อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เพราะเหตุใดมุสลิมจึงกล่าวคำว่า "ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป" ไม่ได้ ?


ไขข้อข้องใจ เพราะเหตุใดมุสลิมจึงกล่าวคำว่า
"ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป" ไม่ได้ ?

"ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป"

ซึ่งคำว่า "ชาติ" ในที่นี้ หมายความว่า การกำเนิด ในประโยคนี้ จะมีนัยความหมายว่า ขอตามไปเป็นผู้ที่ได้รับใช้ท่านในทุกครั้งที่ท่านได้เกิดขึ้นไม่ว่าจะกี่รอบก็ตาม

แต่ทว่าในอิสลามของเรามีหลักความเชื่อในเรื่องการเกิด การเสียชีวิต ที่ชัดเจน เราเชื่อว่าเรานั้นเกิดมาเพื่อการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และต้องเสียชีวิตลง และจะถูกฟื้นคืนชีพในวันกิยาะมะฮฺอีกครั้งหนึ่งเพื่อที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะได้สอบสวนการงานต่างๆของเราที่ได้กระทำไว้ในโลกนี้ และหลังจากนั้นจะเดินทางสู่โลกอันเป็นนิรันดร์ ซึ่งจะเป็นสวรรค์หรือนรกนั้นก็ขึ้นอยู่กับการงานที่ได้ปฏิบัติไว้ในโลกนี้

สรุปให้เข้าใจง่ายๆก็คือเราเกิดแค่ครั้งเดียวและตายเเค่ครั้งเดียว และจะถูกฟื้นคืนชีพขึ้นมาในวันกิยามะฮฺ(วันสิ้นโลก)อีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือในศาสนาอิสลามไม่ยอมรับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด มีเพียงเเค่ลักษณะที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นเท่านั้น ดังนั้นนี่คือสิ่งที่มุสลิมจะต้องศรัทธาเเละเชื่อมั่นให้เป็นไปตามนี้ทุกประการ

ซึ่งต่างกับความเชื่อของชาวพุทธอย่างสิ้นเชิง เพราะพวกเขามีความเชื่อว่า เกิดมาในโลกนี้เมื่อสิ้นอายุไขแล้วก็จะตายจากไป และจะเกิดขึ้นมาอีกในชาติต่อๆไป และตายไปอีก วนเวียนในสภาพนี้ตลอดไปไม่รู้จบ

ดังนั้นจากจุดนี้เราจึงเห็นถึงความแตกต่างทางความเชื่อของอิสลามและศาสนาพุทธในเรื่องอย่างนี้ชัดเจน และไม่มีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันเลย

ฉะนั้นแล้วเมื่อความเชื่อที่ผิดแปลกไปจากอิสลามก็ย่อมไม่ใช่อิสลาม จึงห้ามมิให้มุสลิมมีความเชื่อแบบนี้เป็นขาด เเละหากมุสลิมคนใดที่มีความเชื่อดังกล่าว เขาคนนั้นก็สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมอย่างไม่เป็นที่สงสัย(เพราะการศรัทธาต่อการวันกิยามะฮฺ เเละการฟื้นคืนชีพเพื่อการชั่งน้ำหนักความดีความชั่ว เป็นหลักศรัทธาพื้นฐานของมุสลิมทุกคน)

"เราเเค่พูด เเต่เราไม่ได้เชื่ออย่างนั้น" !!!

ในประเด็นที่มีพี่น้องบางท่านกล่าวว่า"เราพูดเเค่ลมปาก เเต่ในใจเราไม่ได้เชื่ออย่างที่พูด" กล่าวคือคนที่พูดประโยคดังกล่าวเขาพยายามจะสื่อว่า เขาพูดประโยคที่ว่า"ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป"ก็จริง เเต่เขาไม่ได้เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด อีกทั้งเขายังมีความเชื่อเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีพอย่างถูกต้องตามหลักการศาสนาเสียด้วยซ้ำ ซึ่งจากประเด็นนี้บ่งบอกให้เห็นว่าผู้ที่มีความคิดทำนองนี้ เขาไม่เข้าใจในเรื่องขององค์ประกอบหลักของอีหม่าน(การศรัทธา)

จึงขอทำความเข้าใจในประเด็นนี้ว่า การศรัทธาของคนเรานั้นประกอบไปด้วย 3 ประการคือ

1.ศรัทธาจากหัวใจ
2.การกล่าวปฏิญาณยืนยันด้วยคำพูด
3.พฤติกรรมการเเสดงออกทางด้านร่างกาย

ซึ่งทั้ง 3 ประการดังกล่าวนี้ถูกเรียกรวมว่า"อีหม่าน" หรือการศรัทธานั่นเอง ดังนั้นคนที่จะเป็นผู้ศรัทธาต้องมีทั้งสามองค์ประกอบนี้ในตัวของเขาโดยไม่ขาดตกบกพร่องในประการหนึ่งประการใด ดังนั้นเมื่อมีครบทั้งสามประการนี้เมื่อใด เมื่อนั้นเขาถึงจะเป็นผู้ศรัทธาที่ถูกต้อง

