดมาดียะฮฺ ที่จะต้องชำระอิสลามให้สะอาดจากความเชื่ออันงมงายเช่นนี้ และนำมุสลิมในอินโดนิเซียให้ดำเนินสู่แนวทางที่ถูกต้อง
เมื่อได้เห็นการตื่นตัวของชาวมุสลิมอินโดนิเซียได้แผ่ขยายกว้างออกไปเช่นนี้แล้ว ทำให้ทางการฮอลันดาเกิดหวาดระแวงขึ้นมาทันที จึงได้พยายามติดตามดูความเคลื่อนไหวของชาวมุสลิมอินโดนิเซียอย่างใกล้ชิด

ศาสตราจารย์ Snouck Hurgronje จึงได้รายงานเสนอแนะไปยังรัฐบาลฮอลันดาให้ดำเนินการสกัดกั้นการตื่นตัวของชาวมุสลิมอินโดนิเซียเสียแต่เนิ่นฯ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลฮอลันดาจะต้องพยายามเผยแพร่สนับสนุนวิทยาการของตะวันตกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามยกฐานะมุสลิมอินโดนิเซียที่ได้รับการศึกษา รับเอาวิทยาการใหม่ฯจากตะวันตกให้สูงขึ้น ในเมื่อชาวมุสลิมอินโดนิเซียที่ได้รับการศึกษาเช่นนี้ได้รับการยกย่องจากทางการแล้ว คุณค่าทางวิชาการอิสลามย่อมจะต้องด้อยลงเป็นธรรมดา

ภายในปี 1914 ทางการฮอลันดาได้ประกาศใช้กฎหมายฉบับที่ 111 ห้ามชาวมุสลิมอินโดนิเซียจัดชุมนุมทางการเมืองขึ้นไม่ว่ากรณีใดฯทั้งสิ้น ฉะนั้น คำขวัญที่ได้ประกาศใช้ในระยะนั้นสำหรับใช้ในการจัดชุมนุม อันไม่ผิดกฎหมายก็ได้แก่คำว่า “โดยรัฐบาลเพื่อรัฐบาล”

ในปีต่อฯมาอิทธิพลขององค์กร มุฮัมมัดมาดียะฮฺ ได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น จำนวนสมาชิกได้เพิ่มขึ้นถึง2.5 ล้านคน กลายเป็นองค์กรมุสลิมที่เข้มแข็งมากที่สุดในอินโดนิเซีย ในขณะเดียวกันนั้น พรรคการเมือง Nasional Indies ภายใต้การนำของท่าน เค.ฮายารฺ เดวัน ทูรา ได้ถูกทางการฮอลันดาประกาศเป็นพรรคการเมืองที่ผิดกฎหมาย เพราะได้ดำเนินนโยบายเอียงซ้าย บรรดาสมาชิกของพรรคนี้จึงได้พยายามแทรกซึมเข้าไปเป็นสมาชิกขององค์กรมุสลิมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ในที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4 ขององค์กร มุฮัมมัดมาดียะฮฺ ในปี 1919 นายสัมอูนและพรรคพวกที่นิยมฝ่ายซ้าย พยายามจะเข้าไปมีอิทธิพลและแสดงบทบาทของตนในที่ประชุม แต่ก็ได้ถูกคัดค้านอย่างแข็งขัน ต่อมาในปี 1920 นายสัมอูนจึงได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนิเซียขึ้นในเมือง สมารัง

องค์กร มุฮัมมัดมาดียะฮฺ ซึ่งยังไม่มีนโยบายทางการเมือง ยงคงดำเนินการเผยแพร่ศาสนาอิสลามต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง พยายามสร้างโรงเรียน วิทยาลัย และช่วยเหลือเด็กกำพร้ามุสลิมทั่วอินโดนิเซีย

