อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ชาวโรฮิงญาRohingya





โรฮิงญา  เป็นเผ่าพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่  มีเมืองหลวงชื่อ สตวย (Sittwe)

รัฐยะไข่หรืออาระกัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพม่า มีชายแดนติดกับบังกลาเทศและอ่าวเบงกอล มีประชากรประมาณ 2,000,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ

ส่วนน้อยเป็นชาวมุสลิมมีประมาณ 500,000 คน

ชาวมุสลิมนี้เอง ที่เรียกตัวเองว่าโรฮิงญา  การเรียกเผ่าพันธุ์ ตนเองว่าโรฮิงญา จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ชื่อนี้ทำให้ชนกลุ่มนี้ มีความแปลกแยกไปจากชาวพม่าเผ่าพันธุ์อื่นๆ

เนื่องจากภูมิประเทศของรัฐยะไข่  ประกอบไปด้วยเทือกเขาสูง แต่ไหนแต่ไรมาประชากรมีความเป็นอยู่อย่างสงบงาม  คลื่นลมการเมืองใดๆ สมัยเก่าก่อนนั้นไม่ค่อยได้แผ้วผ่านเข้าไปถึง

รัฐยะไข่แม้จะเป็นที่ฝังรกรากชาวโรฮิงญามาแต่บรรพกาล  แต่เมื่อนักล่าอาณานิคมจากแดนไกลอย่างอังกฤษเข้ามา อำนาจการปกครองของผู้มาเยือนก็ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากปฏิเสธ

และกลายเป็นอีก 1 ชนเผ่าที่ร่วมต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากอังกฤษ

สืบมาแม้พม่าจะได้เอกราช แต่โศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ที่อองซาน ซึ่งเป็นบิดาของอองซาน ซูจี ถูก ฆ่าตาย สัญญาที่ทำไว้กับชนเผ่าต่างๆ ที่เรียกว่า  “เวียงปางหลวง” หรือ “เวียงปางโหลง” ก็มีอันต้องอันตรธานไป

การฉีกสัญญานี้  ด้วยการยึดอำนาจของทหาร  ทำให้ประเทศพม่า กลายเป็นมิคสัญญีอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

เพราะเนื้อหาสำคัญของสัญญาฉบับนี้คือ  เมื่อพม่าได้รับเอกราชแล้ว  ชนเผ่าต่างๆ ที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่  ไม่ว่าจะเป็นมอญ  กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ หรือเผ่าพันธุ์อื่นๆ จะได้สัมผัสกับแสงทองแห่งเสรีภาพ  นั่นคือมีเอกราช มีสิทธิในการปกครองตนเอง

แน่นอน รวมทั้งโรฮิงญาด้วย

แต่เมื่อเหตุการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม  ไม่เป็นไปตามสัญญารบเพื่อเอกราช  ความสงบสุขของพม่าก็สิ้นไปด้วย  เพราะเผ่าพันธุ์ต่างๆ ล้วนแข็งกร้าวต่อพม่าและประท้วงทวงสัญญา  แต่สิ่งที่ได้คือ  การปราบปรามอย่างหนักหน่วงจากรัฐบาล

ชนเผ่าโรฮิงญาก็เป็นชนเผ่าพันธุ์หนึ่งที่หาญต่อสู้กับรัฐบาล และถูกปรามด้วยเช่นกัน

แถมมีบำเหน็จที่ได้เหนือกว่าเผ่าพันธุ์อื่นๆ คือ  การไม่ยอมรับ ว่าชาวโรฮิงญาเป็นคนของประเทศพม่า

เท่ากับเสริมแรงให้ชาวโรฮิงญาหาทางพึ่งพาตนเองขึ้นอีกเป็นเท่าตัว

นอกจากการต่อสู้กับอำนาจรัฐแล้ว  ชาวโรฮิงญายังแสวงหาทาง ออกให้ตัวเองอีกด้วย คือแสวงหางานในประเทศเพื่อนบ้าน  ไม่ว่าจะเป็นบังกลาเทศ มาเลเซีย ไทย และประเทศอื่นๆ

ปัญหาชาวโรฮิงญาหลบหนีเข้าประเทศข้างเคียง อย่างประเทศบังกลาเทศ ภูดล แดนไทย บอกไว้ในหนังสือสถานการณ์ภาคใต้เมื่อนาวา ไทยหลงทิศว่า เมื่อปี พ.ศ.  2521  ชาวโรฮิงญาได้หลบหนีเข้าประเทศ  โดย ผู้อพยพอ้างว่า ถูกเผด็จการทางทหารพม่าปราบอย่างโหดร้ายทารุณ

และ  “ใช้อาวุธข่มขู่ขับไล่พวกโรฮิงญาออกจากที่อยู่อาศัย  เผาทำลายบ้านเรือน ฆ่า ข่มขืนสตรี”

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521  ชาวโรฮิงญานอกจากหลบหนีเข้าบังกลาเทศแล้ว ยังได้ตั้งค่ายเรียงรายอยู่ตามชายแดนบังกลาเทศ-พม่าถึง 70,000-100,000 คน ทำให้เกิดปัญหาสังคมและเศรษฐกิจตามมา

บังกลาเทศต้องประท้วงพม่าอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศทั้งสอง

และในปี 2521 นั้นเอง ชาวโรฮิงญาทะลักเข้าบังกลาเทศถึง 200,000 คน  เป็นเหตุให้ทางการพม่าและบังกลาเทศต้องจับเข่าคุยกัน เพื่อหามาตรการเอาผู้อพยพคืนบ้านเกิดเมืองนอน

แต่ปัญหาของพม่ากับบังกลาเทศยังไม่จบลง  และเกลียวปัญหามาบิดตัวอย่างหนักใน  พ.ศ. 2535  ถึงขนาด  “ต่างฝ่ายต่างก็ได้เพิ่มกำลังเฝ้าระวังชายฝั่งแดนฝ่ายละพันกว่าคน

จากสาเหตุที่กองทัพพม่าข้ามชายแดนเข้าไปก่อกวนมุสลิม โรฮิงญาในบังกลาเทศ และมุสลิมโรฮิงญากลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ข้ามแดนจากบังกลาเทศเข้าไปปล้นในฝั่งพม่า”
เหตุการณ์ร้อนร้ายนี้  สาดไฟถึงนายบูทรอส  กาห์ลี  เลขาธิการ สหประชาชาติสมัยนั้น ถึงกับต้องส่งผู้แทนจากสหประชาชาติลงพื้นที่เพื่อไกล่เกลี่ยปัญหา

มีการเจรจากันอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน  พ.ศ. 2535

ผลก็คือ ผู้อพยพส่วนหนึ่งยอมกลับบ้าน แต่ส่วนที่เหลือตกค้างอยู่ก็มีอีกไม่น้อย รอการแก้ปัญหาเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

สำหรับการหลั่งไหลเข้าประเทศไทย

เมื่อย้อนไปดูข้อมูลเก่าจากป้องกันจังหวัดระนองพบว่า การฝ่าคลื่นลมทะเลของชาวโรฮิงญามาเข้าชายฝั่งไทยนั้น  มีมาตั้งแต่  พ.ศ. 2548

สืบมาใน  พ.ศ. 2549  เจ้าหน้าที่จับกุมได้ 1,225 คน พ.ศ. 2550 จับกุมได้ 2,763 คน  และเมื่อปีที่ผ่านมา  พ.ศ. 2551  จับกุมถึง 4,886 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น