ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (ที่ถูกยกเลิก)
มาตรา 4
"ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง"
มาตรา 37
"บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ในการใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น"
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
มาตรา 4
"ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้"
ตามมาตรา 37 แห่งรัฐนูญไทย พ.ศ. 2550 ถึงแม้จะถูกยกเลิก แต่ยังคงใช้บังคับอยู่ตาม มาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
ซึ่งตามมาตรา 37 แห่งรัฐนูญไทย พ.ศ. 2550 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา บุคคลในที่นี้หมายถึง รวมถึงบุคคลที่มิใช่ผู้มีสัญชาติไทย แต่เข้ามาอยู่ในอาณาจักไทย ไม่ว่าชั่วคราว หรือถาวรด้วย
เสรีภาพ หมายถึงสภาพการณ์ที่บุคคลมีอิสระในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามความประสงค์ของตน
สำหรับคำว่า "บริบูรณ์" คือ ไม่ต้องการเพิ่มเติมอย่างหนึ่งอย่างใดจากรัฐอีก และรัฐไม่สามารถออกกฏหมายมาแทรกแซงได้ ซึ่งแตกต่างกับคำว่าสมบูรณ์
ความบริบูรณ์ในการนับถือศาสนานั้นคือ รัฐไทยจะต้องไม่สถาปนาลัทธิ ความเชื่อ ศาสนาใดให้แก่ประชาชนในรัฐไทย รัฐไทยต้องให้ความคุ้มครองความเชื่อ ลัทธิ ศาสนาของประชาชนทีมีอยู่
รัฐไทยต้องให้ความเสมอภาคต่อศาสนาแต่ละศาสนาเท่าเทียมกัน
ซึ่งการนับถือศาสนานั้น เป็นพฤติกรรมภายในจิตใจของมนุษย์ แต่กต่างกับสิทธิภาพอื่นๆ เช่น เสรีภาพในเคหสถาน เสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งเป็นพฤติกรรมภายนอก ที่รัฐไทยเข้ามาแทรกแซงได้
ดังนั้น รัฐไทยต้องให้ความคุ้มครอง ในสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาในทุกศาสนา รวมถึงศาสนาอิสลามด้วย อย่างบริบูรณ์ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ คือนอกจากให้ผู้ทีนับถือศาสนาอิสลามปฏิบัติตามความเชื่อของตนอย่างเสรีแล้ว รัฐไทยจะต้องให้ความคุ้มครอง ที่จะไม่ให้บุคคลใด ไม่ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ตาม มาขัดขวาง กีดกัน หรือกำหนดเงื่อนไขใดๆ ที่ทำให้ผู้นับถือศาสนานั้นๆ ไม่สามารถปฏิบัติศาสนาตามความเชื่อของตนได้อย่างเสรี
แต่ปัจจุบัน ที่ปรากฏให้เห็น กลับมีสถานที่บางแห่ง ได้แก่ บริษัท โรงงาน โรงเรียน หรือสถานที่ราชการบางแห่ง กับกีดกันมิให้มุสลิมปฏิบัติศาสนา ได้อย่างเสรี เช่น กำหนดข้อห้าม มิให้มุสลีมะฮ์ที่จะเป็นพนักงานจ้างของตน คลุมฮิญาบ ห้ามทำการละหมาดในเวลาหรือสถานที่ทำงานนั้นๆ เป็นต้น
การกีดกันมิให้มุสลิมปฏิบัติตามศาสนาอิสลามอย่างบริบูรณ์ของหน่วยงานต่างๆเหล่านั้น ยังคงดำเนินอยู่เช่นนี้ โดยรัฐไม่เคยเข้าไปตรวจสอบ ให้ความคุ้มครอง หรือออกกฏหมาย กฏ ระเบียบข้อบังคับ ที่มิให้บุคคลใดทำการขัดขวาง หรือกีดกันมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม ปฏิบัติศาสนาของตนได้อย่างเสรี ทั้งที่การปฏิบัติศาสนากิจของมุสลิม ไม่ว่าการคลุมฮิญาบ หรือการละหมาด มิได้ปฏิบัติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด
ซึ่งศาลประเทศเยอรมัน ได้พิพากษาว่า การที่ห้างร้านได้ห้ามพนักงานของตนสวมคลุมฮิญาบ หรือกรณีที่โรงเรียนไม่ยอมให้มีห้องสำหรับมุสลิมปฏิบัติละหมาด หรือกรณีที่บริษัทได้ย้ายพนักงานที่เป็นมุสลิมไปเป็นพนักงานยกเหล้ายกเบียร์ และพนักงานผู้นั้นขอย้ายไปอยู่ตำแหน่งอื่น แต่บริษัทกลับไม่ยอมให้ย้าย ถือว่าเป็นการละเมิดในเสรีภาพในการถือศาสนาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้
แล้วรัฐไทย ยังปล่อยให้มีการละเมิด ในเสรีภาพถือศาสนาต่อไปเช่นนี้หรือ?
ในการนี้ จึงขอให้รัฐไทยเข้ามาตรวจสอบหน่วยงานที่ยังกีดกันไม่ให้มุสลิมปฏิบัติศาสนาได้อย่างเสรี และหามาตราการในการให้ความคุ้มครอง เสรีภาพของมุสลิม ในการปฏิบัติตามศาสนาอิสลาม ที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐไทยด้วยเถิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น