เเละเช่นเดียวกัน การที่คนๆหนึ่งจะสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม(มุรตัด) ก็ใช้องค์ประกอบทั้งสามประการนี้เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน นั่นคือผู้ใดที่ขาดองค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใดไป ถือว่าเขาผู้นั้นสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม ดังนั้นบางคนจึงสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมเพราะหัวใจปฏิเสธ ถึงเเม้ปากและการกระทำจะบ่งบอกว่าเป็นมุสลิมก็ตาม แต่ทว่าในเรื่องของหัวใจเป็นเรื่องที่มนุษย์ไม่สามารถที่จะตัดสินได้ จึงต้องยกให้เป็นเรื่องระหว่างเขากับอัลลอฮฺ เเต่ 2 ประการที่เหลือนั้น คือคำพูดเเละการปฏิบัติ จะเป็นตัวที่บ่งชี้ถึงสถานภาพความเป็นมุสลิมได้อย่างชัดเจน จึงมีบางคนที่สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมด้วยกับคำพูด หรือบางคนสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมด้วยกับการปฏิบัติ และหลักฐานจากอัล-กุรอานที่ยืนยันว่าการกระทำกับคำพูดจะต้องสอดคล้องกันคือ

وَمِنَ النَّاسِ مَن يَقُولُ آمَنَّا بِاللَّهِ وَبِالْيَوْمِ الْآخِرِ وَمَا هُم بِمُؤْمِنِينَ

ความว่า : จะมีคนอยู่ส่วนหนึ่งที่พวกเขาจะกล่าวว่า พวกเราศรัทธาต่ออัลลอฮฺเเละเชื่อในวันอาคิเราะฮฺ หากแต่พวกเขาหาได้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ศรัทธา (อัล-บะกอเราะฮฺ : 8)

จากอายะฮฺนี้คือบุคคลที่ยืนยันเเค่ปากว่าเป็นผู้ศรัทธาเเต่มีพฤติกรรมที่เป็นการปฏิเสธศรัทธา ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เป็นผู้ศรัทธา เพราะไม่มีสามองค์ประกอบอย่างครบถ้วน

ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจประเด็นนี้อย่างเเจ่มเเจ้งเเล้ว เราจะเห็นได้ทันทีเลยว่า คำกล่าวที่ว่า "ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป" นั้นเป็นการกล่าวคำพูดที่เป็นการปฏิเสธศรัทธาอย่างชัดเจนดังที่ได้ชี้เเจงไปแล้วเมื่อตอนต้น เพราะฉะนั้นผู้ที่กล่าวประโยคนี้จึงถูกตัดสินว่าเขาผู้นั้นสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมด้วยกับคำพูด ถึงเเม้ใจของเขาจะไม่ได้เชื่อตามที่เขาพูดออกมาก็ตาม ดังที่เราทราบกันมาเเล้วว่าการที่จะเป็นผู้ศรัทธาต้องมีทั้งสามองค์ประกอบดังกล่าวอย่างสมบูรณ์โดยไม่ขาดตกบกพร่องในข้อหนึ่งข้อใดไป เเละจำเป็นสำหรับผู้ที่กล่าวประโยคดังกล่าวจะต้องเตาบะฮฺ(กลับเนื้อกลับตัว) เเละกล่าวกะลิมะฮฺชะฮาดะฮฺใหม่(กล่าวคำปฏิญาณตนใหม่)

ดังกล่าวข้างต้นนี้จึงเป็นที่เเน่ชัดเเล้วว่าไม่เป็นที่อนุญาตอย่างเด็ดขาดที่มุสลิมจะใช้ถ้อยคำนี้ในการเเสดงความเสียใจ

สุดท้ายนี้เราขอย้ำว่า เราในฐานะชาวมุสลิมเป็นประชาชนคนไทย ที่เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ต่างมีความเสียใจต่อการสูญเสียในครั้งนี้ไม่น้อยไปกว่าประชาชนที่นับถือศาสนาอื่นๆ เเต่ศาสนาของเราได้วางขอบเขตในการที่จะเเสดงออกถึงความเสียใจเอาไว้ นั่นคือจะต้องไม่มีการตีโพยตีพาย ตีอกชกตัว ทำร้ายตัวเอง เเละข้อห้ามอื่นๆในทำนองดังกล่าวนี้ เเต่เราขอเเสดงออกความเสียใจด้วยกับสิ่งที่ศาสนาอนุมัติเท่านั้น เเละการเเสดงออกที่ดีที่สุด ณ เวลานี้คือการเจริญรอยตามสิ่งดีงามทั้งหลายที่ในหลวงได้ทรงปฏิบัติไว้เป็นเเบบอย่าง อาทิเช่น การร่วมมือกันในการนำพาประเทศชาติบ้านเมืองไปสู่ความสงบสุขสันติ อันเป็นผลให้ประชาชนมีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรืออะไรทำนองนี้ เป็นต้น

วัลลอฮุอะลัม(อัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด)

""""""""""""""""""
อิสลามตามแบบฉบับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น