อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2559

ตือรี ดนตรีเพื่อรักษาคนป่วย อดีตความเชื่อในสังคมมุสลิมสามจังหวัด


ลักษณะความเชื่อ

ตือรี หรือ มะตือรี หรือ ตือฆี หรือ มะตือฆี คือการบรรเลงดนตรีประกอบการเข้าทรงเพื่อให้คนทรงกับหมอได้สื่อสารกับเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือดวงวิญญาณเพื่อสอบถามถึงวิธีการที่จะรักษาผู้ป่วยให้ หายจากการเจ็บป่วย

ความสำคัญ
ตือรี นิยมแสดงเพื่อรักษาผู้ป่วยที่เชื่อว่ามีมูลเหตุมาจากการถูกคุณไสย เวทมนตร์คาถา การฝังรูป ฝังรอย เลขยันต์ ถูกเข็ม ถูกหนังอาคมเข้าท้อง ถูกวิญญาณ (อางิน) ทักทอ เช่น การละเล่นเซ่นไหว้ครูศิลปิน (สำหรับผู้มีเชื้อสายโนรา - มะโย่งและวายัง) โดยอาศัยโต๊ะตือรีเป็นผู้ติดต่อสื่อสารกับดวงวิญญาณนำมาบอกกล่าวกับโต๊ะมี โนะ แนะแนวทางให้ทราบกรรมวิธีเพื่อรักษาคนไข้หรือถอดถอนอาถรรพณ์อย่างไร เช่นการเซ่นไหว้ ใช้บน ทำพิธีพลีกรรมขอขมาลาโทษ
ความเชื่อเรื่องนี้แต่เดิมมีอยู่ในหมู่คนไทยมุสลิมในดินแดนกันดารบริเวณ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส แต่ปัจจุบันการแพทย์เจริญขึ้นประกอบทั้งเห็นว่าความเชื่อนี้ขัดกับหลักการ ทางศาสนา ความเชื่อนี้จึงแทบไม่เหลืออยู่อีกเลย

พิธีกรรม

๑. การแสดงตือรีจะประกอบด้วยบอมอ (หมอ) ซึ่งมีชื่อเรียกว่าโต๊ะมีโนะ มีหน้าที่ขับร้องรำนำสรรเสริญเชื้อเชิญเทพเจ้า วิญญาณของบรรพบุรุษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คนหนึ่ง อีกคนหนึ่งเรียกกันว่า โต๊ะตือรี หรือคนทรงเจ้าทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารระหว่างดวงวิญญาณกับโต๊ะมีโนะ และมีคนเล่นดนตรีบรรเลงคู่กับการขับลำนำ ๕ - ๖ คน ได้แก่ คนซอ ๑ คน รำมะนา ๒ คน คนตีฆ้องใหญ่ ๑ คน คนตีโหม่งหรือฆ้องราง ๑ คน และอาจมีคนตีฉิ่งอีก ๑ คน โดยโต๊ะมีโนะและโต๊ะตือรีจะนั่งหันหน้าไปทางผู้ป่วย ผู้เล่นดนตรีทุกคนนั่งทางขวามือของโต๊ะมีโนะ

๒. การจัดเครื่องเซ่นหมอจะจัดเครื่องเซ่นที่ญาติผู้ป่วย เตรียมไว้ให้ใส่ถาด ๒ ใบ
ใบที่ ๑ เอาด้ายดิบมาขดภายในถาดให้รอบถาดแล้วเทข้าวสารเหลืองกระจายให้ทั่วถาด เอาเทียนไข ๑ เล่ม หมาก ๑ คำ เงิน ๕ บาท วางไว้บนข้าวสารเหลือง
ใบที่ ๒ เอาข้าวเหนียวเหลือง (นึ่งสุก) ใส่ลงในถาดทำให้เป็นรูปกรวยยอดแหลม เอาไข่ไก่ต้มสุกปอกเปลือกครึ่งฟองนำไปปักไว้บนยอดแหลมของข้าวเหนียว โดยให้ส่วนที่ปอกเปลือกอยู่ด้านบน จุดตะเกียง ๑ ดวง หรือเทียนไข ๑ เล่ม วางไว้ข้างข้าวเหนียวเหลืองแล้วนำถาดทั้งสองไปใส่สาแหรกแขวนไว้เหนือศีรษะ ของผู้ทำพิธี ส่วนเครื่องเซ่นอีกส่วนหนึ่งให้จัดใส่จานดังนี้ ข้าวตอกจัดใส่จาน ๒ ใบ ใบหนึ่งคลุกน้ำตาลทราย อีกใบหนึ่งไม่คลุกแล้วนำข้าวตอกทั้งสองจานมาวางไว้ตรงหน้าหมอ ขนมจีน ๓ จับ หมากพลู ๑ คำ กำยาน ถ่านไฟกำลังติดใส่จานอย่างละ ๑ ใบ ให้วางเรียงทางด้านซ้ายของจานข้าวตอก