ในปี 1952 ได้จัดตั้งองค์กรมุสลิมขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่าองค์กร “นะฮฺเฏาะตุล อุละมาอฺ”เป็นองค์กรฝ่ายขวาจัด และไม่เห็นด้วยกับวิธีการบางอย่างขององค์กร มุฮัมมัดมาดียะฮฺ สมาชิกขององค์กร นะฮฺเฏาะตุล อุละมาอฺ ส่วนใหญ่เป็นพวกครูสอนศาสนาอิสลามในชวาตะวันออกและชวาภาคกลาง ในขณะเดียวกันก็มีองค์กรมุสลิมเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ในจำนวนนี้มีองค์กรมุสลิมภายใต้การนำของท่าน หะซัน บันดุงร่วมอยู่ด้วย(Persatuan Islam)

ต่อมาได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองแห่งชาตินิยมอินโดนิเซียขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1927 โดยนักศึกษาอินโดนิเซียที่สำเร็จจากประเทศฮอลันดา ซึ่งมีท่านซูกาโน เป็นประธานพรรคนี้ และได้รับการสนับสนุนจากบรรดาผู้นำองค์กรมุสลิมเป็นอย่างดี เพราะพวกนี้สามารถสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง 3 ฝ่ายด้วยกัน คือฝ่ายชาตินิยม ฝ่ายศาสนา ฝ่ายซ้าย แต่ละฝ่ายก็มีวัตถุประสงค์อันเดียวกัน คือเรียกร้องเอกราชให้แก่อินโดนิเซีย

ในระยะนั้นการดำเนินงานขององค์กรมุสลิมได้แบ่งกันเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งภายใต้การนำของ ดร.สุกิมาน ได้ดำเนินการเฉพาะแต่ในด้านกิจการเกี่ยวกับศาสนาอิสลามอย่างเดียว ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งภายใต้การนำของท่าน ฮัจญี อาฆุส ซาลิม ได้ดำเนินการให้องค์กรมุสลิมเข้าไปมีบทบาทในด้านการสังคม การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การศึกษาสมัยใหม่ให้มากยิ่งขึ้น

ระหว่างปี 1935 ถึง 1939 ได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นอีกหลายพรรค ต่างก็เรียกร้องเอกราชให้แก่อินโดนิเซีย แต่ก็ได้ถูกรัฐบาลฮอลันดาปฏิเสธคัดค้านอย่างแข็งขันในที่สุด ซูกาโนหัวหน้าพรรคชาตินิยมได้ถูกทางการฮอลันดาจับกุม

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองอินโดนิเซียในปี 1942 ญี่ปุ่นรีบปล่อยซูกาโนในทันที เพราะหวังจะได้ใช้ท่านผู้นี้เป็นเครื่องมือของตนในการยึดครองอินโดนิเซีย

ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นได้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษและเริ่มดำเนินการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับศาสนาอิสลามทันที การโฆษณาชวนเชื่อของญี่ปุ่นนี้ได้เริ่มมาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 1935 หวังจะได้รับความสนใจจากกลุ่มประเทศมุสลิมในภาคพื้นส่วนนี้ โดยจัดสร้างมัสยิดกลางขึ้นที่เมืองโกเบ พร้อมกันนั้นได้จัดตั้งองค์กรมุสลิมญี่ปุ่นขึ้น ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นเริ่มแสดงบทบาทชนิดไม่จริงจังอะไรนัก โดยจัดให้มีการประชุมใหญ่เกี่ยวกับอิสลามขึ้นในประเทศญี่ปุ่น พร้อมฯกับโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าวแล้วนั้น ญี่ปุ่นยังได้สนับสนุนนักศึกษาอินโดนิเซียให้เดินทางไปศึกษาในประเทศอาหรับและอียิปต์ ได้ออกนิตยสารเป็นภาษาอาหรับ ในขณะเดียวกันยังได้ประกาศแต่งตั้งบรรดาผู้นำมุสลิมในอินโดนิเซีย เป็นหัวหน้าดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามอีกด้วย เช่น ดร.ฮุซัย ญายา นิงรัต ท่านฮัจญีอับดุลลอฮฺ และท่านอับดุลเกาะฮัรฺ มุซักกัรฺ