๓. เมื่อจัดเครื่องเซ่นเรียบร้อยแล้วหมอจะให้คนทรงนั่งหันหน้าตรงกับหมอ วางเครื่องเซ่นอยู่ระหว่างกลาง ให้ผู้ป่วย (ที่เข้าใจว่าเกิดจากผีร้าย) นอนในที่จัดไว้ในห้องพิธี จากนั้นคนทรงจะหยิบกำยานใส่ลงในจานที่ใส่ถ่านกำลังติดไฟและร่ายมนตร์ ขณะที่คนทรงกำลังร่ายมนตร์อยู่นั้น หมอจะสีซอ(รือบะ) คลอไปด้วยเมื่อร่ายมนตร์เสร็จหมอจะหยุดสีซอ คืนซอให้กับนักดนตรี แล้วหมอกับคนทรงไหว้ครูพร้อมกันดังนี้ "อาโปง แนแนะ มาอะดีกูรู กูรูยาแงตูเลาะ พาปอ แนแนะยาแง มารือกอ ดายอ" พอไหว้ครูเสร็จหมอก็ร่ายมนตร์เรียกผีมารับเอาเครื่องเซ่นและอธิษฐานบอกกล่าว ให้เทวดามาเป็นสักขีพยานช่วยปกป้องคุ้มครองผู้ป่วย

๔. คนทรงจะทำพิธีเสี่ยงทายว่าผู้ป่วยเป็นโรคเกิดจากผีร้ายที่ใดโดยมีวิธีเสี่ยง ทายอยู่ ๒ วิธี คือเสี่ยงทายจากข้าวตอกเครื่องเช่น วิธีหนึ่ง และเสี่ยงทายจากเทียนไขอีกวิธีหนึ่ง

๕. หลังจากนั้นก็จะทำพิธีเรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คณะตือรีของตนนับถือให้เข้า สิงคนทรง แล้วให้คนทรงรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วย โดยวิธีใช้ปากดูดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยเพราะเชื่อว่าการดูดด้วยปากจะทำให้ผีที่ทำให้เกิดความเจ็บ ป่วยออกจากร่างผู้ป่วยได้ ซึ่งคนทรงจะต้องดูดผู้ป่วยถึง ๕ ครั้ง ครั้งแรกจะดูดปลายเท้าของผู้ป่วยพร้อมกับดนตรีบรรเลง เมื่อดูดเสร็จดนตรีจะหยุดแล้วหมอจะถามคนทรงว่า "ผีมาจากไหน" คนทรงก็ตอบว่า "ผีมาจากดิน" หมอก็สั่งคนทรงว่าเขาต้องการอะไรให้จัดการให้เขา เสร็จแล้วดนตรีจะบรรเลงต่อ คนทรงก็ดูดร่างกายของผู้ป่วยเป็นครั้งที่ ๒ ที่บริเวณท้องหรือลำตัว ครั้งที่ ๓ ที่ลำคอ ครั้งที่ ๔ ดูดที่ศีรษะหรือใบหน้าของผู้ป่วย ดูดเสร็จแต่ละครั้งหมอก็จะถามว่า "ผีมาจากไหน" คนทรงก็จะตอบว่ามาจากน้ำ ลม และไฟตามลำดับแล้วหมอก็สั่งให้คนทรงปฏิบัติเหมือนกับการดูดครั้งแรก การดูดครั้งที่ ๕ ให้ดูดตามที่คนทรงเสี่ยงทายข้าวตอกว่าคู่สุดท้ายหรือเม็ดสุดท้ายอยู่ที่ใด ถ้าตกอยู่ที่ดินให้ดูดซ้ำที่ปลายเท้า ถ้าตกที่น้ำให้ดูดซ้ำที่บริเวณท้องหรือลำตัว ถ้าตกที่ลมให้ดูดซ้ำที่ลำคอ ถ้าตกที่ไฟให้ดูดซ้ำที่บริเวณศีรษะหรือใบหน้า

๖. เมื่อคนทรงทำพิธีดูดผู้ป่วยเสร็จแล้วหมอไสยศาสตร์จะพูดกับผีในผู้ป่วยว่า "ขอให้ผีที่สิง อยู่ในร่างของผู้นี้ออกเสียเถิดแล้วเราจะจัดการสิ่งที่พวกเจ้าต้องการให้ ทุกอย่าง" เมื่อหมอพูดและให้สัญญากับผีที่อยู่ในร่างของผู้ป่วยแล้วเชื่อกันว่าจะทำให้ ผู้ป่วยหายเป็นปกติ
การประกอบพิธีไล่ผีรักษาความเจ็บป่วยนี้ จะกระทำกันในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ได้ ถ้าทำพิธีวันดียวหรือคืนเดียวไม่หาย ก็ให้ทำติดต่อกัน ๓ วัน ๓ คืน ถ้าผู้ป่วยยังไม่หายอีกให้เว้นสักระยะหนึ่ง แล้วหาตือรีคณะใหม่มาทำพิธีอีกจนกระทั่งผู้ป่วยหาย เชื่อกันว่าถ้าประกอบพิธีถูกต้อง ผู้ป่วยก็จะหายจากความเจ็บป่วยจริง ๆ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น