เมื่อระยะการยึดครองอินโดนิเซียของญี่ปุ่นใกล้จะสิ้นสุดลง ปรากฏว่าเกิดมีพรรคมุสลิมขึ้นอีกพรรคหนึ่ง ได้ดำเนินนโยบายตามแนวหลักการของอิสลามที่ได้รับการปฏิรูปมาแล้วอย่างจริงจัง พรรคนี้ชื่อ Madjlis Sjura Muslimin Indonesia หรือที่รู้จักกันในนามว่า “มาชูมี” ต่อมากลายเป็นพรรคการเมืองมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนิเซีย ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากบรรดาผู้นำมุสลิมในเกาะชวา มาดูรา และสุมาตรา ผู้นำขั้นสุดยอดของพรรคที่กล่าวมานี้ ก็คือท่าน มุฮัมมัด นาซิรฺ อดีตนายกรัฐมนตรีอินโดนิเซีย ชารีฟฟุดดีน ปราวิรานัครา,มุฮัมมัด รูมและอะบู หะนีฟะฮฺ ผู้นำเหล่านี้ได้ดำเนินการปฏิรูปศาสนาอิสลามและฟื้นฟูสังคมมุสลิมอินโดนิเซียตามแนวทางและข้อคิดเห็นของท่าน มุฮัมมัด อับดุฮฺ ผู้แผ้วทางในการปฏิรูปศาสนาอิสลามในตะวันออกกลาง

พรรค มาชูมี มีกองทัพของตนเอง มีกำลังพลประมาณ 2 หมื่น 5 พันคนพร้อมจะสละชีวิตของตนเพื่อ ญิฮาดให้แก่ศาสนาอิสลามในทุกเมื่อ แต่ก็ได้รับความผิดหวังเป็นอย่างมาก ในเมื่อซูกาโนประกาศเอกราชของอินโดนิเซีย แทนที่จะได้จัดตั้งสาธารณรัฐอิสลามอินโดนิเซียขึ้น กลับไปใช้หลักการปัญจาศีลา(เบญจศีล)เป็นหลักการในทางการปกครองเสีย

อย่างไรก็ตามพรรคมาชูมียังคงดำเนินการต่อสู้ของตนตามแนวหลักการของศาสนาอิสลามอย่างไม่ลดละ ต้องการให้อินโดนิเซียได้เป็นสาธารณรัฐอิสลามให้จงได้ ฉะนั้นจึงได้เกิดการปฏิวัติขึ้นในชวาตะวันตกภายใต้การนำของท่าน เอส.เอ็ม.คารฺโต สาวิรฺโจ ในปี 1953 ต่อมาได้เกิดการปฏิวัติขึ้นอีกในเมืองอาเจ๊ะฮฺ ภายใต้การนำของ ตวนกู ดาวุด

ภายในปี 1955 พรรคมาชูมี พยายามที่จะทำการปฏิวัติยึดอำนาจอีก แต่ก็ต้องล้มเหลว และได้ถูกรัฐบาลประกาศเป็นพรรคการเมืองที่ผิดกฎหมายทันที มีพรรค นะฮฺเฏาะตุล-อุละมาอฺ และพรรคมุสลิมอื่นฯที่มีนโยบายไม่รุนแรงได้ดำเนินการรณรงค์ตามแนวทางของหลักการอิสลามที่ได้รับการปฏิรูปต่อไปจนกระทั่งบัดนี้

ฉะนั้น พอที่จะทำความเข้าใจได้แล้วว่า การปฏิรูปศาสนาอิสลามให้กลับสู่หลักการอิสลามที่แท้จริง ปราศจากราคีแห่งความเชื่ออันงมงายโดยปะปนผสมผสานกันระหว่างศาสนากับขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง กลายเป็นพลังมหาศาลให้แก่ชาวมุสลิมนับจำนวนร้อยล้านคนในอินโดนิเซีย ร่วมกันต่อสู้ทั้งในด้านศาสนาและทางการเมืองจนสามารถเรียกร้องเอกราช และประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐอินโดนิเซียขึ้นได้สำเร็จ



ที่มา นิตยสารอัล-ญิฮาดปีที่ 9 อันดับที่ 52


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น